เชื่อว่า ต่อให้ใครก็ตาม ถึงจะไม่ใช่คอหนังฮอลลีวูด ต่างก็ต้องได้เคยยินชื่อของ The Godfather หนังคลาสสิกขึ้นหิ้ง ผลงานมาสเตอร์พีซของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola) ที่ออกฉายมาตั้งแต่ปี 1972, 1947 และ 1990 ตามลำดับ นับถึงวันนี้หนังภาคแรกก็มีอายุ 50 ปีเข้าไปแล้ว แต่หนังก็ยังถูกกล่าวถึงเนือง ๆ ทั้งในแง่คุณภาพของหนัง และการเป็นต้นแบบของหนังแก๊งสเตอร์ ที่มีอิทธิพลต่อนักสร้างหนังรุ่นต่อ ๆ มาได้ยึดถือเป็นแบบอย่าง นี่ยังไม่ได้กล่าวถึง รางวัลออสการ์และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมายที่หนังทั้งสามภาคได้รับไป และรายได้อีกมหาศาลของหนังทั้งตอนที่ออกฉายและรายได้จากสื่อต่าง ๆ อีกมหาศาล
ในวาระที่ The Godfather มีอายุครบ 50 ปีนี้ ตัวหนังก็ได้รับเกียรติให้กลับมาเข้าฉายในโรงภาพยนตร์อีกครั้ง เพื่อให้คนรุ่นเก๋าที่เคยชมเมื่อตอนยังเป็นเด็กได้หวนระลึกถึงความทรงจำอันทรงคุณค่าอีกครั้ง และเป็นโอกาสดีที่คอหนังรุ่นใหม่จะได้สัมผัสประสบการณ์รับชมหนังยอดเยี่ยมตลอดกาลเรื่องนี้บนจอภาพยนตร์สักครั้ง และนี่คือ 5 เหตุผลว่าทำไมคุณถึงควรดู The Godfather ให้ได้สักครั้งในชีวิตนี้
1.นี่คือหนังมาเฟียที่ดีที่สุดที่เคยสร้างมา
ถ้าโลกภาพยนตร์จะยกย่องให้ ‘Citizen Kane’ คือหนังที่เล่าเรื่องราวการเมืองอเมริกันออกมาได้ดีที่สุด ก็ต้องยกให้ ‘The Godfather’ เป็นหนังที่เล่าเรื่องราวมาเฟีย อิตาเลียน-อเมริกัน ออกมาได้ดีที่สุด หนังเยี่ยมยอดทั้งในเรื่องของการสร้างสรรค์ตัวละครต่าง ๆ ออกมาได้อย่างมีมิติ มีเสน่ห์ บนบทภาพยนตร์ที่ดี กับเนื้อหาที่ครบถ้วนที่หนังหรือนิยายเรื่องหนึ่งควรจะมี ไม่ว่าเรื่อง เซ็กซ์ การหลอกลวง ฆาตกรรม ความรัก และการสวามิภักดิ์ ทั้งไตรภาคของหนังได้เล่าเรื่องทุกอย่างที่หนังแก๊งสเตอร์ควรจะมี
เนื้อหาคร่าว ๆ ของทั้ง 3 ภาค

The Godfather I (1972) : หนังแนะนำให้คนดูได้รู้จักกับครอบครัวคอร์ลีโอเน ตระกูลมาเฟียใหญ่จากอิตาลี ซึ่งมี ดอน วีโต คอร์ลีโอเน พ่อผู้ครองอำนาจอยู่ในนิวยอร์กขณะนั้น และกำลังถ่ายโอนอำนาจมาให้กับ ซอนนี่ ลูกชายคนโตมาสืบทอดตำแหน่ง ทุกอย่างเหมือนจะราบรื่นดี จนกระทั่ง ไมเคิล ลูกชายคนรอง หัวร้อนไปฆ่าล้างแค้น เจ้าพ่อค้ายาที่เคยพยายามลอบสังหารดอน วีโต พ่อของเขาก่อน ทำให้ดอน วีโต ต้องส่งไมเคิลไปกบดานในซิซิเลีย ประเทศอิตาลี แต่แล้ว ซอนนี่ก็ถูกลอบสังหาร ทำให้ไมเคิลต้องถูกเรียกตัวกลับนิวยอร์กด่วน เพื่อมาสืบทอดอำนาจแทนพี่ชาย

The Godfather Part II (1974) : ตามภาคแรกในอีก 2 ปีต่อมา หนังถูกยกย่องให้เป็นหนังภาคต่อที่ดีที่สุดตลอดกาลเรื่องหนึ่ง ภาคนี้เล่าเรื่องราวแบบคู่ขนาน ทั้งเรื่องราวก่อนหน้า และเรื่องราวที่ต่อเนื่องจากภาคแรก ในเนื้อหาที่เป็นภาคต่อนั้น หนังโฟกัสไปที่ตัวไมเคิล ในฐานะดอนคนใหม่ ที่ต้องพยายามรักษาอำนาจของตระกูลคอร์ลีโอเนไว้และต้องเดินหน้าธุรกิจของครอบครัวให้เดินหน้าไปได้ ส่วนเรื่องราวก่อนหน้านั้น หนังใช้ภาพแฟลชแบ็กย้อนกลับไปเล่าเรื่องราวของดอน วีโต ตอนที่ยังเป็นหนุ่มในซิซิเลียและหาทางโยกย้ายถิ่นฐานมายังนิวยอร์ก

The Godfather Part III (1990) : หนังทิ้งช่วงห่างจากภาคก่อนหน้าถึง 16 ปี ยังคงเล่าเรื่องราวของไมเคิล ที่วันนี้เป็นดอนคนใหม่อย่างเต็มภาคภูมิ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ไมเคิลก็พยายามแปรสภาพธุรกิจครอบครัวให้ถูกกฏหมาย และวินเซนต์ ลูกชายของซอนนี่ก็เตรียมพร้อมที่จะสืบทอดตำแหน่งดอนคนต่อไป ขณะเดียวกันหนังก็สอดแทรกเหตุการณ์จริงเข้ามาด้วย อย่างเช่นการสิ้นพระชนม์ของ โป๊ป จอห์น พอล ที่ 1
ความยอดเยี่ยมในเนื้อหาของ The Godfather คือการดำเนินเรื่องที่เกินจะคาดเดาได้ และนั่นทำให้ผู้ชมสามารถจดจ่ออยู่กับหนังได้แม้ว่าหนังจะยาวถึง 3 ชั่วโมงก็ตาม
2.บรรดาตัวละครที่มีเสน่ห์และน่าจดจำ
แม้ว่าบนโปสเตอร์จะเป็นภาพของ วีโต คอร์ลีโอเน บทของ มาร์ลอน แบรนโด (Marlon Brando) แต่จุดศูนย์กลางจริง ๆ ของเรื่องราวทั้ง 3 ภาคก็คือ ตัวละคร ไมเคิล คอร์ลีโอเน บทของ อัล ปาชิโน (Al Pachino) ที่เล่าเรื่องราวของเขาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มจนขึ้นมาเป็นดอน คุมธุรกิจของครอบครัว และส่งต่อให้กับรุ่นหลาน บท ไมเคิล คอร์ลีโอเน นั้น เขาคือแบบอย่างของ ‘จ่าฝูง’ อย่างแท้จริง เพราะมีทั้งความเหี้ยมโหด บางทีก็เลวร้ายเกินคาด เป็นทั้งผู้กุมอำนาจสั่งการและวางแผน เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของ พระเอก และ ตัวร้าย ในบุคคลคนเดียว เป็นตัวละครที่ผู้ชมฝ่ายชายชื่นชม ยกย่อง และผู้ชมฝ่ายหญิงก็หลงใหลในตัวเขา
ส่วนตัวละครอื่น ๆ นั้น แม้ไม่เด่นเท่าไมเคิล คอร์ลีโอน ก็ล้วนมีเรื่องราวในส่วนของตัวเองที่น่าจดจำ อย่างเช่น ‘เฟรโด’ ลูกชายคนรองของดอน วีโต ที่มีบุคลิกต่างจากพี่น้องมาก เพราะเขานั้นมีจิตใจที่อ่อนไหว ทำให้พี่น้องตราหน้าว่า เฟรโดนั้นช่างเป็นคนอ่อนแอ ถึงขนาดไมเคิลยังพูดจาดูถูกพี่ชายตัวเองว่า “เฟรโดเขามีจิตใจที่ดีงามนะ แต่เขาอ่อนแอเกินไป แถมยังโง่อีกด้วย แล้วรู้อะไรมั้ย คนโง่ ๆ เเนี่ยแหละคือคนที่อันตรายที่สุดแล้ว”

ไม่เพียงแค่ตัวละครนำเท่านั้นที่น่าจดจำ บทสมทบก็ล้วนแต่น่าประทับใจ แม้จะเป็นบทสมทบแต่ตัวละครเหล่านี้ก็มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เนื้อหาเดินหน้าไปอย่างน่าติดตาม และช่วยเติมรายละเอียดต่าง ๆ ของเรื่องให้หนักแน่น ยกตัวอย่างเช่นประโยคที่ว่า “ทิ้งปืนไว้นี่แหละ เอาแคนโนลีไปแทน” ถ้าใครที่เคยดู The Godfather ก็จะจำได้ทันทีว่านี่คือคำพูดของ ปีเตอร์ คลีเมนซา ลูกน้องคนสนิทของดอน วีโต
แม้ว่านี่จะเป็นหนังแก๊งสเตอร์ที่มีแต่ตัวละครเพศชาย แต่ถึงอย่างนั้น ตัวละครหญิงที่มีเพียงประปรายในไตรภาค ก็มีพลังในการขับเคลื่อนเช่นกัน บทบาทของพวกเธอพิสูจน์ให้เห็นว่าหัวใจของพวกเธอก็แข็งแกร่งไม่แพ้เหล่าผู้ชายในเรื่อง อย่างเช่น เคย์ คอร์ลีโอเน บทของ ไดแอน คีตัน (Diane Keaton) ที่เป็นภรรยาของไมเคิล คอร์ลีโอเน ถึงแม้เธอจะรักและเทอดทูนสามีเพียงใด แต่ถ้าเมื่อใดที่เธอคิดเห็นแตกต่างกับไมเคิล เธอก็ไม่หวั่นที่จะโต้แย้งและยืนกรานแนวคิดของเธอเอง
หรืออีกตัวละครสำคัญอย่าง คอนนี่ น้องสาวคนสุดท้องของพี่น้องคอร์ลีโอเน ก็มีพัฒนาการของตัวละครที่ดี จากภาคแรกที่เป็นภรรยาที่กลัวสามีจนหัวหด แต่พอมาถึงภาค 3 คอนนี่ก็กลายเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของไมเคิล และสามารถออกคำสั่งสังหารคู่อริได้อย่างเลือดเย็น
สิ่งที่สอดแทรกมาในหนัง The Godfather Trilogy ด้วยก็คือ การได้เห็นวัฒนธรรมรูปแบบเก่าแก่ดั้งเดิมของอิตาเลียน ได้เห็นทั้งด้านความซับซ้อนและความสวยงามของวิถีชีวิตชาวอิตาเลียนที่มาลงหลักปักฐานในสหรัฐฯ ก็นับเป็นอีกแง่มุมหนึ่งของหนังที่น่าประทับใจ

ทั้งหมดทั้งหลายนี่ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ส่งผลให้ The Godfather เป็นหนังมาเฟียที่สมจริงอย่างมาก ถึงขั้นว่า ‘Sammy The Bull’ มาเฟียตัวจริง ที่ได้ไปดูหนังในโรง ยังทึ่ง
“หนังจบไปแล้วผมยังอึ้งอยู่เลย ตัวผมนี่แทบลอยออกมาจากโรงหนังเลย ผมรู้นะว่านี่มันเรื่องแต่ง แต่สำหรับผมแล้วผมรู้สึกว่า นี่มันชีวิตพวกเราชัด ๆ มันเหลือเชื่อจริง ๆ ผมนึกภาพออกเป็นฉาก ๆ เลยว่าผมเคยคุยกับคนทีละเยอะ ๆ แบบนี้ เคยสร้างคนเหล่านี้ขึ้นมา มันเหมือนกันเป๊ะ ๆ เลย”
3.ไม่เคยมีใครคาดฝันว่าหนังจะฮิต
ในขั้นตอนตั้งแต่เตรียมการสร้าง ไปจนถึงเริ่มต้นถ่ายทำนั้น ไม่มีองค์ประกอบไหนที่พิจารณาดูแล้วว่า The Godfather จะสำเร็จออกมาจะเป็นหนังคลาสสิกขึ้นหิ้ง หรือทำเงินได้ถล่มทลายเพียงนี้เลย หนังมีแต่อุปสรรคอย่างมาก เรื่องแรกเลยก็คือ พาราเมาท์ให้ทุนในการสร้างมาแบบจำกัดจำเขี่ยอย่างมาก 40,000 เหรียญต่อวันเท่านั้น ด้วยทุนเพียงเท่านี้ทำเอาคอปโปลาหมดหวังที่จะจ้างนักแสดงเจ้าบทบาทอย่าง มาร์ลอน แบรนโด และ อัล ปาชิโน ที่คอปโปลาหมายหมั้นไว้ได้เลย แต่สุดท้ายก็มีการเจรจาต่อรองกันจนได้ทั้งคู่มาร่วมงาน

อุปสรรคต่อมาคือตัวนิยายต้นฉบับที่่เป็นผลงานประพันธ์ของ มาริโอ พูโซ (Mario Puzo) เป็นนิยายที่ประสบความสำเร็จพอประมาณ ไม่มีสตูดิโอไหนสนใจที่จะซื้อมาสร้างเป็นภาพยนตร์ พาราเมาท์เป็นเพียงเจ้าเดียวที่เสนอราคา แล้วก็ได้สิทธิ์มาในมูลค่าเพียงตัวเลข 6 หลักเท่านั้น แต่พอซื้อมาแล้วทางพาราเมาท์ก็ยังไม่รู้ว่าจะให้ใครมากำกับดี พอนำโปรเจกต์ไปเสนอคอปโปลา เขาก็ปฏิเสธทันที ด้วยเหตุผลที่ว่านี่คือ “นิยายราคาถูกเรื่องหนึ่ง” แต่ทางสตูดิโอก็หว่านล้อมจนคอปโปลาใจอ่อนยอมรับงานในที่สุด แล้วกลายเป็นว่าคอปโปลาคือตัวเลือกที่ถูกต้องที่สุดสำหรับ The Godfather
คอปโปลาไม่เพียงรับหน้าที่กำกับเท่านั้น เขายังทำหน้าที่ดัดแปลงนิยายเป็นบทภาพยนตร์ร่วมกับ มาริโอ พูโซ ผู้ประพันธ์เองด้วย แม้จะเป็นหนังมาเฟีย แต่ในหนังกลับไม่มีคำว่า “มาเฟีย” เลยแม้แต่ครั้งเดียว นั่นก็เพราะ สหพันธ์สิทธิพลเมืองชาว อิตาเลียน-อเมริกัน แบนไม่ให้ใช้คำนี้ เพื่อต้องการลบล้างภาพจำว่าคนอิตาเลียนเป็นชนชาติมาเฟีย

อีกอุปสรรคหนึ่งคือความขัดแย้งระหว่างสตูดิโอกับคอปโปลา สตูดิโอต้องการให้หนังออกมาเป็นเหตุการณ์ปัจจุบันในวันที่หนังออกฉาย นั่นก็คือยุค 70s แต่คอปโปลาแย้งหัวชนฝา เขายืนยันว่าจะคงเหตุการณ์ในหนังให้ดำเนินตามเนื้อหาในนิยาย นั่นก็คือช่วงปี 40s – 50s คอปโปลาให้เหตุผลว่าการจำลองภาพให้เกิดในยุคนั้นดูมีเสน่ห์และมีความน่าเชื่อถือมากกว่า แม้ว่าหนังจะมีงบสร้างที่จำกัด แต่คอปโปลาก็ยังอุตส่าห์ดั้นด้นถ่ายทำหนังได้ทั้งในนิวยอร์ก และ ซิซิเลีย ได้จนสำเร็จ

และด้วยอุปสรรคต่าง ๆ นานาดังที่กล่าวมา กลับให้ผลลัพธ์ที่เกินคาด The Godfather ได้รับเสียงตอบรับในทางบวกจากบรรดานักวิจารณ์อย่างท่วมท้น บนเวทีประกวดไม่มีใครมอง The Godfather ในสายตามาก่อน แต่แล้วหนังก็คว้าลูกโลกทองคำไป 5 สาขา และ ออสการ์ไปอีก 3 สาขา ซึ่งรวมถึงรางวัลใหญ่อย่าง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำยอดเยี่ยม และ บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ด้านรายรับนั้น หนังกวาดรายได้ทั่วโลกไป 243 ล้านเหรียญ เป็นหนังที่ทำรายได้สูงที่สุดในปี 1972 และครองตำแหน่งรายได้สูงสุดต่อเนื่องมาอีกหลายปี
4.งานถ่ายภาพสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกภายในจิตใจตัวละคร
ส่วนหนึ่งที่เนื้อหาของ The Godfather ถูกยกย่องว่าดีงามทรงคุณค่า ก็เพราะแนวทางการนำเสนอที่มีความคู่ขนานกันระหว่าง ความดี กับ ความเลว ตลอดเนื้อหาหนังทั้ง 3 ภาค ด้านดีก็แสดงให้เห็นถึง ความผูกพันกันในครอบครัว ความรักซึ่งกันและกัน ความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดี ในขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นด้านเลวร้ายของครอบครัวคอร์ลีโอเนเช่น ฆาตกรรม, ความโหดร้าย, การติดสินบน และการโป้ปด ซึ่งหลายครั้งหลายตอนที่คนดูได้เห็นการกระทำของตระกูลคอร์ลีโอเนแล้ว ก็ชวนให้ตั้งข้อกังขาว่าทำไมพวกเขายังคงได้รับการเคารพนับถือจากผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่อีก
ก่อนหน้า The Godfather ฮอลลีวูดก็เคยมีการสร้างหนังเกี่ยวกับมาเฟียออกมาหลายเรื่อง ตัวละครในเรื่องที่ผ่าน ๆ มาก็ค่อนข้างแบนราบ เลวก็เลวเลยไม่มีเหตุผล เหมือนตัวการ์ตูน จนกระทั่งมาถึง The Godfather นี่ล่ะ ที่คอปโปลาและพูโซได้พาคนดูลงไปถึงเบื้องลึกของตัวละครได้ อย่างฉากหนึ่งที่เผยให้เห็นจิตใจอันหยาบกร้านของไมเคิล คอร์ลีโอเน ระหว่างพิธีแบปติสม์หลานของไมเคิล ในช่วงนั้นไมเคิลเพิ่งออกคำสั่งให้คนของเขาไปสังหารคู่อริ ก็พอดีที่บาทหลวงได้ถามไมเคิลว่าเขาจะปฏิเสธข้อเสนอของซาตานหรือไม่ ซึ่งไมเคิลก็ตอบได้หน้าตาเฉยว่า “ใช่ ข้าปฏิเสธซาตาน”

ซึ่งตลอดเรื่องเราจะได้เห็นการนำเสนอเรื่องราวของ อาชญากรรม ควบคู่ไปกับเรื่องราวภายใน ครอบครัว ความจงรักภักดี ความรัก ความเคารพ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งภาระหน้าที่ในการนำเสนอภาพเหล่านี้ก็ตกเป็นของ กอร์ดอน วิลลิส (Gordon Willis) ช่างถ่ายภาพยนตร์ ที่แรกเริ่มเลยเขาปฏิเสธงานนี้ไป แต่แล้วก็ได้คอปโปลาไปหว่านล้อมมาจนยอมรับงาน คอปโปลา และ วิลลิส ตกลงเลือกใช้รูปแบบการถ่ายภาพแบบ ‘Tableau vivant’ การนำเสนอภาพให้เหมือนภาพเขียน ตัวละครจะอยู่นิ่ง ๆ มีแต่แสงและเงาในภาพที่เคลื่อนไหว โดยจุดมุ่งหมายเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของตัวละครในฉากนั้น ๆ

งานของกอร์ดอน วิลลิส ยังต้องนำเสนอภาพของซิซิเลีย กับ นิวยอร์ก ให้ถ่ายทอดอารมณ์ได้แตกต่างกันจนคนดูรู้สึกได้ ในซิซิเลียนั้นต้องถ่ายทอดให้เห็นความเขียวชอุ่ม ความสวยงามของพืชพรรณในแถบชนบท ต่างกับในนิวยอร์กที่ต้องถ่ายทอดให้เห็นความหยาบกร้านในจิตใจผู้คน เงามืด เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริง โดยเฉพาะกับครอบครัวมาเฟียอย่างคอร์ลีโอเน
5.The Godfather มีประโยคอมตะมากมาย
หนังจบไปแล้ว แต่หลาย ๆ ประโยคจากหนังยังเป็นที่จดจำ และถูกนำไปพูดถึงต่ออีกมากมาย ต่อให้ใครที่ไม่เคยดู The Godfather มาก่อน ก็น่าจะเคยได้ยินประโยคอมตะจากหนังเรื่องนี้ว่า “ฉันจะยื่นข้อเสนอที่เขาไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” (I’m gonna make him an offer he can’t refuse) เป็นอีกประโยคอมตะที่แม้แต่เหล่าแก๊งสเตอร์ตัวจริงก็ยังนำไปใช้ต่อ ๆ กัน
อีกประโยคจาก ดอน วีโต ที่ช่างสะท้อนความเป็นจริงในชีวิตได้ถูกต้องยิ่งนัก “เวลาที่คุณทำคุณงามความดี เพื่อน ๆ จะด้อยค่าการกระทำของคุณ แต่ขณะเดียวกันถ้าคุณทำอะไรผิดพลาด ศัตรูจะมองว่าความผิดนั้นร้ายแรงเกินจริง” (A friend should always underestimate your virtues and an enemy overestimate your faults)
อีกประโยคยาว ๆ จาก ดอน วีโต มาจากฉากที่ดีที่สุดฉากหนึ่งในภาคแรก เป็นฉากที่ดอน วีโต ให้ข้อคิด โบนาเซรา ในเรื่องการให้ความเคารพ
“ฉันพอเข้าใจหรอกนะ ว่าแกได้มาพบดินแดนแห่งความผาสุกในอเมริกานี้ แกมีกิจการที่ดี มีชีวิตที่ดี มีตำรวจคอยคุ้มกะลาหัวให้ แล้วก็ยังมีกฏหมายคุ้มครองแกด้วย ทำให้แกไม่จำเป็นต้องมีเพื่อนอย่างฉันอีกต่อไป แล้วไง กลายเป็นว่าตอนนี้แกกลับต้องมาหาฉัน แล้วมาร้องขอ ‘ดอน คอร์ลีโอเน ช่วยให้ความยุติธรรมกับฉันด้วย’ แต่ฉันไม่เห็นว่าแกจะเอ่ยปากขอด้วยความเคารพอย่างจริงใจเสียเลย แกไม่ได้แม้แต่เสนอมิตรภาพกับฉัน แกไม่เคยคิดแม้แต่จะเรียกฉันว่า ก๊อดฟาเธอร์ เลยด้วยซ้ำ กลับกัน แกเหยียบเข้ามาในบ้านฉันนี่ในวันแต่งงานลูกสาวฉัน เพื่อขอให้ฉันฆ่าคนแลกกับเงิน”
กล่าวได้ว่าตลอดทั้งไตรภาคนี้ เต็มไปด้วยประโยคที่แฝงด้วยปรัชญาข้อคิดเกี่ยวกับชีวิตมากมาย ล้วนส่งผลให้ประโยคเหล่านี้มีความอมตะ และทำให้แต่ละฉากที่มีประโยคเหล่านี้ล้วนน่าจดจำ
ยังมีอีกหลาย ๆ ฉากที่เกิดขึ้นในครอบครัวคอร์ลีโอเน ตอนที่ซอนนีโดนลอบทำร้าย, เฟรโดตกปลาในทะเลสาบทาโฮเป็นครั้งสุดท้าย, เคย์บอกลาชายที่เธอเคยรัก, ไมเคิลเต้นรำกับอพอลโลเนีย ภรรยาของเขาในซิซิเลีย, ไมเคิลน้ำตาอาบแก้มตอนที่บอกลาพ่อของเขา “ผมกลับมาอยู่กับพ่อแล้วนะตอนนี้” ทุกฉากทุกตอนได้สื่อสารชัดเจนว่า ‘เมื่อเราให้ความสำคัญกับครอบครัวเราก็จะได้รับความภักดีตอบแทน’
The Godfather เป็นหนังที่หลากหลายอารมณ์ อัดแน่นไปด้วยปรัชญาข้อคิด อย่าเพียงแค่อ่าน เลือกสัมผัสประสบการณ์การรับชมภาพยนตร์ที่ทรงคุณค่าด้วยตัวคุณเองจะดีกว่า