นับเป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนแล้วนับตั้งแต่เจ้านายและจูเน่ปล่อยเพลง แปะหัวใจ ออกมาให้เราได้รับชมรับฟังกัน แต่เราขอสารภาพตรงนี้เลยว่าเรายังคงชมและฟังวนไปไม่หยุด ก็ทั้งไพเราะเสนาะหูและภาพหล่อสวยชวนมองขนาดนั้น และยิ่งได้ดูการแสดงสดในสตูดิโอด้วยแล้ว บอกเลยว่าจั๊กจี้หัวใจสุด ๆ

เมื่อเรามาพิจารณาเนื้อเพลง เราก็พบว่าเรื่องราวความรักที่เจ้านายและจูเน่เล่านั้นไม่ได้มีอะไรใหม่ เพื่อนสนิทแอบชอบเพื่อนแต่ไม่ได้เป็นแฟนกันเลยได้แต่หวงแบบแสดงออกมากไม่ได้ เป็นเรื่องที่เราได้ยินได้ฟังมาและสมาทานได้ทุกรุ่นทุกวัย แต่เรื่องที่ดูจะจำเพาะกับยุคสมัยนี้ก็คือการ “แปะหัวใจข้างล่างในคอมเมนต์” ช่างเป็นการแสดงออกถึงความรักที่จำเพาะกับยุคของการสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เสียนี่กระไร

ลองนึกเล่น ๆ ว่าถ้าเราต้องอธิบายให้คุณตาคุณยายคุณป้าคุณน้าของเราที่ไม่รู้จักอินสตาแกรมว่าการ “แปะหัวใจข้างล่างในคอมเมนต์” คืออะไร คงจะเป็นเลกเชอร์ย่อม ๆ เลยล่ะ

อย่ากระนั้นเลย วันนี้เราจะมาชวนทุกท่านย้อนฟังเพลงไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และดูว่าความรักในแต่ละยุคสมัยของการสื่อสารของประเทศไทยมีวิวัฒนาการมาอย่างไรบ้าง

1. “ซองนั้นเป็นของพี่ แต่จดหมายนี้สิเป็นของใคร บอกพี่หน่อยได้ไหม เธอเขียนถึงใครกันหนอชอบกล”

เพลง: จดหมายผิดซอง
ศิลปิน: มนต์สิทธิ์ คำสร้อย
ปี: 2539
วิธีการสื่อสาร: จดหมาย

เพลง ‘จดหมายผิดซอง’ เพลงลูกทุ่งอีสานระดับตำนานของมนต์สิทธิ์ คำสร้อย บอกเล่าเรื่องความผิดหวังในความรักของฝ่ายชาย เมื่อฝ่ายหญิง “โป๊ะแตก” ส่งจดหมายหาฝ่ายชาย ซองถูกแต่จดหมายผิด ฝ่ายชายเลยจับได้ว่าฝ่ายหญิงมีคนรักหลายคน ถ้าเป็นยุคสมัยนี้ก็คงต้องเป็นการตอบแชตผิดช่องหรือพิมพ์อีเมลแล้วมือลั่นส่งหาผู้รับผิดคนนั่นเอง

หนึ่งในกิมมิกยอดฮิตของ MV ยุค 90’s ก็คือ การที่พระเอก MV ทำร่างกายให้เปียกปอนหลังจากอกหักด้วยวิธีใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินตากฝน อาบน้ำฝักบัว จ้วงน้ำจากอ่างมาล้างหน้าหรือตีน้ำในคลอง

ข้อมูลเพิ่มเติม: การสื่อสารด้วยจดหมายในดินแดนสุวรรณภูมินี้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่กิจการไปรษณีย์ของประเทศไทยเริ่มต้นอย่างเป็นกิจลักษณะเมื่อมีการจัดตั้งกรมไปรษณีย์เมื่อปี 2426 ปัจจุบันคือบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

2. “ได้รับโทรเลขด่วนจากอีสานบ้านบักอ้ายจดหมายน้อยแม่ส่งมา … บอกว่าสาวคนฮักสิแต่งงานแล้วเด้อนั่น”

https://www.youtube.com/watch?v=WQumkC4YZyk&t=1275s

เพลง: โทรเลขด่วน
ศิลปิน: รุ่งโรจน์ เพชรธงชัย
ปี: ไม่ระบุ
วิธีการสื่อสาร: โทรเลข

เพลง ‘โทรเลขด่วน’ เพลงหมอลำของรุ่งโรจน์ เพชรธงชัย หมอลำชั้นครู บอกเล่าถึงความรู้สึกของหนุ่มอีสานที่จากสาวคนรักมาทำงานที่กทม.เพื่อเก็บเงินกลับไปแต่งงาน แต่ได้ทราบข่าวทางโทรเลขว่าสาวคนรักกำลังจะไปแต่งงานกับชายอื่น ตัดพ้อสาวคนรักได้สะเทือนอารมณ์เสียจริง

สำหรับใครที่เกิดไม่ทัน: โทรเลขคือการสื่อสารรูปแบบหนึ่งที่ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าส่งข้อความจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง กิจการโทรเลขเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2418 และปิดฉากไปเมื่อปี 2551 ในการส่งโทรเลขนั้น ผู้ส่งต้องเดินทางไปที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข กรอกข้อความที่ต้องการส่งพร้อมระบุที่อยู่ผู้รับ จากนั้นข้อความจะถูกแปลงเป็นสัญญาณโทรเลขซึ่งถูกส่งไปยังที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขที่ใกล้ที่อยู่ผู้รับที่สุด ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขปลายทางทำการแปลงสัญญาณโทรเลขกลับมาเป็นข้อความ แล้วพิมพ์ข้อความนั้นใส่ซองจ่าหน้าส่งไปยังผู้รับ เทคโนโลยีนี้ทำให้ผู้ส่งสามารถส่งความข้ามจังหวัดไปยังผู้รับได้ในวันเดียวกัน ซึ่งถือว่าเร็วมากในยุคที่โทรเลขเฟื่องฟู

ถามว่าสมัยนั้นมีการส่งโทรเลขจีบกันไหม อันนี้เราไม่ทราบชัด แต่เราคิดว่าไม่มี เพราะโทรเลขคิดราคาตามจำนวนคำที่ต้องการส่ง (ราคาสุดท้ายอยู่ที่คำละ 1 บาท) ถ้าจะเขียนพรรณนาความรักคงจะสิ้นเปลืองไม่น้อย อีกทั้งข้อความยังไม่เป็นความลับ เพราะผู้ส่งต้องเขียนข้อความส่งให้เจ้าหน้าที่แปลงเป็นสัญญาณโทรเลข (เจ้าหน้าที่จะพิจารณาห้ามส่งข้อความบางประเภท เช่นข้อความหยาบคายหรือข้อความด่าทอ อีกด้วย) ถ้าไม่เขินก็ตามสะดวกล่ะ!

3. “ที่เฝ้าแต่โทรโทรไปหาเธอเรื่อยเปื่อย เหนื่อยก็ยอมก็ใจชอบเธอไม่เบา”

เพลง: ใจสั่งมา
ศิลปิน: LOSO
ปี: 2542
วิธีการสื่อสาร: โทรศัพท์มีสาย

คงต้องไม่พูดอะไรมากสำหรับเพลงนี้ เราสารภาพว่าเราจำไม่ได้แล้วว่าเราคุยโทรศัพท์ด้วยโทรศัพท์มีสาย ไม่ว่าเป็นโทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์สาธารณะ ครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ แต่เราก็เสียดายแทนเด็กยุคปัจจุบันจริง ๆ ที่ไม่มีโอกาสจะได้แลกเหรียญเตรียมให้มากพอเพื่อหยอดตู้โทรศัพท์สาธารณะให้คุยได้นาน ๆ ใช้นิ้วม้วนสายโทรศัพท์ด้วยความเขินอาย หรือระบายอารมณ์ด้วยการกระแทกวางหูโทรศัพท์ 55+

เด็ก ๆ ยุคปัจจุบันที่สงสัยว่าคำว่า “หมุนโทรศัพท์” หรือ “วางหู” มีที่มาจากอะไร ลองศึกษาจาก MV นี้ดูนะครับ 🙂

ข้อมูลเพิ่มเติม: มีการนำเข้าโทรศัพท์มาใช้ในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2424 ใช้แจ้งข่าวระหว่างปากน้ำ สมุทรปราการและกรุงเทพฯ ต่อมาเมื่อปี 2497 จึงได้มีการจัดตั้งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

4. “วันไหนถูกทิ้งแพ็กลิงค์มาบอก จะออกไปหา ช่วยเช็ดน้ำตาให้กับคนดี”

เพลง: ไอ้หนุ่มแพ็กลิ้งค์
ศิลปิน: ยิ่งยง ยอดบัวงาม
ปี: 2539
วิธีการสื่อสาร: เพจเจอร์

เพลงนี้ ยิ่งยง ยอดบัวงามมากับสุดยอดนวัตกรรมการสื่อสารในยุค 80’s และ 90’s ถึงแม้สมัยนั้นจะมีโทรศัพท์มือถือแล้ว แต่ก็ยังคงพกพาลำบากและราคายังคงอยู่ที่หลักแสนบาท เพจเจอร์นี่แหละคืออุปกรณ์สื่อสารพกพาที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด โดยชื่อ แพ็กลิงค์ คือชื่อผู้ให้บริการเพจเจอร์รายแรกในประเทศไทยนั่นเอง ซึ่งนอกจากจะใช้ส่งข้อความแจ้งข่าวกันแล้ว เพจเจอร์นี่แหละคืออุปกรณ์สื่อรักที่หนุ่ม ๆ ใช้ส่งข้อความละเมียดละไมไปจีบสาว ๆ ยุคนั้นเรียกว่าเป็นยุครุ่งเรืองของกวีสมัครเล่นเลยก็ว่าได้ มุกเสี่ยว กลอนสั้น บรรพบุรุษของแคปชันใต้รูปยุคปัจจุบันก็เริ่มมาจากยุคนี้แหละ เช่น

“จะเก็บดวงดาวน้อยบนฟากฟ้า
สอยลงมาเก็บไว้ที่ใต้หมอน
มอบให้เธอไว้หนุนเวลานอน
ดาวใต้หมอนช่วยให้เธอหลับฝันดี”

สำหรับใครที่เกิดไม่ทัน: เพจเจอร์คือเครื่องมือสื่อสารพกพาสำหรับรับข้อความสั้น ผู้ที่จะส่งข้อความไปยังเพจเจอร์ต้องโทรศัพท์ไปหาโอเปอเรเตอร์ แจ้งหมายเลขเครื่องเพจเจอร์และข้อความที่ต้องการส่งให้เจ้าหน้าที่โอเปอเรเตอร์ทราบ (เจ้าหน้าที่โอเปอเรเตอร์จะเซนเซอร์คำหยาบคายตรงนี้ด้วย) เจ้าหน้าที่โอเปอเรเตอร์ก็จะพิมพ์ข้อความที่ผู้ส่งพูดแล้วส่งไปยังเพจเจอร์ปลายทาง (ใครจะส่งข้อความไปจีบสาวก็ต้องพูดข้อความเหล่านั้นให้เจ้าหน้าที่โอเปอเรเตอร์ที่ไม่รู้จักฟัง ใจแข็งไม่แข็งจะเขินไม่เขินก็วัดกันตรงนี้ล่ะ)

เพจเจอร์ได้รับความนิยมอย่างสูงจนกระทั่งเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ โทรศัพท์มือถือเริ่มราคาถูกลงและรับส่งข้อความสั้นได้ เพจเจอร์ก็เสื่อมความนิยมลงมาเรื่อย ๆ ปัจจุบันเพจเจอร์เลิกให้บริการแล้วทั่วโลก โดยบริษัท โตเกียว เทเลเมสเซจ เป็นบริษัทสุดท้ายที่ให้บริการเพจเจอร์ในญี่ปุ่น โดยยกเลิกบริการไปเมื่อปี 2562

5. “เจ็บปวดเมื่อรู้ข้อความจากมือถือเธอ คิดว่าฉันเป็นแค่คนรู้จักกัน”

เพลง: อกหักจากมือถือ
ศิลปิน: So Cool
ปี: 2547
วิธีการสื่อสาร: โทรศัพท์มือถือ

อุปกรณ์สื่อสารที่ยังอยู่ยงคงกระพันมาถึงปัจจุบัน เพียงแต่สมัยนั้นสมาร์ตโฟนยังไม่มีฟังก์ชันเยอะอย่างปัจจุบันและระบบอินเทอร์เน็ตมือถือก็ยังช้ามาก จึงลืมเรื่องการเห็นหน้าคู่สนทนาที่ปลายสายไปได้เลย จะได้ยินก็แต่เสียงเท่านั้น การโดนหักอกทางโทรศัพท์มือถือในสมัยนั้นจึงน่าจะเป็นเรื่องเศร้าที่ทันสมัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว

อนึ่ง โทรศัพท์มือถือยักษ์ใน MV เพลงนี้ถอดแบบมาจาก Nokia 6600 โทรศัพท์มือถือที่ล้ำสมัยที่สุดของโนเกียในขณะนั้น และเป็นสมาร์ตโฟนรุ่นที่ขายดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียง iPhone 6 และ iPhone 6s เท่านั้น

6. “จดหมายพี่ชายคงพ่ายอีเมล ที่ทันสมัยรวดเร็ว อีเมลของชายชาวกรุง มันคงถึงใจกว่าจดหมายของชายชาวทุ่ง”

เพลง: จดหมายพ่ายอีเมล์ (ชื่อเพลงเขียนอีเมลผิดนะ)
ศิลปิน: เดวิด อินธี
ปี: 2547
วิธีการสื่อสาร: อีเมล

เนื่องจากปัจจุบันมีช่องทางการส่งข้อความผ่านอินเทอร์เน็ตมากมาย อีเมลจึงดูเป็นช่องทางการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตที่เป็นการเป็นงาน ใช้สำหรับทำงาน หรือรับส่งข้อความที่ต้องการมีบันทึกไว้เป็นหลักฐาน แต่ในยุคสมัยที่อีเมลได้รับความนิยมแพร่หลายใหม่ ๆ นั้น อีเมลเป็นช่องทางในการพูดคุยระหว่างเพื่อน ๆ ได้ หนุ่มสาวก็ใช้อีเมลในการเกี้ยวพาราสีกันเป็นเรื่องปกติธรรมดา วัยรุ่นยุค 90’s หรือ 2000’s ลองนึกย้อนกลับไปดูสิครับว่า คุณตั้งชื่ออีเมลแรกของคุณว่าอะไร เรามั่นใจว่าไม่ใช่ชื่อจริงนามสกุลจริงแบบที่คุณใช้สมัครงานหรือติดต่อธุรกิจแน่ ๆ ล่ะ จริงไหม ^_^

ข้อมูลเพิ่มเติม: อีเมลมีใช้ครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2531 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่วนบริการฟรีอีเมลรายแรกของประเทศไทยคือไทยเมล เปิดให้บริการเมื่อปี 2540 และปิดให้บริการเมื่อปี 2557

7. “เจอเธอออนเอ็มเมื่อไร เราควรจะแชตเลยมะ หรือต้องแกล้งแกล้งออฟไลน์”

เพลง: MSN
ศิลปิน: Faye Fang Kaew
ปี: 2550
วิธีการสื่อสาร: MSN Messenger (ระบบส่งข้อความทันทีบนคอมพิวเตอร์)

สุดยอดเทคโนโลยีการสื่อสารของวัยรุ่นยุค 2000’s จะเป็นโปรแกรมอื่นไปไม่ได้นอกจาก MSN Messenger หรือมักเรียกกันย่อ ๆ ว่า MSN ในสมัยนั้น MSN ไม่ได้เป็นเพียงการช่องทางสื่อสาร แต่เป็นกิจกรรมที่วัยรุ่นทำกันอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการต้องมานั่งหน้าคอมพิวเตอร์ในตอนเย็น ๆ ค่ำ ๆ เพื่อ “ออนเอ็ม” (ย่อมาจาก “ออนไลน์บนเอ็มเอสเอ็น”) คุยกับแฟนหรือเพื่อนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว วัยรุ่นสมัยนั้นหลาย ๆ คนได้ฝึกพิมพ์สัมผัสจนคล่องแคล่วโดยไม่รู้ตัวจากการใช้โปรแกรมนี้โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียนพิมพ์สัมผัสเลย

และเนื่องจาก MSN เป็นระบบส่งข้อความทันที (instant messaging) โปรแกรมนี้จึงสร้างความว้าวุ่นใจให้กับหนุ่มสาวไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการนั่งเฝ้าจอคอมพิวเตอร์รอให้คนที่หมายปองออนไลน์เพื่อที่จะได้ส่งข้อความหาเธอในทันที การแกล้งตอบช้า ๆ เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายรู้ว่าชอบ การกดสั่นหน้าจอ (nudge) เพื่อเรียกร้องความสนใจจากอีกฝ่าย หรือแม้กระทั่งการ appear offine ซึ่งก็คือตั้งสถานะแสร้งทำเป็นว่าไม่อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ เป็นการเล่นตัวออนไลน์วิธีหนึ่ง

อนึ่ง การมาถึงของเครือข่ายสังคมออนไลน์ทำให้โปรแกรมส่งข้อความทันทีเสื่อมความนิยมลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่มีระบบส่งข้อความทันทีรวมอยู่ด้วยแล้ว MSN ที่ต่อมากลายเป็น Windows Live Messenger ก็ต้านทานความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ไหวและเลิกให้บริการไปเมื่อปี 2556

8. “ก็เธอน่ารัก น่ารักฝุด ๆ ก็เธอทำให้ฉันนั้นพิมพ์ได้แค่จุด ก็แอบกดไลก์ให้เธอเป็นชุดที่บนเฟซบุ๊กของเธอ”

https://www.youtube.com/watch?v=ic6D4nHUefk

เพลง: น่ารักฝุดๆ
ศิลปิน: Lipta
ปี: 2556
วิธีการสื่อสาร: Facebook (เครือข่ายสังคมออนไลน์)

แล้วก็มาถึงยุคสมัยของเครือข่ายสังคมออนไลน์อันดับหนึ่งของโลกที่ปัจจุบันมีผู้ใช้กว่า 2.8 พันล้านคน นอกจากเฟซบุ๊กจะปฏิวัติการสื่อสารของคนทั่วโลกแล้ว เฟซบุ๊กยังทำให้เกิดพฤติกรรมใหม่ ๆ ด้วย เช่นการกดไลก์ (ในนัยยะนี้ก็เป็นการแสดงออกให้รู้ว่าชอบหรือเรียกร้องความสนใจแบบเบา ๆ) การพิมพ์จุดไว้ในคอมเมนต์เพื่อให้ได้รับการแจ้งเตือนเมื่อมีใครมาคอมเมนต์เพิ่มเติม หรือการพิมพ์เร็ว ๆ จนพิมพ์ผิดพิมพ์ถูกแต่ก็ยังอ่านแล้วเข้าใจ เช่น “จังเลย” ผิดเป็น “จุงเบย” หรือ “น่ารักสุด ๆ” ผิดเป็น “น่ารักฝุด ๆ” เป็นต้น แล้วความบันเทิงอย่างในเพลงนี้ก็เกิดขึ้นเมื่อเอาคำที่พิมพ์ผิดมาอ่านออกเสียงนั่นเอง

อนึ่ง เฟซบุ๊กเพิ่มปุ่ม Love ให้ผู้ใช้กดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559

9. “อยู่ดี ๆ หายไปส่งไลน์ไป ทำไมเดี๋ยวนี้เธอเริ่มจะตอบช้า บอกไปทำธุระมาแต่ฉันไม่ค่อยแน่ใจ”

เพลง: อยู่ดีๆก็…
ศิลปิน: WONDERFRAME
ปี: 2560
วิธีการสื่อสาร: LINE (ระบบส่งข้อความทันทีบนสมาร์ตโฟน)

แล้วก็มาถึงแอปรับส่งข้อความยอดนิยมอันดับหนึ่งของประเทศไทยบ้าง แน่นอนว่าการเกี่ยงงอนระหว่างหนุ่มสาวมีมาทุกยุคสมัย อารมณ์ยังมาเต็มเหมือนเดิม มีแต่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ถ้าเป็นยุคของโทรศัพท์ก็คือโทรไปไม่รับ ส่วนยุคของไลน์ก็ต้องเป็น “อยู่ดี ๆ ก็หาย ไลน์ไม่ตอบ” นั่นเอง ส่วนอีกฝ่ายก็ต้องหาคำอธิบายหรือข้อแก้ตัวกันไปเหมือนทุกยุคทุกสมัยนั่นแหละ

อนึ่ง ฟีเจอร์ “อ่านแล้ว” (Read) ของไลน์ ที่แจ้งผู้ส่งข้อความโดยอัตโนมัติว่าผู้รับได้อ่านข้อความแล้วนั้น เป็นฟีเจอร์ที่มีมาตั้งแต่สมัยไลน์เริ่มต้นจากการเป็นแอปที่ใช้สื่อสารในเหตุธรณีพิบัติภัยสึนามิทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 เนื่องจากในเหตุการณ์ครั้งนั้นระบบสื่อสารในพื้นที่ประสบภัยเสียหายอย่างหนัก ทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นไปอย่างทุลักทุเล อีกทั้งผู้ประสบภัยอาจไม่อยู่ในสภาวะที่จะสามารถตอบไลน์ได้ในทันที ฟีเจอร์อ่านแล้วจึงมีเพื่อให้ผู้ส่งข้อความอุ่นใจว่าคนที่รักและห่วงใยยังมีชีวิตอยู่ เพียงแต่อาจจะไม่สามารถตอบกลับได้ทันที ณ ขณะนั้น

ทว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไปและผู้ใช้ไลน์ไม่ได้อยู่ในบริบทของภัยพิบัติแล้ว แทนที่ “อ่านแล้ว” จะทำให้ผู้ส่งข้อความสบายใจว่าปลายทางได้รับข้อความแล้ว กลับทำให้ผู้ส่งข้อความขุ่นข้องหมองใจว่าทำไมอ่านแล้วไม่ตอบ อาจคิดไปว่าอีกฝ่ายไม่ให้ความสำคัญ จนนำไปสู่ปัญหาในความสัมพันธ์ได้ หรือแม้กระทั่งการที่ผู้รับยังไม่เปิดอ่านข้อความก็กลายเป็นเรื่องที่นำมาเกี่ยงงอนกันมากกว่าห่วงใยกัน แอปสื่อสารที่ควรจะทำให้คนใกล้ชิดกันกลับทำให้คนห่างเหินกันมากขึ้นซะอย่างนั้น

10. “ไหนขอดูหน่อยได้รึเปล่า ดูหน่อยได้รึเปล่า แค่วิดีโอคอล”

เพลง: VIDEO CALL
ศิลปิน: Twopee Southside
ปี: 2561
วิธีการสื่อสาร: วิดีโอคอล

เมื่อหลายสิบปีก่อน วิดีโอคอลดูเป็นอนาคตที่ห่างไกล เป็นจริงเฉพาะในภาพยนตร์ไซไฟเท่านั้น สมัยนั้นหลายคนคิดว่า ถ้าเทคโนโลยีพร้อมเมื่อไหร่ เราก็คงจะใช้วิดีโอคอลแทนการคุยโทรศัพท์ปกติ แต่เมื่อมาถึงยุคปัจจุบันที่มีวิดีโอคอลเกิดขึ้นจริง ๆ แล้ว เรากลับใช้การพิมพ์คุยกันมากกว่าการโทรศัพท์คุยกัน เพราะการพิมพ์คุยกันทำให้เราสามารถบริหารจัดการการตอบกลับได้สะดวกกว่า กลายเป็นว่าการคุยโทรศัพท์ถูกสงวนไว้สำหรับเรื่องจำเป็นหรือเร่งด่วน ยิ่งถ้าเป็นวิดีโอคอลแล้วยิ่งต้องเป็นเรื่องพิเศษ โอกาสพิเศษหรือคนพิเศษเท่านั้น การขอวิดีโอคอลหรือการขอเห็นหน้าจึงมีนัยยะของความพิเศษในความสัมพันธ์นั่นเอง

11. “แปะหัวใจเอาไว้ข้างล่างในคอมเมนต์ เผื่อว่าใครมาเห็นเขาจะได้ไม่คิดไปไกล”

เพลง: แปะหัวใจ
ศิลปิน: JAONAAY ft. Juné
ปี: 2564
วิธีการสื่อสาร: Instagram (เครือข่ายสังคมออนไลน์)

และสุดท้ายกับเพลงที่เราจั่วหัวไว้ตอนต้น ชั่วโมงนี้คงไม่มีแอปไหนจะเหมาะกับการแสดงออกความรักความถูกใจแบบจั๊กจี้หัวใจและทันสมัยมากไปกว่าอินสตาแกรมอีกแล้ว ทั้งความสะดวกที่เรา “มอบหัวใจ” ให้ใครคนนั้นได้ด้วยการแตะบนรูป 2 ครั้งหรือการ “แปะหัวใจเอาไว้ข้างล่างในคอมเมนต์” ก็ทำได้สะดวกรวดเร็ว ใครอ่อนไหวหรือคิดไปไกลง่ายก็รับผิดชอบตัวเองกันเองนะครับ

จากเรื่องราวในเพลงทั้ง 11 เพลงที่เรายกมานี้ จะเห็นได้ว่า นอกจากเพลงจะเป็นสื่อบันเทิงแล้ว เพลงยังทำหน้าที่เป็นจดหมายเหตุบอกเรื่องราวของผู้คนและเทคโนโลยีในยุคต่าง ๆ อีกด้วย

และสุดท้ายนี้ ถึงเราจะยังจินตนาการไม่ออกว่าในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า การสื่อสารจะเป็นอย่างไร จะมีอะไรที่ทันสมัยขึ้นไปกว่านี้อีกสักแค่ไหน อีกหน่อยหนุ่มสาวอาจจะจีบกันผ่านระบบ sensory immersive simulation เหมือนในภาพยนตร์เรื่อง Ready Player One หรือระบบ neural interactive simulation เหมือนในภาพยนตร์เรื่อง The Matrix ก็เป็นได้ แต่สิ่งที่เรามั่นใจก็คือ ความรักและดนตรีจะยังอยู่คู่คนไทยและโลกนี้ไปอีกนาน ถึงเวลานั้นก็คงจะมีเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวความรักและเทคโนโลยีมาให้เราฟังอีกเรื่อย ๆ ครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส