ริวอิจิ ซากาโมโตะ (Ryuichi Sakamoto) นักดนตรีและนักแต่งเพลงชาวญี่ปุ่นชื่อดังระดับโลก และมือคีย์บอร์ดของวง Yellow Magic Orchestra (เยลโลว์ เมจิก ออร์เคสตรา) วงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ระดับตำนาน หรือที่รู้จักในชื่อ YMO เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 71 ปี เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมาและทีมงานของซากาโมโตะได้ออกมายืนยันในวันนี้ (2 เมษายน)

ริวอิจิ ซากาโมโตะ (Ryuichi Sakamoto)

ก่อนหน้านี้ซากาโมโตะได้ออกมาเปิดเผยว่าตรวจพบมะเร็งและเข้ารับการรักษา ซึ่งในเวลาต่อมาซากาโมโตะก็ได้บอกข่าวดีว่าเขามีอาการที่ดีขึ้นแล้ว และเริ่มกลับมาทำงานเพลงดังเดิม แต่ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2022 ซากาโมโตะก็ได้แจ้งว่าเขากำลังต่อสู้กับโรคมะเร็งระยะที่ 4

ซากาโมโตะเริ่มต้นเส้นทางสายดนตรีด้วยการเป็นหนึ่งในสมาชิกวง Yellow Magic Orchestra หรือ YMO ผู้บุกเบิกวงการดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 70s วง YMO นับว่าประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับในระดับโลก

YMO ก่อตั้งขึ้นในปี 1978 โดยซากาโมโตะกับ ฮารุโอมิ โฮโซโนะ (Haruomi Hosono) และ ยูกิฮิโระ ทาคาฮาชิ (Yukihiro Takahashi) เพลงแนวเทคโน-ป๊อปล้ำอนาคตของพวกเขาได้ผสานท่วงทำนองของดนตรีป๊อปเข้ากับความล้ำจากดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนที่ใช้ซินธิไซเซอร์เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการทำดนตรี ซึ่งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ยูกิฮิโระ ทากาฮาชิ มือกลองของ YMO เพิ่งได้เสียชีวิตไปด้วยโรคปอดบวม

YMO

หลังจากประสบความสำเร็จกับ YMO แล้วซากาโมโตะได้เข้าสู่โลกของการแสดงในภาพยนตร์เรื่อง “Merry Christmas, Mr. Lawrence” (1983) ผลงานการกำกับของ นางิสะ โอชิมะ (Nagisa Oshima) และรับบทนำประกบคู่กับไอคอนแห่งวงการดนตรี เดวิด โบวี (David Bowie) นอกจากนี้ซากาโมโตะยังได้รับโอกาสครั้งสำคัญในการแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งได้รับการยกย่องและได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงมาจนถึงปัจจุบัน บทเพลง “Merry Christmas, Mr. Lawrence” คือหนี่งในบทเพลงอมตะแห่งโลกดนตรีและวงการเพลงประกอบภาพยนตร์ เป็นบทเพลงที่อยู่ในใจของแฟนเพลงทั่วโลกเสมอมา

จากจุดนี้ซากาโมโตะจึงได้มีโอกาสแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์มาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน และมีผลงานที่ได้รับรางวัลมากมายอาทิ ผลงานเพลงประกอบจากภาพยนตร์เรื่อง “The Last Emperor” (1987) ที่ได้รับรางวัลออสการ์ในสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

นอกจากด้านดนตรีและการแสดงแล้ว ซากาโมโตะยังมีความสนใจในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสันติภาพ และได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการเคลื่อนไหวต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะในปี 2011 ซึ่งเกิดจากแผ่นดินไหวและสึนามิ

ด้วยความที่ซากาโมโตะนั้นเป็นลูกชายของ คาซุกิ ซากาโมโตะ (Kazuki Sakamoto) บรรณาธิการชื่อดังของสำนักพิมพ์ Kawade Shobo Shinsha ซากาโมโตะจึงเป็นผู้ที่มีความตื่นตัวต่อโลกรอบตัว และได้เริ่มเรียนการเขียนเพลงตั้งแต่อายุ 10 ขวบ และหลงใหลใน The Beatles และ Debussy พอเติบโตมาเป็นนักเรียนมัธยมในช่วงปลายทศวรรษ 1960s ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักเรียนนักศึกษากำลังเคลื่อนไหวทางการเมือง ซากาโมโตะก็ได้เข้าร่วมในขบวนประท้วงต่อต้านด้วยเช่นกัน ซึ่งเขาได้เปิดเผยว่าประสบการณ์นี้คือ”แก่นแท้ของตัวตนในแบบที่ผมเป็น”

ผลงานมาสเตอร์พีซชิ้นสุดท้ายที่ซากาโมโตะได้ฝากเอาไว้คืออัลบั้ม ‘12’ ที่แต่งขึ้นและบันทึกเสียงในช่วง 13 เดือนที่ยากลำบากเป็นพิเศษในชีวิตของเขาจากการต้องต่อสู้กับภาวะโรคร้ายที่รุมเร้า ‘12’ คือคอลเล็กชันของบทเพลงแอมเบียนต์ที่น้อยแต่ลุ่มลึกและอบอวลไปด้วยบรรยากาศในแบบของซากาโมโตะที่เรียงร้อยสุ้มเสียงผ่านเปียโนและซินธิไซเซอร์ อาจเรียกได้ว่าอัลบั้มนี้มีการเรียบเรียงที่ ‘น้อย’ ที่สุดเท่าที่ซากาโมโตะเคยทำมาแต่ว่าผลลัพธ์ของมันกลับน่าทึ่งอย่างยิ่ง 

แทร็กเพลงในอัลบั้มนี้มีชื่อและลำดับตามช่วงเวลาที่มีการเขียนขึ้น ทำให้อัลบั้มนี้ให้ความรู้สึกแบบไดอารี่ เสียงแต่ละเสียงต่างเคลื่อนไหวอย่างนุ่มนวลผ่านพื้นที่และเวลา มีทั้งบทเพลงที่เป็นท่วงทำนองบางเบาอันสะท้อนก้องภายใน เช่น “20210310”  สุ้มเสียงดิบลึกแห่งความครุ่นคิดคำนึงใน “20220202” และ “20220214” อารมณ์เศร้าสร้อยและสง่างามที่ชวนให้คิดถึงงานเพลงประกอบภาพยนตร์ของซากาโมโตะใน “20220207” และ “20220307” และบทเพลงที่มาพร้อมความอบอุ่นและความเรียบง่ายอันไพเราะ ให้ความรู้สึกเหมือนความพร่ามัวอันสง่างามในจิตรกรรมอิมเพรสชันนิสม์ “20220302 (sarabande)” ซึ่งต่อด้วย “20220302” บทเพลงในช่วงเวลาเดียวกันที่คลี่คลายรากเดิมออกในอีกทิศทาง

‘12’ คือความสง่างามที่เงียบสงบ ละเอียดอ่อนและนุ่มนวลที่สุดของซากาโมโตะ อันเป็นผลพวงจากความคลี่คลายชีวิตของผู้ที่ผ่านวัยวันและช่วงเวลาดีร้ายต่าง ๆ มากมาย เป็นผลผลิตจากช่วงเวลาที่ซากาโมโตะได้รักษาตัวเองหายจากโรคมะเร็ง และเขาได้ ‘กลับบ้าน’ มาทำงานเพลงอย่างเต็มที่อีกครั้ง แต่คราวนี้เมื่อเขาได้เผชิญหน้ากับเปียโนและซินธิไซเซอร์ที่ใช้ในการแต่งเพลง เขากลับไม่มีความรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะ ‘แต่งเพลง’ แต่กลับรู้สึกถึงพลังของเสียงที่อาบรดลงไปบนเรือนร่างของเขา และจากนั้นมาเขาก็ปฏิบัติตนต่อการแต่งเพลงราวกับการเขียนไดอารี่ในแต่ละวัน และนั่นก็คือที่มาของงานเพลงในอัลบั้ม ‘12’ ที่พร้อมจะหลั่งรินรดลงไปในโสตสัมผัสของเรา

ใครที่อยากรู้เรื่องราวชีวิต แนวคิดในการแต่งเพลงและคมความคิดของริวอิจิ ซากาโมโตะสามารถชมภาพยนตร์สารคดี “Ryuichi Sakamoto: CODA ดนตรี คีตา : ริวอิจิ ซากาโมโตะ” ได้ที่ netflix และ documentaryclub

Beartai Buzz ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของปูชนียบุคคลแห่งวงการดนตรีท่านนี้ที่จะอยู่ในใจของคนรักเสียงดนตรีตลอดไป

R.I.P. ริวอิจิ ซากาโมโตะ
1975-2023

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส