“ฉันรู้สึกราวกับว่าเรากำลังยืนอยู่ ณ ชายป่าแห่งเรื่องเล่าเก่าแก่ และเรามีตัวเลือกแค่เพียง 2 ทางคือ ไม่หันหลังกลับไป ก็เดินทางลึกเข้าไปในป่าแห่งเสียงดนตรีแห่งนี้”
“เราเลือกที่จะผจญภัยให้ลึกเข้าไปอีก”
นี่คงจะเป็นคำกล่าวที่ชัดเจนจากปากของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) นักร้องนักแต่งเพลงสาววัย 31 ปีผู้มากความสามารถคนนี้ ถึงทิศทางของอัลบั้ม ‘Evermore’ อัลบั้มชุดที่ 9 อันเป็นอัลบั้มสุดเซอร์ไพรส์ชุดที่ 2 ของปีนี้ที่เธอปล่อยออกมาแบบ (เกือบ) ไม่ให้เราตั้งตัว อัลบั้มที่เธอตั้งใจให้เป็น ‘น้องสาว’ ที่คลานตามกันมากับอัลบั้มชุดก่อนหน้า ‘Folklore’ ที่ปล่อยออกมาเมื่อกลางปีและได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีและทำให้แฟน ๆ ประหลาดใจที่ได้เห็นสวิฟต์เติบโตไปในทิศทางใหม่ที่น่าทึ่ง
แน่นอนว่าใน Evermore สวิฟต์และผองเพื่อนศิลปินได้ตัดสินใจดุ่มเดินลึกเข้าไปในป่าแห่งเสียงดนตรีอันลี้ลับแห่งนี้เพื่อที่จะได้ไปสำรวจว่า ลึกเข้าไปข้างในนั้นมันมีอะไรอยู่และนำพาสิ่งเหล่านั้นมาให้แฟนเพลงได้รับรู้ การผจญภัยครั้งนี้สวิฟต์ยังคงจับมือกับผองเพื่อนศิลปินนักเดินทางครบชุดจาก Folklore ไม่ว่าจะเป็น Aaron Dessner จากวง The National ที่เป็นเหมือนต้นหนของการเดินทางครั้งนี้ (ซึ่งชวนเพื่อนร่วมวง The National มาเดินทางร่วมกันด้วยหนึ่งเพลง), Justin Vernon หรือ Bon Iver ศิลปินหนุ่มผู้สร้างบรรยากาศสุดล่องลอยให้กับบทเพลง , Joe Alwyn แฟนหนุ่มของสวิฟต์ที่มาในนามแฝง William Bowery , Jack Antonoff โปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงคู่บุญที่ร่วมงานกับสวิฟต์มายาวนาน และได้ผู้ร่วมเดินทางใหม่เป็น 2 สาว Este และ Danielle จากวงทรีโออินดี้ร็อก Haim ที่เป็นแก๊งเพื่อนสาวของสวิฟต์มาร่วมแจมด้วย
หากจะกล่าวว่า Folklore นั้นคือเทย์เลอร์ สวิฟต์เวอร์ชันอินดี้ เราก็คงจะกล่าวว่า ‘Evermore’ คือน้องสาวที่อินดี้กว่าพี่สาวเข้าไปอีก ในอัลบั้มชุดนี้สวิฟต์ยังคงใช้ท่วงทำนองในแบบมินิมอลเฉกเช่นเดียวกันกับใน Folklore รวมไปถึงการเรียบเรียงดนตรีออเคสตราแบบย่อม ๆ ลงไปในบางบทเพลงซึ่งเป็นฝีมือของ Bryce Dessner จากวง The National แต่ใน Evermore สวิฟต์ได้พาผู้ฟังดุ่มเดินไปลึกขึ้นกว่าเดิมเพื่อกลับเข้าไปสู่ความรู้สึกภายในอย่างบริสุทธิ์และทำให้ Evermore คือเทย์เลอร์ สวิฟต์เวอร์ชันอินดี้ที่แท้จริง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเคมีของความพอปที่ผู้ฟังสามารถเข้าถึง สัมผัส และจดจำได้ง่าย แต่ได้รับการผสมผสานให้กลายเป็น ‘พอป-อินดี้’ ที่ถูกขัดเกลาให้กลายเป็นงานคราฟต์ชั้นดีนั่นเอง
ก่อนที่เราจะเข้าไปพูดถึงบทเพลงของอัลบั้มนี้ เรามาดูสิ่งที่อยู่รอบนอกกันก่อนอย่างงานอาร์ตเวิร์กของอัลบั้มที่ปกหน้าเป็นภาพของสวิฟต์ยืนหันหลังโชว์ผมเปียสวยให้เราดู ภาพนี้ทำให้เรานึกไปถึงภาพปกของภาพยนตร์ไต้หวันสุดคลาสสิก ‘YiYi’ ที่ทำให้ ‘เอ็ดเวิร์ด หยาง’ ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ไปครอง ในเรื่องนั้นมีตัวละครเด็กน้อยที่ชื่อ ‘ถิง-ถิง’ เป็นเด็กที่ช่างคิดช่างถามและรักการถ่ายภาพ วันหนึ่งเด็กน้อยตั้งคำถามกับพ่อว่า ทำไมคนเราจึงเห็นไม่เหมือนกัน และทำไมเราเห็นเฉพาะสิ่งที่อยู่ข้างหน้า แต่ไม่เคยมองเห็นสิ่งที่อยู่ด้านหลัง (ซึ่งรวมถึงด้านหลังของตัวเราเองด้วยนั่นเอง) นั่นหมายความว่าเรารับรู้ความจริงแค่เพียง ‘ครึ่งเดียว’ ใช่หรือไม่ พ่อของถิงถิงจึงได้ตอบเด็กน้อยไปว่านั่นแหละจึงเป็นเหตุผลที่คนเราควรมีกล้อง และตั้งแต่นั้นมาเด็กน้อยก็สนุกกับการถ่ายภาพโดยเฉพาะภาพบุคคลที่ถูกถ่ายจากด้านหลัง
และจากภาพปกของ Evermore เป็นไปได้หรือไม่ว่าสวิฟต์กำลังจะบอกกับเราว่านี่คือ ‘ความจริงอีกครึ่งหนึ่ง’ ของเธอ เป็นความจริงทางชีวิตและเสียงดนตรีที่เธอได้ค้นพบหลังจากเดินเข้าไปในป่าแห่งเสียงดนตรีนี้ เป็นความจริงอีกด้านที่เธออยากฉายออกมาให้แฟน ๆ ที่คุ้นชินกับภาพด้านหน้าของเธอได้รับรู้ คราวนี้เราจะได้นั่งจ้องแผ่นหลังและเปียสวยของเธอแทนและเดินลึกเข้าไปในโลกแห่งบทเพลงของ Evermore เพื่อรู้จักกับเธอมากขึ้น ( ไอเดียนี้ปรากฏมาให้เห็นตั้งแต่ Folklore แต่ใน Folklore ปกหน้าจะเป็นภาพสวิฟต์แบบไกล ๆ ส่วนปกหลังจะเป็นภาพด้านหลังของเธอ แต่ใน Evermore จะสลับกันปกหน้าจะเป็นด้านหลังของสวิฟต์ ส่วนปกหลังจะเห็นสวิฟต์จากระยะไกลแทน ซึ่งเป็นงานปกที่ลดทอนความเป็นซุปเปอร์สตาร์ของเธอลงจากงานปกชุดก่อน ๆ ที่โชว์หน้าตาอย่างชัดเจน แต่ 2 อัลบั้มล่าสุดนี้คือ ถ้าเห็นด้านหน้าก็ต้องเห็นไกล ๆ ถ้าเห็นใกล้ก็หันหลังให้ซะเลย )
นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบอาร์ตเวิร์กจากอัลบั้ม Folklore กับ Evermore แล้วเราจะพบว่ามันมีรูปแบบการถ่ายที่คล้ายคลึงกันจะต่างก็เพียงแต่ว่ามุมมองที่ถูกใช้ อารมณ์และโทนของภาพที่ต่างออกไป ใน Folklore ที่มาในโทนขาว-ดำนั้นจะมีความฟุ้งฝันและเป็นภาพร่างของความเป็นอดีตซึ่งสอดคล้องกับความเป็นเรื่องเล่าขานในแบบ folklore แต่ใน Evermore ภาพถูกนำเสนอออกมาในทิศทางที่สมจริงไร้การปรุงแต่ง มีความเป็นธรรมชาติ และบริสุทธิ์ ให้ความรู้สึกที่เข้าถึงและจับต้องได้มากขึ้น ซึ่งนี่อาจจะเป็นสิ่งที่สวิฟต์ต้องการจะนำเสนอนั่นคือตัวตนของเธอที่จริงแท้ ณ ขณะปัจจุบัน
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่างานดนตรีของอัลบั้มนี้ถูกเรียบเรียงมาให้มีความเรียบง่าย และไม่เน้นการเร้าอารมณ์ ใช้รายละเอียดดนตรี เสียงร้อง และเรื่องเล่าในการค่อย ๆ ปล่อยให้ผู้ฟังเดินทางไปกับบทเพลง หากเปรียบเทียบกับภาพยนตร์ งานชุดก่อน ๆ ก็อาจเป็นหนังรักโรแมนติกสไตล์ฮอลลีวูด แต่ Evermore นั้นคือหนังอาร์ตเฮ้าส์ในระดับที่คนดูเข้าใจง่าย เข้าถึง และรู้สึกร่วมไปด้วยกันได้
ถัดมาจากภาคดนตรี องค์ประกอบของอัลบั้มนี้ที่ทำให้มีรสชาติอร่อยก็คือ เรื่องเล่าและชั้นเชิงในการเล่าเรื่องผ่านบทเพลงของสวิฟต์ที่ยังคมคายและดึงดูดใจให้คนฟังติดตามได้เหมือนเดิมหลากเรื่องราวของบทเพลงในอัลบั้มนี้ได้สะท้อนสีสันที่หลากหลายในชีวิตของคนเราที่มีทั้งสุข ทั้งเศร้า ทั้งน่าสงสาร น่าระแวงหวาดกลัว ปรารถนาที่จะรัก ปรารถนาที่จะตามหัวใจ ปรารถนาที่จะได้รับการให้อภัย เป็นภาพสะท้อนของมนุษย์ที่มีความซับซ้อนซึ่งชี้ชวนให้เรามองเห็นความเป็นคนในแง่มุมที่หลากหลาย
ใน Evermore มีการสร้างตัวละครใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกและสวิฟต์ได้พาเราอวตารเข้าไปสวมบทบาทเป็นตัวละครเหล่านั้นผ่านเรื่องราวของความรัก ความผิดหวัง ความคิดถึง การนอกใจ รวมไปถึงการฆาตกรรม ! อย่างในเพลง ‘No Body, No Crime’ คันทรีบัลลาดที่ได้ Este และ Danielle 2 สาวจากวงอินดี้ร็อกทรีโอ Haim มาร่วมแจมด้วย กับเรื่องราวในสไตล์หนังฟิล์มนัวร์ที่เล่าถึงฆาตกรรมซ่อนเงื่อนที่ยิ่งเล่าไปเล่ามาผู้ฟังก็เริ่มสัมผัสถึงความน่าสะพรึง ยอกย้อนและซ่อนเงื่อนของจิตใจคนมากยิ่งขึ้น เล่าได้ชวนติดตามแถมยังมีหักมุมอีกต่างหาก ! หรือใน ‘Ivy’ บนท่วงทำนองของอินดี้โฟล์ก สวิฟต์พาเราเข้าไปสิงอยู่ในร่างของหญิงที่แต่งงานแล้วแต่กำลังมีรักที่เกินหักใจกับชายคนหนึ่งที่เธอเปรียบรักของเขาดั่งเถาไอวีที่หยั่งรากลึกและชอนไชเข้ามาในหัวใจของเธอจนยากที่จะสลัดออกไปได้ “Oh, I can’t / Stop you putting roots in my dreamland / My house of stone, your ivy grows /And now I’m covered in you”
‘Dorothea’ แม่สาวจากเมืองเล็กที่ไล่ล่าฝันไกลไปถึงฮอลลีวูดจากเพลง ‘Dorothea’ คือหนึ่งในตัวละครคนสำคัญจาก Evermore ซึ่งมีเรื่องราวอีกภาคของเธออยู่ในเพลง ‘Tis the Damn Season’ บทเพลงอารมณ์รักเก่าที่บ้านเกิดเล่าเรื่องราวของแม่สาว Dorothea ที่เดินทางกลับบ้านเกิดในช่วงวันหยุดและเปิดเผยความรู้สึกที่เธอมีต่อใครคนหนึ่งที่ยังคอยเธออยู่ ณ ที่แห่งนั้น
‘Champagne Problems’ สวิฟต์พาเราไปเขย่าหัวใจชายหนุ่มคนหนึ่งให้รวดร้าวด้วยการทอดทิ้งเขาไปท่ามกลางงานแต่งงานและทิ้งเขาไว้ให้อยู่ในห้วงแห่งความเศร้า ส่วนเธอก็ทำได้เพียงปลอบใจผ่านถ้อยคำในบทเพลง บทเพลงนี้เปิดมาได้อย่างเห็นภาพและชวนให้เศร้า เหงา หว่องจริง ๆ “You booked the night train for a reason / So you could sit there in this hurt / Bustling crowds or silent sleepers / You’re not sure which is worse” สวิฟต์นั้นใช้คำได้อย่างน่าสนใจอย่างคำว่า Champagne Problems ในที่นี้ก็ถูกใช้แทนการเฉลิมฉลองที่ไม่เคยเกิดขึ้น ทุกคนที่งานแต่งกำลังเตรียมเปิดแชมเปญฉลองแต่แล้วภาพแห่งความสุขนั้นก็เป็นอันต้องสลายไปเมื่อเจ้าสาวได้หนีไปกลางงานแต่ง “Because I dropped your hand while dancing / Left you out there standing /Crestfallen on the landing /Champagne problems / Your mom’s ring in your pocket / My picture in your wallet /Your heart was glass, I dropped it / Champagne problems”
เพลงที่ให้อารมณ์น่าสงสารเห็นใจอีกเพลงหนึ่งก็คือ ‘Tolerate It’ ที่สะท้อนภาพความรักที่ไม่เท่ากันระหว่าง 2 คน ฝ่ายหนึ่งหมกมุ่นสนใจแต่เรื่องของตัวเอง ส่วนอีกฝ่ายรอคอยความรักจากอีกฝ่ายราวกับเด็กน้อยรอคอยพ่อแม่มาเล่นด้วยกัน “I wait by the door like I’m just a kid / Use my best colors for your portrait / Lay the table with the fancy shit / And watch you tolerate it”
ตัวละคร ‘Majorie’ ในบทเพลงบัลลาดโฟล์กผสานซาวด์อิเล็กทรอนิกในชื่อเดียวกันนี้คืออีกตัวละครคนสำคัญของ Evermore เพราะเธอคือ Majorie Finley คุณย่าของสวิฟต์ที่เสียชีวิตไปตั้งแต่เธอยังเด็ก ในเพลงนี้สวิฟต์รำลึกถึงความรักและความรู้สึกที่มีต่อคุณย่า บุคคลผู้เป็นที่รักที่จากไปแต่ยังอยู่ในใจของเธอตลอดกาล “What died didn’t stay dead / What died didn’t stay dead / You’re alive, you’re alive, in my head” เพลงนี้ได้ออเคสตราขนาดย่อมจากการเรียบเรียงของของ Bryce Dessner มาช่วยเติมเต็มอารมณ์ได้อย่างลงตัว
ถึงแม้สวิฟต์จะได้ร่วมงานกับ Aaron และ Bryce ที่เป็นสมาชิกของวง The National มาแล้ว แต่ใน ‘coney island’ คือการร่วมงานกันครั้งแรกจริง ๆ ระหว่างสวิฟต์กับวง The National แถมยังได้ร้องคู่กับ Matt Berninger ที่สุ้มเสียงทุ้ม ๆ ของเขาพาใจเราเศร้าเหลือเกิน กับบทเพลงที่เป็นดั่งบทสนทนาโต้ตอบกันบนร่องรอยแห่งรักที่กำลังจากลาในท่วงทำนองแห่งการหวนหาอดีตและกลับไปสำรวจความสัมพันธ์ที่ปริร้าวได้อย่างเศร้าสร้อยและงดงาม โดยมี Coney Island สถานที่ใกล้เมือง Brooklyn ที่โด่งดังจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อนทั้งหาดทราย สายลม และสวนสนุก ซึ่งให้ภาพที่ contrast กันกับอารมณ์เศร้าของตัวละครในเพลงยิ่งเพิ่มกำลังความหว่องเข้าไปอีก “And I’m sitting on a bench in Coney Island / Wondering where did my baby go? /The fast times, the bright lights, the merry go /Sorry for not making you my centerfold”
ส่วนไตเติลแทร็ก ‘Evermore’ ก็เป็นบทเพลงส่งท้ายอัลบั้มที่งดงามและลงตัวอย่างยิ่ง กับท่วงทำนองของเปียโนบัลลาดสุดเหงา ถ่ายทอดความรู้สึกของคนที่อยู่ในห้วงแห่งความดิ่งเศร้าไร้สิ้นสุด ถ้อยคำที่เขียนลงไปในแต่ละท่อนคมบาดจิตบาดใจมาก อย่างเช่นประโยค “Writing letters /Addressed to the fire” ในท่อนเปิดของเพลงที่ถ่ายทอดอารมณ์เศร้าได้ราวกับความเจ็บปวดนี้จะคงอยู่เป็นนิรันดร์ “I had a feeling so peculiar / That this pain would be for Evermore” อารมณ์ของเพลงพวยพุ่งขึ้นไปอีกเมื่อเสียงของ Bon Iver ซึมผ่านเข้ามาและท่วงทำนองของเปียโนขยับกำลังเพิ่มขึ้น นำไปสู่บทสรุปของบทเพลงที่ได้ฝากแสงของความหวังเอาไว้ “I had a feeling so peculiar /This pain wouldn’t be for Evermore” ในครั้งนี้เนื้อร้องได้เปลี่ยนไปและเธอคิดว่าความเจ็บปวดนี้คงมิอาจอยู่เป็นนิรันดร์อีกต่อไปแล้ว
ไม่ว่าก้าวเดินต่อไปนี้ของเทย์เลอร์ สวิฟต์จะเป็นอย่างไร แต่ปี 2020 นี้ทั้ง Folklore และ Evermore คือบทบันทึกการเติบโตของเธอในช่วงเวลาฝ่าวิกฤติไวรัสโควิด -19 ได้อย่างสง่างามและคงไม่เป็นการเกินเลยหากจะกล่าวว่านี่คือผลงานมาสเตอร์พีซที่แท้จริงของเธออีกทั้งยังเป็นผลงานชิ้นสำคัญของวงการดนตรีที่เรามิอาจมองข้ามได้เลย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส