ผมทำผิดใช่ไหม ที่รักคุณ ขอโทษอีกครั้ง ขอโทษจริงจริง
ที่ผมบอกว่ารัก ที่พูดไป ลืมได้ไหม ไม่เคยคิดว่าคุณจะเกลียดผม
∗ เมื่อคุณนั้นไม่รัก ผมก็ควรจะไป ไปให้ไกล ตอนนี้เลย
ทั้งชีวิตที่เหลือ จะไม่ไปคุ้นเคยกับใคร ให้มากมายอย่างนี้
∗∗ ก็เลยต้องถอนตัว ถอนตัว ทั้งทั้งที่ยังรัก แต่ทำได้แค่ทำใจ
ก็เลยต้องถอนตัว ถอนใจ ที่ให้ความรักไป เธอไม่เคยจะเหลียวแล ซักนิดเลย
ท่าทางที่เมินเฉย ผมซึ้งใจ เมื่อกล้าบอกรัก ก็ยินดีกับสิ่งที่ได้มา
ไม่ต้องห่วงหรอกนะ ถ้าพบกัน จะไม่ยิ้ม จะไม่ทัก ไม่ทำให้คุณต้องอายใคร
ทั้งทั้งที่ยังรัก แต่ก็คงต้องทำใจ ไปจากเธอ
เชื่อว่าหลาย ๆ คนในวัย 30 ปีอัปย่อมคุ้นหูกับเพลงนี้กันเป็นอย่างดี ต่อให้ไม่ใช่แฟนเพลงของ ‘เบิร์ดกะฮาร์ท’ ก็ตาม แต่สิ่งที่หลายคนยังไม่รู้ก็คือเพลงฮิตเพลงนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของคดีที่ยืดเยื้อยาวนานกินเวลากว่า 20 ปี ระหว่างฝ่ายหนึ่งก็คือ เบิร์ดกะฮาร์ท ที่ทุกคนเข้าใจว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงนี้ กับอีกฝ่ายหนึ่งก็คือ ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล อีกหนึ่งศิลปินที่มีผลงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในวงการเพลงไทยมาอย่างยาวนาน เคยมีอัลบั้มเดี่ยวของตัวเองในชื่อ ‘Bright’ เมื่อปี 2545 และเป็นผู้ที่ทำงานเบื้องหลังให้กับศิลปินอีกมากมาย และผลงานเพลงประกอบละครหลายเรื่อง และไบรท์ก็เป็นโจทก์ในคดีนี้ฟ้องร้อง คู่หูเบิร์ดกะฮาร์ท ว่าละเมิดลิขสิทธิ์ในการใช้เพลง “ถอนตัว” ซึ่งเป็นผลงานประพันธ์ของตน
จุดเริ่มต้นของคดีนี้ต้องย้อนความไปในปี 2544 ในปีนั้นทางจีนี่ ค่ายย่อยของแกรมมี่ได้ออกอัลบั้มรวมศิลปินในชื่อว่า ‘Meeting’ มีศิลปินที่มีชื่อเสียงมาจนทุกวันนี้มากมายหลายคนทั้ง tea for three, อิน บูโดกัน, หนุ่ย นันทกานต์, สุเมธ แอนด์ เดอะปั๋ง, เจี๊ยบ วรรธนา มีเพลงในอัลบั้มนี้ทั้งหมด 12 เพลง และหนึ่งในเพลงที่ดังและยังคุ้นหูหลายคนมาจนทุกวันนี้ก็คือ “ถอนตัว” ที่ในอัลบั้มนี้ระบุไว้ว่าเป็นผลงานของ เบิร์ดกะฮาร์ท แล้ว “ถอนตัว” เวอร์ชันนี้ก็กลายเป็นที่จดจำในฐานะเพลงฮิตของเบิร์ดกะฮาร์ท
หลังอัลบั้ม ‘Meeting’ วางแผง พร้อมกับเครดิตท้ายเพลง “ถอนตัว” ระบุว่าผู้ประพันธ์เพลงนี้คือ แชมป์ ศุภวัฒน์ พีรานนท์ ด้วยเหตุนี้ไบรท์จึงติดต่อไปยังแกรมมี่ พร้อมกับหลักฐานประกอบมากมายว่าเขาคือผู้ประพันธ์เพลงนี้ตัวจริง ร่วมกับ ต่อ เอกภพ เกียรติพิริยะ ซึ่งเรื่องราวในวันนั้นก็จบลงด้วยดี เมื่อแกรมมี่ยอมรับในหลักฐานของไบรท์ พร้อมทั้งทำสัญญาซื้อลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฏหมาย ในสัญญาที่ระบุว่า “หนึ่งต้นแบบ” เพื่อใช้ในอัลบั้ม Meeting นี้เท่านั้น อีกทั้งยังเปลี่ยนเครดิตท้ายชื่อเพลงในอัลบั้มว่าเป็นผลงานของ ต่อ เอกภพ เกียรติพิริยะ & Bright ตามชื่อฉายาในวงการเพลง
ฟังดูก็น่าจะ Happy Ending ไม่น่าจะลากยาวมาได้จนถึงวันนี้ เหตุที่กลายเป็นคดีฟ้องร้องยืดยาว นั่นก็มาจากคอนเสิร์ต 30 ปี ของเบิร์ดกะฮาร์ท เมื่อปี 2558 ที่อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี แน่นอนว่าคอนเสิร์ตแบบนี้ คู่หูดูโอก็ย่อมต้องตอบสนองแฟนเพลงด้วยการเล่นเพลงฮิตตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมาของพวกเขา และที่ขาดไปไม่ได้ก็คือ “ถอนตัว” ที่กลายเป็นที่จดจำว่าเป็นหนึ่งในเพลงฮิตของเบิร์ดกะฮาร์ทไปเรียบร้อยแล้ว แต่การเล่นเพลงนี้บนเวทีคอนเสิร์ต นั่นก็ย่อมหมายถึงการอยู่นอกข้อตกลงในสัญญาที่ทาง แกรมมี่ทำข้อตกลงไว้กับ ไบรท์ วรวิทย์ และที่ไบรท์อ้างว่ายอมไม่ได้ก็คือ เบิร์ดกะฮาร์ทพูดบนเวทีคอนเสิร์ตและตามสื่อต่าง ๆ อีกว่า แชมป์ ศุภวัฒน์ เป็นคนแต่งเพลงนี้ นั่นจึงเป็นชนวนเหตุให้ ไบรท์ฟ้องร้องเบิร์ดกะฮาร์ทรวมไปถึงบริษัทของทั้งคู่ว่าละเมิดลิขสิทธิ์เพลง ‘ถอนตัว’ เรียกค่าเสียหายเป็นมูลค่า 5 ล้านบาท ซึ่งยืดเยื้อมายาวนานจนผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้เสียชีวิตไปแล้วถึง 2 ราย
แชมป์ ศุภวัฒน์ พีรานนท์ หัวใจวายเสียชีวิตไปเมื่อปี 2563 จึงถูกจำหน่ายออกจากคดีพ้นสถานะจำเลย ส่วน ต่อ เอกภพ เกียรติพิริยะ เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา
ในวันนี้ 19 เมษายน 2565 เมื่อเวลา 10:00 น. คู่กรณีทั้งสองฝ่ายก็ได้มาเผชิญหน้ากันอีกครั้ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญา ศาลใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อพิจารณา 5 ประเด็นหลักแบบยาว ๆ ดังนี้ หรือจะข้ามไปอ่านบทสรุปสั้น ๆ ย่อหน้าสุดท้ายได้เลย
ประเด็นที่ 1: ความเป็นผู้ประพันธ์เพลงมีสองคน คือ ต่อ เอกภพ เกียรติพิริยะ กับ ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล ส่วนแชมป์ที่คู่หูดูโอและแชมป์เคยกล่าวอ้างตามสื่อมวลชนและคอนเสิร์ตต่างๆนั้นไม่สามารถรับฟังได้เพราะปราศจากเอกสารหลักฐานยืนยัน เป็นเพียงการกล่าวอ้างโดยแชมป์และคู่หูดูโอเท่านั้น อีกทั้งพยานคนกลาง นักแต่งเพลงแกรมมี่ คือ ปอร์ กสิ และพยานจากฝ่ายลิขสิทธิ์ แกรมมี่ก็ให้การยืนยันตรงกันว่าคนแต่งเพลง ถอนตัว มีสองคน ซึ่ง ต่อ เอกภพ ก็ได้ให้การในขั้นศาลว่าแต่งเพลงถอนตัว ร่วมกันกับไบรท์อีกด้วย ซึ่งถูกต้องตรงกับในปกของแกรมมี่และปกของดีวีดีคอนเสิร์ต ของคู่หูดูโอ ซึ่งทาง คู่หูดูโอ เป็นผู้ดูแลจัดการพิมพ์ปกเอง ผู้ประพันธ์เพลง “ถอนตัว” จึงสรุปได้ว่ามีสองคนคือต่อกับไบรท์ ดังกล่าวข้างต้น ไม่มีแชมป์ร่วมแต่งเพลงนี้แต่อย่างใด
ประเด็นที่ 2 ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เมื่อมีนักแต่งเพลงสองคนร่วมกันแต่ง คือ ต่อ เอกภพ เกียรติพิริยะ กับ ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล แต่มีเอกสารสัญญาการโอนลิขสิทธิ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดจากต่อให้กับไบรท์ ผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดจึงเป็น ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล แต่เพียงผู้เดียว โดยประเด็นที่สองนี้ มี นาย ปอร์ กสิ นิพัฒน์ศิริผล เป็นพยานเซ็นร่วมในสัญญาโอนลิขสิทธิ์ มายืนยันในศาล และ คุณ พงษ์ ฝ่ายลิขสิทธิ์แกรมมี่ได้มาร่วมยืนยันในสัญญาอนุญาตสิทธิ์หนึ่งต้นแบบ ที่ ไบรท์ ได้เคยอนุญาตให้แกรมมี่ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ จึงสรุปได้ว่า เจ้าของลิขสิทธิ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวคือ ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล
ประเด็นที่ 3 คู่หูดูโอ มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์จริงหรือไม่ เพราะจำเลยทั้งสองคน มีการปฏิเสธว่าไม่รู้ว่าไบรท์เป็นผู้ประพันธ์เพลงและเจ้าของลิขสิทธิ์เพลง “ถอนตัว” เพราะเชื่อที่แชมป์บอกว่าตนเองเป็นคนแต่งตลอดมา เมื่อพิจารณาจากปกเทป ซีดีที่แกรมมี่พิมพ์ชื่อผู้ประพันธ์คือ ต่อ เอกภพ เกียรติพิริยะ กับ ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล ในทุกปก รวมถึง ปกดีวีดี ที่คู่หูดูโอ เป็นผู้ดูแลจัดการพิมพ์เอง ก็ระบุชื่อ ผู้ประพันธ์เพลง คือ ต่อ เอกภพ เกียรติพิริยะ กับ ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล อย่างถูกต้องชัดเจนทุกปก โดยเฉพาะที่คู่หูดูโอ ก็เป็นผู้ร้องเพลง “ถอนตัว” เอง การจะปฏิเสธว่าไม่รู้ว่าใครเป็นผู้แต่งเพลง “ถอนตัว” ย่อมไม่สามารถรับฟังได้และ คุณ พงษ์ ฝ่ายลิขสิทธิ์ แกรมมี่ ก็ได้มาเป็นพยานยืนยันว่า ในส่วนของ ผู้ประพันธ์เพลงและเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงนั้นสามารถตรวจสอบกับแกรมมี่ได้ตลอดเวลา หากมีผู้ใดต้องการติดต่อเจ้าของลิขสิทธิ์เพลง ถอนตัว ทางแกรมมี่ จะให้ชื่อและเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกับ ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทันทีทุกครั้งตามเอกสารสัญญาหลักฐานข้อมูลของบริษัท แกรมมี่ ดังนั้นการจะกล่าวอ้างว่าไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จึงไม่สามารถรับฟังได้ สรุปได้ว่า จำเลยทั้งสองคนรู้และมีเจตนาในการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะไม่ได้ทำการขออนุญาตก่อนการนำไปใช้งาน จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ของ ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล
ประเด็นที่4 การที่คู่หูดูโอ มีเอกสารสัญญาอนุญาตจาก ต่อ เอกภพ เกียรติพิริยะ มาต่อสู้คดี ซึ่งในสัญญาได้ระบุว่า ต่อ ได้รับเงินจำนวน 40,000 บาทอีกด้วย แต่ในความเป็นจริงตามกฎหมายนั้น ต่อไม่มีสิทธิ์อนุญาตให้กับผู้หนึ่งผู้ใดได้ เพราะได้โอนลิขสิทธิ์เพลง “ถอนตัว” เบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้กับ ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล ไปตั้งแต่ ปี2543 เรียบร้อย ก่อนที่เพลงนี้จะถูกนำไปร้องโดย คู่หูดูโอ ในปี 2544 ที่ จีนี่ แกรมมี่ เมื่อดูจากเอกสารสัญญาจึงเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า ต่อ มีการรับเงิน 40,000 บาท จากจำเลยทั้งสอง การมาให้การในคดีนี้ จึงย่อมจะทำให้เกิดความโน้มเอียงในการให้การช่วยเหลือฝั่งจำเลยในคดี เมื่อมีการให้การที่ขัดแย้งกับเอกสารพยานหลัก คือ สัญญาโอนลิขสิทธิ์จาก ต่อ โอนลิขสิทธิ์ให้กับ ไบรท์ สัญญาอนุญาตหนึ่งต้นแบบที่ ไบรท์กับต่อ เซ็นอนุญาตให้กับแกรมมี่ สัญญาสารภาพผิดที่ต่อไปเล่นเพลงถอนตัว ให้แชมป์ฟังจนแชมป์นำเพลงไปแอบอ้างที่แกรมมี่ ซึ่งทั้งสามสัญญาดังกล่าวได้รับการยืนยัน จาก ปอร์ กสิ รวมถึง ฝ่ายลิขสิทธิ์ กฎหมาย แกรมมี่ และ ต่อ ก็ได้ยืนยันว่าเป็นผู้เซ็นเอกสารทั้งสามสัญญา ด้วยตัวเองจริง คำให้การต่างๆของต่อ ที่ขัดแย้งกับสามสัญญาหลัก จึงไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือ จึงให้ยึดถือสัญญาหลักที่มีพยานเป็นกลางและแกรมมี่ ยืนยันชัดเจน
ประเด็นที่5 ในส่วนของคดีอาญา จะต้องดูว่า เจ้าของลิขสิทธิ์ได้รู้หรือน่าที่จะรู้และได้แจ้งความตามวันเวลาที่อยู่ภายในอายุความหรือไม่ ซึ่งจะมีอายุความต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับจากรู้หรือน่าที่จะรู้ เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่ามีการแจ้งความโดยน่าจะเกินระยะเวลาดังกล่าว
บทสรุปของคดีอาญา ละเมิดลิขสิทธิ์ เพลง “ถอนตัว”
- ต่อ เอกภพ เกียรติพิริยะ กับ ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล เป็นผู้ประพันธ์เพลง “ถอนตัว” ร่วมกัน
- เจ้าของลิขสิทธิ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว คือ ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล
- คู่หูดูโอ ย่อมรู้หรือน่าที่จะรู้ว่า ผู้ประพันธ์เพลง คือ ต่อ เอกภพ เกียรติพิริยะ กับ ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล และ เจ้าของลิขสิทธิ์เพลง ถอนตัว คือ ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล จำเลยทั้งสอง จึงมีเจตนาในการละเมิดลิขสิทธิ์
- สัญญาอนุญาตที่ คู่หูดูโอ กับต่อทำมาต่อสู้นั้น ไม่สามารถใช้ได้ เพราะ ต่อไม่มีสิทธิ์อนุญาต เนื่องจากโอนลิขสิทธิ์ให้กับไบรท์ไปแล้ว ไบรท์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว คำให้การใดๆของต่อ ที่ขัดแย้งกับเอกสารสัญญาหลัก กับพยานเป็นกลางและพยานจากแกรมมี่นั้นให้ยึดถือเอกสารสัญญาหลัก คำให้การพยานเป็นกลางและแกรมมี่เป็นหลัก เพราะคำให้การของต่อน่าจะมีความโน้มเอียงเนื่องจาก ต่อ ได้รับเงินจาก คู่หูดูโอ 40,000 บาท
- การแจ้งความร้องทุกข์นั้นระยะเวลาน่าจะเกินสามเดือนจากที่รู้หรือควรที่จะรู้ เมื่อมีความชัดเจนในสี่ประเด็นแรก แต่มีประเด็นสุดท้าย ในเรื่องอายุความ จึงต้องมีการต่อสู้ในประเด็นเรื่องอายุความในชั้นศาลอุทธรณ์ต่อไป ส่วนในคดีแพ่งนั้นสามารถนำคำพิพากษาของคดี อาญา ในส่วนของการรับรองความเป็นผู้ประพันธ์เพลง เจ้าของลิขสิทธิ์ของ ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล การละเมิดลิขสิทธิ์โดยเจตนาของจำเลย ไปใช้กับคดีแพ่งได้ต่อไป
หลังผ่านมา 22 ปี ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล ก็ได้คำตัดสินจากศาลอย่างเป็นทางการว่าเขาคือเจ้าของลิขสิทธิ์เพลง “ถอนตัว” ตัวจริง แต่ถึงขณะนี้คดีก็ยังไม่ถึงวาระสิ้นสุด ยังเหลืออีกขั้นตอนหนึ่งในชั้นศาลอุทธรณ์และคดีแพ่ง ซึ่งน่าจะจบภายในปี 2566 นี้ ถ้าไบรท์ชนะคดีในศาลแพ่งก็อาจจะได้ค่าเสียหาย 5 ล้านบาท ตามที่ไบรท์เรียกร้องไป ซึ่งไบรท์กล่าวว่าเป็นมูลค่าที่ถูกมากกับเวลา 18 ปี ที่เบิร์ดกะฮาร์ทใช้ประโยชน์จากเพลงนี้
ไว้เรามาคอยตามฉากจบของคดีนี้กันอีกครั้งในปี 2566 กันครับ