Release Date
22/07/2021
ความยาว
87 นาที
Our score
8.0Words Bubble Up Like Soda Pop
จุดเด่น
- เส้นสีสไตล์จัดจ้านอาร์ต ๆ ผสมดีไซน์คาแรกเตอร์แนวสมัยนิยมได้น่าสนใจ เรื่องราวที่ไม่ค่อยได้พบเห็นในแอนิเมะทั้งนางเอกฟันเหยิน ทั้งเรื่องสังคมผู้สูงอายุ ทั้งกลอนไฮกุ แต่เอามารวมกันแล้วทั้งน่ารักทั้งเท่ เพลงเพราะมาก ตอนจบหัวใจพอง
จุดสังเกต
- ผู้ชมแอนิเมะสายแมสจัด ๆ อาจไม่ชอบเพราะมันเป็นแมสที่มีความอินดี้พอควร เสียงพากย์ภาษาไทยกับญี่ปุ่นของตัวละครอื่นจะให้อารมณ์ใกล้เคียงกันแต่เสียงพากย์นางเอกจะตีความคนละแบบเลย ต้องลองดูแล้วแต่ชอบ
-
บท
8.5
-
โปรดักชัน
9.0
-
การพากย์
8.0
-
ความสนุกตามแนวหนัง
8.5
-
ความคุ้มค่าการรับชม
8.5
เรื่องย่อ: เรื่องราวแบบ Boy Meets Girl ในฉบับแอนิเมชันญี่ปุ่นสีสันจัดจ้าน เมื่อ เชอร์รี่ เด็กหนุ่มขี้อายที่ทำงานดูแลผู้สูงอายุในห้างบังเอิญชนเข้ากับ สมายล์ เน็ตไอดอลคนดังจนทำมือถือสลับกัน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องราวความรักวัยรุ่นสุดซาบซ่าในช่วงฤดูร้อนที่ทั้งสองคนจะต้องจดจำตลอดไป
นี่เป็นผลงานแอนิเมชันฉลองครบรอบ 10 ปีของบริษัท Flying Dog ซึ่งทำงานด้านเพลงและแอนิเมชันให้กับแอนิเมะดังหลายเรื่อง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ ‘Words Bubble Up Like Soda Pop’ จึงมีความโดดเด่นในแง่ตัวเพลงประกอบที่โยงใยเป็นเนื้อหาในเรื่อง โดยดึงศิลปินซิตี้พอปอย่าง โอนุกิ ทาเอโกะ มาทำเพลง “YAMAZAKURA” และวงร็อกอย่าง never young beach มาทำเพลง “Words Bubble Up Like Soda Pop” เป็นเพลงธีมประกอบให้
ใครฟังเพลงประกอบหนังแล้วชอบก็มีให้ฟังใน Spotify แล้วเช่นกัน กดที่นี่ เลย
และยังโดดเด่นด้านการออกแบบศิลป์ที่เอาสตูดิโอ Signal MD ที่เคยทำหนังอย่าง ‘Ride Your Wave’ (2019) ซึ่งใครเคยดูเรื่องที่ว่าน่าจะไม่แปลกใจกับสไตล์จัดจ้านที่ส่งมายังหนังเรื่องนี้ด้วย โดยยังผลิตร่วมกับสตูดิโอ Sublimation ที่มีผลงานแอนิเมชันซีรีส์ทางเน็ตฟลิกซ์อย่าง ‘Dragon’s Dogma’ (2020) ไปหมาด ๆ และยังได้ อิชิกูโระ เคียวเฮ ผู้กำกับแอนิเมชันทีวีซีรีส์ชุด ‘Psycho-Pass’ (2012) มากำกับ และได้ ซาโตะ ได ที่เคยเขียนบทหนัง ‘Casshern’ (2004) มาเขียนบทให้ด้วย ก็สมกับเป็นโปรเจกต์ใหญ่ของค่ายที่มีชื่อในวงการแอนิเมชันอย่าง Flying Dog อยู่ไม่น้อยเลย
หนังมีเส้นเรื่องหลักเกี่ยวกับเชอร์รี่ เด็กหนุ่มอินโทรเวิร์ตที่รักการแต่งกลอนไฮกุเป็นชีวิตจิตใจ แต่กลอนไฮกุมันดูไม่ค่อยเท่สมวัยเลย บวกกับความขี้อายเขาจึงเลือกเขียนกลอนไฮกุลงโซเชียลมีเดียส่วนตัวที่ไม่มีใครสนใจเพียงอย่างเดียว ด้านสมายล์เด็กสาวเน็ตไอดอลที่ดังตั้งแต่เด็ก ซึ่งโตมาแล้วเกิดอายในฟันกระต่ายที่เคยภูมิใจจนต้องใส่แมสก์ปิดบังไว้ตลอดเวลา ตรงนี้ก็จับเอาความกังวลของวัยรุ่นญี่ปุ่นมาเล่นเป็นพลอตได้น่าสนใจไม่น้อย เชื่อว่าน่าจะโดนใจวัยรุ่นญี่ปุ่นพอสมควรเลย
แม้เส้นเรื่องที่ว่าอาจตามสูตรสำเร็จไปหน่อย แต่ด้วยตัวละครสมทบมากมายที่เสริมเรื่องให้วุ่นวายและฟีลกู้ดขึ้นก็ไม่ทำให้เรื่องน่าเบื่อเลย และโดยเฉพาะเส้นเรื่องรองเองก็สนุกไม่น้อย เมื่อทั้งคู่ได้มาทำงานที่ศูนย์บริการเอกชนที่ดูแลผู้สูงอายุเวลากลางวันของห้างในเมืองชนบท แล้วคุณตาที่ความจำเริ่มเสื่อมคนหนึ่งก็คอยตามหาแผ่นเสียงที่หายไปของตนเอง ทำให้การช่วยตามหาแผ่นเสียงให้คุณตาและเรียนรู้ที่มาที่ไปของแผ่นเสียงแผ่นนั้น ก็ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์และบุคลิกตัวละครไปได้แบบลื่นไหล
ทั้งยังสอดแทรกเรื่องของสังคมผู้สูงอายุในแบบประเทศที่เขาเจริญด้านการดูแลแล้วอย่างญี่ปุ่น มันก็ทำให้ตื่นตาตื่นใจ และปลูกฝังให้เยาวชนกลุ่มที่แอนิมเชันมีทัศนคติที่ดีในเรื่องผู้สูงอายุด้วย อันนี้สอดแทรกมาได้เจ๋งมาก ไม่เพียงแค่เรื่องกลอนไฮกุที่อาจมองว่าโบราณ แต่ในเรื่องนี้ก็ถูกเอามาใช้เป็นกิมมิกที่เท่มาก ๆ โดยตัวกลอนไฮกุเองจะว่าไปแล้วก็เป็นวัฒนธรรมที่ร่วมสมัยอยู่ในตัวแล้ว พอเอามาใช้กับเรื่องรัก ๆ ของวัยรุ่นก็ได้รสชาติแปลกตาไม่น้อย
ต้องบอกว่าแม้ดีไซน์ตัวละครจะตามสมัยนิยม แต่ส่วนประกอบอื่น ๆ นี่มันแนวอินดี้ มันแนวสายรางวัลเลยล่ะ
แอนิเมชันของเน็ตฟลิกซ์ในช่วงหลังเริ่มผูกขาดความรู้สึกว่ามันมักจะไม่ค่อยเวิร์ก จนทำเอาช่วงแรกตัวเองก็รู้สึกต้องตั้งการ์ดแข็ง เผื่อใจไว้ก่อนเลย ยิ่งเจอสไตล์จัด ๆ ด้านภาพเข้าไปอีกก็หวั่นใจไม่น้อย แต่เมื่อดูไปการ์ดก็เริ่มคลายไม่รู้ตัว โดนความน่ารักของทั้งเรื่องราวและตัวละครเข้าโจมตีตอนไหนไม่รู้เลย หนังมีความโคตรน่ารักและเท่มาก ๆ ผสมกัน ใครอยากเปิดใจดูแอนิเมชันรสซาบซ่าเร่าร้อนแบบวัยรุ่นที่เผาหัวใจให้ซู่ซ่าเหมือนโซดา อยากให้ลองดูเลย
พิเศษสำหรับแฟนเพลงชาวไทยนิด ต้องบอกว่างานพากย์ของแอนิเมชันเรื่องนี้ภาษาไทยกับภาษาญี่ปุ่นมีอารมณ์ที่ต่างกันพอควร ซึ่งก็ตอบไม่ได้ว่าอันไหนดีกว่ากันเพราะคนพากย์ตีความตัวละครต่างกัน โดยฉบับญี่ปุ่นนางเอกจะได้ สุกิซากิ ฮานะ ที่เคยเล่นเป็น รูเคีย ใน ‘Bleach’ มาพากย์เสียงแบบวัยรุ่นโตหน่อย ขณะที่ฝั่งไทยจะได้น้อง อ๊ะอาย-กรณิศ เล้าสุบินประเสริฐ จากวง 4EVE เจ้าของเพลงดังอย่าง “วัดปะหล่ะ?” ซึ่งน้องเองก็เคยมีประสบการณ์เล่นละครและพากย์เสียงมานับไม่ถ้วน แต่จะตีความต่างจากฉบับญี่ปุ่นหน่อยตรงที่จะมีความเด็กกว่า แง้ว ๆ กว่า ใครชอบแบบไหนก็ลองเลือกฟังเอาได้ครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส