ถ้าพูดถึงเทศกาลดนตรีในฝันของนักฟังเพลงส่วนมาก หนึ่งในนั้นต้องมี ‘Summer Sonic’ ติดโผเป็นอันดับต้น ๆ อย่างแน่นอน นี่ถือเป็นเวทีที่ศิลปินระดับท็อปของโลกหลายเบอร์ เคยขึ้นแสดงและเป็นเฮดไลเนอร์ของงานมาแล้ว ไล่ตั้งแต่ชื่อของ เจมส์ บราวน์ (James Brown), Green Day, Linkin Park, Coldplay, Oasis, บียอนเซ (Beyonce), รีฮันนา (Rihanna) หรือแม้แต่ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) 

ในปีนี้ Summer Sonic สร้างเซอร์ไพรส์โดยการหอบทั้งเฟสติวัลมาจัดขึ้นที่ประเทศไทยครั้งแรก โดยใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘Summer Sonic Bangkok’ อีกทั้งยังยกทัพศิลปินดังมาร่วมโชว์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น YOASOBI, LAUV หรือ LAUFEY

BT BUZZ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นาโอกิ ชิมิซุ (Naoki Shimizu) ผู้ก่อตั้ง ‘Summer Sonic’ ในหลากหลายประเด็น ทั้งฝ่าฟันอุปสรรคในการสร้างแบรนด์ Summer Sonic จนกลายเป็นมิวสิกเฟสติวัลระดับท็อปของโลก รวมไปถึงเป้าหมายที่เขาวางไว้สำหรับการจัดงานที่ประเทศไทยครั้งนี้

นาโอกิ ชิมิซุ

คุณรู้สึกอย่างไรที่ได้นำ Summer Sonic มาจัดที่ประเทศไทย

ชิมิซุ: ก่อนอื่นต้องบอกว่าตกใจมาก เพราะว่าถ้าดูจากจํานวนนักข่าวที่มาในงานแถลงข่าว คือถ้าเป็นที่ญี่ปุ่น งานเฟสติวัลแบบนี้คงจะไม่มีนักข่าวมาเยอะขนาดนี้ และที่แน่ ๆ คงไม่มีนายกรัฐมนตรีมาร่วมงานแบบนี้ด้วย จากสิ่งนี้ผมมองเห็นว่าประเทศไทยค่อนข้างเป็นประเทศที่มีความสนใจในเรื่องของดนตรี มีการสนับสนุนในเรื่องของดนตรี และสิ่งหนึ่งที่รู้สึกได้ก็คือความสัมพันธ์ไทยกับญี่ปุ่นมีความแน่นแฟ้นมาก ๆ

งานเฟสติวัลที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีฐานแฟนเพลงที่เหนียวแน่น คุณวางแผนจะสร้างฐานคนดูของ Summer Sonic ในประเทศไทยอย่างไร

ชิมิซุ: จริง ๆ แล้ว Summer Sonic เป็นงานที่ไม่ว่าจะคนไทยหรือว่าคนเอเชียคงรู้จักกันดี แล้วก็ royalty กับงานนี้มากอยู่แล้ว แต่ผมมองว่าการที่ได้มาจัดที่ประเทศไทย อาจจะเป็นการสร้างโอกาสในการนําศิลปินเอเชียคนอื่น ๆ มาแสดงที่นี่ แน่นอนว่าเราอยากจะลองทํา Summer Sonic ในรูปแบบที่อาจจะแตกต่างจากที่ญี่ปุ่นสักเล็กน้อย

วางแผนจะนำเข้าศิลปินญี่ปุ่นมาแสดงในงานนี้มากน้อยขนาดไหน

ชิมิซุ: ตั้งแต่ที่เราจะจัด Summer Sonic ในประเทศไทย เราก็มีการพูดคุยกันอยู่แล้วว่าอย่างน้อย อยากจะให้มีศิลปินญี่ปุ่นมาแสดงที่นี่ 2-4 ศิลปิน และถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะเพิ่มจํานวนให้มากกว่านี้ด้วย แต่ว่าอย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การตัดสินใจจากฝ่ายเราอย่างเดียว แต่ว่าอยู่ที่ฝั่งไทยกับเรามาหารือกันอีกทีหนึ่ง อย่าง YOASOBI ที่ประกาศไปก่อนหน้า ก็เป็นศิลปินที่ทั้งสองฝั่งได้หารือกัน แล้วก็มีความเห็นตรงกัน

กว่าจะเป็นเทศกาลดนตรีระดับโลก Summer Sonic ต้องผ่านอะไรมาบ้าง อะไรคืออุปสรรคที่คุณนึกถึงเสมอ

ชิมิซุ: ครั้งแรกที่ผมจัด (ปี 2000) ตอนนั้น เจมส์ บราวน์ ขึ้นแสดงก่อนเฮดไลเนอร์ แล้วเขาก็ดันเล่นเกินเวลาไป จากที่ต้องเล่นแค่หนึ่งชั่วโมง เรื่องนี้ที่ญี่ปุ่นคือไม่ได้เลย มันเป็นเรื่องของมารยาทด้วย ซึ่งในมุมมองของผู้จัด นั่นคือความผิดพลาดและทำให้งานในครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ

การที่ Summer Sonic ประสบความสําเร็จได้อย่างทุกวันนี้ ผมมองว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจากการจัดงานแค่ครั้งแรกแล้วปังเลย แต่มันเกิดจากการเรียนรู้ เกิดจากการเปลี่ยนแปลง การปรับตัว ปกติเฮดไลเนอร์ของเราจะเป็นเพลงร็อกมาก่อน แต่เราก็เปลี่ยนให้เป็นแบบนักร้องผู้หญิงอย่างบียอนเซบ้าง หรือว่าเพิ่มศิลปินที่เป็น เค-ป๊อป ไป เพราะฉะนั้นการที่มันสําเร็จได้ มันเริ่มจากการค่อยเป็นค่อยไป ค่อย ๆ เรียนรู้แล้วก็เติบโต 

มีวิธีเลือกศิลปินมาขึ้นแสดงอย่างไร

ชิมิซุ: จริง ๆ ตัวศิลปินระดับท็อปเองก็ค่อนข้างมีพลังในการดึงดูดคนให้มาดูอยู่แล้ว จริง ๆ Summer Sonic ที่เราจัดในโตเกียวกับโอซาก้า เราก็จะใช้วิธีการแชร์ศิลปินกันแสดงทั้งสองเมือง ซึ่งผมก็มองว่าในอนาคตพอเราได้จัดที่ประเทศไทยด้วย ก็อยากจะทำให้เกิดการแชร์ศิลปินกันทั้งสามที่เลย ทำให้เป็นจุดเด่นของ Summer Sonic

ผมไปงานเฟสติวัลทั่วโลกเยอะมาก ผมชอบไปด้วยตัวเองและได้เรียนรู้ว่าดนตรีของแต่ละที่เป็นอย่างไร ซึ่งนั่นทำให้ผมนำมาปรับใช้กับ Summer Sonic อย่างที่สองก็คือเรามีการติดต่อกับตัวแทนของศิลปินจำนวนมาก บางที่เป็นตัวแทนของศิลปินมากกว่า 50 ศิลปิน ซึ่งศิลปินเหล่านี้คือมาจากทั่วโลกเลย แล้วผมก็จะทำหน้าที่ดูว่าศิลปินคนไหนน่าสนใจอย่างไร วิธีนี้ทําให้ผมเห็นรายชื่อของศิลปินมากขึ้น แล้วก็ทําให้การติดต่อของเรารวดเร็วมากขึ้นด้วย 

ในฐานะผู้สร้าง ตั้งเป้าความสําเร็จในปีแรกของ Summer Sonic Bangkok อย่างไร 

ชิมิซุ: จริง ๆ ก็อยากให้คนมาเยอะ ๆ  อยากให้บัตรขายได้เยอะ ๆ แต่ว่าด้วยความที่เราจัดงานนี้ที่ประเทศไทยเป็นปีแรก แน่นอนมันก็อาจจะยังไม่มีผลงานให้คนเห็น บางคนอาจจะยังไม่มั่นใจว่าจะมาดีไหม บางคนยังมีความลังเลที่จะมา อย่างเรื่องศิลปินที่จะติดต่อให้มาแสดง ก็ผ่านกันหลายขั้นตอน และก็ยังไม่รู้ว่าศิลปินที่เราดีลมานั้นจะมาได้จริง ๆ หรือไม่ เพราะฉะนั้นปีแรก เราเลยไม่ได้เน้นหรือคาดหวังในเรื่องของปริมาณคนที่จะมาร่วมงานว่าจะมากแค่ไหน แต่คงไปเน้นในเรื่องของการสร้างชื่อเสียง และสร้างผลงานเอาไว้เพื่อให้คนเชื่อถือก่อน ซึ่งถ้าทำได้จะทำให้ปีต่อไปมีคนอยากมาดูมากขึ้น และเราจะสามารถดึงศิลปินเบอร์ใหญ่ ๆ เข้ามาเพิ่มได้ด้วย

ภาพของ Summer Sonic ที่ญี่ปุ่น มาพร้อมกับภาพอากาศร้อน ๆ เวทีกลางแจ้ง แต่การย้ายมาจัดในอินดอร์ที่ประเทศไทย กลายเป็นเรื่องแปลกใหม่ของคุณหรือเปล่า

ชิมิซุ: จริง ๆ ครั้งนี้ค่อนข้างท้าทายเราอย่างมาก อย่างแรกเลยครั้งนี้ถูกรีเควสมาให้จัดที่อินดอร์ เพราะว่าเดือนสิงหาคม อากาศที่ประเทศไทยค่อนข้างร้อนมาก เพราะฉะนั้นเราอาจจะต้องเริ่มจากการจัดในอินดอร์ก่อน แต่ผมมองว่าครั้งต่อ ๆ ไป ก็ต้องมาดูเรื่องความเหมาะสมกันอีกที สมมติอยากจะจัดเอาต์ดอร์ขึ้นมาจริง ๆ มันก็ต้องมาดูเหตุผลกันอีกว่า สถานที่จะเป็นที่ไหน รวมถึงเรื่องฤดูกาล มันอาจจะไม่ใช่เดือนสิงหาคมแล้ว อาจจะไปจัดในฤดูอื่นแทน แล้วมันก็เป็นเรื่องของศิลปินที่เราจะเรียกมาด้วย สมมติว่าตอนนั้นศิลปินมาแสดงที่ประเทศไทยในฤดูอื่น เราก็ต้องนําศิลปินกลับไปแสดงที่ญี่ปุ่นด้วยเพื่อให้มันต่อเนื่องกัน แต่ก็อาจจะเป็นในชื่องานอื่น 

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน กล่าวไว้ในงานแถลงข่าวว่า Summer Sonic สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มางานได้มากกว่า 350,000 คน ในฐานะผู้ก่อตั้ง คุณมองว่าเทศกาลดนตรีมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร

ชิมิซุ: ตัวผมเองคิดว่า Summer Sonic มีผลทางด้านเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เพราะว่าทุกปีจะมีแขกจากต่างประเทศเข้ามาที่ญี่ปุ่นเยอะมาก ๆ ซึ่งตอนนี้รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็เริ่มหันมาสนใจเรื่องของ Summer Sonic มากขึ้นแล้ว และสำหรับที่นี่ ผมก็คาดหวังเหมือนกันว่าจะมีคนจากประเทศรอบ ๆ เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นจากงาน Summer Sonic

จริง ๆ แล้วในประเทศญี่ปุ่น 300,000 กว่าคนที่มางาน ก็ไม่ได้มาเที่ยวแค่อีเวนต์ของเราอย่างเดียว  เพราะตั้งแต่ฮอกไกโดลงมาถึงโอกินาวา เรียกได้ว่าทั่วทุกจังหวัดเขาจะมีเฟสติวัลที่เขาจัดกันเองอยู่แล้ว ผมจึงมองว่ามิวสิกเฟสติวัลคือสิ่งที่ค่อนข้างขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้มากทีเดียว

จะทำอย่างไรให้ Summer Sonic ที่ไทย มีคุณภาพเทียบเท่าที่ญี่ปุ่น

ชิมิซุ: จริง ๆ แล้วอย่างที่ญี่ปุ่นเอง เรามีวิธีจัดการอยู่แล้วว่าอยากให้เวทีอยู่ใกล้กัน ตารางเวลาไล่เลี่ยกัน คือมันเป็นแผนที่เราวางเอาไว้อยู่แล้ว แต่ว่าพอมาทําที่ต่างประเทศมันก็มีข้อยาก ซึ่งสิ่งที่ผมรู้สึกว่าทำได้ยากมาก ๆ เลยก็คือการวางแผนการจัดการตารางเวลา พอไปต่างประเทศมันก็จะมีข้อจํากัดอีกว่า ไม่อยากให้ศิลปินคนนี้มาเล่นซ้อนกับศิลปินคนนั้น อย่างเช่นวงนี้อาจจะเล็ก วงนั้นอาจจะใหญ่ เราก็ไม่อยากให้วงมาขึ้นพร้อมกัน อยากให้วงเล็กมาเล่นก่อน วงใหญ่ไว้เล่นทีหลัง หรืออะไรอย่างนี้ ซึ่งมันก็คือเป็นปัญหาที่ผมต้องจัดการนะครับ ว่าจะทําอย่างไรเพื่อให้ทุกอย่างลงตัว

ที่ญี่ปุ่นเองก็เคยมีปัญหา มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนนั้นวง Oasis ขึ้นเล่นเวลาเดียวกันกับ The Black Crowes ที่โอซาก้า ซึ่งทั้งสองวงดังพอ ๆ กัน แต่คนก็เลือกไปดู Oasis เยอะมากจนคนดู The Black Crowes น้อยแบบหลักไม่กี่พันคน ซึ่งตอนนั้นมันก็เลยกลายเป็นปัญหามีคนดูโกรธเยอะมาก เพราะเขาไม่พอใจที่ไปดูอีกวงไม่ทัน  พอมาเล่นที่โตเกียวเราก็ต้องมาจัดการเวลาใหม่ สุดท้ายต้องยอมให้อีกวงขึ้นช้ากว่าเพื่อคนดูจะได้มีโอกาสชมทั้งสองวง

มีเฮดไลเนอร์ในฝันไหม ที่เคยอยากดึงมาขึ้น Summer Sonic แต่ยังไม่มีโอกาสไหม

ชิมิซุ: ทํามา 20 กว่าปี แน่นอนก็มีศิลปินหลายคนที่ผมอยากให้มาครับ อย่างเช่น บรูซ สปริงส์ทีน (Bruce springsteen) ซึ่งเป็นคนที่ผมชอบมานานมาก ๆ หรือว่าจะเป็นวงระดับตํานานอย่าง Queen, สตีวี วันเดอร์ (Stevie Wonder), Prince ซึ่งตลอด 20 ปี มานี้ก็มีอีกหลายคนเลย แต่มันก็มีปัจจัยที่ทำให้เราไปดึงคนเหล่านั้นมาไม่ได้ หรือบางคนก็เสียชีวิตไปก่อนที่จะมีโอกาสได้มาเล่น 

สำหรับ SUMMER SONIC BANGKOK จะจัดขึ้นในวันที่ 24-25 สิงหาคม 2024 ณ อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี โดยจะจัดขึ้นหลังจากงาน SUMMER SONIC TOKYO และ OSAKA หนึ่งอาทิตย์ ตอนนี้เปิดขายบัตรรอบพิเศษแล้ว สามารถติดตามรายละเอียดงานเพิ่มเติมได้ที่ facebook.com/Summersonicbangkok