เป็นที่รู้กันดีทั้งผู้สร้างและผู้ชมว่า ถ้าหนังเรื่องไหนมีต้นทุนเป็นบทที่ดี ก็เท่ากับประสบความสำเร็จไปครึ่งทางแล้ว นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าผู้สร้างจึงนิยมที่จะซื้อลิขสิทธิ์นิยายดัง การ์ตูนฮิต หรือแม้แต่บทหนังเรื่องเยี่ยม ๆ จากมือเขียนบทที่มีผลงานขึ้นหิ้ง ที่เพียงแค่พล็อตไม่กี่หน้า สตูดิโอก็ต้องแย่งกันประมูลสิทธิ์
แน่นอนที่ว่าสตูดิโอยอมควักกระเป๋าจ่ายค่าลิขสิทธิ์เรื่องเหล่านี้หลักล้านเหรียญ เพราะนอกจากจะมั่นใจว่าได้เนื้อหาที่สนุกน่าติดตามแล้ว ยังได้แฟนหนังสือ แฟนการ์ตูนตามมาดูเรื่องราวที่รักในเวอร์ชันภาพยนตร์อีกด้วย แต่เรา ๆ ก็รู้กันดีว่าในขั้นตอนดัดแปลงนิยายหรือการ์ตูนเหล่านี้มาเป็นบทภาพยนตร์นั้น บางเรื่องก็ต้องผ่านมือเขียนบทหลายคนจนกว่าสตูดิโอจะพอใจ แต่เมื่อผ่านขั้นตอนนี้เนื้อหาบางส่วนบางตอนก็ต้องถูกกตัดทอนหรือดัดแปลงจนต่างไปจากเรื่องราวต้นฉบับ แน่นอนว่าเจ้าของเรื่องจะไม่ถูกใจที่ผลงานตัวเองถูกดัดแปลง กลายเป็นดราม่าระหว่างผู้เขียนที่เป็นเจ้าของเรื่องกับสตูดิโอผู้สร้างมานักต่อนัก ก็ไม่ส่งผลดีนักในขั้นตอนการทำการตลาดของหนัง ส่วนใหญ่หนังก็มักจะคว่ำตอนออกฉาย แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องจะลงเอยแบบนี้ ก็มีบ้างที่ดัดแปลงเนื้อหาจากต้นฉบับแล้วหนังก็ออกมาถูกใจบรรดาผู้ชมและนักวิจารณ์ จนได้เงินได้รางวัล และนี่คือหนังฮอลลีวูด 9 เรื่องที่ประสบความสำเร็จเพราะไม่แคร์เนื้อหาต้นฉบับ
1.Adaptation (2002)
เป็นหนังอีกเรื่องที่ได้ นิโคลาส เคจ มารับบทนำได้อย่างเหมาะสมแล้วช่วยยกระดับให้หนังน่าสนใจขึ้น เพราะยังอยู่ในยุครุ่งเรืองของเคจ Adaptaion เป็นผลงานขึ้นหิ้งของคู่หูคู่แปลกในวงการฮอลลีวูด ผู้กำกับ สไปก์ จอนซี่ (Spike Jonze) และมือเขียนบท ชาร์ลี คอฟแมน (Charlie Kaufman) ที่เคยประสบความสำเร็จร่วมกันมาแล้วก่อนหน้านี้กับ Being John Malkovich (1999)
แม้ว่าผลงานเรื่องนี้จะดัดแปลงมาจากหนังสือที่บันทึกจากเหตุการณ์จริงเรื่อง “The Orchid Thief” ผลงานของ ซูซาน ออร์ลีน (Susan Orlean) เนื้อหาในหนังสือนั้น เล่าเรื่องราวของ จอห์น ลาโรช (John Laroche) นายหน้าขายดอกกล้วยไม้ที่โดนตำรวจจับกุมเหตุเพราะพยายามขโมยกล้วยไม้ผีอเมริกา (ghost orchid) มาเพาะพันธุ์ขายซึ่งเป็นกล้วยไม้ป่าพันธุ์หายาก แต่คอฟแมนก็ไม่ได้ดัดแปลงบทภาพยนตร์มาตามเนื้อหาในหนังสือ แต่เลือกจะดัดแปลงในทิศทางที่ประหลาดและไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะชาร์ลี คอฟแมน ใส่ตัวเองลงไปเป็นบทนำของเรื่อง แล้วให้นิโคลาส เคจ รับบทเป็นตัวเขา นักเขียนบทภาพยนตร์ที่กำลังเคร่งเครียดกับการดัดแปลงนิยาย The Orchid Thief ให้ออกเป็นบทภาพยนตร์
ซึ่งไอเดียหลุดโลกนี้ก็ทำเอาออร์ลีนช็อกไปเหมือนกัน แต่สุดท้าย Adaptation ก็ได้พิสูจน์คุณค่าของตัวมันเอง ด้วยการกวาดมา 65 รางวัลจากทุกเวที ซึ่งรวมไปถึงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบชาย ที่ตกเป็นของ คริส คูเปอร์ (Chris Cooper) ผู้รับบทเป็น จอห์น ลาโรช และแน่นอนว่า ชาร์ลี คอฟแมน ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมด้วย
2.Mary Poppins (1964)
คงไม่ต้องอธิบายว่า Mary Poppins เป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จเพียงใด ผ่านมาถึงวันนี้หนังก็มีอายุ 57 ปีแล้ว ต่อให้ใครที่เกิดไม่ทันก็ยังได้รู้ถึงกิตติศัพท์ของหนังเรื่องนี้กันเป็นอย่างดี ขนาดที่ว่าผ่านมา 51 ปีแล้ว หนังยังมี Mary Poppins Returns ภาคต่อตามมาได้ในปี 2018
Mary Poppins เป็นนิยายชุดสำหรับเด็ก เขียนโดย พี.แอล. เทรเวอร์ส (P.L. Travers) หนังสือออกมาตั้งแต่ปี 1934 จนถึง 1988 เป็นนิยายที่เด็ก ๆ ทั่วโลกในยุคนั้นชื่นชอบ รวมไปถึงบรรดาลูก ๆ ของ วอล์ต ดิสนีย์ เจ้าของอาณาจักรดิสนีย์ด้วย ลูก ๆ ก็คะยั้นคะยอให้พ่อดัดแปลง Mary Poppins เป็นภาพยนตร์ คุณพ่อวอลต์ก็ตามใจลูก ๆ ด้วยการติดต่อหว่านล้อมขอซื้อลิขสิทธิ์จากเทรเวอร์สมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ตัวเทรเวอร์สนั้นหวงแหนนิยายของเธอมาก และยืนกรานปฏิเสธมาโดยตลอด เรื่องราวช่วงนี้ระหว่างวอลต์ ดิสนีย์ กับ พี.แอล. เทรเวอร์ส ถูกหยิบมาสร้างเป็นภาพยนตร์ Saving Mr. Banks ปี 2013 ได้นักแสดงมากฝีมือ ทอม แฮงก์ส และ เอ็มมา ธอมป์สัน มารับบทนำ เป็นหนังที่สนุกมากเรื่องหนึ่ง
ในที่สุดวอลต์ ดิสนีย์ ก็ใช้วาทศิลป์หว่านล้อมจนเทรเวอร์สมอบลิขสิทธิ์มาให้จนได้ แต่เรื่องราวยังไม่จบแค่นั้น เพราะบุคลิกลักษณะของ แมรี่ ป๊อปปินส์ ที่เทรเวอร์สบรรยายไว้ในนิยายนั้นภาพลักษณ์ภายนอกของเธอเป็นคนใจร้ายและเยือกเย็น แต่ซุกซ่อนความพิศวงไว้ภายในลึก ๆ และด้วยภาพลักษณ์อันโดดเด่นของแมรี่ ป๊อปปินส์ นี่ล่ะ ที่ผิดกับแนวทางหนังเด็กและครอบครัวของดิสนีย์ และยิ่งได้ จูลี่ แอนดรูว์ (Julie Andrew) นักแสดงสาวชื่อดังยินยอมมารับบทเป็นแมรี่ ป๊อปปินส์ อีกด้วย วอลต์จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแมรี่ ป๊อปปินส์ ให้เป็นพี่เลี้ยงที่สดใสเริงร่า ตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ในหนังสืออย่างสิ้นเชิง แน่นอนว่าย่อมไม่เป็นที่พอใจของ พี.แอล. เทรเวอร์ส เจ้าของเรื่อง
แต่สุดท้ายวอลต์ ดิสนีย์ ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าวิสัยทัศน์ของเขาไม่ผิดพลาด หนังเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ชมทั่วโลก และกลายเป็นหนังไลฟ์แอ็กชันเรื่องแรกของดิสนีย์ที่ประสบความสำเร็จ แถมยังได้ 5 ออสการ์อีกด้วย หนึ่งในนั้นก็คือรางวัลสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ตกเป็นของจูลี่ แอนดรูว์ จนทุกวันนี้ผู้ชมทั่วโลกต่างก็จดจำ Mary Poppins ได้ในฐานะหนังคลาสสิกของวอลต์ ดิสนีย์ ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้เลยว่าเคยมีนิยายต้นฉบับมาก่อนด้วย
3.Blade Runner (1982)
Blade Runner จัดได้ว่าเป็นหนังไซไฟที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งที่ฮอลลีวูดเคยสร้างออกมา เช่นดียวกับ Mary Poppins เรื่องก่อนหน้านี้ ที่แม้ว่าจะผ่านไปหลายทศวรรษแล้วแต่หนังก็น่าจะยังมีศักยภาพเรียกแฟนเดนตายจากหนังต้นฉบับและคนรุ่นใหม่ให้มาดูหนังภาคต่อ จึงได้สร้าง Blade Runner 2049 ตามออกมาในปี 2017 ทิ้งช่วงห่างจากภาคแรกถึง 35 ปี
ย้อนกลับไปที่ Blade Runner ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อดัง “Do Androids Dream of Electric Sheep” ของปรมาจารย์นักเขียนไซไฟระดับโลก ฟิลลิป เค. ดิก (Phillip k. Dick) ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 1968 เป็นเทรนด์นิยมมาตั้งแต่ยุคโน้นแล้วว่า นิยายที่ขายดีก็มักจะถูกซื้อมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ซึ่งดิกก็บอกปฏิเสธบรรดาผู้สร้างมานักต่อนัก เหตุเพราะเขาไม่เชื่อมั่นในทีมผู้สร้างฮอลลีวูด ที่อาจจะไม่ซื่อสัตย์ต่อเนื้อหาในนิยายของเขา จนกว่าเขาจะได้มีสิทธิ์มีเสียงในขั้นตอนการสร้างด้วย จนมาบรรลุข้อตกลงกับวอร์เนอร์สตูดิโอ ดิกได้สิทธิ์ในการอ่านและอนุมัติบทภาพยนตร์ก่อนสร้าง ซึ่งดิกก็ตีบทกลับไปหลายรอบ จนเวอร์ชันสุดท้ายอยู่ในความรับผิดชอบของ เดวิด พีเพิล (David People) แต่โชคร้ายที่ดิกเกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตก อยู่ในสภาพแน่นิ่งไม่ได้สติ โปรเจกต์หนังจึงเดินหน้าโดยไม่ต้องรับความเห็นชอบจากดิกอีกต่อไป
และบทเวอร์ชันสุดท้ายก็ดัดแปลงจนห่างไกลจากนิยายต้นฉบับ ที่เล่าเรื่อง ริก เด็กคาร์ด (Rick Deckard)ตำรวจอนาคตที่คอยตามล่าเหล่า เรพลิแคนต์ (replicant)แอนดรอยด์ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์จนไม่สามารถสังเกตได้ และอีกบทบาทเด่นก็คือ จอห์น ไอซิดอร์ (John Isidore)มนุษย์โลกที่คอยให้ความช่วยเหลือเหล่าแอนดรอยด์หลบหนีการตามล่าของเด็กคาร์ด ซึ่งเรื่องราวของทางฝั่งอิซิดอร์นั้น เล่ามุมมองในฝั่งตรงข้ามกับเด็กคาร์ดเลย
แต่ทีมผู้เขียนก็เล็งเห็นว่าสมควรตัดเรื่องราวของไอซิดอร์ออกไปเสีย แล้วมาใช้เวลาทำให้ตัวละครแอนดรอยด์ดูมีชีวิตจิตใจเหมือนมนุษย์มากขึ้น ดังที่เราเห็นผ่านบทบาท รอย แบตตี้ ของ รัตเกอร์ เฮาเออร์ (Rutger Hauer)ที่สามารถหลั่งน้ำตาได้ ผลกลับกลายเป็นว่าเนื้อหาของหนังกลับดูทะเยอทะยานไปไกลเสียยิ่งกว่านิยายต้นฉบับเสียอีก ทำให้ Blade Runner เป็นอีกหนึ่งหนังคลาสสิกที่ได้รับการกล่าวขวัญและยกย่องมาจวบจนปัจจุบัน
4.Who Framed Roger Rabbit? (1988)
โรเบิร์ต เซเม็กคิส (Robert Zemeckis) คือผู้กำกับที่สร้างปรากฏการณ์มากมายในโลกภาพยนตร์ฮอลลีวูด เขาสร้างชื่อเสียงจากหนังไตรภาค Back to the Future ย้อนไปในปี 1988 หลังจากเขาเสร็จสิ้นงาน Back to the Future ภาคแรก เซเม็กคิสยังไม่ตัดสินใจสานต่อ Back to the Future II แต่ยังสนุกอยู่กับงานซีจีที่น่าตื่นตาในโลกภาพยนตร์ ผลงานต่อไปของเขาจึงเลือกที่จะทดลองเล่นกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วยการ สร้างหนังที่คนแสดงร่วมกับตัวการ์ตูน ออกมาเป็นภาพยนตร์ Who Framed Roger Rabbit? ที่นับว่าตื่นตาตื่นใจผู้ชมอย่างมากในวันนั้น
หนังดัดแปลงมาจากนิยาย “Who Censored Roger Rabbit” ผลงานของ แกรี่ เค.วูล์ฟ (Gary K. Wolf) ตีพิมพ์เมื่อปี 1981 แต่ก็เป็นการดัดแปลงที่หยิบเค้าโครงเรื่องมาแบบผิวเผินเท่านั้น เพราะว่าเนื้อหาในหนังสือนั้นหม่นกว่ามาก ออกแนวฟิล์มนัวร์เลย ในขณะที่หนังออกมาในแนวสดใสเจิดจ้า ตัวละครมีสีสันสดใส ที่จำเป็นต้องออกมาในทิศทางนี้เพราะ Who Framed Roger Rabbit? คือหนังที่พะยี่ห้อดิสนีย์นั่นเอง จะต้องเป็นหนังที่ดูได้ทั้งครอบครัว
ก็กลายเป็นว่าดิสนีย์ตัดสินใจถูกอีกครั้ง ที่ไม่ยึดเนื้อหาทั้งหมดจากนิยายต้นฉบับ แล้วเน้นจุดขายไปที่เทคโนโลยีใหม่ที่จับตัวการ์ตูนมาแสดงร่วมกับคนได้ พร้อมทั้งขายทีมนักแสดงชื่อดังในยุคนั้นทั้ง บ็อบ ฮอสกินส์, คริสโตเฟอร์ ลอยด์ และ โจแอนนา แคสสิดี้ พอหนังออกฉายก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก หนังเป็นที่ชื่นชอบทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์ กวาดรายได้ไป 329 ล้านเหรียญ จากทุนสร้างเพียง 70 ล้านเหรียญ ไม่เพียงแค่นั้น ยังคว้าออสการ์มาได้อีก 4 ตัวด้วย
5.Forrest Gump (1994)
นี่ก็อีกเรื่องที่เป็นผลงานของผู้กำกับ โรเบิร์ต เซเม็กคิส กับ Forrest Gump อีกหนึ่งภาพยนตร์ที่คนทั่วโลกหลงรักตลอดกาล แต่แทบจะไม่มีใครรู้เลยว่า Forrest Gump มีต้นฉบับเป็นนิยายชื่อเดียวกันของ วินสตัน กรูม (Winston Groom) ตีพิมพ์เมื่อปี 1986 ตัวหนังสือไม่ประสบความสำเร็จนัก ขายได้ประมาณ 10,000 เล่มแค่นั้น แต่พอดัดแปลงเป็นภาพยนตร์แล้ว ยอดขายก็พุ่งทะยานเกิน 1 ล้านเล่ม
เดิมทีนิยาย Forrest Gump ก็เป็นที่สนใจของผู้สร้างภาพยนตร์หลายราย เคยเอาไปเสนอให้ผู้กำกับ เทอรี่ กิลเลียม (Terry Gilliam) แต่ก็ถูกบอกปฏิเสธ จนมาถึง โรเบิร์ต เซเม็กคิส ที่ตอบรับกำกับ แต่ขอดัดแปลงเนื้อหาจากหนังสือไปในทิศทางของเขาเอง แต่ยังคงหัวใจหลักของเรื่องราวไว้ว่า ฟอร์เรสต์ กัมป์ เป็นชายหนุ่มหัวทึบ แต่สมถะและอ่อนน้อมถ่อมตน แล้วก็ช่างบังเอิญไปมีบทบาทสำคัญทางประวัติศาสตร์เสียมากมาย
ส่วนที่แตกต่างจากหนังสือหลัก ๆ เลยก็คือ เน้นหนักไปที่ตัวฟอร์เรสต์ กัมป์ มากขึ้น และปรับโทนให้ดูสดใสมากขึ้น เพราะในหนังสือนั้นเนื้อหามืดหม่นกว่ามาก เพราะเขียนให้กัมป์ใช้ยาเสพติด เล่นการพนัน แล้วก็ยังเคยไปเป็นนักมวยปล้ำด้วย บวกกับหนังได้ทอม แฮงก์ส มารับบทเป็น ฟอร์เรสต์ กัมป์ การเขียนให้กัมป์เป็นคนใสซื่อบริสุทธิ์ ดูจะเข้าทางกับทอม แฮงก์สมากกว่า และน่าจะเป็นที่ชื่นชอบของคนดู หนังก็เลยเพิ่มเนื้อหาด้านชีวิตรักของกัมป์เข้ามา แต่ก็ยังคงเน้นด้านศีลธรรมในตัวกัมป์ออกมาให้เด่นชัด
ผลสำเร็จของ Forrest Gump เป็นที่ประจักษ์กันดีอยู่แล้ว หนังใช้ทุนสร้างไปเพียงแค่ 50 ล้านเหรียญ แต่กวาดรายได้ทั่วโลกไปมากถึง 678 ล้านเหรียญ และคว้าไปได้ถึง 6 รางวัลออสการ์ ซึ่งรวมถึง 3 สาขาใหญ่อย่าง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ทุกวันนี้วลี คำคมต่าง ๆ จากในหนังก็ยังคงวนเวียนอยู่ในโลกออนไลน์และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป
6.Willy Wonka And The Chocolate Factory (1971)
บรรดานักอ่านหลายคนรู้จักชื่อเสียงของ โรอาลด์ ดาห์ล (Roald Dahl) กันเป็นอย่างดีในฐานะนักเขียนนิยายและเรื่องสั้นสำหรับเด็ก เขามีงานเขียนที่โด่งดังระดับโลกหลายเรื่องเช่น Mthilda, James and the Giant Peach, Fantastic Mr Fox และ Willy Wonka and the Chocolate Factory ซึ่งล้วนแต่ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์แล้วทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่องหลังนี่ กลายเป็นภาพยนตร์หลังจากหนังสือออกมาได้เพียง 7 ปีเท่านั้น และกลายเป็นภาพยนตร์คลาสสิกที่ถูกกล่าวขวัญต่อเนื่องมา 4 ทศวรรษ
เหตุหนึ่งที่หนังประสบความสำเร็จนั่นก็เพราะเรื่องราวที่มีเสน่ห์ บรรดาตัวละครที่มีสีสัน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ดีสำหรับหนังที่สมาชิกครอบครัวจะเปิดดูด้วยกันได้อย่างไม่มีพิษภัย แต่เรื่องที่น่าประหลาดใจก็คือ แม้ว่าหนังจะประสบความสำเร็จ แต่โรอาลด์ ดาห์ล กลับไม่รู้สึกภูมิใจไปกับหนัง ซ้ำยังประกาศขอไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังเรื่องนี้ เพราะเขาไม่พอใจที่ผู้สร้างดัดแปลงเนื้อหาจนต่างจากต้นฉบับดั้งเดิมของเขาไปอย่างมาก แต่ถ้าย้อนกลับไปสืบสาวราวเรื่องแล้วก็ตำหนิผู้สร้างไม่ได้ด้วยในกรณีนี้ นั่นก็เพราะวอร์เนอร์สตูดิโอผู้สร้างเองก็ให้เกียรติกับโรอาลด์ ดาห์ล ด้วยการให้เขารับหน้าที่ดัดแปลงนิยายของตัวเองมาเป็นบทภาพยนตร์ แต่เมื่อใกล้ถึงวันต้องเปิดกล้องแล้ว ดาห์ลก็ยังเขียนบทไม่เสร็จ ทำให้วอร์เนอร์ต้องใช้วิธีการขั้นเด็ดขาด ส่งงานต่อให้กับ เดวิด เซลต์เซอร์ (David Seltzer) มือเขียนบทอีกคนหนึ่ง ตรงจุดนี้ล่ะที่ทำให้ดาห์ลไม่พอใจ เพราะเซลต์เซอร์ เพิ่มฉากใหม่ ๆ เข้าไปในเรื่อง อย่างเช่นห้องเครื่องดื่มมหัศจรรย์ fizzy drink lifting และใส่ตัวละคร สลักเวิร์ธกลับเข้าไปในเรื่องราวในบทบาทตัวแทนบริษัททำขนมผู้เป็นคู่แข่งของวิลลี่ วองก้า
องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้หนัง Willy Wonka and the Chocolate Factory ประสบความสำเร็จก็คือ ยีน ไวล์เดอร์ (Gene Wilder) ที่ถ่ายทอดภาพลักษณ์ของ วิลลี่ วองก้า ได้ออกมาน่ารักและมีเสน่ห์ เป็นตัวละครหลักของเรื่องที่ผู้ชมจะไม่มีวันลืม การแสดงของเขาสะกดผู้ชมได้อยู่หมัดได้ตั้งแต่วินาทีแรกที่เขาปรากฏตัวบนจอ
จากความสำเร็จของ Willy Wonka and the Chocolate Factory ทำให้ผู้กำกับ ทิม เบอร์ตัน อยากจะรีเมกตามวิสัยทัศน์ของเขาเอง ออกมาเป็น Charlie and the Chocolate Factory ในปี 2005 ได้ จอห์นนี่ เด็ปป์ มารับบทเป็น วิลลี่ วองก้า และยึดเนื้อหาตามนิยายต้นฉบับมากขึ้น แต่หนังก็ไม่สามารถสร้างความประทับใจต่อผู้ชมได้เท่าเวอร์ชันก่อนหน้า
7.First Blood (1982)
ถ้าเอ่ยชื่อ First Blood บางคนอาจจะไม่คุ้น แต่ถ้าบอกว่านี่คือ Rambo ภาคแรก ก็จะทำให้ร้องอ๋อออกมาได้ ในยุค 80s นั้น หนังสงครามเวียดนามค่อนข้างประสบความสำเร็จ มีตัวอย่างเด่น ๆ ก็เช่น Apocalypse Now และ The Deer Hunter ทางผู้สร้างก็เลยตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์นิยาย First Blood ที่เขียนโดย เดวิด มอร์เรล (David Morrell) ตีพิมพ์เมื่อปี 1972 มาดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์
ปัญหาก็คือเนื้อหาในนิยายนั่นโหดเลือดสาดมาก เพราะ จอห์น แรมโบ้ ในหนังสือนั้นเป็นทหารผ่านศึกจากสงครามเวียดนามที่โหดและบ้าเลือดมาก แม้สงครามเวียดนามจะจบไปแล้ว แต่สงครามสำหรับแรมโบ้ยังไม่จบ เขาก็เลยเปิดศึกอีกครั้งในอเมริกาแผ่นดินบ้านเกิดของตัวเอง เผอิญที่ว่าผู้สร้างได้ตัว ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน (Sylvester Stallone) มารับบทนำเป็น จอห์น แรมโบ้ ขณะนั้นเขาก็ขึ้นแท่นเป็นนักแสดงมีชื่อเสียงแล้ว เพราะตอนนั้นก็มี Rocky ออกมาแล้วถึง 3 ภาค จะให้พระเอกอย่างสตอลโลนมาสวมบทเป็นทหารผ่านศึกบ้าคลั่ง ก็กลัวจะเสียภาพลักษณ์พระเอกแถวหน้าของฮอลลีวูดได้
สุดท้ายตัวตนของ จอห์น แรมโบ้ ในเวอร์ชันภาพยนตร์ก็เลยต้องถูกขัดเกลาเสียใหม่ด้วยฝีมือของตัวสตอลโลนเอง ในฐานะที่เขาเป็นนักเขียนบทฝีมือดีคนหนึ่ง ผลงานบทภาพยนตร์ Rocky ภาคแรกของเขาก็ได้เข้าชิงออสการ์มาแล้วด้วย จอห์น แรมโบ้ ในเวอร์ชันของสตอลโลนก็เลยเป็นทหารผ่านศึกที่มีสภาพจิตใจบอบช้ำจากสนามรบ เมื่อเขากลับมายังบ้านเกิดก็ยังต้องเผชิญกับความข่มเหงจากคนรอบข้างอีกด้วย คนดูก็เลยได้เห็นมุมมองทางฝั่งของ จอห์น แรมโบ้ ว่าเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำแล้วก็ได้รู้สึกเห็นใจ เข้าใจว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจตอบโต้
ในนิยายต้นฉบับนั้น จอห์น แรมโบ้ เป็นฝ่ายเปิดฉากสังหารตำรวจ แต่ในหนังนั้นเขาไม่ได้เป็นคนลงมือแต่กลับถูกสถานการณ์รอบด้านบีบบังคับให้ต้องตอบโต้ แล้วที่สำคัญในหนังสือนั้น จอห์น แรมโบ้ ตายตอนจบด้วย ถ้าเดินเรื่องตามหนังสือ เราก็ไม่ได้เห็น Rambo สานต่อมาถึงภาค 5 นี่หรอก
8.There Will Be Blood (2007)
ผลงานเกริกเกียรติของ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน (Paul Thomas Anderson) และ แดเนียล เดย์ ลูวิส (Daniel Day-Lewis) ในปี 2007 ที่เข้าชิงออสการ์ถึง 8 รางวัล และคว้ามาได้ 2 รางวัลคือ ถ่ายภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ซึ่งครั้งนี้คือออสการ์ตัวที่ 2 จากทั้งหมด 3 ตัวของแดเนียล เดย์ ลูวิส
หนังดัดแปลงมาจากนิยายรุ่นดึกดำบรรพ์ชื่อ “Oil!” ผลงานของ อัปทัน ซินแคลร์ (Upton Sinclair) ที่ออกมาตั้งแต่ปี 1926 นู่นเลย ในนิยายนั้นเล่าเรื่องราวผ่านสายตาของ เจมส์ อาร์โนลด์ รอสส์ จูเนียร์ (James Arnold Ross Jr) ที่เติบโตมาท่ามกลางธุรกิจน้ำมันของพ่อ เนื้อหาในหนังสือนั้นเน้นหนักที่การเมือง แล้วก็มีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์สอดแทรกเข้ามาตลอดเรื่อง
80 ปีหลังจากที่นิยายถูกตีพิมพ์ถึงได้ไปเข้าตาผู้กำกับ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ที่เลือกหยิบมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ แต่ก็แค่หยิบยกมาเพียงเค้าโครงเรื่องเท่านั้น แล้วเขียนให้ตัวเอกของเรื่องคือ แดเนียล เพลนวิว (Daniel Plainview) บทบาทของ แดเนียล เดย์ ลูวิส นักธุรกิจเจ้าของกิจการน้ำมันผู้ใจคอโหดเหี้ยมมีความมุ่งหวังเดียวในชีวิตคือขยายกิจการขุดเจาะน้ำมันของเขาให้ยิ่งใหญ่ที่สุด และจัดการกับทุกคนที่อุปสรรค ซึ่งแน่นอนว่าลูวิสสามารถทำให้ แดเนียล เพลนวิว กลายเป็นตัวละครที่น่ารังเกียจที่สุด มีความละโมภที่สุดที่เคยปรากฏบนจอภาพยนตร์ แต่ถึงอย่างนั้น ตัวละครนี้ก็สามารถสะกดคนดูให้เกาะติดอยู่กับเขาได้จนตลอดเรื่อง สิ่งที่แตกต่างอย่างมากจากนิยายต้นฉบับคือผู้สร้างเลือกละทิ้งเนื้อหาในส่วนการเมือง แล้วมาเน้นหนักที่ความบาดหมางระหว่างเพลนวิวกับ พอล ซันเดย์ นักบวชผู้เป็นอริกับเขา
ผลลัพธ์ก็อย่างที่หลายคนได้ชมกันไปแล้ว บรรดาผู้ชมและนักวิจารณ์ ต่างยกให้ There Will Be Blood เป็นหนังที่ดีที่สุดในปี 2007 หรืออาจจะดีที่สุดในยุค 2000 เลย และเป็นที่แน่ชัดว่าหนังสามารถสร้างคุณค่าให้ตัวมันเองได้เหนือกว่านิยายต้นฉบับไปหลายเท่าตัวนัก
9.The Shining (1980)
ถ้าพูดถึงหนังที่บทภาพยนตร์ดัดแปลงแบบทิ้งห่างเนื้อหาต้นฉบับแล้วล่ะก็ เราจะขาดชื่อของ The Shining ไปไม่ได้ เพราะนี่คือผลงานของปรมาจารย์นักเขียนนิยายสยองขวัญ สตีเฟน คิง (Stephen King) ส่วนผู้กำกับก็คือ สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) ผู้กำกับชั้นครูที่ผู้คนทั้งวงการให้การยอมรับนับถือ มีผลงานระดับขึ้นหิ้งมากมายมาตลอดการทำงานทั้ง Spartacus, 2001: A Space Odyssey และ A Clockwork Orange
เมื่อคูบริกผู้ที่ผ่านหนังมาแทบทุกแนวแล้ว อยากจะลองทำหนังสยองขวัญดูบ้าง เขาก็เลือกหยิบนิยาย The Shining มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ แต่คูบริกก็เอาแค่เนื้อหาบางส่วนจากนิยายคงไว้ในหนังของเขา แล้วก็เล่าเรื่องราวจากนั้นผ่านวิสัยทัศน์ของเขาเอง ไม่สนใจแม้ว่า สตีเฟน คิง จะนั่งตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างบริหารเรื่องนี้ด้วย ในที่สุดคูบริกก็ลงมือเขียนบทภาพยนตร์ด้วยตัวเขาเอง คงเนื้อหาจากนิยายต้นฉบับไว้เพียงแค่เรื่องของ แจ็ก ทอร์แรนซ์ พาครอบครัวมาอยู่ที่โรงแรมในหุบเขาห่างไกลความเจริญแค่นั้น ส่วนฉากสยองขวัญต่าง ๆ ในเรื่องล้วนเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด แน่นอนว่าเมื่อนิยายตัวเองถูกปู้ยี่ปู้ยำเช่นนี้ สตีเฟน คิง ต้องไม่รู้สึกพอใจ เขาให้สัมภาษณ์ว่านี่คือบทภาพยนตร์ดัดแปลงที่แย่มาก และเป็นหนังจากนิยายของเขาที่เขาเกลียดเรื่องหนึ่ง
แต่เมื่อหนังได้ออกฉาย ก็ได้รับเสียงกล่าวขวัญที่บรรยากาศความน่ากลัวของหนังที่ส่งผ่านออกมาให้คนดูขนลุกได้ รวมไปถึงการแสดงของ แจ็ก นิโคลสัน ในบท แจ็ก ทอร์แรนซ์ ที่ถ่ายทอดความบ้าคลั่งออกมาได้น่ากลัว แต่ในวันที่ออกฉายนั้น เสียงจากนักวิจารณ์ยังมีปะปนกัน ทั้งฝ่ายที่ชอบและฝ่ายไม่ชอบ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป The Shining ก็ได้รับเสียงชื่นชมจากคนรุ่นต่อ ๆ มา และถูกยกย่องให้เป็นหนังสยองขวัญที่น่ากลัวที่สุดเรื่องหนึ่ง กลายเป็นผลงานมาสเตอร์พีซอีกเรื่องของ สแตนลีย์ คูบริก และเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นจากยุคป๊อปคัลเจอร์ ถึงขนาดที่ว่า สตีเวน สปิลเบิร์ก ยังเลือกหยิบฉากในโรงแรมมาใส่ไว้ในหนัง Ready Player One ของเขา