เลดี้ กาก้า (Lady Gaga) กลับมาสู่วงการภาพยนตร์อีกครั้งใน ‘House of Gucci’ กับบทปาทริเซีย เรจจิอานี (Patrizia Reggiani) ภรรยาของทายาทรุ่นที่ 3 ของกุชชีอย่าง เมาริซิโอ กุชชี (Maurizio Gucci) ที่รับบทโดยนักแสดงหนุ่ม อดัม ไดร์เวอร์ (Adam Driver)
House of Gucci เป็นหนังที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงของตระกูลกุชชี ที่มีทั้งเรื่องของความรัก การแก้แค้น การทรยศ และคดีฆาตรกรรมที่สั่นสะเทือนไปทั่ววงการแฟชั่น
เนื้อหาที่นำมาสร้างใน House of Gucci เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงของคนในตระกูลกุชชี ที่แย่งชิงทรัพย์สมบัติของ กุชชิโอ กุชชี (Guccio Gucci) ผู้เป็นพ่อและเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท
เมื่อกุชชิโอได้เสียชีวิตลง ลูกทั้ง 3 คนของเขาได้แบ่งหุ้นเท่า ๆ กันและเข้ามาบริหารดูแล Gucci ต่อจากพ่อ โดยมีอัลโด กุชชี (Aldo Gucci) เป็นหัวเรือสำคัญเพราะมีความสามารถในการบริหาร และ โรดอลโฟ กุชชี (Rodolfo Gucci) ก็เข้ามาช่วยดูแลภาพรวมต่าง ๆ ส่วนวาสโก กุชชี (Vasco Gucci) ลูกชายคนกลางได้เสียชีวิตลงในเวลาต่อมา จึงทำให้อัลโดและโรดอลโฟเข้าถือหุ้น Gucci คนละ 50%
ต่อมาอัลโดก่อตั้ง ‘Gucci Perfumes’ โดยเขาถือหุ้นถึง 80% และแบ่งหุุ้นที่เหลือเท่า ๆ กันให้กับลูกทั้ง 3 คนและโรดอลโฟ เมื่อโรดอลโฟเห็นว่า Gucci Perfumes ทำยอดขายได้ดีอย่างต่อเนื่อง เขาก็เริ่มรู้สึกว่าจำนวนหุ้นที่ตนถืออยู่มันไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่นัก ทีแรกโรดอลโฟพยายามขอคุยกับอัลโดถึงเรื่องนี้หลายครั้ง แต่อัลโดก็ไม่เคยสนใจ ซึ่งทำให้โรดอลโฟเกิดความไม่พอใจอย่างมาก
ปัญหาการทะเลาะกันของคนตระกูลกุชชีไม่ได้จบแค่นั้น ต่อมา เปาโล กุชชี (Paolo Gucci) ลูกชายคนกลางของอัลโด เกิดมีความเห็นไม่ลงรอยกับผู้เป็นพ่อ ต่อมาเปาโลจึงออกมาก่อตั้งบริษัทของตัวเอง แต่ไป ๆ มา ๆ เขาก็ยังโดนพ่อขัดขวางเพราะไม่อยากแข่งกับลูกชายของตนเอง จนแล้วจนรอดสุดท้ายเปาโลจึงแก้แค้นอัลโดด้วยการหยิบหลักฐานคดียักยอกเงินบริษัทของอัลโดมาแฉ
เมาริซิโอซึ่งเป็นลูกชายของโรดอลโฟ ก็ใช้จังหวะนี้ฮุบบริษัทมาเป็นของตัวเอง โดยอาศัยการยืมมือเปาโลในการโค่นอัลโดลงจากตำแหน่งผู้บริหาร ก่อนที่จะแต่งตั้งตัวเองขึ้นเป็นผู้บริหาร Gucci แทน
Gucci ในยุคการบริหารของเมาริซิโอถือเป็นยุคมืดของบริษัทอย่างแท้จริง เพราะด้วยนิสัยที่ฟุ่มเฟือยบวกกับการบริหารกิจการที่ไม่เก่ง ทำให้แบรนด์ Gucci ในเวลานั้นทำยอดขายได้น้อยเป็นปรากฏการณ์ แต่ต่อมาสถานการณ์ของบริษัทก็เริ่มดีขึ้นหลังที่เขาประกาศแต่งงานกับปาทริเซียในปี 1973
ปาทริเซียคอยสนับสนุนเมาริซิโอ ในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว นับตั้งแต่ที่ โรดอลโฟผู้เป็นพ่อของเมาริซิโอเสียชีวิตลง ซึ่งเวลานั้นถือเป็นช่วงมรสุมชีวิตของเมาริซิโอเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากผลพวงจากการบริหารที่ไม่ดี จนบริษัทมีผลประกอบการที่ขาดทุนอย่างมาก 2 พ่อลูก อัลโดและเปาโล ที่เขาแย่งตำแหน่งมาก็ยื่นฟ้องการเลี่ยงภาษีมรดกกับเขา แต่ถึงกระนั้นเมาริซิโอก็ยังมีปาทริเซียคอยอยู่เคียงข้างและแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้กับเขา
ปี 1985 ความรักของทั้งสองเริ่มมีรอยร้าว หลังจากการที่เมาริซิโอมีนิสัยเปลี่ยนไป เขาเริ่มโกหกปาทริเซียบ่อยครั้งว่าจะไปติดต่อธุรกิจ แต่ความจริงแล้วเมาริซิโอแอบไปคบหากับภรรยาน้อยคือ เปาลา ฟรังชี (Paola Franchi) จนปาทริเซียจับได้
ปี 1988 เมาริซิโอได้ขายหุ้นของ Gucci จำนวนเกือบ 50% ให้ Investcorp ซึ่งเป็นบริษัทเพื่อการลงทุน และในปี 1993 เขาก็ได้ขายหุ้นที่เหลือของตัวเองจนหมดเกลี้ยง
ในปี 1994 ปัญหาครอบครัวที่สะสมมานานทำให้ปาทริเซียตัดสินใจหย่าร้างกับเมาริซิโออย่างเป็นทางการ
เรื่องราวที่ควรจะจบลงกลับวุ่นวายอีกครั้ง ในปี 1995 ร่างไร้วิญญาณของเมาริซิโอถูกพบหน้าบริษัทของตัวเอง ท่ามกลางข่าวลือว่า ปาทริเซียอดีตภรรยาคือผู้จ้างวานฆ่าเขา
ปี 1997 ภายหลังมีการสืบสวน ตำรวจพบหลักฐานที่โย่งถึงอดีตภรรยาปาทริเซีย เป็นหนังสือสัญญาการหย่าที่ข้างในระบุรายระเอียดไว้ว่า เมาริซิโอจะต้องจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูอดีตภรรยาจำนวน 1,130,000 ต่อปี บวกกับตัวปาทริเซีย ไม่พอใจที่เมาริซิโอขายหุ้นออกอย่างไร้ค่า ทั้ง ๆ เป็นหุ้นที่เธอช่วยสร้างมูลค่าขึ้นมากับมือ ซึ่งในท้ายที่สุดตำรวจก็ได้สัญนิษฐานว่าเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เหล่านี้เนี่ยแหละอาจเป็นมูลเหตุจูงใจของคดีนี้
ภายหลังปาทริเซียถูกศาลสั่งจำคุก 29 ปี แต่เมื่ออยู่ในคุกและมีการประพฤติตนดี ศาลจึงลดโทษเหลือเพียง 18 ปี ก่อนที่ในปี 2016 เธอก็ได้พ้นโทษและกลับมาใช้ชีวิตสู่โลกภายนอกอีกครั้ง
หลังจากที่เธออกจากคุก เธอให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เธอสายตาไม่ดีและไม่อยากยิงพลาด จึงได้จ้างวานมือปืนมายิงเมาริซิโอ อีกทั้งยังกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้เวลาจะผ่านมานานแล้ว แต่เธอก็ยังรู้สึกผิดและอยากขอโทษอดีตสามีอีกครั้งถ้ามีโอกาส
ปี 1999 บริษัท Pinault-Printemps-Redoute ได้เข้ามาซื้อหุ้นของ Gucci จำนวน 42% ซึ่งทำให้บริษัทรอดพ้นช่วงวิกฤตการเงินจากหนี้ที่เมาริซิโอก่อไว้ และยังจะกลับมามีชื่อเสียงอีกครั้งจวบจนปัจจุบัน
ใน House of Gucci ตัวภาพยนตร์ได้หยิบเรื่องราวเกิดขึ้นจริงบางส่วนของตระกูลกุชชี่ ในระหว่างปี 1970-1990 มาบอกเล่า และเน้นไปที่เหตุฆาตกรรมเมาริซิโอที่เกิดขึ้นในปี 1995 ถือเป็นภาพยนตร์ที่ไม่ได้เน้นประวัติศาสตร์ของแบรนด์มากจนเกินไป เรียกได้ว่า House of Gucci คือการสรุปเรื่องราวที่สำคัญของตระกูลกุชชีเลยก็ว่าได้
อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส