เพิ่งปล่อยออกมาสดๆร้อนไปเมื่อวานนี้ (27 มิถุนายน) กับ “ANIMA” อัลบั้มเดี่ยวชุดที่สามของ ธอม ยอร์ค (Thom Yorke) แห่ง Radiohead อันมาพร้อมกับดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผสานไว้ด้วยท่วงทำนอง ล่องลอย แปลกแปร่ง และ ลึกลับ ที่สำคัญงานนี้ไม่ได้มาเดี่ยวๆแต่มาพร้อมกับ ภาพยนตร์สั้นความยาว 15 นาที ที่ใช้เพลงสามเพลงจากอัลบั้มนี้ประกอบ กำกับโดย พอล โธมัส แอนเดอร์สัน (Paul Thomas Anderson)  (Phantom Thread, Boogie Nights, Punch Drunk Love, There Will Be Blood) ที่คุ้นเคยกับ Radiohead ดีทั้งกับ Jonny Greenwood ที่ทำเพลงประกอบหนังหลายเรื่องให้พอล และ พอลก็เคยกำกับ MV เพลง “Daydreaming” ในอัลบั้ม “The Moon Shaped Pool” ของ Radiohead ด้วย

มาคราวนี้ ยอร์ค นอกจากพอล โธมัส แอนเดอร์สันแล้ว ยอร์คยังชวน เดเมียน จาเล็ต (Damien Jalet) นักออกแบบท่าเต้นที่เคยร่วมงานกันใน “Suspiria” มาสานต่ออารมณ์อันค้างคา ให้พาไปให้ถึงที่สุด และเมื่อผนวกกับเสียงดนตรีจาก ธอม ยอร์ค พลังการกำกับของ พอล โธมัส แอนด์สัน งานกำกับภาพของ ดาริอุส คอนจิ (Darius Khonji) (Se7en, The Lost City of Z)  มันจึงออกมาเป็นงานที่สุดยอดไปเลย

วันนี้เราจะมาพูดถึงตัวหนังสั้นก่อน แล้วไว้เดี๋ยวจะแนะนำอัลบั้ม “ANIMA” กันอีกทีนะครับ แต่ตอนนี้ใครยังไม่ได้ฟังสามารถเข้าไปฟังกันได้เลย

Apple Music

Spotify

“ANIMA” เป็นหนังสั้นความยาว 15 นาที ภายใต้แนวคิด “one reeler” คือหนังสั้นในยุคหนังเงียบที่มักเป็นการ์ตูนหรือหนังตลก ซึ่งมีความยาวเท่ากับฟิล์มหนึ่งม้วนคือ 10-12 นาที หนังสั้นเรื่องนี้สามารถรับชมได้ทาง Netflix ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา (และฉายพรีเมียร์ที่โรง IMAX ในอเมริกาเมื่อวันที่ 26 )  ซึ่งถ่ายทำด้วยฟิล์ม 65mm (เพื่อรองรับการฉายใน IMAX ) และถ่ายทำในโลเคชั่นหลักสองแห่งคือที่ปราก และ  Les Baux-de-Provence ในฝรั่งเศส

“ANIMA” ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังตลกในยุคหนังเงียบอยู่พอสมควร เห็นได้ชัดจากโครงเรื่องและรูปแบบการนำเสนอที่เป็นมิวสิคัล โดยเป็นเรื่องราวของ ธอม ยอร์ค ที่ไปพบรักเมื่อแรกเห็นกับสาวนางหนึ่งบนรถไฟ (สาวคนนี้คือนักแสดงสาว Dajana Roncione ซึ่งเป็นแฟนสาวตัวจริงของพี่ธอม) จากนั้นสาวเจ้าก็ลืมกล่องอาหารกลางวันได้ เดือดร้อนพี่ธอมต้องตามเอาไปให้ จากนั้นการผจญภัยก็ได้เริ่มขึ้น  บนท่วงทำนองแห่งดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ของธอม ยอร์ค และการแสดงในรูปแบบของมิวสิคัล ที่ทุกคนจะลุกขึ้นมาเต้นตามท่วงทำนองของเพลง  ทำให้ธอม ยอร์คกลายเป็น เฟร็ด แอสแตร์ หรือ จีน เคลลี่ ในเวอร์ชั่นอิเล็กทรอนิกส์ดิสโทเปียไปเลย นอกจากนี้ก็ยังชวนให้เราคิดไปถึงงานหนังเงียบคลาสสิคของ บัสเตอร์ คีตัน (Buster Keaton) ทั้งในลักษณะท่าทางและพลังที่ธอม ยอร์คที่ส่งผ่านมาในแต่ละฉาก แต่ละเฟรม  รวมไปถึงรูปแบบของการเล่าเรื่องด้วย

โดยเพลงสามเพลงจากอัลบั้ม “ANIMA” ที่ใช้ประกอบหนังสั้นเรื่องนี้คือเพลง   “Not the News” “Traffic” และ “Dawn Chorus” ตามลำดับ โดยพาร์ทแรกถ่ายทำกันในปราก ใช้ “Not the News”  เป็นเพลงแรกกับฉากในรถไฟ ด้วยลักษณะเด่นของเพลงที่มีเสียงตื๊ดๆ และจังหวะที่ชัดเจนทำให้มันเป็นตัวกำกับท่าเต้นและจังหวะของนักแสดงได้ดี จนดูราวกับทุกคนเป็นหุ่นยนตร์ที่ไร้ความรู้สึกในโลกดิสโทเปียแห่งนี้ ต้องชื่นชม เดเมียน จาเล็ต ผู้ออกแบบท่าเต้น ที่ในแต่ละพาร์ททำได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจมาก ทั้งท่วงท่าลีลา และจังหวะมันผสานกับบทเพลงได้อย่างลงตัวพอดี และมีท่าท่างที่ทั้งเท่ทั้งแปลก เหวอ แต่ก็สวยงามอยู่ในที

เพลงที่สอง “Traffic”  ใช้ในพาร์ทของถ้ำซึ่งถ่ายทำกันในพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งใน Les Baux ให้ความรู้สึกลึกลับ ภายในบรรยากาศอันโอ่โถง งานภาพของดาริอุส คอนจิ ทั้งการเคลื่อนกล้อง และการรับมุมภาพต่างๆให้ความเลื่อนไหล และมีภาพที่สวยงามน่าตื่นใจโดยเฉพาะในช่วงพาร์ทที่เป็นกำแพงเรียบ ซึ่งใช้ประโยชน์จากเงาที่ทอดยาวลงมาบนพื้นผิว กลายเป็นร่างเงาอันหนักแน่นและงดงาม ซึ่งการจับภาพในมุมมองที่แปลกตาช่วยให้ตัวงานสะกดเราเอาไว้ได้อยู่หมัด ซึ่ง พอล โธมัส แอนเดอร์สัน เลือกที่จะใช้การกำกับที่ผสานสไตล์แบบเก่าที่เน้นการเคลื่อนกล้องตามตัวละครด้วยสเตดิแคม ซึ่งจะเห็นได้จากงานในยุคแรกๆของเขาเช่น  “Magnolias” , “Boogie Nights” , “Punch Drunk Love” กับ งานที่เน้นพลังของภาพกว้างและกล้องที่ตั้งนิ่งสงบงันให้ผู้ชมได้สำรวจและสัมผัสอารมณ์ในห้วงลึกแทนอย่างงานในช่วงหลังเช่น “The Master” , “Phantom Thread” ซึ่งงานนี้แอนเดอร์สันรู้ดีว่าจังหวะไหนจะใช้งานภาพแบบใด ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ามันมีทั้งไหลตามการเดินของตัวละคร (ซึ่งอาจจะไม่ได้ยาวแบบลองเทคเหมือนในงานยุคแรกของเขา) และการเลือกตั้งรับในมุมภาพต่างๆ ซึ่งในแต่ละเฟรมล้วนออกแบบมาอย่างประณีตและแม่นยำ

จากนั้นก็เข้าสู่พาร์ทสุดท้ายซึ่งถ่ายทำกันในตรอกแห่งหนึ่งใน Les Baux-de-provence ในฝรั่งเศส กับเพลง “Dawn Chorus” ที่ธอร์มได้เจอกับสาวนางนั้น และนี่ก็เป็นตอนที่หวานที่สุดของงาน การร่ายรำ คลอกันไปของทั้งคู่ท่ามกลางบรรยากาศอันโรแมนติค (แต่ก็ยังไม่ทิ้งรอยของความหม่นมืดแบบดิสโทเปียอยู่) คลอไปกับท่วงทำนองอันสงบงัน หวาน ลึกลับและเศร้าลึกๆ กับงานภาพที่เลือกมุมมองได้แปลกตาและใช้แสงเงาให้เป็นประโยชน์จนก่อเกิดเป็นภาพที่น่าอัศจรรย์

นี่คืออีกหนึ่งงานที่น่าตื่นตาตื่นใจ และเปิดมิติใหม่ในการสัมผัสบทเพลง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการฟีเจอริ่งกันกับ The National และ ไมค์ มิลส์ กับการแสดงของ อลิเซีย วิกานเดอร์ ใน “I’m Easy To Find” มาคราวนี้ ก็เป็น ธอม ยอร์ค พอล โธมัส แอนเดอร์สัน กับ “ANIMA”  คิดว่าต่อไปมิติของการผสมผสานกันระหว่างภาพยนตร์และดนตรีคงจะมีอะไรให้เราได้รับฟังรับชมด้วยความตื่นใจกันอีกมากมายแน่นอน

สามารถชับชม “ANIMA” ได้ทาง NETFLIX แล้ววันนี้

Play video