กว่าจะได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ โอลิมปิก 2020 ซึ่งโตเกียว, ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ ก็ล่าช้าไปถึง 1 ปี แล้วยังปราศจากผู้ชมในสนาม เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งทำให้มีเรื่องราวมากมายให้ลุ้นว่า จะจัดได้ไหม? ต้องเลื่อนไปอีกหรือเปล่า? หรือต้องยกเลิกเหมือนตอนสงครามโลก ซึ่งเรื่องราวต่าง ๆ ย่อมถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างแน่นอน แต่กับบางเหตุการณ์จากกีฬาโอลิมปิกครั้งก่อน ๆ ทั้งโอลิมปิกฤดูหนาวและฤดูร้อน ก็ถูกบันทึกเอาไว้เรียบร้อยแล้วบนจอภาพยนตร์ นี่คือหนังที่หยิบเอาเหตุการณ์หรือชีวิตของนักกีฬาที่มีความเกี่ยวพันกับโอลิมปิกมาบอกเล่า และไม่ใช่หนังสารคดี ที่ควรหามาชม
CHARIOTS OF FIRE (1981) ผู้กำกับ: ฮิวจ์ ฮัดสัน (Hugh Hudson)
อยู่ในลิสต์หนังโอลิมปิกแทบทุกสำนัก หนังคว้า 4 ออสการ์ ที่หนึ่งในนั้นคือรางวัลหนังเยี่ยม กับดนตรีประกอบในตำนานของแวงเจลีส (Vangelis) ซึ่งช่วยให้ฉากวิ่งริมหาดทรายกลายเป็นฉากจำ หนังว่าด้วยความสำเร็จในโอลิมปิก 1924 ที่ปารีส ของสองนักวิ่งสหราชอาณาจักร อีริก ลิดเดลล์ (Eric Liddell) กับแฮโรลด์ อับราฮัมส์ (Harold Abrahams) รายแรก – มิชชันนารีผู้มีศรัทธา คว้าเหรียญทอง 400m เมตรกับเหรียญทองแดง 200 เมตร ส่วนรายหลังที่เป็นหนุ่มยิว ได้เหรียญทองวิ่ง 100 เมตรกับเหรียญเงินวิ่งผลัด 4X100 เมตร
ทั้งคู่ไม่ได้วิ่งแค่เพื่อชัยชนะ รายหนึ่งเพื่อแสดงความยกย่องพระเจ้า ที่ถึงขั้นไม่ยอมวิ่งรอบคัดเลือกเพราะตรงกับวันอาทิตย์ ส่วนอีกรายก็เพื่อเอาล้มอคติที่ผู้คนมีต่อตัวเอง ซึ่งไม่ต่างจากตัวหนัง เพราะหลังได้ออสการ์ผู้คนพากันตั้งคำถามว่า สมราคาไหม? แต่เมื่อเวลาผ่านไป นอกจากเป็นหนึ่งในหนังกีฬาที่ดีที่สุด แต่ยังเป็นหนังออสการ์ที่อยู่ในความทรงจำอีกเรื่องหนึ่ง
ระดับความเกี่ยวพันกับโอลิมปิก: 10/10
I, TONYA (2017) ผู้กำกับ: เครก จิลเลสพี (Craig Gillespie)
นำเสนอได้อย่างมีสีสันกับการเป็นงานตลกร้าย และได้การแสดงที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะ มาร์โกต์ ร็อบบี (Margot Robbie) ในบท ทอนยา แม็กซีน ฮาร์ดิง (Tonya Maxene Harding) นักสเก็ตลีลา และอัลลิสัน แจนนีย์ (Allison Janney) ที่คว้าออสการ์สมทบหญิงจากบทแม่ของทอนยา ศูนย์กลางของหนังเป็นเรื่องที่ทอนยากับคนรอบข้างทำร้าย แนนซี เคอร์ริแกน (Nancy Kerrigan) เพื่อนร่วมทีมและคู่แข่งสำคัญในการคัดตัวไปแข่งโอลิมปิกฤดูหนาว 1994 ซึ่งทำให้เธอกลายเป็นนักกีฬาโอลิมปิกผู้อื้อฉาว แม้ในอีกด้านเธอคือนักสเก็ตลีลาหญิงอเมริกัน ที่ทำท่าหมุนตัว 3 รอบได้เป็นคนแรกก็ตามที หนังถูกติเตียนเรื่องการนำเสนอแต่ด้านของทอนยา แต่ในขณะเดียวกันหากเทียบกับเหตุการณ์จริง ตอนนั้นสื่อก็เลือกนำเสนอแต่ด้านของเคอร์ริแกน ทำให้หนังนอกจากจะเผยความจริง (บางส่วน) แล้ว ยังแก้ไขข้อผิดพลาดในการนำเสนอข่าวของบางสื่อไปในคราวเดียวกัน
ระดับความเกี่ยวพันกับโอลิมปิก: 7/10
MIRACLE (2004) ผู้กำกับ: กาวิน โอคอนเนอร์ (Gavin O’Connor)
เรื่องจริงในโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1980 ช่วงเวลาของสงครามเย็น ที่ทีมฮ็อกกีน้ำแข็งสหรัฐอเมริกา ชาติเจ้าภาพ ที่ไม่ได้เป็นตัวเต็งใด ๆ คว้าเหรียญทองมาครอง ด้วยการเฉือนชนะสหภาพโซเวียต (ในตอนนั้น) ทีมตัวเต็งในรอบรองชนะเลิศ 4-3 จนการแข่งขันนัดนี้ได้ฉายาว่า “ความมหัศจรรย์บนผืนน้ำแข็ง” หนังแสดงให้เห็นถึงการเตรียมตัวของทีมสหรัฐฯ ที่มีทั้งเรื่องการเป็นคู่แข่งกันในทีม อุปสรรคต่าง ๆ ที่ต้องก้าวข้ามให้ได้ หนังมาตามสูตรหนังกีฬาเป๊ะ ตัวละครเป็นพวกต่ำชั้น (อันเดอร์ด็อก – Underdog) แต่ด้วยจังหวะที่ลงตัว ก็สร้างความตื่นเต้น เร้าอารมณ์ความรู้สึก จนลืมความซ้ำซากได้สำเร็จ แม้จะมีหนังกีฬาฟีลกู๊ด ออกมาอีกหลายเรื่อง แต่เมื่อพูดถึงหนังทางนี้ที่ดีที่สุด ‘Miracle’ ย่อมติดมาด้วยเสมอ ขณะที่การแสดงที่หากไม่ดีที่สุดในชีวิตก็ใกล้เคียงของ เคิร์ต รัสเซลล์ (Kurt Russell) ในบทโค้ชเฮิร์บ บรูกส์ (Herb Brooks) ก็ต้องถูกหยิบมาพูดถึงในคราวเดียวกัน
ระดับความเกี่ยวพันกับโอลิมปิก: 10/10
RACE (2016) ผู้กำกับ: สตีเฟน ฮ็อปกินส์ (Stephen Hopkins)
เจสซี โอเวนส์ (Jesse Owens) ไม่ใช่แค่เจ้าของ 4 เหรียญทอง จากวิ่ง 100, 200 เมตร, กระโดดไกล และวิ่ง 4 X100 ในโอลิมปิก 1936 ที่เบอร์ลิน แต่ยังตบหน้าพรรคนาซีที่ปกครองเยอรมันในตอนนั้น ซึ่งเชื่อว่า ชาวอารยันหรือนักกีฬาผิวขาว คือผู้ที่มีความเป็นเลิศที่สุด โอเวนส์ยังเป็นหนึ่งในนักกรีฑาที่เยี่ยมยอดที่สุดตลอดกาล และเป็นตำนานโอลิมปิก ซึ่งกว่าจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต้องเจอกับอะไรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกซ้อมที่หนักหน่วง และการเหยียดผิวในบ้านเกิด ที่ทำให้เขาลังเลที่จะเข้าร่วมการแข่งขันในเยอรมัน แต่ท้ายที่สุดก็อาจเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เขาเอาชนะการดูแคลนของนาซีได้สำเร็จ สตีเฟน เจมส์ (Stephan James) รับบทเป็นโอเวนส์ ส่วนคนสำคัญในชีวิตของเขา แลร์รี สไนเดอร์ (Larry Snyder) โค้ชที่ปลุกปั้นและเชื่อว่าโอเวนส์มีศักยภาพในการเป็นดาวอีกดวงในโอลิมปิก เล่นได้แบบลืมไปเลยว่า เป็นการแสดงของ เจสัน ซูดีคิส (Jason Sudeikis)
ระดับความเกี่ยวพันกับโอลิมปิก: 10/10
MUNICH (2005) ผู้กำกับ: สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg)
ไม่ใช่หนังกีฬาและไม่ได้พูดถึงการแข่งขันหรือนักกีฬาโอลิมปิกโดยตรง แต่พูดถึงเรื่องที่เกิดหลังโศกนาฏกรรมในโอลิมปิก 1972 ที่มิวนิก เมื่อผู้ก่อการร้ายปาเลสไตน์จับนักกีฬาอิสราเอล 11 คนเป็นตัวประกันและสังหาร เมื่อมีความพยายามบุกเข้าช่วยเหลือ หนังเป็นภารกิจเอาคืนของรัฐบาลอิสราเอลต่อกลุ่มผู้ก่อการร้าย โดยมีที่มาจากหนังสือ Vengeance เมื่อปี 1984 ของจอร์จ โจนาส (George Jonas) และได้คำชมว่าเป็นหนังซ่อนเงื่อนที่น่าตื่นเต้น แม้สปีลเบิร์กจะสนับสนุนอิสราเอล แต่หนังก็ไม่ได้ ‘เอียง’ จนเกินเหตุ และไม่ทำให้รู้สึกยกย่องการกระทำของหน่วยงานลับอิสราเอล แต่ลงลึกไปถึงจิตใจของพวกเขา ที่การแก้แค้นเป็นแรงขับมากกว่า หากต้องการรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในโอลิมปิก 1972 โดยตรง หนังสารคดี ‘One Day in September’ (1999) ของผู้กำกับเควิน แม็กโดนัลด์ (Kevin Macdonald) ที่มีทั้งภาพฟุตเตจของเหตุการณ์ และการให้สัมภาษณ์ของผู้เกี่ยวข้อง ที่ได้รับการยกย่องว่าทำได้ดี น่าจะตอบโจทย์กว่า
ระดับความเกี่ยวพันกับโอลิมปิก: 5/10
COOL RUNNINGS (1993) ผู้กำกับ: จอน เทอร์เทิลทวบ (Jon Turteltaub)
เด็กหนุ่มกลุ่มหนึ่งต้องการเข้าแข่งเลื่อนหิมะในโอลิมปิกฤดูหนาว ฟังดูไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าเป็นเด็กจาไมกาที่ชีวิตอยู่กับหายทราย สายลม เกลียวคลื่น โดยหิมะ (หรือสิ่งที่คล้าย ๆ) ใกล้ตัวที่สุดก็คือ น้ำแข็งในแก้วหรือช่องฟรีซของตู้เย็น คงไม่ธรรมดาขึ้นมาบ้าง แล้วถ้าบอกว่าพวกเขาทำได้ ก็คงเป็นเรื่องน่าสนุกสำหรับนิยายสักเรื่อง แต่นี่คือเรื่องจริงของทีมเลื่อนหิมะจาไมกา ในโอลิมปิกฤดูหนาว 1988 ว่ากันตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสุดทางของความฝัน เสน่ห์ของเรื่องจริง (และในหนัง) ก็คือ พวกเขาไม่ได้ต้องการไปไกลถึงเหรียญทอง หากแค่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน และพิสูจน์ให้คนอื่นรับรู้ว่า พวกเขาไม่ได้มาเล่น ๆ หรือเป็นตัวตลก แต่เป็นคู่แข่งตัวจริง หนังเป็นงานดราม่า-เบาสมอง และเป็นการแสดงทิ้งทวนของ จอห์น แคนดี (John Candy) ที่รับบทอดีตนักกีฬาเลื่อนหิมะ ซึ่งมาเป็นโค้ชให้เด็กจาไมกากลุ่มนี้ ที่เล่นได้ดีเหลือเกิน แต่น่าเสียดายที่เขาจากไปก่อนหนังออกฉาย
ระดับความเกี่ยวพันกับโอลิมปิก: 10/10
WITHOUT LIMITS (1998) ผู้กำกับ: โรเบิร์ต ทาวน์ (Robert Towne)
หนังนำเสนอชีวิตของ สตีฟ พรีฟอนเทน (Steve Prefontaine) นักวิ่งทีมชาติสหรัฐฯ ซึ่งรับบทโดยบิลลี ครูดัป (Billy Crudup) โดยเน้นความสัมพันธ์ของเขากับ บิลล์ โบเวอร์แมน (Bill Bowerman) โค้ชที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริิษัทไนกีในเวลาต่อมา (โดนัลด์ ซูเธอร์แลนด์ – Donald Sutherland เล่นได้อย่างเยี่ยมยอด) แม้จะเป็นนักวิ่งที่เก่งกาจของชาติ แต่ในการวิ่ง 5,000 เมตรของโอลิมปิก 1972 พรีฟอนเทนที่นำคู่แข่งมาจนถึง 150 เมตรสุดท้าย กลับถูกแซงจนเข้าเส้นชัยแค่อันดับ 4 แล้วขณะเตรียมตัวเข้าแข่งโอลิมปิก 1976 เขาก็ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 24 ปี นอกจากจะเป็นนักวิ่ง พรีฟอนเทนยังเป็นนักกิจกรรมทางสังคมอีกด้วย 1 ปีก่อน ‘Without Limits’ เปิดตัว มีหนังพรีฟอนเทนอีกเรื่อง ที่ใช้ชื่อ ‘Prefontaine’ ออกฉาย โดยจาเร็ด เลโท (Jared Leto) เล่นเป็นพรีฟอนเทน หนังเล่าเรื่องจากมุมมองของ บิลล์ เดลลินเจอร์ (Bill Dellinger) ผู้ช่วยโค้ช กับแนนซี อัลล์แมน (Nancy Alleman) แฟนสาวของพรีฟอนเทน แต่เทียบกันแล้ว หนังฉบับครูดัปถูกมองว่า ทำได้ดีกว่า
ระดับความเกี่ยวพันกับโอลิมปิก: 7/10
EDDIE THE EAGLE (2016) ผู้กำกับ: เด็กซ์เทอร์ เฟล็ตเชอร์ (Dexter Fletcher)
อีกเรื่องราวในโอลิมปิกฤดูหนาว 1988 ที่น่าประทับใจ และนำเสนอเป็นงานเบาสมองแบบเดียวกับ ‘Cool Runnings’ แต่เป็นเรื่องของนักกีฬากระโดดสกี – ไมเคิล “เอ็ดดี” เอ็ดเวิร์ดส์ (Michael “Eddie” Edwards) ที่รับบทโดย ทารอน อีเกอร์ตัน (Taron Egerton) นักกีฬากระโดดสกีคนแรกของสหราชอาณาจักรที่เข้าแข่งโอลิมปิกนับตั้งแต่ปี 1928 ซึ่งถือเป็นพวกนอกสายตา แต่ด้วยความทุ่มเท, ความพยายาม, ความเชื่อของเจ้าตัวกับโค้ช – บรอนสัน เพียรี (Bronson Peary) เขาก็สร้างประวัติศาสตร์และสถิติของสหราชอาณาจักรในกีฬาชนิดนี้จนได้ หนังแสดงให้เห็นชีวิตของเขาตั้งแต่ยังเด็กจนกลายเป็นฮีโรของชาติ เรื่องอาจจะซ้ำซาก แต่การแสดงของอีเกอร์ตัน กับฮิว แจ็กแมน (Hugh Jackman) ในบทเพียรี การเล่าเรื่องที่ลงตัว ก็ทำให้ดูสนุก ประทับใจได้ และนี่คืองานก่อนไปซ่อมหนัง ‘Bohemian Rhapsody’ และกำกับ ‘Rocketman’ ของเด็กซ์เทอร์ เฟล็ตเชอร์
ระดับความเกี่ยวพันกับโอลิมปิก: 8/10
PERSONAL BEST (1982) ผู้กำกับ: โรเบิร์ต ทาวน์
หนังเรื่องที่ 2 ของโรเบิร์ต ทาวน์ ในลิสต์ ที่หนนี้เป็นเรื่องของนักกรีฑาลู่และลานหญิงทีมชาติสหรัฐฯ ตัวละครนำรับบทโดยมาเรียล เฮมมิงเวย์ (Mariel Hemingway) และ แพทริซ ดอนเนลลี (Patrice Donnelly) ที่กำลังเตรียมตัวเข้าแข่งโอลิมปิกฤดูร้อน 1980 ที่มอสโคว์ แต่เมื่อสหรัฐฯ ประกาศบอยคอตต์ เพราะสหภาพโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถาน การฝึกซ้อม การเตรียมตัวทุกอย่างกลายเป็นศูนย์ แต่ท้ายที่สุด นักกีฬากลุ่มนี้ก็ทำให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นเป้าหมายครั้งใหม่ นั่นคือทำสถิติส่วนตัวที่ดีที่สุด ตามที่ชื่อหนังว่าเอาไว้ ซึ่งกลายเป็นการดำรงไว้ซึ่งสปิริตแบบนักกีฬา ฝึกซ้อม-มุ่งมั่น และอุทิศตน ที่จริง ๆ แล้วมีความสำคัญมากกว่าเป้าหมายเสียอีก หนังเป็นเล่าเรื่องตามสูตร มีเรื่องรักสามเส้าแบบไบเซ็กชวล มีเรื่องการเติบโตของตัวละคร หากก็ให้ความรู้สึกอบอุ่น และซาบซึ้งได้ไม่ยาก
ระดับความเกี่ยวพันกับโอลิมปิก: 10/10
BHAAG MILKHA BHAAG (2013) ผู้กำกับ: ราคีย์ช โอมปรากาช เมห์รา (Rakeysh Omprakash Mehra)
หนึ่งเดียวในลิสต์ที่เป็นงานบอลลีวูด และได้คะแนนสูงสุดในเว็บไซต์ imdbเมื่อพูดถึงหนังเกี่ยวกับโอลิมปิก ด้วยความยาวถึง 3 ชั่วโมง หนังจะเล่าเรื่องนักกรีฑาระดับตำนานของอินเดีย มิลคา ซิงห์ (Milkha Bhaag) เจ้าของฉายา ‘คนซิกข์บินได้’ ทั้งความสำเร็จที่เขามอบให้บ้านเกิด และสีสันที่เขาทิ้งเอาไว้ในโลกใบนี้ หลังเอาชนะโศกนาฏกรรมที่ครอบครัวถูกสังหารหมู่, ชีวิตในสงครามกลางเมือง และการเป็นคนไร้บ้าน กลายเป็นนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดีย เมื่อคว้าเหรียญทองในกีฬาเครือจักรภพและเอเชียนเกมส์ในปี 1958 แม้จะไม่สามารถผ่านเข้าไปวิ่งรอบสุดท้ายของโอลิมปิก 1956 แต่อีก 4 ปีต่อมาเขาก็เข้าเส้นชัยเป็นที่ 4 ในโอลิมปิกที่กรุงโรม หนังเป็นงานบอลลีวูดจัดเต็ม มีร้องรำทำเพลง เรื่องราวดราม่าสุดๆ แต่ที่ทำให้ได้รับการยกย่องก็คือ สามารถสร้างสมดุลระหว่างการเล่าเรื่องแบบเร้าอารมณ์ กับการนำเสนอชีวิตตัวละครแบบไร้อคติได้สำเร็จ
ระดับความเกี่ยวพันกับโอลิมปิก: 9/10
FOXCATCHER (2014) ผู้กำกับ: เบนเน็ตต์ มิลเลอร์ (Bennett Miller)
เทียบกับเรื่องอื่นๆ แล้วนี่คืองานที่หม่นมืดที่สุด กับเรื่องราวของมหาเศรษฐี จอห์น อี. ดูปอนท์ (John E. du Pont) – สตีฟ คาร์เรลล์ (Steve Carell) ที่ให้การสนับสนุน มาร์คและเดวิด ชูลท์ซ (Mark, David Schultz) – รับบทโดย แชนนิง ทาทัม (Channing Tatum) กับมาร์ก รัฟฟาโล (Mark Ruffalo) ตามลำดับ สองนักมวยปล้ำทีมชาติสหรัฐฯ เจ้าของเหรียญทองในโอลิมปิก 1984 เพื่อเตรียมทีมเข้าแข่งโอลิมปิก 1988 แต่กลายเป็นการสร้างความขัดแย้งให้กับสองพี่น้อง รวมถึงความร้าวฉานระหว่างทั้งสามคน จนเกิดโศกนาฏกรรมในท้ายที่สุด เมื่อทุกอย่างเลวร้ายมากขึ้น ประเด็นของหนังเป็นการต่อต้านทฤษฎีที่ว่าด้วย ความมีน้ำใจนักกีฬา, ความเป็นเลิศ เมื่อแสดงให้เห็นว่า การประสบความสำเร็จหรือชัยชนะ ไม่ว่าจะเป็นในการแข่งขันกีฬาทั่วไปหรือโอลิมปิก ย่อมมีราคาค่างวดที่ต้องจ่ายเสมอ
ระดับความเกี่ยวพันกับโอลิมปิก: 8/10
THE CUTTING EDGE (1992) ผู้กำกับ: พอล ไมเคิล เกลเซอร์ (Paul Michael Glaser)
งานหวานๆ แบบหนังโรแมนติก เมื่อนักสเก็ตลีลาสาว (มอยรา เคลลี – Moira Kelly) บ้านรวย เอาแต่ใจ และนักฮ็อกกีน้ำแข็งที่ได้รับบาดเจ็บ (ดี.บี. สวีนีย์ – D. B. Sweeney) จนไม่สามารถลงแข่งในกีฬาที่ตัวเองรักได้ ต้องมาจับคู่ร่วมทีมกัน เพื่อเข้าแข่งโอลิมปิกฤดูหนาว 1992 ที่อัลเบิร์ตวิลล์, ฝรั่งเศส โดยคู่แข่งสำคัญเป็นนักสเก็ตสหภาพโซเวียต แม้จะมีอะไรมากมายไม่เข้าที่เข้าทาง และหนังก็เต็มไปด้วยสถานการณ์เวอร์ๆ แบบงานรอม-คอม แต่ด้วยการแสดงที่เข้าคู่เข้าขา เคมีต้องกันเป็นอย่างดี ทำให้กลายเป็นงานที่ดูเพลิน และสนุกได้หากไม่คิดอะไรมาก จนมีภาคต่อตามมาอีกหลายเรื่อง ส่วนบทหนังเป็นบทเรื่องแรกของ โทนี กิลรอย (Tony Gilroy) ที่ถูกนำมาสร้าง ก่อนที่จะตามมาด้วยงานอย่าง ‘Armageddon’, หนัง ‘Jason Bourne’ และ ‘Michael Clayton’
ระดับความเกี่ยวพันกับโอลิมปิก: 6/10
ยังมีงานอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวพันหรือโยงใยเข้ากับโอลิมปิก แม้บางเรื่องในแง่ของคุณภาพอาจไม่ถึงกับเยี่ยมยอดมากนัก กระทั่งหนังในลิสต์บางเรื่องก็แค่อยู่ในระดับมาตรฐาน เมื่อเทียบกับงานระดับ ‘ต้อง’ ดูทั่วไป บางเรื่องก็เป็นหนังสารคดี ที่อยากให้ลองหามาดูกันก็มี ‘Tokyo Olympiad’ (1965) หนังสารคดีว่าด้วยโอลิมปิกที่โตเกียว ปี 1965, หนังอัตประวัติของจิม ธอร์ป (Jim Thorpe) นักกรีฑาอเมริกันที่ถูกริบเหรียญรางวัล ก่อนจะให้คืนในเวลาต่อมา ‘Jim Thorpe—All-American’ Olympia’ (1938), เรื่องของ แดน มิลล์แมน (Dan Millman) นักยิมนาสติกที่ประสบอุบัติเหตุจนไม่น่ากลับมาเล่นกีฬาได้อีก แต่ท้ายที่สุดเขาก็ทำได้ใน ‘Peaceful Warrior (2006)’ หรือ ‘Jappeloup’ (2013) หนังฝรั่งเศสว่าด้วยนักกีฬาขี่ม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวางในโอลิมปิก 1984
อ้างอิง:
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส