สิ้นสุดไปแล้วสำหรับการกลับมาเปิดคอนเสิร์ตในประเทศไทยครั้งที่สองของนักร้อง นักแต่งเพลงเจ้าของรางวัลแกรมมี อวอร์ด ‘แซม สมิธ’ (Sam Smith) กับเวิลด์ทัวร์จากอัลบั้มชุดที่สี่ ‘Gloria the Tour’ ซึ่งนี่ถือเป็นโชว์เปิดเอเชียทัวร์ของ ‘คุณแม่แซม’ อีกด้วย
อย่างที่ทุกคนทราบ ก่อนเริ่มโชว์ไม่กี่ชั่วโมง ได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบที่บริเวณพื้นที่ของห้างดังใจกลางเมือง แน่นอนว่าในช่วงเวลาก่อนเริ่ม ทุกคนต่างอยู่ในสภาวะหดหู่ และตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็โชคดีที่สถานการณ์กลับมาสงบเร็ว ทำให้โชว์ไม่ได้รับผลกระทบถึงขั้นต้องยกเลิก แต่ด้วยสภาพอากาศโดยรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ทำให้โชว์ถูกเลื่อนรอคนที่รถติดประมาณ 20 นาที
พอถึงเวลาประมาณ 20:51 น. สมิธขึ้นเวทีและเปิดโชว์ของตัวเองด้วยเพลงฮิตตลอดกาลอย่าง “Stay With Me” ก่อนจะเมดเลย์เชี่อมเข้าอีกหนึ่งเพลงฮิตอย่าง “I’m Not the Only One” น่าเสียดายที่สองเพลงแรก ซาวด์โดยรวมอาจจะยังไม่ลงตัวนัก เสียงกลองดูยังไม่ซิงก์กับเครื่องริทึมเซสชันอย่างกีตาร์และเบส ที่สำคัญเสียงเปียโนที่เป็นหัวใจของโชว์มาตลอด กลับมีโทนที่ไม่โดดเด่นขึ้นมา ทำให้ช่วงแรกเสียอรรถรสไปเล็กน้อย
แต่เมื่อถึงเพลงที่ 3 อย่าง “Like I Can” ภาพรวมของซาวด์ก็เริ่มนิ่งขึ้น บวกกับเพลง “Too Good at Goodbyes” ที่สมิธนำมาทำใหม่ในรูปแบบของอะคูสติกกีตาร์ ผสมผสานกับทีมคอรัสอันทรงพลัง นำโดย ลาดอนนา ฮาร์ลีย์-ปีเตอร์ส (LaDonna Harley-Peters), แพทริก ลินตัน (Patrick Linton) และ ลูซิตา จูลส์ (Lucita Jules) ก็เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า ความสนุกกำลังจะเริ่มต้นขึ้น
”กรุงเทพฯ เป็นไงบ้าง ผมดีใจมาก ๆ ที่ได้อยู่ที่นี่ ผมอยากจะบอกก่อนเข้าเพลงว่า ผ่านมา 5 ปีแล้วที่เราไม่ได้มาที่นี่ ผมอยากจะบอกจากใจว่า “ขอบคุณค่ะ!” (ภาษาไทย) ขอบคุณที่อยู่ข้างกันมาตลอด พวกคุณช่วยกันทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เราได้บินไปทัวร์รอบโลกมาหลายเดือน นี่คือโชว์เเรกในเอเชีย ถ้าพวกคุณอยากเต้น เต้นเลย! นี่คือโชว์ที่ปลอดภัย ไร้ซึ่งความกดดัน มันคือโชว์ที่เกี่ยวกับความรัก และอิสรภาพ ขอให้ทุกคนสนุกไปกับค่ำคืนนี้” สมิธพูดกับแฟน ๆ ครั้งแรก
สำหรับ ‘Gloria the Tour’ ตัวโชว์ถูกแบ่งออกเป็น 4 พาร์ตใหญ่ ๆ โดยทุกพาร์ตจะมีชื่อเรียกที่เป็นตัวแทนอารมณ์ของเพลงกลุ่มนั้น ๆ ซึ่งสี่เพลงแรกที่สมิธหยิบมาร้องนั้น ถูกเรียกว่า Prelude หรือเป็นการ ‘โหมโรง’ ด้วยเพลงดัง ๆ เพื่อเอาใจแฟน ๆ และเป็นการอุ่นเครื่องก่อนเข้าพาร์ตแรก
สมิธตั้งชื่อพาร์ตแรกของโชว์ว่า ‘Love’ โดยนักร้องวัย 31 ปี ขนเพลงฮิตมาร้องในช่วงนี้เพียบ ทั้ง “Perfect”, “Diamonds”, “How Do You Sleep?” และ “Dancing With a Stranger” เพลงส่วนใหญ่ในพาร์ตนี้ ทั้งหมดจะเป็นเพลงที่สอดคล้องกับแนวทางดนตรียุคใหม่ของเจ้าตัว ความแซ่บ ขี้เล่น เกิดขึ้นจากกลิ่นอายของดนตรีร็อกและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไวบ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้จะแตกต่างจากเพลงในช่วงแรก
พาร์ตสองถูกเรียกว่า ‘Beauty’ สมิธเปิดด้วยเพลงช้า ๆ อย่าง “Kissing You” ก่อนจะไต่ระดับความนุ่มลึกไปกับ “Lay Me Down” ที่ได้ ลาดอนนา ฮาร์ลีย์-ปีเตอร์ส มาร้องดูเอต (Duet) คู่กับเขา เช่นเดียวกับเพลง “Love Goes” ที่ได้ แพทริก ลินตัน มาร่วมร้องประสานในเพลงนี้ด้วย
ช่วงกลางของโชว์ถือเป็นไฮไลต์อย่างแท้จริง โชว์เริ่มมีการใช้แดนเซอร์เข้ามาช่วยเพิ่มสีสัน ปลุกเร้าอารมณ์มากขึ้น เพื่อสร้างบรรยากาศให้เหมือนคุณกำลังติดอยู่ในบาร์สักแห่งหนึ่ง ซึ่งสมิธก็ได้พูดติดตลกกับแฟน ๆ ในฮอลล์ว่า “คิดซะว่าคุณกำลังอยู่ในบาร์เกย์ละกันนะ” ก่อนที่เจ้าตัวจะทยอยเล่นเพลงแนวอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายของเขา เริ่มตั้งแต่ “Gimme”, “Lose You”, “Promises”, “I’m Not Here to Make Friends”, “Latch” และ “I Feel Love” (คัฟเวอร์ ดอนนา ซัมเมอร์)
พาร์ตสุดท้ายถูกเรียกว่า ‘Sex’ สมิธกลับขึ้นมาสู่เวทีพร้อมกับเพลง “Gloria” โดยเพลงนี้เจ้าตัวสวมผ้าคลุมสีขาวทั้งตัว บริเวณศีรษะสวมมงกุฎ ที่ดูรวม ๆ แล้วเหมือนแม่แซมคอสเป็นพระแม่มารีย์อย่างใดอย่างนั้น เพลงนี้สมิธและวงทำออกมาได้ทรงพลังและดูขลังมาก ๆ เหมือนกับเพลงสวดในโบสถ์จริง ๆ
หลังจบเพลงสมิธทิ้งท้ายความแซ่บของตัวเองด้วยการสลัดผ้าคลุมสีขาวนั้นทิ้งไป เหลือเพียงกางเกงในสีดำหนึ่งตัว เป็นสัญลักษณ์ของการปลดเปลี้อง ที่นำไปสู่อิสรภาพทางเพศสภาพของตัวเอง ก่อนจะคัฟเวอร์เพลงดังของมาดอนน่าอย่าง “Human Nature” และทิ้งท้ายคอนเสิร์ตในครั้งนี้ด้วยเพลง “Unholy”
ภาพรวมโชว์ในครั้งนี้ เรื่องคุณภาพเสียงอาจจะดรอปกว่าครั้งก่อน ตัวโชว์ไม่ได้เน้นขายเทคนิค หรือใส่ใจในรายละเอียดของเสียงมากนัก เช่นการสร้างแอมเบียนต์ เล่นกับความเงียบ เล่นกับเสียงรีเวิร์บ หรือแม้กระทั่งการเค้นเสียงอันทรงพลังของสมิธออกมาเหมือนโชว์ครั้งก่อน ที่สำคัญเสียงเปียโนของ รูธ โอ’มาโฮนี เบรดี (Ruth O’Mahony Brady) ก็ออกเบาบางเกินไป เหมือนกับว่าเสียงเปียโนที่เป็นเสน่ห์ของสมิธมาตลอด กำลังถูกลดความสำคัญไป ทั้งนี้ทั้งนั้น ‘Gloria the Tour’ ถูกออกแบบมาตอบโจทย์ในเรื่องความครบรสมากกว่าครั้งก่อน ไม่ได้เดาทางง่าย หรือออกหน้าเดียวเหมือนเก่า เซตลิสต์มีความหลากหลาย มีเพลงอัปบีตหลายเพลงที่ช่วยเพิ่มอรรถรสในเรื่องความสนุก และชวนให้คนดูอยากลุกขึ้นมาเต้นจริง ๆ
อีกสิ่งหนึ่งที่ผมชอบคือการออกแบบเวที และการทำโชว์ให้มีบรรยากาศของละครบรอดเวย์ โอเปรา หรือแม้กระทั่งบัลเลต์ เวทีถูกออกแบบให้เป็นรูปร่างของอะโฟรไดท์ (Aphrodite) เทพีแห่งความรักโทนสีทองล้วนคล้ายกำลังคว่ำหน้า มองมุมหนึ่งก็คล้าย ’พระนอน’ ของบ้านเราไม่น้อย แถมฉากยังให้อารมณ์ของวัฒนธรรมอียิปต์ กรีก ผสมผสานกับช่วงเวลาก่อนคริสตกาล มีแดนเซอร์ที่เป็นตัวแทนของการสรรเสริญ มีการกระโดดคล้ายท่าบัลเลต์ มีการใช้ body language สร้างเรื่องราวตามเนื้อเพลง ผสมผสานกับคอสตูมที่จัดเต็มสุด ๆ ของสมิธ ทำให้โชว์ดูมีสีสัน มีเรื่องราว และน่าค้นหามาก ๆ ที่สำคัญช่วงการต่อพาร์ตต่าง ๆ ทำออกมาได้ดี เดดแอร์น้อย โชว์กระชับไม่ยืดเยื้อ
ถือว่าแฟนเพลงที่อิมแพ็ค อารีนาโชคดีมาก ๆ ที่ประเทศไทยเป็นหมุดหมายแรกของสมิธในเอเชีย เพราะจากการพักผ่อนที่มากพอ ทำให้เสียงร้องของสมิธอยู่ในระดับที่ทรงพลัง และพร้อมสุด ๆ คงไม่ผิดอะไร ถ้าจะบอกว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้แม่แซมโชว์ ‘ขายเสียง’ ได้แบบเลิศ ๆ ชนิดที่ว่าเป็นเดอะแบกของโชว์เลยทีเดียว นี่ถือเป็นอีกหนึ่งโชว์ความยาว 1 ชั่วโมง 37 นาทีที่ครบรสมาก ๆ ในปีนี้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส