นี่คืออัลบั้มที่ถูกยกย่องให้เป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดจากหลายสถาบัน
ผมแทบไม่มีความกังขาใดๆกับการได้รับยกย่องในครั้งนี้ของสตูดิโออัลบั้มลำดับที่สามของวงอินดี้ร็อค The 1975 ที่มีชื่อยาวเหยียด (แต่ยาวน้อยกว่าอัลบั้มก่อน) ว่า “A Brief Inquiry Into Online Relationships” เพราะเมื่อแรกฟังตั้งแต่วันแรกที่อัลบั้มออกเผยแพร่ ผมก็พบว่านี่คือผลงานที่ดีที่สุดของ The 1975 ณ ขณะนี้ และเป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดอัลบั้มหนึ่งแห่งปี
ถ้านับจากวันที่ออกอัลบั้มแรกในปี 2013 ถือได้ว่า The 1975 เพิ่งก้าวเดินมาได้ 5 ปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าอายุยังน้อยหากเทียบกับอีกหลายๆวงในวงการ แต่ทว่าชื่อเสียงของพวกเขากลับพุ่งขึ้นๆอย่างเห็นได้ชัด กระแสความนิยมและคำชื่นชมต่างหลั่งใหลมา แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะ The 1975 รู้ดีว่าเขาทำงานเพลงเพื่ออะไร พวกเขายังคงทำงานอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ แม้กระทั่งในเวลานี้อัลบั้มที่ 4 “Notes on a Conditional Form” ก็จ่อคิวรอออกวางแผงแล้วในต้นปีหน้า เรียกได้ว่าพลังแห่งการสร้างสรรค์ยังมีอยู่อย่างล้นเหลือ
อัลบั้ม “A Brief Inquiry Into Online Relationships” แท้จริงแล้วคือการสะท้อนตัวตน มุมมองความคิด และแง่มุมจากชีวิตของฟรอนท์แมนของวงแมททิว หรือ แม็ตตี ฮีลี ที่หยิบจับเอาความรู้สึกสับสน การพยายามหาสมดุลชีวิต และก้าวผ่านช่วงเวลาเลวร้าย ทั้งในเรื่องความสัมพันธ์ ชีวิต และยาเสพย์ติด แต่แล้วริ้วรอยของความทุกข์และความสับสนเหล่านั้นก็ถูกกลั่นออกมาเป็นงานศิลปะที่มีความหมายผ่านโลกแห่งสรรพเสียง สุดท้ายแล้วแม้จุดเริ่มต้นมันคือการสะท้อนตัวตนของคนคนหนึ่งแต่ปลายทางมันกลับฉายให้เห็นภาพของสังคมปัจจุบันได้อย่างคมคาย
งานเพลงของ The 1975 หากจะให้แปะป้ายว่าเป็นแนวอะไร ก็คงตอบกลางๆว่าเป็นอินดี้ร็อค แต่ทว่าหากเราลองฟังงานเพลงทั้ง 15 เพลงในอัลบั้มนี้ เราจะพบว่ามันมีส่วนผสมของแนวดนตรีที่หลากหลายผสมลงไปในแต่ละเพลง ด้วยความลุ่มลึก หลากหลาย และเนื้อหาที่คมคายทำให้อัลบั้มนี้มีเสน่ห์และหลุดออกจากการเป็นอัลบั้มเพลงป็อปธรรมดาๆที่พูดเรื่องรัก เลิก ลาทั่วไป
มาเริ่มที่เพลงแรกของอัลบั้ม “The 1975”
เหมือนเป็นธรรมเนียมไปแล้วที่จะต้องโหมโรงอัลบั้มด้วยเพลงที่เป็นชื่อของวงเพลงนี้ ซึ่งในแต่ละอัลบั้มจะใช้เนื้อเพลงชุดเดียวกันแต่เรียบเรียงดนตรีต่างกัน ซึ่งอัลบั้มนี้มาในแบบมินิมัลด้วยเสียงร้องของแม็ตตี้ กับเสียงบรรเลงของเปียโนเท่านั้น
ต่อด้วย “Give Yourself A Try” ซิงเกิ้ลแรกจากอัลบั้ม ที่เปิดมาด้วยท่วงทำนองสนุกสนานและเสียงกีตาร์แหลมบาดจิต เหมือนเป็นการบอกกับตัวเองและแฟนๆไปด้วยในทีว่า ให้เรา “Give Yourself A Try” เพราะมนุษย์เราเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต เพราฉะนั้นจงลุกขึ้นมาให้โอกาสตัวเองได้ลองทำอะไรใหม่ๆให้กับชีวิตตัวเองบ้าง
“TOOTIMETOOTIMETOOTIME” เพลงป็อบหวานหู ที่พูดเรื่องความสัมพันธ์ที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อกันที่เกิดขึ้นได้ง่ายมากๆในโลกยุคดิจิทัลออนไลน์อย่างในทุกวันนี้ ด้วยท่วงทำนองของเพลงออกมาในแนวสนุกประโยคที่ตีมึนอย่าง I swear that I (Swear that I) /I only called her one time / Maybe it was two times?/ I don’t think it was three times /It can’t be more than four times อาจฟังดูเป็นการหยอกๆเอ๊ะๆ จำไม่ได้ว่าโทรหาสาวคนนั้นไปกี่ครั้งแล้วนะ และผมว่าคุณก็พิมพ์ขอความไปหาไอ้หนุ่มนั่นเหมือนกันนะ I think we need to rewind /You text that boy sometimes… แต่ในความเป็นจริงแล้วไอ้ความสัมพันธ์แบบหมาหยอกไก่ที่เรามีให้กับใครต่อใคร ที่มันเกิดขึ้นง่ายดายในโลกทุกวันนี้มันช่างสุ่มเสี่ยงต่อการพังทลายของความสัมพันธ์ได้ง่ายๆเลย
“How to Draw / Petrichor” เพลงนี้แบ่งออกเป็น 2 พาร์ท พาร์ทแรกเป็นเพลงบรรเลงที่หยิบเอาโบนัสแทร็คของอัลบั้มก่อนมาต่อยอด ด้วยเสียงซินธ์และเสียงร้องแบบผ่าน Vocoder ฟังแล้วล่องลอยชวนหลับใหล ส่วนพาร์ทที่สองออกมาเป็นเพลงอิเล็คทรอนิคแดนซ์เลย เรียกว่ากำลังจะเคลิ้มก็ถูกปลุกขึ้นมาโยกต่อเลย
“Love It If We Made It” บทเพลงสะท้อนสังคมในโลกร่วมสมัย ที่เจือไปด้วยกลิ่นของความหวังและมองโลกแง่บวกผ่านท่วงทำนอง upbeat เนื้อเพลงในแต่ละท่อนล้วนแล้วแต่มีนัยยะบางอย่างแฝงไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญหาผู้อพยพ เช่น การเสียชีวิตของ Alan Kurdi เด็กน้อยวัยสามขวบผู้อพยพชาวซีเรีย และ เหตุการณ์ประท้วงที่ NFL ของ Colin Kaepernick การเสียชีวิตของแร็ปเปอร์หนุ่ม Lil peep และแน่นอนเรื่องการเมืองๆเกี่ยวกับ โดนัล ทรัมป์ !!!
“Be My Mistake” เป็นแทร็คที่ผมรู้สึกว้าวที่สุดแทร็คหนึ่งในอัลบั้มเลย ขึ้นมานี่ชวนให้คิดถึงเพลงบางเพลงของ Damien Rice ได้เลย กับท่วงทำนองแบบอะคูสติกบรรเลงด้วยกีตาร์ตัวเดียวพรมด้วยเสียงสังเคราะห์บางๆลอยอยู่ด้านหลัง คลอไปกับเสียงร้องนุ่มๆของแม็ตตี กับบทเพลงที่พูดถึงความรู้สึกผิดที่เรามีต่อตนเอง อันเกิดจากการทำผิดพลาดไปในอดีต หลายครั้ง (หรือเกือบทุกครั้ง) ชีวิตมักเรียกร้องให้เราผิดพลาดเพื่อที่จะเข้าใจในความเป็นไปของมัน กว่าเราจะเข้าใจเราก็ได้ทำผิดไปหลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่แล้วจะเสียใจ เสียดายไปทำไม เพราะชีวิตมันก็เป็นไปแบบนี้นั่นล่ะ
“Sincerity Is Scary” ชอบ MV เพลงนี้และชอบดนตรีที่มีส่วนผสมของความเป็นแจ็ซ เล็กๆ เซ็กซี่บางๆ แต่ดูร่วมสมัยฉ่ำใจ ฟังเพลิน ส่วนเนื้อหานั้นคมคายใช่เล่น เห็นได้ตั้งแต่ชื่อเพลงที่มีการเสียดสี “ความจริงใจ คือ ความน่ากลัว” (คล้ายๆการตั้งชื่อเพลงของวง Getsunova ซึ่งอาจจะตั้งว่า “จริงใจที่ไม่จริงใจ” อะไรประมาณนี้ 55) เพลงนี้พูดถึงความสัมพันธ์ในโลกยุคโพสโมเดิร์นที่สิ่งที่เราเห็นอาจไม่เป็นอย่างที่คิด ความจริงใจที่เห็นอาจเป็นแค่การเสแสร้งแกล้งทำ เราอยู่ในยุคที่ความจริงใจหรือพูดออกไปตรงๆเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ในขณะเดียวกันการแสดงออกซึ่งความจริงใจ (ที่เสแสร้งแกล้งทำ) กลับน่ากลัวยิ่งกว่า เสียงทรัมเป็ตอันมีเสน่ห์ในเพลงนี้เป็นฝีมือของ Roy Hargrove นักทรัมเป็ตแจ๊ซมือดี ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้ เขาเคยฝากผลงานอันยอดเยี่ยมไว้ในอัลบั้ม Voodoo ของ D’Angelo ที่ได้รับยกย่องว่ามีพาร์ทของ brass section ที่ยอดเยี่ยม
“I Like America & America Likes Me” มันคือเพลงของ คานเย เวสต์แบบใส่ autotune เหมือนเป็นการ tribute โลกของเพลงแร็ป สมดังชื่อเพลงเลย เพราะว่าแนวเพลง Rap, Hip-Hop เหมือนจะกลายเป็นแนวเพลงแห่งชาติของอเมริกาไปแล้ว (ซึ่งกระแสความนิยมในดนตรีแนวนี้ก็เริ่มเฟื่องฟูขึ้นในส่วนต่างๆของโลก ในบ้านเราก็ด้วยเช่นกัน)
“The Man Who Married a Robot / Love Theme” เท่โคตร นี่คือความรู้สึกสั้นๆที่มีต่อเพลงนี้ เป็นความคูลขั้นสุด เสียงพูดที่เราได้ยินในเพลงนี้ เป็นเสียงจาก Siri ที่เล่าเรื่องราวกับกำลังร่ายกวีของเคิร์ต วอนเนกัต เกี่ยวกับชายเปลี่ยวเหงาคนหนึ่งที่มีความรักกับอินเทอร์เน็ต ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง HER เลย เพลงนี้เหมือนเป็นตัวสรุปแก่นของอัลบั้มนี้ได้เป็นอย่างดี ส่วนในพาร์ทท้ายของเพลงคือ Love Theme นี่ก็ไพเราะเพราะพริ้งราวกับเพลงประกอบภาพยนตร์รักโรแมนติคดราม่าดีๆเลย สุดมาก
“Inside Your Mind” มันคือส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างโพสต์ร็อคยุค 90 กับเพลงบัลลาดเพราะๆ ให้อารมณ์ล่องลอยมากๆ เป็นอีกแทร็คที่แนะนำเลยครับ ชอบมาก เนื้อหาของเพลงแม็ตตีได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง Gone Girl หนังที่ทำให้เราขนลุกกับความกลัวว่า เราไม่มีทางรู้เลยว่าคนที่อยู่ข้างเราตลอดเวลาเขากำลังคิดอะไรอยู่ The back of your head is at the front of my mind / Soon I’ll crack it open just to see what’s inside your mind เหมือนเป็นการเปรียบเปรย ว่าอยากจะแงะกะโหลกเธอออกมาดูเหลือเกินว่าข้างในใจของเธอนั้นเป็นเช่นไร บรึ๋ยส์
ลอยๆมาหลายเพลงละ กลับมาป็อปกันต่อที่ “It’s Not Living (If It’s Not with You)” ซิงเกิ้ลล่าสุดจากอัลบั้มนี้ ที่มาพร้อมท่วงทำนองสนุกสนาน อันเป็นเสมือนเพลงรักของแม็ตตีที่มีต่อ “เฮโรอีน” !!! ที่เค้าเปรียบเปรยออกมาเป็นเพลงรัก เผยให้เห็นช่วงเวลาอยากยาที่ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่า ขาดเธอเหมือนขาดใจจะเรียกมันว่าเป็นชีวิตต่อไปได้อย่างไร It’s Not Living (If It’s Not with You)
“Surrounded by Heads and Bodies” ขึ้นเสียงกีตาร์โปร่งมาก็พร้อมจะตกหลุมรักแล้ว เพลงนี้แม็ตตีแต่งขึ้นเพื่ออุทิศให้แด่ Angela หญิงสาวที่ร่วมเข้ารับการบำบัดยาเสพย์ติดในสถานบำบัดเดียวกับแม็ตตี Angela / She wears it like a dress / A post-traumatic mess ส่วนชื่อเพลงนั้นได้มาจากประโยคเปิดในนิยายของ David Foster Wallace เรื่อง Infinite Jest ที่แม็ตตีอ่านตอนเข้ารับการบำบัด ซึ่งเปิดด้วยประโยคที่ว่า “I am seated in an office, surrounded by heads and bodies.”
“Mine” แจ๊ซๆมาอีกแล้ว เพลงนี้ได้รับแรงบันดาลใจมากจากงานเพลงแจ๊ซยุคคลาสสิคแบบงานของ John Coltrane หรือ Cole Porter นุ่มนวล และโรแมนติคมากๆ หากได้ฟังเพลงนี้ข้างๆคนที่รักในยามค่ำคืน พราวฝนบางๆ บรรยากาศแห่งรักจะห่มคลุมเราไปจนถึงรุ่งเช้าเลยทีเดียว
“I Couldn’t Be More in Love” มันคือเพลงรักแห่งยุค 80 มีกลิ่นอายความโรแมนติคที่เราได้รับจากเพลงรักของ Eric Clapton หรือ John Mayer แบบนั้นเลย เพลงนี้แม็ตตีร้องได้อารมณ์สุดๆ และที่เด็ดดวงเลยก็คือท่อนโซโล่กีตาร์จากแม็ตตีนั่นล่ะ สุดๆ
“I Always Wanna Die (Sometimes)” ขึ้นมาด้วยเสียงสตรัมกีตาร์โปร่ง บวกด้วยสตริงส์และพาร์ทดนตรีอื่นๆที่เติมเข้ามา ผ่านท่วงทำนองที่คุ้นหูในแบบเพลงบริทป็อปดีๆ มีความเท่ ไพเราะลงตัวอยู่ในเพลงนี้ กับอารมณ์ที่ค่อยๆพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ พาเราลอยสูงขึ้นไปในห้วงอากาศแห่งอารมณ์จนถึงที่สุด ปิดฉากเรื่องราวแห่ง ความสัมพันธ์ ชีวิต ยาเสพย์ติด และ โลกออนไลน์ ผ่านบทเพลงทั้ง 15 จากอัลบั้ม “A Brief Inquiry Into Online Relationships” จาก The 1975 อัลบั้มที่พูดได้ว่าเป็นอัลบั้มที่ “ดีที่สุดแห่งปี”