ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลายเป็นที่จับตามองในทุกวงการ หนึ่งในนั้นก็คือวงการเค-ป็อป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมความบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ มีนักร้องและศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายคนใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อสร้างมิวสิกวิดีโอและแต่งเพลง รวมถึงวงบอยแบนด์ Seventeen ด้วย

บทความจาก BBC กล่าวว่า “Maestro” อัลบั้มและซิงเกิลล่าสุดของวง Seventeen ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะมีการสร้างฉากในมิวสิกวิดีโอโดยเอไอและอาจมีเนื้อเพลงที่เขียนโดยเอไอด้วย ขณะที่อูจี (Woozi) กล่าวกับผู้สื่อข่าวในงานเปิดตัวอัลบั้มที่กรุงโซลว่าตัวเขาเองก็กำลังทำการทดลองใช้เอไอเขียนเนื้อเพลงเพื่อพยายามหาข้อดีและข้อเสีย เพื่อพัฒนาตัวเองไปพร้อมกับเทคโนโลยีนี้อยู่เช่นกัน

สิ่งนี้ทำให้แฟนเพลงมีความเห็นแตกต่างกันออกไป บางคนก็เรียกร้องให้มีการกำหนดกฎเกณฑ์การใช้เอไออย่างจริงจังก่อนมันจะกลายเป็นเรื่องปกติ ขณะที่บางคนก็เปิดใจกับการใช้เทคโนโลยีนี้ อย่าง แอชลีย์ เปรัลตา (Ashley Peralta) แฟนคลับตัวยงวัย 26 ปี เธอให้ความเห็นว่าหากเอไอช่วยแก้ไขปัญหาด้านความคิดสร้างสรรค์ให้กับศิลปินได้เธอก็รู้สึกโอเคกับมัน แม้จะกังวลว่าหากใช้เอไอกับเนื้อเพลงทั้งอัลบั้ม อาจทำให้แฟนเพลงห่างเหินจากศิลปินที่ชื่นชอบ เพราะผลงานที่เผยแพร่ออกมาอาจขาดการสะท้อนตัวตนและความรู้สึกของศิลปิน เอไออาจทำให้ความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่างศิลปินและแฟนคลับหายไป

AI K-pop

ส่วนความเห็นในมุมมองของผู้ทำงานในวงการเค-ป็อป การยอมรับเทคโนโลยีใหม่นี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ อย่าง คริส แนร์น (Chris Nairn) ผู้เป็นโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง และนักเขียนเพลง เขาทำงานภายใต้ชื่อ Azodi ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา เขาเขียนเพลงให้กับศิลปินเค-ป็อป รวมถึง คิม อูจิน (Kim Woojin) และบริษัทชั้นนำอย่าง SM Entertainment ซึ่งเจ้าตัวได้ให้ความเห็นว่าอุตสาหกรรมดนตรีของเกาหลีใต้มีความก้าวหน้ามาก พวกเขาสนใจว่า “ขั้นต่อไปคืออะไรและจะก้าวล้ำไปอีกขั้นได้อย่างไร” เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่แปลกใจหากจะมีการนำเอไอมาใช้ในการเขียนเนื้อเพลง

แต่หากถามว่าเอไอจะกลายเป็นอนาคตของเค-ป็อปหรือไม่ แนร์นเองก็ยังไม่แน่ใจ เพราะจากประสบการณ์ที่เคยทดลองโปรแกรมสร้างเนื้อเพลงด้วยเอไอ เขากล่าวว่า “เอไอสามารถเขียนเนื้อเพลงที่มีคุณภาพได้ดีพอสมควร แต่หากคุณเป็นนักแต่งเพลงชั้นยอด สิ่งที่ดีที่สุดคือการสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ ขึ้นมา แต่เอไอทำงานโดยใช้สิ่งที่มีอยู่แล้ว มันไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยตัวเองได้” โดยเจ้าตัวยังเน้นย้ำว่ารู้สึกว่าเพลงจากเอไอยังไม่เพียงพอสำหรับศิลปินแถวหน้า รวมถึงแฟนเพลงจะต้องการเพลงที่แต่งออกมาจากใจของศิลปินจริง ๆ มากกว่า ซึ่งแตกต่างจากเพลงที่สร้างด้วยเอไอ

AI K-pop

นอกจาก Seventeen แล้ว วงเค-ป็อบ Aespa ก็ใช้เทคโนโลยีเอไอสร้างฉากบางฉากในมิวสิกวิดีโอเพลง “Supernova” ด้วย เชลซี โตเลโด (Chelsea Toledo) เพื่อนสนิทของเปรัลตาออกมาให้ความเห็นกรณีนี้ว่า “เค-ป็อปมีชื่อเสียงในด้านการผลิตและการตัดต่อที่น่าทึ่ง การมีฉากที่สร้างโดยเอไอทำให้เสน่ห์ตรงจุดนี้หายไป และการใช้เอไอในวิดีโอยังทำให้เราไม่สามารถรู้ได้ว่าผลงานศิลปะต้นฉบับของใครถูกขโมยไปหรือไม่ ซึ่งมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก” เธอกล่าว

อาร์ปิตา อัธยา (Arpita Adhya) นักข่าวดนตรีและแฟนพันธุ์แท้เค-ป็อป ออกมาให้ความเห็นว่าการใช้เอไอในอุตสาหกรรมนี้แสดงถึงแรงกดดันที่ศิลปินต้องเผชิญ เพราะศิลปินส่วนใหญ่จะปล่อยอัลบั้มใหม่ทุกสองปี แต่กลุ่มศิลปินเค-ป็อปอาจต้องปล่อยอัลบั้มทุก ๆ หกถึงแปดเดือนเพราะกระแสรอบตัว ซึ่งเธอเชื่อว่าเอไอกำลังกลายเป็นเรื่องปกติในอุตสาหกรรมนี้และต้องการให้มีการควบคุมที่ชัดเจนด้วย รวมถึงต้องการให้ศิลปินรับฟังความเห็นจากแฟน ๆ พร้อมแก้ไขเรื่องการนำเอไอมาใช้ เนื่องจากยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าศิลปินควรนำเอไอมาใช้มากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตามหลังจากบทความนี้ของ BBC ถูกเผยแพร่ออกมา มีแฟนคลับจำนวนมากออกมาโต้แย้งและนำเสนอข้อมูลว่า การที่อูจีนำเอไอมาใช้นั้นเป็นการทดลองเพื่อหาข้อดีข้อเสีย และเพื่อหาแนวทางปกป้องเอกลักษณ์ของตัวเอง ไม่ได้มีการนำเอไอมาแต่งเพลงเพื่อเผยแพร่หรือ “ขาย” ให้กับแฟน ๆ แต่อย่างใด นอกจากนี้ MV เพลงล่าสุดมีการนำเอไอมาใช้ใน Teaser ของ MV แต่ไม่ได้นำมาใช้ในงานเพลง ส่วน MV เองก็ถ่ายทำโดยกล้องและเทคนิคซีจีไอทั้งหมด อีกทั้งเนื้อหาของ MV ยังสื่อถึงการสู้กับเทคโนโลยีเอไออีกด้วย ซึ่งเราจะเห็นได้ตั้งแต่ปล่อยทีเซอร์ออกมา ก็ได้มีการตั้งคำถามอย่างชัดเจนในคลิปว่า “In our current reality where anything can be created with AI, who is the real Maestro?”