ตั้งแต่ต้นยุคพ.ศ. 2530 เป็นช่วงเวลาทองของดาราหรือคนดังมาออกเทป ค่ายเพลงทั้งใหญ่ทั้งน้อย ต่างก็มีคนที่มีชื่อเสียงในด้านต่าง ๆ ที่หันมาเอาดีทางการร้องเพลงอยู่ในสังกัด ไม่ว่าจะเป็น นักกีฬา นายแบบ หรือนักแสดง อาทิ เขาทราย แกแล็กซี่, เฮนรี่ ปรีชาพานิช, สรพงษ์​ ชาตรี, สินจัย หงษ์ไทย ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่ประสบความสำเร็จ หรือได้รับการยอมรับการทำงานในอีกหน้าที่หนึ่ง และหลาย ๆ คน ก็เป็นการทำงานในแบบ ‘ครั้งหนึ่งในชีวิต’ ที่ทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีโอกาสทำอะไรแบบนั้นอีกเลย

กับผลงานที่มีให้ได้ฟัง บางคนอาจมีเพลงที่ได้ชื่อว่า ‘ดัง’ แต่สอบไม่ผ่านกับการเป็นนักร้อง บางคนเป็นนักร้องได้ แต่เพลงกลับไปได้ไม่ไกลนัก ซึ่งผลลัพธ์ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอย่างแรกซะมากกว่า จนนักวิจารณ์หรือสื่อที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพในการทำงาน ต่างมองว่า หน้าปัดวิทยุหรือว่าเสียงเพลงในยุคนั้น เต็มไปด้วยเพลงที่สร้างมลภาวะด้านเสียงร้อง ที่ส่วนใหญ่เป็นคนละเรื่องกับคุณภาพในการทำงานด้านอื่น เช่น เนื้อร้อง, ดนตรี หรือความนิยม

แล้ววันหนึ่งบางสิ่งบางอย่างก็เข้ามาสร้างความแตกต่าง….

จากเพลง “อีกนาน” ที่เคยคุ้นกันว่า เป็นเพลงบัลลาดร็อก ที่บอกเล่าเรื่องราวความรักของชายหนุ่ม ที่ถูกเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดแย่งคนรัก จนกลายเป็นความเจ็บปวดที่คงอยู่ไปอีกนานและไม่มีวันลืมเลือน ผ่านเสียงร้องของ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง 

จู่ ๆ ก็กลายเป็นงานแจซ-พอปนุ่ม ๆ ที่มาพร้อมเสียงเปียโนละมุน เสียงแซ็กโซโฟนที่กรีดลึก และเสียงร้องเย็นหู ฟังโหยไห้ มากกว่าจะโหยหวน ครวญคร่ำ ทำให้หลาย ๆ คนตั้งคำถามว่า ใครหนอที่เป็นเจ้าของเสียงเพลงนี้ ที่ดีเจแถวหน้าท่านหนึ่งในยุคนั้นบอกว่า “เหมือนเป็นน้ำยาล้างหู”

คำตอบถูกเผยออกมาหลังจากนั้นไม่นาน…

พวกเขาและ ‘เธอ’ คือวงทรีโอที่ใช้ชื่อว่า โคโค่แจ๊ซ (Coco Jazz) ที่สมาชิกประกอบด้วย อ.ปิยะ โกศินานนท์ – มือเปียโนตาบอด, อ.ชื่น เริงใจ – มือแซ็กโซโฟน ระดับอาจารย์ และเจ้าของเสียงที่ละมุนละไมเหลือเกิน – นรีกระจ่าง คันธมาส นักร้องสาววัยเพียง 18 ปี (ในตอนนั้น)

จุดกำเนิดของโคโค่แจ๊ซ จากการให้สัมภาษณ์กับโพสท์ ทูเดย์ นรีกระจ่าง บอกว่าตอนนั้น สองผู้บริหารของคีตา เรคอร์ดส์ “สมพงษ์ วรรณภิญโญ (เป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัททีวี ธันเดอร์ในเวลาต่อมา) กับประภาส ชลศรานนท์ (ศิลปินแห่งชาติปี 2561 และผู้ก่อตั้งบริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์) กำลังหานักร้องมาร้องเพลงแนวแจซ เลยติดต่อเธอซึ่งเป็นผู้เข้าประกวดร้องเพลงในรายการคอนเสิร์ต คอนเทสต์ของเจเอสแอล ซึ่งเป็นบริษัทในเครือข่ายเดียวกัน และเข้าถึงรอบแชมป์ออฟเดอะแชมป์เข้าสังกัด นรีกระจ่างตกลงเซ็นสัญญาเป็นศิลปินในค่ายคีตา เรคอร์ดส์ แต่ก็ต้องใช้เวลาเรียนร้องเพลงกับครูนภ โสตถิพันธุ์ นานนับปี กว่าจะได้เป็นสมาชิกของวงดนตรีที่มีอ.ปิยะ และอ.ชื่นเป็นสมาชิกอยู่ก่อนแล้ว  

ส่วนชื่อวง เกิดจากการที่ประภาส เห็นว่าเวลาคนผิวดำกินมะพร้าวเสร็จแล้ว มักจะเอากะลามาทำเป็นเครื่องดนตรี เลยเอามารวมกับคำว่า แจซ (ชื่อวงสะกด แจ๊ซ) ที่เป็นแนวทางดนตรีของวง

ไม่ใช่เป็นความ ‘แตกต่าง’ ของวงการเพลงไทยในช่วงเวลานั้น เฉพาะเพลงเปิดตัว แต่เมื่ออัลบั้มชุด ‘Coco Jazz’ วางแผง ก็ไม่ได้ทำให้หลาย ๆ คนผิดหวัง เมื่อทั้ง 10 เพลงในงานชุดนี้ เป็นเพลงที่สามารถสร้างความหลากหลายให้กับแนวทางเพลงของบ้านเราได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีศิลปินไทยที่ทำงานแจซออกมา มี… แต่ก็เป็นงานเฉพาะกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นงานของ อินฟินิตี้ (Infinity) ของศรายุทธ สุปัญโญ หรือ ชรัสและเดอะ แฟลช 

เพราะงานของนรีกระจ่าง, อ.ปิยะ และอ.ชื่น สามารถเข้าถึงกลุ่มคนฟังได้มากกว่านั้น เรียกว่าแพร่หลายก็คงได้ ส่วนหนึ่งก็ต้องให้เครดิตกับการทำงาน ที่เป็นการหยิบเอาเพลงเก่ามาทำใหม่ และมีการจัดวางเลือกสรรเป็นอย่างดี ที่สามารถแยกเพลงออกเป็น 3 กลุ่มได้ชัดเจน 

เพลงพอปรุ่นใหม่ ๆ ที่อยู่ในยุคเดียวกับการกำเนิดของวง ไม่ว่าจะเป็น “อีกนาน”, “ตัวสำรอง” ซึ่งอยู่ในอัลบั้มชุดแรกของพงษ์​พัฒน์ วชิรบรรจง ศิลปินร่วมค่าย หรือว่า “เพียงแต่วันนั้น” งานของ แอนนา โรจน์รุ่งฤกษ์ แชมป์คนแรกของรายการคอนเสิร์ตคอนเทสต์ ซึ่งทุกเพลงยัง ‘สด’ แล้วเมื่อกลับมาอีกครั้งในช่วงเวลาที่ความนิยมในเพลงต้นฉบับยังไม่จาง แต่ด้วยรสชาติดนตรีใหม่ ก็สร้างความน่าสนใจตั้งแต่แรกได้ยินเป็นทุนเดิม โดยที่ต่างก็มีความเป็นพอปในตัวอยู่แล้ว และเมื่อได้การเรียบเรียงดนตรีที่ส่งเพลง และทำได้อย่างกลมกล่อม ก็ส่งให้ทั้ง 3 เพลงกลับมาฮิตอีกครั้ง แต่ในเสียงใหม่ ซาวนด์ใหม่ และแนวดนตรีใหม่

ขณะที่ “เดือนเพ็ญ” และ “รางวัลแด่คนช่างฝัน” ก็คือเพลงไทยคลาสสิกยุคใหม่ ที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว และโดยพื้นฐานคุ้นเคยกันดีในรูปแบบของดนตรีโฟล์ก ที่แม้จะมีการนำมาทำใหม่หลายต่อหลายครั้งก่อนหน้า ก็ใช่ว่าจะเคยผ่านการเรียบเรียงให้เป็นงานแจซ    

ส่วนเพลง อย่าง “หุ่นไล่กา”, “สกุณา” หรือ “อำนาจเงิน” รวมไปถึง “ความรักเพรียกหา” ก็ล้วนมีทางของแจซหรือเอื้อให้กับการขยับขยายเป็นเพลงแจซอยู่แล้ว และการเรียบเรียงและทำงานดนตรีซึ่งมี โดม ทิวทอง เป็นโปรดิวเซอร์ ก็ทำให้เพลงเหล่านี้มีอิทธิพลของดนตรีบลูส์, โซล ตลบอบอวล แต่ละเพลงให้บรรดาสมาชิกของโคโค่ แจ๊ซได้แสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเสียงแซ็กโซโฟนที่พลิ้วไหว ใน “ความรักเพรียกหา” เสียงเปียโนที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาเล่นล้อไปกับเสียงร้องและกีตาร์ได้อย่างสนุกใน “หุ่นไล่กา” 

ก่อนจะปิดท้ายด้วย “ดอกไม้เหนือหู” ที่เปียโนและแซ็กโซโฟนเล่นหยอกล้อ รับ-ส่งกันได้อย่างสนุก เปรียบเสมือนเพลงโชว์ของสองอาจารย์ ที่เป็นการส่งท้ายอัลบั้มด้วยสีสันอันสดชื่นรื่นรมย์ของดนตรีแจซ ในแบบที่ทำให้รู้สึกว่า นี่ไม่ใช่งานปีนบันไดฟัง แต่เป็นดนตรีที่เข้าถึงได้ง่าย กระทั่งกับเพลงรำวงพื้นบ้าน ก็ยังกลายร่างเป็นงานแจซที่ฟังแล้วเพลิดเพลิน สนุกสนานได้ไม่แพ้ต้นฉบับ แต่ด้วยกลิ่นสีที่แตกต่าง

การเลือกเพลงมาทำใหม่ ในแบบที่รู้สึกได้ถึงวาระซ่อนเร้น นอกจากจะทำให้อัลบั้มมีเพลงที่หลากหลายทั้งแนวทาง ทั้งที่มา ซึ่งน่าจะช่วยให้ได้กลุ่มคนฟังที่หลากหลายตามไปด้วยแล้ว คนทำงานรวมถึงตัววงก็ได้ทำงานทั้งที่เป็นพอปช่วย ‘ขาย’ งานในเชิงแจซที่เข้าถึงได้ แล้วก็มัีโอกาส ‘โชว์’ ของไปในคราวเดียวกัน 

หากจะมองว่าเป็นการสร้างสมดุลย์ทั้งกับคนฟัง ทั้งกับคนทำงานก็คงไม่ผิด

โคโค่แจ๊ซ เปิดตัวได้อย่างสวยงาม ประสบความสำเร็จ ในแบบที่ตอนนั้นแผงเทป (เล็ก ๆ) บางแผงถึงกับหมด ถ้าเดินในย่านที่มีแผงเทปเรียงต่อกัน เช่น หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง จะได้ยินเสียงเพลง “อีกนาน”, “ตัวสำรอง” ถูกเปิดรับกันเป็นทอด ๆ เวลาเดินผ่านจากร้านหนึ่งไปอีกร้านหนึ่ง

หากยังไม่มั่นใจ ก็นึกเอาแล้วกันว่า ค่ายเทปบางค่าย ถึงกับออกอัลบั้มแบบพอป-แจซ ที่เอาเพลงเก่ามาเรียบเรียงใหม่วางขายแบ่งเค้กก้อนนี้ด้วย

ปีถัดมาโคโค่แจ๊ซ มีอัลบั้มชุดที่ 2 แทนค่านับพันของคืนวันหวาน ออกมา โดยนอกจากจะมีเพลงเก่าเล่าใหม่เป็นภาษาแจซแล้ว ยังมีเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ คือ “รักฉันวันละนิด” และ “นั่งลงตรงที่เดิม” แต่เพราะอ.ปิยะเสียชีวิตก่อนที่อัลบั้มจะออกขายไม่นาน ทำให้วงเหลือสมาชิกเพียง 2 คน และปีถัดมานรีกระจ่างก็เป็นศิลปินเดี่ยวเต็มตัว มีอัลบั้มชุดแรก ‘นรีกระจ่าง’ กับคีตา เรคอร์ดส์ 

นอกจากจะเปิดทางให้คอเพลงไทยได้สัมผัสกับดนตรีแจซที่ย่อยมาแล้ว และทำให้ค่ายเพลงอื่น ๆ ให้ความสนใจกับดนตรีแนวนี้ ความสำเร็จของโคโค่แจ๊ซ ยังทำให้คีตา เรคอร์ดส์กล้าลองทำงานดนตรีแปลก ๆ ที่มีการปรับรูปแบบให้เข้ากับคนไทย เช่น ดนตรีละติน กับ มะลิลาบราซิเลียน (Malila Brazilian), ฟิวชัน แจซ กับ ออโตบาห์น (Autobahn) รวมถึงทำเพลงลูกกรุงที่ว่ากันว่าพ้นสมัยไปแล้ว ในนาม เยื่อไม้ หรือรับจัดจำหน่ายงานของ ทีเคโอ (TKO) ศิลปินแร็ป, ฮิปฮอปแบบเข้ม ๆ ที่มีสุกี้ กมลสุโกศล แคลปป์ ซึ่งต่อมาเป็นผู้ก่อตั้งเบเกอรี เรคอร์ดส์ เป็นโปรดิวเซอร์ มาอยู่ในสังกัด 

กระทั่งเมื่อประภาสทำค่ายเพลงใหม่ มูเซอร์ เรคอร์ดส์ ก็ยังนำไอเดียนี้ไปใช้ ไม่ว่าจะเป็น ร็อกแอนด์โรลล์ กับวงแบดบอยส์ (Bad Boys) และแนวบลูส์ กับ มาม่า บลูส์ (Mama Blues) และยังนำวงเร็กเก้ ที-โบน (T-Bone) มาออกอัลบั้มเพลงไทย 

โคโค่แจ๊ซ ออกอัลบั้มชุดสุดท้าย ‘คิดถึง… คาราบาว’ ในปี 2536 ซึ่งเป็นการนำเพลงของคาราบาว มาเรียบเรียงใหม่ในทางของแจซกับมูเซอร์ ก่อนที่จะแยกทางกันไป อ.ชื่นกลับไปสอนและเล่นดนตรี นรีกระจ่างกลายเป็นศิลปินเดี่ยวอีกครั้ง มีอัลบั้มออกมาอีกหลายชุด และจากบทสัมภาษณ์ เมื่อปี 2557 ของนรีกระจ่างกับโพสท์ทูเดย์ อ.ชื่นได้เสียชีวิตไปแล้ว ทำให้เธอเป็นสมาชิกเพียงคนเดียวของโคโค่ แจ๊ซที่ยังมีชีวิตอยู่ 

แม้จะไม่ได้มีผลงานออกมา หรือว่าเป็นที่รู้จักเช่นในช่วงเวลาทองของเธอกับสองอาจารย์ แต่ในหนึ่งหน้าบันทึกของวงการเพลงไทยยุคใหม่ เรื่องราวของนรีกระจ่าง ในนาม โคโค่แจ๊ซ ไม่มีทางเลือนหายไปไหน ตราบนานเท่านาน โดยไม่มีความเจ็บลึก หรือเจ็บช้ำใด ๆ ดังเช่นเนื้อร้องส่วนหนึ่งในเพลงดังเพลงแรกของวงว่าไว้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส