ในทุกวันนี้ เป็นที่รู้กันดีสำหรับคอเพลงแจ๊สว่า “จอห์น โคลเทรนคือหนึ่งในมือแซ็กโซโฟนและนักแต่งเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรีแจ๊ส ตลอดช่วงชีวิตเขาได้ออกผลงานทั้งสิ้น 45 สตูดิโออัลบั้ม อันมีอัลบั้มที่คอแจ๊สทั้งหลายไม่ควรพลาดอาทิเช่น Blue Train (1957) , My Favourite Things (1961) และ A Love Supreme (1965) อันเป็นอัลบั้มที่นักฟังเพลงทั้งหลายได้กล่าวยกย่องว่ามันคือที่สุดของโคลเทรน และเป็นที่สุดของอัลบั้มเพลงแจ๊ส มันไม่ใช่อัลบั้มที่ให้คนทั่วไปฟังหากแต่เป็นสารที่ส่งถึงพระเจ้า

จอห์น โคลเทรน

แต่รู้ไหมว่า ได้มีผลงานอันยิ่งใหญ่อีกชิ้นที่ถูกเก็บงำมาตลอดเป็นเวลากว่า 55 ปี อันเป็นผลงานที่ผ่านการบันทึกเสียงโดย จอห์น โคลเทรน และกลุ่มนักดนตรียอดฝีมือที่เล่นเข้าขากันได้เป็นอย่างดีที่รู้จักกันในนามว่า “คลาสสิค ควอเท็ตของ จอห์น โคลเทรน” ซึ่งประกอบไปด้วย จอห์น โคลเทรน ในตำแหน่ง แซ็กโซโฟน , แม็คคอย ไทย์เนอร์ (McCoy Tyner) มือเปียโน , จิมมี่ แกร์ริสัน (Jimmy Garrison) มือเบส และ เอลวิน โจนส์ (Elvin Jones) มือกลอง โดยในวันที่ 6 มีนาคมปี 1963 จอห์นและวงคลาสสิค ควอเท็ตของเขาได้บันทึกเสียงผลงานขั้นเอกอุ 7 เพลงที่สตูดิโอ Rudy Van Gelder ในนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งด้วยเหตุผลกลอันใดก็ไม่ทราบจึงทำให้ผลงานเหล่านี้ไม่ได้รับการเผยแพร่ หรือวางจำหน่ายเลยตราบจนกระทั่งบัดนี้ ที่ผลงานเหล่านี้ได้ถูกค้นพบและได้กลายมาเป็นอัลบั้มล่าสุดของศิลปินที่เป็นตำนานที่แม้ร่างกายจะไร้ลมหายใจไปแล้ว หากแต่ผลงานของเขานั้นยังคง และอัลบั้มอันทรงคุณค่านี้มีชื่อว่า “Both Directions at Once : The Lost Album”

Play video

งานบันทึกเสียงชิ้นนี้ถูกค้นพบโดย ฮัสนิต้า ไนยมา (Juanita Naima) ภรรยาคนแรกของโคลเทรน ในวันที่ 6 มีนาคมปี 1963 โคลเทรนและผองเพื่อนสมาชิกได้บันทึกเสียงบทเพลงต่างๆซึ่งในนั้นมีหลายเพลงที่เป็นเพลงใหม่และไม่เคยบันทึกเสียงที่ไหนมาก่อน พวกเขาใช้เวลาหนึ่งวันบันทึกผลงานทั้งหมด โดยบางเพลงเล่นไปสองสามเทคหรือมากกว่านั้น โดยในแต่ละเทคก็มีวิธีการเล่นและเรียบเรียงปรับเปลี่ยนแตกต่างกันไป สิ้นสุดวันนั้นโคลเทรนได้หอบเอาเทปบันทึกเสียงกลับมาที่บ้านในควีนส์ที่ซึ่งเขาอาศัยอยู่กับไนยมาภรรยาของเขา และหลังจากนั้นมันก็ไม่เคยถูกค้นพบอีกเลยตราบจนกระทั่งวันนี้ที่มันได้ออกเผยแพร่โดย Impulse! ค่ายเพลงแจ๊สที่ผลิตผลงานดีๆออกมามากมาย

โคลเทรนและผองเพื่อนสมาชิกวง “คลาสสิค ควอเท็ต” ณ วันที่บันทึกเสียงในสตูดิโอ รูดี้ แวน เกลเดอร์ ปี 1963

ผลงานในอัลบั้ม “Both Directions at Once : The Lost Album” ที่ออกวางจำหน่ายมีอยู่ด้วยกันสองรูปแบบคือแบบแผ่นเดียว และ แบบแผ่นคู่ ซึ่งเพลงในแผ่นที่สองจะเหมือนกับแผ่นที่หนึ่งแต่เป็นการเล่นในเทคที่แตกต่างกันออกไป  ซึ่งรายชื่อเพลงในอัลบั้มมีดังต่อไปนี้

แผ่นที่หนึ่ง

  1. “Untitled Original 11383” (Take 1)
  2. Nature Boy
  3. “Untitled Original 11386” (Take 1)
  4. “Vilia” (Take 3)
  5. Impressions” (Take 3)
  6. “Slow Blues”
  7. “One Up, One Down” (Take 1)

แผ่นที่สอง

  1. “Vilia” (Take 5)
  2. “Impressions” (Take 1)
  3. “Impressions” (Take 2)
  4. “Impressions” (Take 4) – 3:40
  5. “Untitled Original 11386” (Take 2)
  6. “Untitled Original 11386” (Take 5)
  7. “One Up, One Down” (Take 6)

ในอัลบั้มนี้มีเพลงใหม่ที่ไม่เคยบันทึกเสียงที่ไหนมาก่อนอยู่สองเพลง คือ “Untitled  Original 11383″ และ “Untitled Original 11386” ทั้งสองเพลงโดดเด่นด้วยการบรรเพลง โซปราโน แซ็กโซโฟนของโคลเทรน โดยเพลงแรกนั้นมีลูกเป่าที่จดจำได้ง่าย ชัดเจน และ โดดเด่น มาในท่วงทำนองไมเนอร์คีย์และการเล่นโหมด นอกจากนี้ยังมีการโซโล่เบสที่โดดเด่นของจิมมี่ แกร์ริสันอีกด้วย ส่วนในเพลงที่สองนั้นเป็นการ เรียบเรียงเมโลดี้ด้วยเพนทาโทนิคสเกล มีการย้อนกลับมาสู่ธีมในขณะที่กำลังโซโล่ซึ่ง แตกต่างจากธรรมเนียมของการเล่นควอเท็ตโดยทั่วไป

Play video

 

Play video

“Nature Boy”  บทเพลงจังหวะช้าที่มาในท่วงทำนองไมเนอร์คีย์ ไร้เงาเสียงเปียโนพะพลิ้วของ ไทย์เนอร์ แต่ก็สามารถเพลินใจไปกับทักษะการเล่นอันเอกอุของสมาชิกวงคนอื่นๆ และแน่นอนกับสำเนียงการเป่าแซ็กโซโฟนอันร้อนแรงของโคลเทรน

Play video

“Vilia” น่าจะเป็นเพลงที่ฟังง่ายที่สุดในอัลบั้มแล้ว เพราะเป็นเพลงที่มาในท่วงทำนองปานกลาง สวยงาม สว่างไสว เมโลดี้สวย ชวนโยกไปเบาๆ เพลงนี้มาจากเพลงธีมที่มีชื่อเดียวกัน แต่งโดยนักประพันธ์เพลงชาวฮังกาเรียนชื่อว่า ฟรานซ์ เลฮาร์ (Franz Lehár) โดยเป็นเพลงประกอบอุปรากรเรื่อง The Merry Widow

Play video

“Impressions” เป็นหนึ่งในเพลงที่มีชื่อเสียงของโคลเทรนและได้รับการบันทึกเสียงหลายครั้ง แต่ในเวอร์ชั่นนี้จะไม่มีเสียงเปียโนจาก แมคคอย ไทย์เนอร์ ถือว่าเป็นรสชาติที่แปลกออกไป โดยในอัลบั้มนี้จะได้ฟังเพลง Impressions  ถึง 4 เทคเลยทีเดียว

Play video

“Slow Blues” ช่วงแรกของเพลงเป็นการบรรเลงแซ็กโซโฟนจากโคลเทรนท่ามกลางเสียงเบสของแกรร์ริสัน และ กลองของโจนส์ ไร้เงาเสียงเปียโนของ ไทย์เนอร์ ก่อนที่ในช่วงกลางเพลงเสียงใสกริ้งจากเปียโนของไทย์เนอร์ก็สอดแทรกเข้ามา เสียงแซ็กโซโฟนของโคลเทรนหลบให้การโซโล่จากเสียงเปียโนของไทย์เนอร์ ก่อนที่เขาจะกลับมาพร้อมการบรรเลงที่ร้อนแรงในช่วงท้ายจนจบเพลง

Play video

“One Up, One Down” เป็น 8 นาทีของการแจมกันอย่างบ้าคลั่งและร้อนแรง และท่อนโซโล่อันดุเดือดจากผู้เล่นในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งเป็นแบบนี้ทั้งสองเทคในอัลบั้มเลยและเพลงนี้ก็ถูกวางไว้เป็นแทร็คสุดท้ายของทั้งสองแผ่น เป็นการจบอัลบั้มได้อย่างดุเด็ดเผ็ดมันส์เลยทีเดียว

Play video

งานบันทึกเสียงชิ้นนี้บันทึกเอาไว้หนึ่งวันก่อนงานบันทึกเสียงอีกหนึ่งอัลบั้มยอดเยี่ยมที่ โคลเทรนร่วมงานกับยอดนักร้องแจ๊ส จอห์นนี่ ฮาร์ทแมน “John Coltrane and Johnny Hartman” ซึ่งเป็นอีกอัลบั้มที่คอเพลงแจ๊สไม่ควรพลาด น่ามหัศจรรย์นักที่ในช่วงนั้นดูเหมือนว่า พลังแห่งการสร้างสรรค์ในตัวจอห์น โคลเทรนจะเพิ่มพูนสูงขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่มันจะไปทะลุจุดเดือดกลายเป็นงานอันสูงส่ง เป็นสานส์ถึงพระเจ้าใน A Love Supreme

และมันเป็นดั่งเช่นที่ Ravi ลูกชายของโคลเทรนได้กล่าวกับทาง The New York Times ไว้ว่า “วงคลาสสิคควอเท็ตวงนี้ได้ไต่ขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในพลังของแห่งความเป็นนักดนตรีของพวกเขา” “งานบันทึกเสียงชิ้นนี้ ให้ความรู้สึกว่าเท้าข้างหนึ่งของจอห์นนั้นอยู่ในอดีตในขณะที่อีกข้างนั้นกำลังก้าวไปสู่อนาคต”

ด้วยประการฉะนี้อัลบั้ม “Both Directions at Once : The Lost Album” จึงเป็นที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ไม่ว่าคุณจะเป็นคอแจ๊สหรือไม่ก็ตาม.