เชื่อว่าหลายคนจะต้องหลงใหลและประทับใจในบทเพลงรักซึ้ง ที่ผสานความคิดถึง ความทรงจำและการจากลา ที่ถูกถ่ายทอดผ่านเนื้อร้องอันสวยงามและท่วงทำนองอันละมุนในสไตล์อะคูสติกป๊อปจากเครื่องดนตรีหลักที่เป็นเปียโนและอะคูสติกกีตาร์ อย่างบทเพลง “เรื่องราวที่เราเขียน” “ของขวัญวันครบรอบ” “ฝันที่ไม่เป็นจริง” หรือบทเพลงล่าสุด “หนึ่งช่อดอกไม้” แน่ ๆ และคุณอาจจะพบว่าบทเพลงอันไพเราะทั้งหลายเหล่านี้ ต่างมีนักร้องแตกต่างกันออกไปในแต่ละเพลง แต่ทั้งหมดกลับให้ความรู้สึกอบอุ่นละมุนเศร้าในอารมณ์แบบเดียวกัน ซึ่งแน่นอนเพราะมันเป็นบทเพลงที่เรียงร้อยถ้อยคำและความคิด อารมณ์และความรู้สึกผ่านข้อความและเสียงดนตรีโดย ‘drg.’ (ดีอาร์จี) หรือ ‘อัครวัฒน์ เชาวน์เลิศเสรี (ดราก้อน)’ ศิลปินนักแต่งเพลงหนุ่ม ที่ถ่ายทอดความรู้สึกผ่าน ‘ศิลปะการแต่งเพลง’ และเลือกที่จะให้นักร้องที่เหมาะสมมาขับร้องบทเพลงของเขา เพื่อให้บทเพลงนั้นไปสู่จุดที่ดีที่สุด

เรามาทำความรู้จักกับดราก้อนหรือ  ‘drg.’ นักแต่งเพลงหนุ่มผู้อยู่เบื้องหลังบทเพลงละมุนเหล่านี้กันให้ดียิ่งขึ้นกัน

‘drg.’ (ดีอาร์จี) หรือ ‘อัครวัฒน์ เชาวน์เลิศเสรี (ดราก้อน)’

อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ทำงานเพลง

จริง ๆ ผมเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ คุณพ่อคุณแม่พาไปเรียนเปียโน เรียนแบบสายคลาสสิกเลยครับแบบเบโธเฟน โมสาร์ท ตอนนั้นก็ยังไม่ได้ชอบดนตรีมาก เรามาชอบเอาตอนที่ได้ลองตั้งวงเล่นเพลงป๊อปกับเพื่อน ๆ แล้วก็เล่นไปเรื่อย ๆ จนเจอเวย์ที่ตัวเองชอบ และเพิ่งเริ่มมาทำเพลงจริงจังประมาณ 2 ปีที่แล้วครับ ตอนนั้นเราได้ไปดูคอนเสิร์ตของ ‘The TOYS (เดอะทอยส์)’ แล้วผมก็เห็นคนร้องตามเพลงของเขา ก็เลยมีคำถามว่าทำไมคนอื่นสามารถแต่งเพลงที่ทำให้คนอื่นจดจำได้ รู้สึกร่วมไปกับมันได้ เราก็เลยอยากรู้ว่าถ้าเราทำในสิ่งที่เรารัก ได้แต่งเพลงออกมาแบบนี้ จะมีคนจดจำและร้องตามเพลงของเรา รู้สึกไปกับเพลงของเราแบบนี้หรือเปล่า วันต่อมาเราก็เลยเริ่มแต่งเพลงเลยทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยทำเลยครับ ตื่นมาก็หยิบกีตาร์แล้วก็ลองแต่งเพลงแบบที่ไม่รู้อะไร ฮัมเมโลดี้แล้วก็ลองแต่งไปจนออกมาเป็นเพลงแรก “เรื่องราวที่เราเขียน” ครับ

เสียงตอบรับดีตั้งแต่เพลงแรกเลย

เพลงแรกมันเกินความคาดหวังเพราะเราไม่ได้คาดหวังอะไรเลยด้วยครับ ก็ทำกับซาร่าห์ (ซาร่าห์ ศญพร เฮียงโฮม หรือ sarah salola) แล้วก็อัดที่บ้านกันทำตามความอยาก ไม่รู้อะไรมากเลยครับ

ในวันนี้เหมือนทำสำเร็จแล้วที่ทำเพลงจนมีคนชื่นชอบและรู้สึกกับมัน เคยมองย้อนกลับไปในวันที่ดูคอนเสิร์ตเดอะทอยส์ไหม

จริง ๆ เป็นทุกครั้งเวลาไปเล่น พอเล่นเพลงไหนก็ตามจะเห็นคนร้องตามได้ ก็จะย้อนกลับไปนึกถึงวันนั้นทุกครั้ง มันทำให้เรารู้สึกได้ว่าเราอยากทำเพลงจริง ๆ แล้วพอเราได้ทำมันและไม่หยุดทำ มันก็จะส่งผลต่อตัวเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ก็ขอบคุณตัวเองทุกครั้งที่ตัดสินใจเริ่มทำในสิ่งที่เราอยากทำ โดยที่ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลยแต่ก็ลองทำดูก่อน ก็รู้สึกขอบคุณตัวเองมาก ๆ ครับ

วิธีการทำงานในแบบ drg. เป็นยังไง

ขั้นตอนแรกจะแต่งแบบแห้งก่อนจะไม่มีดนตรีครับ ก็เล่นกีตาร์ตีคอร์ดไปเรื่อยหรือจะเป็นเปียโนก็เล่นไปจนได้ทำนองได้เนื้อ ผมจะเล่นแล้วก็ฮัมไปด้วย พอผมได้ทำนองมันก็จะมาพร้อมคำเลยครับ ต่อมาผมก็จะเริ่มลงเปียโนเป็นอย่างแรกเพราะเป็นสิ่งที่เราได้ยินในหัวชัดที่สุด แล้วก็ทำดนตรีไว้คร่าว ๆ แล้วก็ให้เพื่อนที่เล่นกีตาร์ เล่นกลอง มาช่วยอัดให้และพอรู้สึกว่าโครงมันโอเคก็จะส่งให้นักร้องที่มาร้องให้เราฟัง แล้วถึงจะเข้าห้องอัดครับ

เวลาแต่งเพลงมีวางคอนเซ็ปต์ก่อนไหม

ไม่มีคอนเซ็ปต์ครับ แต่งขึ้นมาลอย ๆ จนกว่าจะมีประโยคนึงที่สามารถจับใจความได้ จนสามารถเล่าต่อได้ ถึงจะรู้ว่าโอเคเราจะเล่าเรื่องนี้ต่อไปจนจบ

ส่วนใหญ่แล้วเนื้อหาของเพลงมาจากประสบการณ์ของเราเองหรือมาจากไหนบ้าง

ผมคิดว่าน่าจะมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมแบบ 100% เลยครับ เพราะผมเป็นคนที่ไม่ค่อยอ่านหนังสือหรือว่าดูหนัง นักแต่งเพลงส่วนใหญ่เขาก็จะมี input กันใช่ไหมครับ แต่ผมจะไม่ค่อยทำอะไรแบบนั้น แต่ว่ามันก็ยังมีเรื่องออกจากหัวผมเรื่อย ๆ ก็เลยคิดว่ามันน่าจะเป็นเรื่องจากประสบการณ์ในอดีต

เหมือนจุดเด่นในเพลง drg. ก็จะเป็นประสบการณ์หรือความทรงจำที่สวยงามในอดีต พูดเรื่องการจากลา ความคิดถึง ทำไมประเด็นพวกนี้จึงเป็นเรื่องที่เราสนใจ

ผมรู้สึกว่าผมอยากทำเพลงให้มันเชื่อมโยงกับความรู้สึกของคนโดยตรง คือใช้กับเรื่องอะไรก็ได้ที่เป็นเรื่องของความรู้สึก เช่นเพลงรักที่ผมแต่งก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่มีแฟนหรือคลั่งรักกับแฟนเท่านั้น แต่สามารถใช้ได้กับเรื่องครอบครัวเรื่องชีวิต ถึงแม้ผมจะแต่งเกี่ยวกับการมีแฟนแล้วเลิกรากันไป แต่ผมก็จะใช้คำรวม ๆ อย่างเช่น การจากลาหรืออะไรแบบนี้ที่มันสามารถใช้ได้ในทุกความสัมพันธ์ อยากให้เชื่อมโยงกับทุกคนที่ฟังได้ครับ

มีวิธีการในการเขียนเนื้อร้องยังไงให้เชื่อมโยงกับคนฟัง

จริง ๆ มันก็เหมือนเป็นโจทย์ที่ผมยังไม่รู้คำตอบเท่าไหร่ว่าทำไม เราจะต้องทำยังไง ผมก็เคยโฟกัสตรงจุดนี้มาก ๆ แต่สุดท้ายเราก็ยังหาคำตอบไม่ได้ เราแค่ให้เรื่องมันเชื่อมโยงกับตัวเองก่อนคือถ้าเรารู้สึกกับมันก่อน มันจะต้องมีคนเชื่อมโยงกับเรา กับเพลงของเราได้แน่นอน ก็เริ่มต้นที่ตัวเองก่อนถ้าเรารู้สึกกับเพลงนี้ก็ต้องมีคนรู้สึกกับเพลงนี้ ถ้าเรายังไม่รู้สึกก็อาจจะมีคนรู้สึกน้อยครับ

เคยเขียนอย่างอื่นมาก่อนเขียนเพลงไหม

ผมไม่ใช่นักเขียนเลยครับ ไม่เคยเขียนไดอารี่และก็ไม่ค่อยจดบันทึกอะไรด้วยครับ เขียนครั้งแรกก็เขียนเพลงเลยครับ

ทำไมถึงเลือกทำเพลงในสไตล์อะคูสติกป๊อป

เพราะว่าผมเป็นคนชอบเครื่องดนตรีธรรมชาติอยู่แล้ว ถ้าเปียโนก็เปียโนจริงเลย กีตาร์ก็กีตาร์โปร่ง ผมเป็นคนที่ฟังเพลงค่อนข้างแคบ ไม่ได้ฟังหลากหลาย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพลงอะคูสติก ยิ่งเป็นเพลงที่มีแค่เปียโนกับเนื้อร้องเพราะ ๆ ผมก็จะชอบมาก ๆ เพราะรู้สึกว่ามันเข้าถึงง่าย เวลาทำดนตรีก็เลยอยากจะทำให้มันฟังดูง่ายที่สุด ไม่ต้องเป็นดนตรียากก็ได้แต่ให้คนโฟกัสที่เนื้อร้องครับ

ทำไม drg. ถึงไม่ร้องเอง

เป็นคำถามที่เจอตลอดเลยครับ จริง ๆ ผมก็เป็นคนร้องเพลงตรงคีย์ แต่ผมแค่ไม่ชอบร้องเพลงตอนเด็ก ๆ ก็เลยอาจไม่มีความมั่นใจ แล้วตั้งแต่ทำเพลงแรกก็คิดจะร้องเอง เพราะเพื่อนบอกว่าถ้าเพลงดังเราก็จะดังไปด้วย ก็จะมีคนติดตามเรารู้จักเรามากขึ้น แต่ผมคิดมาตั้งนานแล้วว่าศิลปินคือคนที่ถ่ายทอดงานศิลปะ ซึ่งศิลปะของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน อย่างคนที่เป็นนักร้องศิลปะของเขาก็คือเสียงร้องของเขา ส่วนของผม ผมก็มองว่าศิลปะของผมไม่ใช่การร้องเพลง แต่เป็นการทำดนตรีการแต่งเพลงและก็เลือกคนที่มาทำให้ศิลปะนี้มันสื่อสารออกไปได้ดีมาร้องแทนเราดีกว่า เพราะถ้าเราร้องเองมันอาจไม่ส่งผลดีต่องานของเรามากที่สุดครับ

มีวิธีเลือกนักร้องยังไง ตอนที่กำลังแต่งอยู่มีคิดไว้ก่อนไหมว่าเพลงนี้จะให้ใครร้อง

จริง ๆ ก็มีทั้ง 2 แบบเลยครับ ทั้งที่ชอบเสียงของคนคนนึงแล้วก็ล็อกไว้เลยครับว่าจะต้องแต่งเพลงให้คนนี้ร้อง หรือบางทีผมแต่งมาเสร็จแล้วค่อยหานักร้องที่เหมาะก็มีเหมือนกัน

จะแต่งยังไงให้เหมาะกับคนที่คิดไว้

ผมก็จะศึกษาคลิปที่คนนั้นร้องก่อน แล้วจะหาว่าแนวเพลงที่เขาร้องเป็นแนวไหน ช้าหรือเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่ที่ผมเลือกมาก็จะเป็นนักร้องที่ร้องเพลงช้าได้ดีอยู่แล้ว เป็นนักร้องที่มีน้ำเสียงที่เข้าถึงฟีลลิ่งได้ง่าย เวลาแต่งเราก็ต้องพยายามนึกถึงเสียงคนนั้นไปเรื่อย ๆ ถ้าเราชอบเสียงของคนคนนั้นเราก็จะมีเสียงของเขาในหัว เราก็แต่งให้มันเชื่อมโยงกับเสียงในหัวของเราให้มากที่สุดครับ

ทำไมนักร้องทั้งหมดถึงเป็นผู้หญิง

จริง ๆ แล้วไม่มีอะไรเลยครับ แค่ผมไม่ค่อยรู้สึกกับเสียงร้องผู้ชาย ผมฟังเพลงผู้หญิงร้องค่อนข้างเยอะ แล้วพอเป็นเพลงตัวเอง ผมรู้สึกว่าเราต้องการความอ่อนโยนบางอย่างในเพลงของเราด้วย ผู้ชายที่ร้องเก่ง ๆ ที่ผมชอบก็มีเยอะ แต่ผมแค่รู้สึกว่ากับเพลงผมมันจะไม่ได้สื่อความหมายบางอย่างที่ผมต้องการ อย่างความอ่อนโยน ความเป็นธรรมชาติอะไรแบบนี้ครับ ผมรู้สึกว่าเสียงผู้หญิงจะมีตรงนี้เยอะกว่า แต่ในอนาคตก็อาจจะมีเสียงผู้ชายที่เราชอบ และก็อาจจะชวนมาร่วมงานกันครับ

มีตัวอย่างในใจไหมสำหรับเสียงผู้ชายที่ชอบ

ยังไม่เจอครับ แต่ที่ชอบสุดก็เดอะทอยส์ครับ เขามีเสียงผู้หญิงผสมอยู่ในเนื้อเสียงด้วย

การทำงานร่วมกับศิลปินคนอื่นเป็นไปแบบที่คิดไว้แต่ต้นไหมหรือเขาช่วยต่อเติมงานของเราไปในทิศทางใดบ้าง

ต้องบอกก่อนว่านักร้องส่วนใหญ่ที่มาร้องกับผม เราจะรู้จักกันอยู่แล้วผมรู้จักงานเขา เขารู้จักงานผม มันก็เลยจะเข้ากันได้มากกว่า งานแต่ละครั้งที่ออกมาก็เลยค่อนข้างจะเป็นไปตามที่ผมคิดไว้ แบบเราจะรู้ว่าเสียงเขาเป็นแบบไหน เขาร้องแบบไหนได้บ้าง เราก็จะแต่งให้เหมาะกับสิ่งที่เขาเป็นอยู่แล้ว จะไม่ได้ให้เขาทำสิ่งใหม่ ๆ หรือทำอะไรที่มันเกินตัว แล้วก็ด้วยความเป็นเพื่อนกัน เขาก็สามารถฟีดแบ็กกับผมได้ตลอด นักร้องก็อาจช่วยปรับเนื้อร้องให้เข้าปากได้ นักดนตรีก็จะลองส่งไอเดียมาให้ฟีดแบ็กกัน ก็จะเป็นการทำงานแบบเพื่อนทำงานกันมากกว่าครับ

ประสบการณ์การทำเพลงแรก “เรื่องราวที่เราเขียน” และเพลงล่าสุด “หนึ่งช่อดอกไม้” เป็นยังไงบ้าง

เพลงแรกเพิ่งเริ่มทำเพลงกัน ก็ทำตามฟีลเลยครับ ผมก็จะแต่งมาแล้วเอามาให้ซาร่าห์ฟัง ซึ่งซาร่าห์ก็บอกว่าชอบมากอยากร้องให้ ผมก็ยินดีที่เขาจะมาร้องให้ ผมก็เริ่มทำดนตรีมาแล้วให้ซาร่าห์ฟังว่าดนตรีแบบนี้ซาร่าห์รู้สึกไหม ติดตรงไหนหรือเปล่า เขาก็จะฟีดแบ็กมาครับ ผมก็จะอัดดนตรีเพิ่มเรื่อย ๆ แล้วก็ส่งอัพเดทแล้วก็มาอัดร้องใหม่ครับ ก็จะทำงานกันอยู่ 2-3 คนแล้วก็มีเพื่อนมาอัดให้ ก็ฟังกันเองไปเรื่อย ๆ ฟีดแบ็กกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะคิดว่าพร้อมที่จะปล่อยมันแล้วครับ

ส่วนเพลงล่าสุดจะต่างจากเพลงแรกค่อนข้างมาก เนื่องจากว่าผมอยู่ค่ายแล้ว และนักร้องที่ผมเชิญมาร้องก็อยู่ค่ายด้วย ขั้นตอนก็เลยมีความเป็น official มากขึ้น ผมก็จะทำเดโมมาประมาณนึงแล้วก็ส่งให้พี่ที่ค่าย approve ก่อน ส่วนเรื่องวันอัดก็แตกต่างกับเพลงแรก ซึ่งเพลงแรกเราก็อัดแก้อัดแก้ไป ๆ มา ๆ ไปบ้านซาร่าห์แล้วก็แก้กันใช้เวลา 1-2 อาทิตย์ แต่สำหรับพิมมา (PiXXiE) เพลงล่าสุด เขาสามารถล็อกวันอัดได้แค่วันเดียว เราก็ต้องมั่นใจว่าที่เราทำเนื้อร้อง ทำนอง ดนตรีมาก่อนวันอัดเรามั่นใจแล้ว แล้วก็ค่อยมาอัดกันวันเดียวครับ

drg. และ พิมมา PiXXiE

มีแผนการจะทำอะไรใหม่ ๆ ไหม

ก็มีแผนที่จะชาเลนจ์ตัวเองครับ คือปีนี้อยากจะทำเป็นอีพีอัลบั้มดู เพราะว่าที่ผ่านมาผมแทบจะแต่งปีละเพลง ปีที่แล้วก็แต่ง 2-3 เพลง เรารู้สึกว่าการแต่งเพลงให้เป็นอาชีพมันต้องเน้นไปที่ปริมาณด้วย อย่างเมื่อก่อนพอแต่งไม่ได้เราก็หยุด แต่งได้เมื่อไหร่ค่อยแต่งมันก็เลยนานมาก ๆ ทีนี้ก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราอยากให้มีคนฟังมากขึ้น เข้าถึงคนให้มากขึ้น เราก็ต้องแต่งเพลงให้มากขึ้นด้วยครับ ก็เลยตัดสินใจแต่งเป็นอีพีอัลบั้มสัก 5-6 เพลงครับ

จะมีเพลงที่ drg. ร้องเองไหมในอนาคต

จริง ๆ ก็อยากครับ ที่จริงแล้วผมชอบการร้องเพลงมาก ๆ เพิ่งมาชอบไม่กี่ปีมานี้ มันค่อนข้างสำคัญในการเล่นดนตรี ก็ฝึกร้องมาเรื่อย ๆ ถ้าพร้อมเมื่อไหร่ก็คิดว่าจะร้องเองครับ

มีอะไรอยากบอกกับแฟน ๆ

อยากขอบคุณแฟน ๆ ตั้งแต่เริ่มมาตั้งแต่แรกก็เห็นพัฒนาการของแฟน ๆ ตั้งแต่ที่เราไม่มีคนติดตาม 0 subscriber จนมาวันนี้มันเกินคาดมาก ๆ ก็อยากขอบคุณทุกคนที่คอมเมนต์หรือไดเร็กต์ข้อความมาตลอด ทุกกำลังใจครับ ทุกคนก็คือเหตุผลที่ทำให้ผมทำเพลงอยู่ตลอด ทำให้เรารู้ว่ายังไงก็จะมีคนรอฟังเพลงเราอยู่ ก็ขอขอบคุณทุก ๆ คนที่ติดตามกันนะครับ.

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส