จริงๆเป็นความยากลำบากในการแนะนำหนังเรื่องนี้พอสมควร คงต้องเริ่มแนะนำกันตั้งแต่ว่าหนังเรื่องนี้ความน่าสนใจทั้งหมดทั้งมวลมาจากชื่อผู้กำกับทั้งสิ้น นั่นคือ พี่น้องโคเอน (Ethan Coen และ Joel Coen) พี่น้องโคเอนคือชื่อรับประกันคุณภาพของหนังระดับสูงแบบที่ดาราและนักแสดงดังๆ หลายคนขอมีโอกาสสักครั้งได้เล่นในหนังของสองคนนี้ (เหมือนประหนึ่งใบประกาศวิชาชีพนักแสดงขั้นสูงก็ไม่ปาน)
เพราะถ้าใครจะพูดถึงหนังชั้นเยี่ยมในยุคนี้ (ในแง่ความเป็นศิลปะและรสนิยมที่ดี) ก็ต้องพูดถึงหนังของพี่น้องคู่นี้ จนแทบกลายเป็นคำเปรียบเปรยที่หนังต่างๆ หรือคนที่ชอบดูหนัง มักชอบนำไปแซวเชิงเสียดสีว่า หนังของโคเอนเป็นหนังชั้นเยี่ยมที่คนเดินดินอาจเข้าไม่ถึงเท่าไหร่
แต่จะกล่าวแบบนั้นก็ไม่ถูกทั้งหมด เพราะกลุ่มเป้าหมายของหนังพี่น้องโคเอน นั้นจะว่าไปก็มีต่างกัน 2 กลุ่ม คือคนนิยมหนังมีระดับขึ้นหิ้งที่ดูปุ๊บเรารู้ทันทีว่านี่เป็นหนังเอากล่องที่ไม่พลาดสักรางวัลแน่ๆ อย่างตระกูล Fargo (1996) No Country for Old Men (2007) True Grit (2010) และ Inside Llewyn Davis (2013) ที่แต่ละเรื่องเห็นชื่อในหลากหลายเวที ทั้งยังเป็นหนังที่คอหนังฮาร์ดคอร์ระดับชาติต้องผ่านตามาแล้วทั้งนั้น
กับอีกกลุ่มคือตระกูลนิยมหนังตลกร้าย มีชั้นเชิง ที่ชอบรวมดาราดังๆ มาเล่นบทที่เราๆ ท่านๆ คาดไม่ค่อยถึง อย่างพวก O Brother, Where Art Thou? (2000) The Ladykillers (2004) Burn After Reading (2008) ซึ่งมักจะเว้นช่วงเป็นงานผ่อนคลายของสองพี่น้องจากหนังเครียดๆทั้งหลายด้วย ซึ่งหนังกลุ่มนี้จัดว่าดูง่าย ไม่ต้องตีความขั้นลึกแบบเลาะแผ่นฟิล์มเปิดตำราดู แต่กระนั้นก็ตามขึ้นชื่อว่าหนังพี่น้องโคเอนก็ย่อมมีความพิเศษบางอย่างอยู่ในนั้น ด้วยลีลาการเล่าเรื่อง พล็อตประหลาดๆ ยุ่งเหยิง ตัวละครที่มีเอกลักษณ์ชวนจดจำ และสาระในความบ้าๆ บอๆ อย่างคาดไม่ถึงด้วย
ซึ่งเกริ่นมาขนาดนี้เพื่อจะบอกว่า Hail, Caesar! เป็นหนังกลุ่มหลังนี่ล่ะ ดังนั้นเข้าโรงไปบันเทิงแบบเบาหัวได้เลย แต่เบาในที่นี้คือไม่ได้เบาสมองเอาฮาแบบหนังสามช่านะ คือเบาเมื่อเทียบกับหนังอื่นๆ ของโคเอน ก็จัดอยู่ในหนังตลกร้ายที่ต้องมีพื้นหลังความรู้นิดหน่อยในการดูล่ะนะ จะบอกว่าตลกปัญญาชนก็ว่าได้นะ ใครหวังเอาฮาแบบหนังพี่มากคงผิดหวังนะครับ แต่ใครชอบหนังตลกร้ายแบบฝรั่ง หรือแฟนหนังพี่น้องโคเอนนี่จะกรี๊ดกร๊าดน่าดูล่ะ
Hail, Caesar! เป็นงานสักการะวงการฮอลลีวู้ดยุคสำคัญในช่วงปีทศวรรษที่ 1950 ตอนที่หนังเริ่มมีสีมีเสียงแบบที่เราคุ้นตากันทั้งยังเป็นยุคบูมของหนังเพลง (เพราะตอนนั้นหนังมีเสียงในฟิล์มแล้ว) และหนังคาวบอย เรียกว่าเป็นยุคหนังที่หอมหวานและฮอลลีวู้ดชอบรำลึกถึงอยู่บ่อยๆ นั่นล่ะ
หนังเล่าถึง Eddie Mannix โปรดิวเซอร์ใหญ่ของ Capitol Pictures ที่วันๆ นอกจากต้องคอยคุมโปรเจคหนังให้สร้างได้ตลอดรอดฝั่ง ยังต้องคอยขจัดปัญหาต่างๆทั้งของนักแสดงและทีมงาน ตลอดปัจจัยภายนอกต่างๆที่อาจทำให้หนังสะดุดลงด้วย เรียกว่าตลอดเวลาในหนังเราแทบไม่ได้เห็นเขาพักเท่าไหร่เลย
และหนังเรื่องราวของจอมทัพโรมันผู้พานพบกับพระคริสต์อย่างเรื่อง Hail, Caesar! ก็คือหนังระดับเพชรยอดมงกุฎของสตูดิโอที่เอ็ดดี้ต้องดันให้ออกฉายให้ได้ ที่เหลือคือความวายป่วงที่วิ่งเข้ามาหาเอ็ดดี้ให้เราทั้งขำทั้งลุ้นไปกับเขานั่นเอง ตั้งแต่ดาราคาวบอยดาวรุ่งที่เคยคุยกับแค่ม้าแต่ต้องมาเล่นฉากดราม่าที่มีบทพูดซับซ้อนอย่างไม่ทันตั้งตัว นักแสดงสาวสวยที่มีปัญหาเรื่องผู้ชาย ดาราใหญ่ที่โดนลักพาตัวโดยกลุ่มคนลึกลับ นักข่าวซุบซิบที่คอยบัฟตอดเอาข่าวอยู่เรื่อย เป็นต้น
แค่เกริ่นๆ คาแรกเตอร์ตัวละครเราก็เห็นความวายป่วงแล้ว ยิ่งไม่ต้องนับในหนังเลยว่าจะสนุกขนาดไหน (ยิ่งว่าแต่ละคนที่ว่ามานี่ดาราดังๆทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Josh Brolin, George Clooney, Ralph Fiennes, Scarlett Johansson, Tilda Swinton และ Channing Tatum เป็นต้น ซึ่งที่ว่ามานี่แค่ส่วนหนึ่งเองนะ 555)
สรุป
เอาเป็นว่าใครหลงใหลหนังฮอลลีวู้ดยุคเก่าๆ อย่างหนังเพลง หรือคาวบอย (พยายามเลี่ยงคำว่านักดูหนังมีอายุล่ะนะ 555) ชอบดูหนังที่เล่าเกี่ยวกับเบื้องหลัง ชอบหนังแนวหายนะวายวอดจากความยุ่งเหยิงของคน ชอบหนังตลกร้าย รายละเอียดแพรวพราว มีหักมุมมีเซอร์ไพรส์ให้ตื่นตาตื่นใจตลอดเวลา ไม่ต้องถึงกับเป็นแฟนพี่น้องโคเอนก็ได้ จัดว่าหนังสนุกดูเพลินมากๆอยู่ทีเดียว (ฉากห้องพิจารณาบท กับห้องตัดต่อนี่แนะนำเลย 55) ส่วนใครชอบพี่น้องโคเอนและหนังแบบโคเอนเป็นทุนเดิม เรื่องนี้ดูเอามันได้เลยทีเดียวล่ะ
เกร็ดจากหนัง
ข้างล่างนี่ขอเสริมเกร็ดไว้โม้เวลาชวนเพื่อนชวนแฟนไปดู จะได้เสริมความเท่ให้เราเอง 555 (ไม่สปอยล์เนื้อหาสำคัญ) ก็อย่างที่บอกว่าหนังมันคารวะวงการฮอลลีวู้ดตัวละครแต่ละตัวนี่ก็เอามาจากคนจริงๆที่เคยทำงานในฮอลลีวู้ดทั้งนั้นเลย อย่าง
- Eddie Mannix (รับบทโดย Josh Brolin) เอามาจาก E.J. Mannix โปรดิวเซอร์สุดเก๋าที่คอยขจัดทุกปัญหาฉาวซึ่งทำงานให้ค่าย MGM
- Baird Whitlock (รับบทโดย George Clooney) ผสมขึ้นจากดาราระดับตำนานอย่าง Robert Taylor ซึ่งเคยเล่นเป็นจอมทัพโรมันชื่อมาร์คัสใน Quo Vadis (1951) Charlton Heston ที่เคยเล่นหนังตำนานอย่าง Ben-Hur (1959) และคนสุดท้าย Kirk Douglas ที่เล่นอีกตำนานอย่าง Spartacus (1960) นั่นเอง
- หนังเรื่อง Hail, Caesar! เองก็เอามาจาก Ben-Hur นั่นล่ะ เพราะมีชื่อสร้อยว่า A Tale of the Christ เหมือนกันด้วย
- DeeAnna Moran (รับบทโดย Scarlett Johansson) เอามาจากคาแรกเตอร์ของดาราชื่อ Esther Williams ในหนังเราจะเห็นฉากจากเรื่อง Million Dollar Mermaid (1952) ที่เธอเคยเล่น ส่วนพล็อตว่าด้วยปัญหาความรักนี่เอามาจากดาราสาวคนหนึ่งชื่อ Loretta Young แบบแทบจะเป๊ะๆเลย
- Burt Gurney (รับบทโดย Channing Tatum) เอามาจากดาราอย่าง Gene Kelly ที่โด่งดังมากจากเรื่อง Singin’ in the Rain (1952) ในหนังเราจะเห็นฉากกะลาสีจากเรื่อง On the Town (1949) ที่เขาเคยแสดงด้วย
- ฝาแฝดเหยี่ยวข่าว Thora และ Thesaly Thacker (รับบทโดย Tilda Swinton ทั้งคู่) ก็เอามาจากนักข่าวของ Hollywood reporter ที่ชื่อ Hedda Hopper ขณะที่พล็อตความไม่ลงรอยของฝาแฝดนี่ก็เอามาจากสองคอลัมนิสต์ที่ชื่อ Ann Landers (Pauline “Eppie” Friedman Lederer) กับ Abigail Van Buren (Pauline Friedman Phillips) ด้วย
- Carlota Valdez (รับบทโดย Veronica Osorio) เอามาจากตัวจริงอย่าง Carmen Miranda ส่วนชื่อคาร์โลตานี่เอามาจากตัวละครลึกลับตัวหนึ่งในเรื่อง Vertigo (1958)
- Hobie Doyle (รับบทโดย Alden Ehrenreich) เอามาจาก 4 ดาราหนังคาวบอยคลาสสิกอย่าง Howard Keel, Dick Foran, James Ellison และ Tim Holt นอกจากนี้มีฉากหนึ่งที่โฮบี้เอาเส้นสปาเก็ตตี้มาทำเป็นบ่วงบาศ ก็เป็นการเล่นคำถึงตระกูลหนังคาวบอยอิตาลีที่เรียกว่า spaghetti westerns ซึ่งโด่งดังมากในยุคนั้น ตัวอย่างที่รู้จักกันดีก็อย่างหนังสร้างชื่อให้ Clint Eastwood อย่าง The Good, the Bad and the Ugly (1966) ด้วย
- Laurence Laurentz (รับบทโดย Ralph Fiennes) เอามาจากผู้กำกับดังอย่าง Vincente Minnelli ที่สร้างหนังดังเรื่อง Gigi (1958)
- C.C. Calhoun (รับบทโดย Frances McDormand ซึ่งเป็นภรรยาของโจเอล โคเอนด้วย) เอามาจากมือตัดต่อหญิงอย่าง Margaret Booth ซึ่งเธอก็ตัดต่อหนังเรื่อง Gigi ให้ Minnelli แบบไม่ได้เครดิตคล้ายๆในเรื่องด้วยเช่นกัน
- และสุดท้าย ศาสตราจารย์ Marcuse ก็อิงมาจาก Herbert Marcuse นักทฤษฎีการเมืองที่มีชื่อในยุคนั้นด้วย