วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับมากฝีมือของวงการภาพยนตร์ไทยถือเป็นผู้กำกับคนล่าสุด ที่กระโดดมาร่วมสร้างหนังในสตรีมมิง โดยวิศิษฏ์เพิ่งจะมีผลงานเรื่อง ‘The Whole Truth ปริศนารูหลอน’ ภาพยนตร์แนวดราม่า-ระทึกขวัญที่กำลังร้อนแรงอย่างมาก หลังทะยานขึ้นอันดับ 1 บน Netflix ประเทศไทยทันทีที่ออกฉายเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา

เราได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับเขา ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของผลงานชิ้นนี้ รวมไปถึงแรงบันดาลใจเกี่ยวกับความจริงที่ซ่อนอยู่ภายใต้ ‘รู’ ซึ่งกลายมาเป็นแกนหลักของภาพยนตร์ อีกทั้งวิศิษฏ์จะมาบอกเล่าความจริงที่หลายคนยังไม่รู้เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้…

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ไม่ได้เขียนบทเอง

วิศิษฏ์: จริง ๆ สิ่งที่ทำให้ผมสนใจโปรเจกต์นี้ก็คือเรื่องบท บทของเรื่องนี้ผมไม่ได้เขียนเอง เป็นของทาง Netflix นำมาเสนอให้เรา พอครั้งแรกที่อ่านบทก็รู้สึกว่าชอบมาก ปกติผมก็จะทำจากหนังที่เขียนบทด้วยตัวเอง อันนี้พอเป็นบทของคนอื่นแล้วมันทำให้เราสนใจได้ขนาดนี้ ผมก็เลยคิดว่า เราคงปล่อยมันผ่านไปไม่ได้ เราอยากจะเห็นมันเป็นภาพ เพราะฉะนั้นเราก็เลยตัดสินใจว่ากระโดดเข้ามาทำ

ไอเดียที่เปลี่ยนไปจากหนังโรงสู่หนังสตรีมมิง

วิศิษฏ์: เราพยายามทำให้มันเป็นสากล เข้าใจง่าย ไม่เป็นอะไรที่เป็น localize เป็นพื้นบ้านของเรามากจนคนอาจจะไม่เก็ต ซึ่งเรื่องของครอบครัวมันก็เป็นสากลอยู่แล้ว เรื่องของความลับในครอบครัว เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะโดนความรู้สึกของคนในทั่วโลก เพราะฉะนั้นเราคำนึงถึงข้อนี้ว่า เขาเข้าใจมันไหม หรือว่าเขาจะสนุกไปกับมันด้วยได้ไหม ต่อให้มันเป็นหนังที่ต้องอ่าน subtitle เป็นต่างชาติ เราก็คิดถึงเวลาที่เราดูหนังต่างชาติ แล้วเราอินไปกับมันได้ เราก็พยายามจะทำให้มันได้ระดับนั้นนะ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะสำเร็จไหม ก็เป็นการทดลองอย่างหนึ่ง 

ตัวละครแต่ละตัวเป็นการสะท้อนความจริงในมุมมองที่ต่างกัน ซึ่งก็มีทั้งความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเรื่องของการบูลลี่ในโรงเรียน วัฒนธรรมการทำงานในองค์กร ความอยุติธรรมในสังคม ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คุณอยากจะถ่ายทอดออกมาสู่ผลงานชิ้นนี้หรือเปล่า

วิศิษฏ์: จริง ๆ เรื่องพวกนี้มันอยู่ในสังคมเราโดยปกติอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยนะ ทั่วโลกช่วงนี้มันเป็นช่วงของรอยต่อระหว่างรุ่น ซึ่งมันจะเกิดช่องว่างที่เรียกว่า generation gap เราก็ไม่ได้ตั้งใจจะสะท้อนเรื่องพวกนี้มาก แต่ว่าในเรื่องครอบครัว มันมีอยู่แล้ว เราสังเกตได้ง่าย ๆ ก็คือ ทุกครอบครัวจะมีปัญหาตรงนี้ ไม่มากก็น้อย ผมเลยเชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่คนดูจะเข้าใจมันง่าย เพราะว่ามันมีเรื่องของสิ่งที่เราต้องเจอกับสมาชิกในครอบครัวการพูดคุยกัน ความเข้าใจ หรือกระทั่งการปกปิดบางอย่าง ซึ่งมันเป็นเรื่องจำเป็นเหมือนกัน สำหรับครอบครัวบางครอบครัวที่จำเป็นต้องปกปิด บางสิ่งบางอย่าง เพราะว่าบางครั้ง เด็กอาจจะไม่เข้าใจบริบทสมัยพ่อแม่ หรือว่าพ่อแม่อาจจะไม่เข้าใจบริบทสมัยลูก ต่างคนต่างต้องปกปิดกัน

ลายเซ็นของ ‘วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง’ ที่ฝากไว้ใน The Whole Truth 

วิศิษฏ์: ผมจะไม่ใช่ขนบที่ว่าบางทีหนังน่ากลัวต้องมืด ต้องอะไรมาก เราก็อยากจะสวยด้วย ดูแล้วสวยไปด้วย ดูเป็นภาพ ๆ ก็สวยด้วย อันนี้เรียกว่าเป็นนิสัยส่วนตัว ซึ่งแก้ไม่หาย คือชอบอะไรสวย ๆ อันนี้ส่วนหนึ่ง แล้วก็ดนตรี เป็นสิ่งที่ผมชอบ เราพยายามจะใส่เพลงเก่าเข้าไปในหนังเกือบทุกเรื่อง ไม่รู้เรียกว่าลายเซ็น หรือเรียกว่าอุปนิสัยที่แก้ไม่หาย แต่ว่ามันมีความเป็นผมนิดหน่อย ที่จะทำให้มันมีรสชาติ แตกต่างไปนิดหนึ่ง

ถ้าเราพูดถึงหนังสยองขวัญหรือหนังผี ไฮไลต์สำคัญคือเรื่องของความกลัว ความระทึกที่เกิดขึ้น แต่เรื่องนี้ความน่ากลัวที่แท้จริงคือความจริง?

วิศิษฏ์: ถูกต้อง ความจริงบางอย่างมันก็น่ากลัว คือบางเรื่องเราก็อย่าไปรู้เลย แต่ว่าในหนังเนี่ย มันคือเหมือนกับว่า มันจะพูดถึงสิ่งที่ถูกซุกซ่อนไว้ แล้วบางทีเราไม่ได้ตั้งใจจะเผยมัน แต่มันจะค่อย ๆ เผยตัวเองออกมา หรือบางครั้งเมื่อเราขุดลงไป แล้วเราพบความจริงแล้ว เราอาจจะรู้สึกว่า เรารู้แล้ว เรารู้ความจริงแล้ว แต่ความจริงในโลกนี้มันมีหลายชั้น บางทีเราอาจนึกว่าเราจบแค่นี้แล้ว เราขุดลงไปอีก ดันเจออีก บางทีความจริงที่แท้จริงเนี่ย เราไม่รู้ว่าอะไรคือความจริงที่แท้จริง แล้วสิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ความที่เราไม่รู้จริง ๆ ว่าอะไรจริง บางเรื่องที่เราพูดกันทุกวันนี้ เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราพูดมา หรือประวัติศาสตร์ที่เขียนมา มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า เราอาจจะเจอความจริงที่มันไม่ใช่อย่างที่เรารู้สึกเลย อันนี้ก็จะเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องนี้

ทฤษฎีรูหนอนและไอเดียจากการ์ตูนมังงะที่ซ่อนอยู่ในรูนี้

วิศิษฏ์: จริง ๆ ก็ยอมรับว่าเราก็ชื่นชอบ อย่างที่พูดถึงมังงะ ก็คือ จุนจิ อิโต (Junji Ito) ซึ่งเป็นนักเขียนโปรดของผมอยู่แล้ว อันนี้ก็เป็นการใส่สิ่งที่ผมชอบลงไป ซึ่งไม่ได้เพิ่งใส่เข้าไปเรื่องแรกนะครับ แต่ว่าอย่างทฤษฎีรูหนอน ผมว่าทั่วโลกมีหมด แต่เราอาจจะไม่ได้คิดไป เรื่องพวกทวิภพ อย่างกระจกทะลุกาลเวลา มันเป็นทฤษฎีสากลซึ่งบางครั้งส่วนตัวผมมองว่ามันอาจจะเป็นแค่ illusion ที่เราคิดไปเอง ตีความไปเองก็ได้ เป็นสิ่งที่เหมือนกับ เราพยายามจะอธิบายสิ่งที่มันเชื่อมต่อกัน ด้วยสิ่งที่เราพอจะจินตนาการออก

ผมเคยคิดว่าคนที่จินตนาการแล้วก็เห็นอะไรบางอย่างไปเอง อย่างสมมติ คนที่มีปัญหาเรื่องระบบประสาท เขาอาจจะเห็นภาพนั้นขึ้นมาจริง ๆ เขาไม่ได้หลอกตัวเอง แต่คนอื่นไม่เห็น ซึ่งมันก็เลยกลายเป็นว่าคนคนนั้นถูกมองว่าเป็นคนบ้าไป อันนี้คือสิ่งที่เราพยายามจะบอกว่า ภาษาไทยเขาเรียกว่า สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งเห็นอย่าง อีกคนหนึ่งเห็นอย่าง มันเป็นเรื่องนามธรรมพอสมควรนะ ยิ่งพูดเดี๋ยวก็ยิ่งเครียดนะ แต่ใครอยากจะตีความก็ได้ครับ แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน

‘ความจริง’ และ ‘ตัวตน’ ที่เปลี่ยนไปในวันนี้ของ ‘วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง’

วิศิษฏ์: ความเปลี่ยนแปลงจริง ๆ มันก็คือ อายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมันก็มาพร้อมกับการที่เราอาจจะ ไม่พุ่งพล่านเท่าเดิม เราก็จะนิ่งขึ้น มันก็ค่อย ๆ เรียนรู้เองว่า บางอย่างเราไม่จำเป็นต้องเป๊ะขนาดนั้น หรือไม่จำเป็นต้องหัวชนฝาขนาดนั้น มันมีวิธีอื่น มีวิธีต่าง ๆ แต่สมัยแรก ๆ เราก็อาจจะไฟแรงไปนิดหนึ่ง งานเราก็เลยสุดโต่ง บางทีคนดูก็รับไม่ได้ เราก็ไม่ได้โทษคนดู เราโทษตัวเราเองว่าบางทีเราเอาแต่ใจมากไป มันก็จะค่อย ๆ ถูกปรับเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ เราก็เริ่มเข้าใจตลาดมากขึ้น จะเรียกว่าเปลี่ยนไป หรือว่าจะเรียกว่าเข้ารูปเข้ารอยขึ้นก็ได้ แต่จริง ๆ เราก็ไม่ได้สูญเสียวิญญาณอะไร เพียงแต่เราเรียนรู้มากขึ้น แล้วเราก็เข้าใจแล้วว่าถ้าคนดูเขาอยากจะเสพอะไร 

นักวิจารณ์บางคนก็มองว่าเราแผ่วลง เราเป็นหนังตลาดมากขึ้น ซึ่งก็ถูกต้องนะ เราก็อยากจะทำให้คนจำนวนมาก ๆ ดู อย่างที่โดดเข้ามาโปรเจกต์นี้ของ Netflix ก็คือ เราก็อยากให้หนังมันกระจายไปสู่สายตาคนดูนอกประเทศด้วยก็หวังว่า มันจะมีคนชอบมันบ้าง 

ความท้าทายของการเป็นคนทำภาพยนตร์ในประเทศไทยคืออะไร

วิศิษฏ์: ความท้าทายก็คือการสามารถมีชีวิตรอด แล้วก็เลี้ยงตัวเองได้ คือต้องยอมรับว่าเราไม่ได้เป็นมหาอำนาจทางภาพยนตร์ ไม่เหมือนเกาหลี ไม่เหมือนอะไร เราเป็นประเทศเล็ก ๆ แล้วก็ทำหนังแบบที่เรียกว่าเลี้ยงตัวเองให้ได้ไปด้วยเนี่ย มันค่อนข้างลำบาก ผมยอมรับเลยว่าเมื่อก่อนผมก็ทำงานโฆษณาเลี้ยงตัวเอง แล้วก็มาทำหนังเพราะว่าใจรัก แต่คนหลายคน ผู้กำกับหลายคนเขาก็ทำอย่างนั้นไม่ได้ เขาก็จำเป็นต้องเลี้ยงตัวเอง เพราะฉะนั้นบางครั้งเนี่ย เรารู้สึกว่าสิ่งที่ลำบากก็คือ ทำยังไงให้มันบาลานซ์กับชีวิตได้ ทำยังไงให้เรายังหลงเหลือตัวตน หลงเหลือความเป็นภาพยนตร์ในแบบของเราอยู่ อันนั้นเป็นความท้าทายมาก แล้วก็ถามว่าเราต้องการอะไร แน่นอนเราก็ต้องการ การสนับสนุนส่งเสริม แต่ว่าเรื่องพวกนี้เราก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรมาก เพราะว่าเราขี้เกียจเรียกร้องแล้ว เราเรียกร้องไปเยอะ แต่ว่าทุกวันนี้เราก็ช่วยตัวเองกันอยู่ตลอดเวลา หรือว่าการเดินทางไปเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับภาพยนตร์ไทยในเวทีโลก เราก็ไปกันด้วยตัวเองส่วนใหญ่ เราก็ไม่ได้รับการสนับสนุนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันก็เป็นอย่างนี้มานานแล้ว สิ่งที่เราท้าทายก็คือ เราจะอยู่อย่างนี้ไปได้อีกนานสักแค่ไหน โดยที่ไม่หมดแรงไปก่อน ก็หลายคนก็หมดแรงไปแล้ว ก็เสียดายมาก เสียดายฝีมือ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส