เดือนมิถุนายนกำลังจะผ่านพ้นไป เดือนนี้ก็เป็นเดือนที่มีงานเพลงน่าประทับใจในระดับสุดว้าวอยู่พอสมควร มีทั้งอัลบั้มที่มาจากศิลปินที่หลายคนรอคอย ซึ่งรอคอยนานมากกว่าจะได้ฟังอย่าง ‘Peppermint Town’ ของ My Life As Ali Thomas งานเพลงของวงไทยในสไตล์อินเตอร์ที่รอนานกว่า 5 ปี และ ‘Peace or Love’ ของ Kings of Convenience ที่หลายคนคงถอดใจไปแล้วว่าคงไม่มีโอกาสจะได้ฟังงานเพลงใหม่จากดูโอคู่นี้ นอกจากนี้ก็มีอัลบั้มใหม่ของศิลปินอินดี้ที่ทำงานได้ดีมีมาตรฐานมาโดยตลอดแถมอัลบั้มใหม่ยังน่าประทับใจสุด ๆ นั่นคือ ‘Home Video’ จาก Lucy Dacus และ ‘Jubilee’ ของ Japanese Breakfast อีกทั้งยังมีอัลบั้มแรกของวงดนตรีที่หลายคนชื่นชอบและรอคอยว่าอัลบั้มเดบิวต์จะมาเมื่อไหร่นั่นคือ ‘CINEMA’ ของ The Marías ศิลปินที่เอาเสน่ห์ของสเปนมารวมกับงานดนตรีอินดี้พอปได้อย่างเปี่ยมเสน่ห์
‘Peppermint Town’ – My Life As Ali Thomas
‘Peppermint Town’ อัลบั้มเต็มชุดที่ 2 ของวงดนตรีชื่อแปลก ‘My Life As Ali Thomas’ ซึ่งมีชื่ออ้างอิงจากรากศัพท์กรีกโบราณ คำว่า ‘Ali Thomas’ แปลว่า Another Twin มีความหมายที่ต้องการสื่อถึงความมีตัวตนในอีกมิติหนึ่งที่ตรงกันข้ามกับชีวิตจริง พวกเขาทั้ง 3 พาย – กัญญภัค วุธรา (ร้องนำ,กีต้าร์) , แร็ก – วิภาต เลิศปัญญา (กีต้าร์) และ ตาว – วรรณพงศ์ แจงบำรุง (กลอง) จึงได้ใช้ ‘My Life As Ali Thomas’ เป็นเสมือนดินแดนแห่งจินตนาการในการปลดปล่อยตัวตนในอีกมิติหนึ่งออกมาผ่านท่วงทำนองของดนตรีโฟล์กพอป-โฟล์กร็อก อันลุ่มลึกและเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์เมื่อบวกด้วยสำเนียงการร้อง การเล่นและเนื้อร้องที่เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้สามารถยก My Life As Ali Thomas ไปเทียบเคียงกับวงดนตรีระดับสากลในแนวทางนี้อย่าง Mumford & Sons, The Lumineers หรือ Of Monsters and Men ได้สบาย ๆ เลย
จากอัลบั้มแรก ‘Paper’ ในปี 2559 เราต้องรอกว่า 5 ปีจึงจะได้สัมผัสกับ ‘Peppermint Town’ การเดินทางครั้งที่ 2 ของวงที่พาเราร่วมเดินทางผ่านเสียงดนตรีอันงดงามไปสู่เมืองแห่งท่วงทำนองอันสง่างาม ล่องลอย ลุ่มลึก และสดชื่นเหมือนกลิ่นของเปปเปอร์มินต์ ภาพปกจะมีตัวละคร 3 ตัวคือสุนัขจิ้งจอก แมว และกระต่ายซึ่งเป็นตัวแทนของสมาชิกวงแต่ละคนที่ถูกแปลงให้กลายเป็นตัวละครสัตว์การ์ตูนเมื่อเข้าไปอยู่ในโลกแห่งเสียงดนตรีของ ‘Peppermint Town’ อันเป็นเสมือนโลกแห่งจินตนาการและความมหัศจรรย์ของเสียงดนตรีที่พร้อมจะพาใจของเราให้ล่องลอยไปโดยทิ้งความทุกข์ ความเศร้า ความกังวล ความสับสนไว้เบื้องหลัง เสียงร้องของ ‘พาย’ เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์มีความเท่ที่ไม่ปั้นแต่ง อารมณ์ในเนื้อเสียงของเธอจะผันแปรไปตามเรื่องราวและห้วงอารมณ์ของแต่เพลงได้อย่างมีมิติและไม่น่าเบื่อ ซึ่งการที่เธอเป็นหลักในการแต่งเนื้อร้องและทำนองของบทเพลงทั้งหลายด้วยแล้วยิ่งทำให้เธอ ‘เข้าถึง’ ในบทเพลงของเธอและส่งมันมาถึงคนฟังได้เป็นอย่างดี โดยที่เนื้อร้องของพายนั้นมีความเป็นบทกวีที่เปิดพื้นที่ให้เราได้เข้าไปปฏิสังสรรค์ด้วยทำให้มันเป็นบทเพลงที่ไม่ได้เน้นความ ‘เข้าใจ’ แต่เน้นความ ‘เข้าถึง’ และ ‘เข้าไปอยู่ในใจ’ มากกว่า ส่วนงานกีตาร์ของ ‘แร็ก’ มีลีลาที่ลุ่มลึกคล้ายส่วนผสมของงานดนตรีที่มีทั้งกลิ่นของร็อก โฟล์ก และโพสต์ร็อก เป็นสำเนียงกีตาร์ที่พาเราล่องลอยไปกับภูมิทัศน์อันงดงามของแต่ละบทเพลง โดยมีเสียงกลองของ ‘ตาว’ ที่เล่นล้อไปอย่างสนุกเปรียบเสมือนกับพาหนะที่ควบคุมจังหวะในการเดินทางที่ไม่ได้ดุ่มเดินไปอย่างน่าเบื่อแต่มีลูกเล่นลีลาที่พาเราเพลิดเพลินไปด้วยตลอดกับทั้ง 10 บทเพลงในอัลบั้ม “One Way Ticket” เสียงกีตาร์เร้าเร่งเหมือนเสียงควบรถที่ตามมาด้วยเสียงกลองปลุกใจให้ตื่นตัว บทเพลงสั้น ๆ ที่เป็นเสมือนปฐมบทแห่งการเดินทาง หยิบตั๋วเที่ยวเดียวนี้และล่องไปแบบไม่คิดจะหวนกลับหลัง “Baby, I Love You” บัลลาดนุ่มนวลหวนคิดถึงความรักอันงดงามที่ยังคงเบ่งบานในใจเป็นเป็นพลังในการก้าวเดิน เสียงเครื่องเป่าในเพลงนี้เหยาะปรุงรสบทเพลงให้อร่อยเลยทีเดียว “My Red Golden Sun” บทเพลงโฟล์กร็อกในจังหวะกระฉับกระเฉงพอประมาณกับเสียงร้องหลบเสียงชวนเคลิบเคลิ้มในท่อนฮุกของพาย “Luna Blue” จะว่าบทเพลงนี้คือหนึ่งในไฮไลต์ของอัลบั้มเลยก็ว่าได้กับท่วงทำนองที่เวิ้งว้างเสียงเครื่องสายระบายบรรยากาศอันงดงามกับเสียงร้องบางเบาแต่เปี่ยมอารมณ์ลึกของพาย ก่อนที่ส่วนผสมของดนตรีจะค่อย ๆ พาเราขับเคลื่อนขึ้นไปสู่จุดสูงสุดและหยุดที่ความฟิน “Rinn” บทเพลงหนักแน่นเร้าใจที่มาพร้อมเสียงร้องเท่ ๆ กีตาร์ร็อก เบสหนึบกลองหนัก เท่สุด ๆ ไปเลย “Pitch Black” เสียง picking กีตาร์สว่างไสวงดงามกับท่วงทำนองและเสียงร้องที่เย็นเยียบท่ามกลางการดีไซน์เสียงที่ให้ภูมิทัศน์อันเวิ้งว้างให้ความรู้สึกถึงการหวนไห้ถึงแหล่งพิงพักอันห่างไกลก่อนที่จะพาเราควบไปกับอารมณ์เร้าใจในกลางเพลง “Dream Lover” ท่วงทำนองหวานๆ ที่มาพร้อมไลน์กีตาร์แบบตอด ๆ จิ๊กจั๊กบนท่วงทำนองของดนตรีเต้นรำ “Dear All The Universe” ซาวด์มีความเป็นเรโทรเปิดตัวเท่ ๆ ด้วยเสียงใส่เทปกด play และเพลิดเพลินไปกับอัลเทอร์เนทีฟพอปสดใสที่พาให้ใจเบิกบาน “Tears of a Clown” นี่คือเพลงบลูส์ในแบบฉบับของ My Life As Ali Thomas ที่มีความเท่ เก๋ ละลงตัว “Ocean” สิ้นสุดการเดินทางด้วยบทเพลงสไตล์นีโอคลาสสิกที่ผสมผสานเครื่องดนตรีคลาสสิกกับเครื่องดนตรีสมัยใหม่เข้าด้วยกัน พาใจเราทะยานสู่ท้องน้ำอันลึกลับคล้ายจะดูน่ากลัวแต่เมื่อเรียนรู้มันกลับพบความงดงามอันเป็นนิรันดร์
‘Home Video’ – Lucy Dacus
ลูซี่ ดาคัส (Lucy Dacus) ศิลปินมากฝีมือวัย 25 ปีจากเวอร์จิเนียร์กลับมาพร้อมอัลบั้มชุดล่าสุด ‘Home Video’ ซึ่งเป็นอัลบั้มชุดที่ 3 ของเธอ ‘Home Video’ นับว่าเป็นผลงานที่บ่งบอกความเป็นลูซี่ ดาคัสได้ดีที่สุดเพราะเธอกลั่นเอาประสบการณ์ในช่วงวัยเยาว์ของเธอสะท้อนออกมาผ่านบทเพลงทั้ง 11 ของอัลบั้มด้วยความจริงใจ ซื่อสัตย์และงดงาม กับเรื่องเล่าของการก้าวผ่านพ้นช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ความผิดพลาด สู่การยอมรับอย่างเข้าใจ บทเพลงเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะพาเราไปสัมผัสกับชีวิตของเธอเท่านั้นแต่มันยังเป็นสื่อที่ช่วยให้เราได้มีโอกาสหวนกลับไปทบทวนสิ่งที่ผ่านมาในชีวิตและได้เรียนรู้จากช่วงเวลาอันมีค่าเหล่านั้นด้วยเช่นกัน
การฟังเพลงในอัลบั้มนี้ให้ความรู้สึกเหมือนกับกำลังเปิดไดอารี่ของลูซี่ไปทีละหน้าและเดินทางไปกับเรื่องราวที่เธอจดบันทึกไว้ถึงเหตุการณ์ในช่วงวัยเยาว์อันพ้นผ่านไปนานแต่ได้สะท้อนผ่านมุมมองของคืนวันในปัจจุบันและแปรเปลี่ยนมันเป็นบทเรียนให้ได้เรียนรู้และเติบโต ในด้านดนตรีอัลบั้มนี้ลูซี่ดีไซน์ออกมาให้มันมีความรู้สึกที่อุ่น (warm) เพราะเธออยากให้อัลบั้มนี้มีความรู้สึกเหมือนกับความทรงจำหรืออะไรบางอย่างที่กำลังซีดจางไป จึงมีการใช้กีตาร์อะคูสติกและเปียโนเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ รวมไปถึงการใช้รีเวิร์บ (reverb) ด้วย
นอกจากในส่วนของดนตรีที่มีเอกลักษณ์แล้วการเขียนเนื้อร้องของลูซี่ยังมีความโดดเด่นไปแพ้กัน หรือจริง ๆ แล้วมันคือส่วนสำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้เพราะการเล่าเรื่องของเธอนั้นมีทั้งความคมคายจากถ้อยคำที่ใช้ และการเล่าเรื่องที่จริงจัง เปี่ยมไปด้วยรายละเอียด สีสันและความสัตย์ซื่อที่งดงาม ซึ่งจะทำให้เราเพลิดเพลินไปกับเรื่องเล่าของเธอในแต่ละบทเพลง “Hot & Heavy” บนท่วงทำนองสดใสเบิกบานลูซี่พูดถึงช่วงชีวิตวัยรุ่นของเธอ สิ่งที่หล่อหลอมให้กลายเป็นเธอในทุกวันนี้ เรียนรู้ในความเปลี่ยนแปลงและยอมรับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว “Christine” บัลลาดเคล้าอารมณ์เหงาเศร้าพูดถึงความรู้สึกที่มีต่อเพื่อนสาวคนสนิทคล้ายเป็นคำเตือนว่าให้เธอเลือกคนรักดี ๆ ถ้าลงเอยกับคนนี้ฉันคงไม่ยอมจะไปพังงานแต่งเธอด้วยการปารองเท้าไปที่แท่นบูชาเลย “First Time” อัลเทอร์เนทีฟร็อกเท่ ๆ เล่าถึงวีรกรรมแสบ ๆ ที่ผ่านมาในชีวิตกับการใช้ชีวิตไปให้เต็มที่สัมผัสกับความรู้สึกที่เป็น “ครั้งแรก” อย่างเต็มเปี่ยม “VBS” เรื่องเล่าในซัมเมอร์แคมป์ของศาสนาคริสต์ที่เรียกว่า VBS (Vacation bible school) ที่ลูซี่เล่าประสบการณ์การพบเจอกับแฟนคนแรกของเธอซึ่งช่วงเวลาที่เธอจดจำได้ดีและเป็นจุดเริ่มต้นของเพลงก็คือตอนที่เขากำลังสูดยาที่ทำมาจากลูกจันทร์เทศหลังจากที่กลับมาจากการสวดมนต์บูชาพระเจ้าในช่วงเย็น “Cartwheel” โฟล์กเท่ ๆ ที่เคล้าด้วยความเหงาและความคิดถึง ลูซี่ถ่ายทอดอารมณ์ของคนที่รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลังเมื่อเพื่อน ๆ ที่เคยเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันกำลังค่อย ๆ มีความรัก เติบโตและห่างเหินกันไป “Thumbs” บทเพลงในห้วงอารมณ์เศร้าอันเวิ้งว้างเป็นเพลงที่ต้องมีเครื่องหมาย explicit เตือนไว้ด้วยความโหดของการมีความคิดที่จะฆ่าคนด้วยการเอานิ้วกดลงไปที่ดวงตา เพลงนี้ลูซี่เล่าถึงความเกลียดชังที่มีต่อชายคนหนึ่งซึ่งเป็นพ่อที่ไม่เคยดูดำดูดีของเพื่อนรักเธอ “Going Going Gone” เพลงโฟล์กอารมณ์สบาย ๆ สไตล์บทเพลงที่เล่นรอบกองไฟ มีจังหวะและอารมณ์ของการเดินทางนิด ๆ ตัวเพลงถ่ายทอดมุมมองในความสัมพันธ์ของมนุษย์ เด็กหนุ่ม-เด็กสาว ผู้ชาย-ผู้หญิง และ พ่อ-ลูกสาว กับคำถามในใจว่าเมื่อเด็กน้อยคนหนึ่งเติบโตมาเป็นพ่อคนเขาจะดูแลและปกป้องลูกสาวของเขาอย่างไร “Partner in Crime” หนึ่งในเพลงที่มีความเป็นส่วนตัวมาก ๆ ของลูซี่เล่าเรื่องราวตอนที่เธอยังเด็กและชอบคนคนนึงที่อายุแก่กว่าเธอ เธอต้องโกหกอายุของตัวเองเพราะอยากได้รับการปฏบิติที่จริงจังและจริงใจจากชายคนนั้น “Brando” บทเพลงสนุก ๆ ที่เล่าถึงเพื่อนคนหนึ่งที่บอกว่าตัวเองนั้นเหมือนกับ ‘มาลอน แบรนโด’ บทเพลงนี้กล่าวถึงหนังหลายเรื่องและเป็นบทเพลงที่กรุ่นไปด้วยความรู้สึกดี ๆ ของคนรักหนัง “Please Stay” ในบางคราวคนเราก็ถอดใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป บทเพลงนี้ลูซี่รับบทของคนที่พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้คนที่เธอรักยังคงมีลมหายใจต่อไป “Triple Dog Dare” ในแทร็กสุดท้ายลูซี่เปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวของเธอออกมาอย่างสัตย์ซื่อถึงช่วงเวลาที่เธอยังไม่กล้าที่จะคัมเอาต์และต้องประคับประคองความสัมพันธ์ระหว่างเธอและแฟนสาวท่ามกลางปฏิกิริยาของคนรอบข้างโดยไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นเช่นไร เพลงนี้ยาวเกือบ 8 นาทีลูซี่ใส่พลังเต็มที่ปลดปล่อยห้วงอารมณ์ที่ค้างคาและพาเราไปสู่ช่วงเวลาอันงดงามเป็นการปิดท้ายไดอารี่ของเธออย่างทรงพลังและสง่างาม
‘Jubilee’ – Japanese Breakfast
อัลบั้มเต็มชุดที่ 3 ของ มิเชลล์ เซาเนอร์ (Michelle Zauner) หรือ Japanese Breakfast ที่ทิ้งห่างจากอัลบั้ม 2 ไปนานพอสมควร เพราะเธอต้องรอให้ผ่านพ้นความเศร้าจากการสูญเสียครั้งใหญ่เมื่อคุณแม่ของเธอได้จากไปด้วยโรคมะเร็ง เธอจึงพักและไปเขียนหนังสือมาหนึ่งเล่มเป็นบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับแม่ผู้ล่วงลับของเธอซึ่งใช้ชื่อว่า ‘Crying in H Mart : A Memoir’ ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาและกำลังจะถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดยค่าย Orion Pictures ของ MGM และเธอจะทำเพลงประกอบให้กับหนังเรื่องนี้เองด้วย
‘Jubilee’ จึงเป็นการกลับมาที่สดใสของ Japanese Breakfast เพราะเธอได้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความเศร้ามาแล้ว งานเพลงในอัลบั้มนี้จึงเป็นเรื่องราวของความสุขและมุมมองที่สดใสมากขึ้น ในขณะที่ 2 อัลบั้มเนื้อหาของเพลงจะวนเวียนอยู่กับเรื่องของความเศร้าและสภาพจิตใจที่ไม่โอเคซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านงานดนตรีไซคีเดลิกและดรีมพอป แต่อัลบั้มนี้จะมีมุมมองที่สดใสที่มาพร้อมงานดนตรีที่มีลูกเล่นลีลาและสีสันในแนวดนตรีอินดี้แชมเบอร์พอป เริ่มที่เพลงแรก “Paprika” ชื่อเพลงมาจากภาพยนตร์แอนิเมชันในชื่อเดียวกันผลงานของ ซาโตชิ คง (Satoshi Kon) [รับชมได้ทาง netflix] มาพร้อมกับท่วงทำนองอันสดใสสีสันของเสียงซินธ์ เครื่องเป่า และจังหวะกลองแบบมาร์ชชิ่งที่ชวนให้คิดถึงขบวนพาเหรดอันสุดเซอร์เรียลจากแอนิเมชันเรื่องนี้ “Be Sweet” บทเพลงที่มาพร้อมกับกรู๊ฟอันสดใสในจังหวะกระฉับกระเฉงแดนซ์หน่อย ๆ ให้อารมณ์คล้ายกับเพลงของมาดอนนาในยุค 80s เนื้อหาเป็นการบอกกับหนุ่มของเธอว่าให้ทำตัวหวาน ๆ หน่อยที่เคยพลั้งไปเธอก็จะให้อภัยนะ “Kokomo, IN” ให้สัมผัสของแสงแดด หาดทรายและสายลม อารมณ์ของเพลงคล้าย “Wouldn’t It Be Nice” ของ The Beach Boys เสียงเครื่องสายช่วยสร้างสีสันได้เป็นอย่างดี ยิ่งผสมกับเสียงกีตาร์ยืด ๆ ในท่อนโซโล่ยิ่งชิลเลย มิเชลล์ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบรรยากาศของเมืองโคโคโมในอินเดียนา (และเป็นชื่อเพลงของ The Beach Boys ในปี 1988 ด้วย) ถ่ายทอดความรู้สึกของคนที่คนรักกำลังห่างไปไกล จึงต้องบอกว่าไม่ว่าจะเป็นอย่างไรฉันยังคงรอเธอที่ตรงนี้เสมอ “Slide Tackle” เพลงสนุก ๆ ที่ได้ไลน์กีตาร์ตอด ๆ และโซโลแซกโซโฟนมาปรุงรสให้อร่อย พูดถึงคนที่มักจมอยู่กับความหม่นมืดในจิตใจแต่พยายามที่จะทำตัวให้มีความสุข “Posing In Bondage” บทเพลงในท่วงทำนองที่ลึกลับและเซ็กซี่ถ่ายทอดอารมณ์ของคนที่เรียกหาสัมผัสแห่งความใกล้ชิดและผูกพัน “Sit” เปิดด้วยซินธ์อินโทรที่ให้อารมณ์ไซไฟนิด ๆ เวิ้งว้าง กว้างใหญ่และล่องลอยกับบีทที่หนักแน่นเร้าอารมณ์ สะท้อนอารมณ์อันรุ่มร้อนของการพยายามต่อสู้กับการตกอยู่ในห้วงอารมณ์ของความหลงใหล “Savage Good Boy” เพลงที่มิเชลล์แต่งแบบขำ ๆ ล้อคนรวย ๆ ที่มีเงินทองกองท่วมหัวมีคอนโด 6 ที่และมีเงินเป็นพันล้านตอนนี้ที่ต้องการก็คือสาวข้างกาย “In Hell” เพลงที่มีกลิ่นของความเศร้านิด ๆ เป็นเพลงที่เธอเล่าถึงช่วงเวลาที่ต้องจากลาและกลบฝังสุนัขที่เคยเป็นเพื่อนของเธอเพลงนี้เหมือนเป็นเพลงคู่กันกับ “In Heaven” จากอัลบั้ม Soft Sounds “Tactics” เปิดมาด้วยเสียงเครื่องสายแสนเศร้าที่พาเราไปสัมผัสกับท่วงทำนองเหงา ๆ เล่าความรู้สึกของการถนอมความรักไว้ด้วยการต้องพาตัวเองให้ไกลห่างจากกัน “Posing For Cars” บทเพลง slow burn ความยาว 6 นาทีที่เริ่มจากความบางเบาด้วยเสียงร้องและกีตาร์ตัวเดียว ก่อนที่จะค่อย ๆ เขย่าอารมณ์เราให้ล่องลอยและคล้อยไปกับการปลดปล่อยสุดฟินในช่วงท้ายเพลงที่มิเชลล์ใช้กีตาร์ถ่ายทอดแทนอารมณ์ที่ไม่สามารถสรรหาถ้อยคำมาบรรยายได้
‘CINEMA’ – The Marías
อัลบั้มเต็มชุดแรกของ ‘The Marías’ หลังจากที่เคยปล่อยออกมา 2 EP คือ Superclean Vol. I และ Superclean Vol. II มาคราวนี้คู่ดูโอ จอช คอนเวย์ (Josh Conway) และ มารีญา เรีย (María Reál) ได้มาพร้อมบทเพลงที่รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์คลาสสิก ๆ ด้วยความเป็นคนรักหนัง ทั้งคู่จึงแต่งเพลงด้วยวิธีการคล้ายกับผู้กำกับหนังที่คำนึงถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ในภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราว สีสันของฉาก แสงไฟ นักแสดง การออกแบบฉากและแน่นอนเสียงดนตรีประกอบ นั่นทำให้บทเพลงของทั้งคู่รุ่มรวยไปด้วยห้วงอารมณ์อันเปี่ยมไปด้วยสีสันและความงดงามให้ความประทับใจราวกับกำลังชมและสัมผัสกับท่วงทำนองจากภาพยนตร์ดี ๆ และนั่นคือเหตุผลที่อัลบั้มนี้มีชื่อว่า ‘CINEMA’
เปิดมาด้วย “Just A Feeling” บทเพลงโหมโรงผ่านท่วงทำนองเซ็กซี่หวาน ๆ พาใจให้เคลิ้มฝัน “Calling U Back” มารีญาใช้เสียงหวาน ๆ อันแผ่วเบาและเซ็กซี่ของเธอร้องขอคนรักให้กลับมาหลังจากที่เธอได้ทำอะไรผิดไปในท่วงทำนองแห่งความเคลิ้มฝันอันแสนหวาน “Hush” กับเบสและบีทที่หนักแน่นพูดถึงการที่มีคนชอบมาทำรู้ดีบอกให้เราทำนั่นทำนี่จัดแจงยุ่มย่ามชีวิตของเรา สิ่งที่เราควรทำในเวลานี้ก็คือบอกให้พวกเขาหุบปากและสาละวนกับชีวิตของตัวเองเสียเถอะ “All I Really Want Is You” บทเพลงรักชวนฝันเล่าถึงช่วงเวลาที่ได้อยู่ด้วยกันกับคนที่รักท่ามกลางบรรยากาศสุดโรแมนติกอย่างสายฝนกลางเดือนมิถุนายนหรือนอนอาบแสงจันทร์ในยามค่ำคืน “Hable con Ella” เพลงอินโทรลูดที่ได้เสียงเครื่องเป่าเคล้าอารมณ์แจ๊ซมาสร้างบรรยากาศบนเมโลดี้เดียวกันกับเพลงแรก “Little by Little” มารีญาเพิ่มความเซ็กซี่ให้กับเพลงนี้ด้วยการใส่เนื้อร้องท่อนเวิร์สเป็นภาษาสเปนที่แปลออกมาได้ฉ่ำหวานมาก (ฉันอยากตื่นขึ้นมาในอ้อมกอดของผิวสัมผัสแห่งน้ำผึ้งของคุณ) เป็นการโปรยเสน่ ‘ทีละนิด ๆ’ ได้อย่างอยู่หมัดอยู่มือมาก ๆ “Heavy” ถ่ายทอดความรู้สึกในช่วงเวลาเหนื่อยล้าที่อยากอยู่คนเดียวโนสนโนแคร์สิ่งใด ๆ ทั้งนั้น “Un Millón” เพลงที่มารีญาถ่ายทอดช่วงเวลาที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับคนรักเ พูดถึงการใช้เวลาร่วมกันในเปอร์โตริโกโดยกล่าวถึงเขตเทศบาลเมือง Luquillo ซึ่งเป็นจุดยอดนิยมสำหรับชายหาดและการอาบแดดรวมถึงเมือง Bayamón เพลงนี้มีบรรยากาศของเกาะบ้านเกิดของมารีญาที่เปอร์โตริโก โดนมีกลิ่นอายท่วงทำนองของเพลงแทรปและเรกเกตอนอันเป็นที่นิยมในเปอร์โตริโก “Spin Me Around” พูดถึงห้วงอารมณ์ที่เราปล่อยให้ความหลงใหลในใครคนนั้นหมุนเราวนไปในห้วงแห่งรัก “The Mice Inside This Room” ซาวด์กีตาร์ในอินโทรเพลงนี้ลอยเด่นออกมาน่าสนใจจากนั้นก็ให้อารมณ์ตอด ๆ และล่องลอยคลอไปกับเพลง “To Say Hello” บทเพลงในท่วงทำนองเวิ้งว่างถ่ายทอดความคิดถึงและความปรารถนาที่จะโทรหาคนที่เราคิดถึงพูดคุยแม้สักเล็กน้อยได้ใช้เวลาร่วมกันสักเล็กน้อย “Fog as a Bullet” บทเพลงโฟล์กอะคูสติกเพราะ ๆ บนเนื้อร้องภาษาสเปนและเสียงเครื่องเป่าที่ค่อย ๆ พาเราล่องลอยไปในท่วงทำนองสุดเคลิบเคลิ้ม “Talk To Her” บทเพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันนี้ของผู้กำกับชาวสเปนเปโดร อัลโมโดวาร์ (Pedro Almodóvar) ที่แปรเปลี่ยนเรื่องราวและห้วงอารมณ์ของภาพยนตร์ให้กลายเป็นบทเพลงบรรเลงขับกล่อมพร้อมกับเสียงพูดของมารีญาถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ราวกับเรากำลังฟังเสียงวอยซ์โอเวอร์ในหนังของ เทอร์เรนซ์ มาลิก (Terrence Malick)
‘Peace or Love’ – Kings of Convenience
การกลับมาในรอบ 12 ปีของคู่ดูโอ ‘เอริก แกลมเบ็ก โบ’ (Eirik Glambek Bøe) และ ‘เออร์เลนด์ โอยด์’ (Erlend Øye) ในนาม ‘Kings of Convenience’ ที่นำพาสรรพสำเนียงสุ้มเสียงแห่งความเย็นจากสแกนดิเนเวียมาฝากเราอีกครั้งหลังจากปล่อยให้เราคิดถึงอย่างยาวนานถึงหนึ่งรอบปีนักษัตร ซึ่งน่าดีใจที่พวกเขาไม่ได้ทำให้การรอคอยนี้กลายเป็นความผิดหวัง เหมือนกับหยุดเวลาเอาไว้กับสุ้มเสียงและสำเนียงแห่งอินดี้โฟล์กในแบบฉบับของพวกเขาที่เรายังสามารถพบได้ในบทเพลงใหม่ ๆ ของ Kings of Convenience จากอัลบั้มใหม่ ‘Peace or Love’ สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 4 ที่ยังคงเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของทั้งคู่ที่เราเคยสัมผัสมาไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องอันนุ่มนวลชวนฉ่ำเย็น ไลน์กีตาร์ที่สว่างใสสวยงาม จังหวะฉึบฉับจากกีตาร์ริทึ่ม รวมไปถึงการจัดวางและผสมผสานของทั้งคู่ที่รู้และรับจับจังหวะกันได้อย่างลื่นไหลสบายอารมณ์
เปิดมาด้วย “Rumours” บทเพลงความหมายดี ๆ ที่ให้กำลังใจสำหรับใครที่กำลังโดนนินทาหรือต่อว่าเสีย ๆ หาย ๆ ท่วงทำนองของเพลงนี้อ่อนหวานเหมือนคำปลอบใจและกำลังใจดี ๆ จากคนที่แคร์เรา “Rocky Trail” โดดเด่นด้วยลีลาอันสนุกสนานกระฉับกระเฉงและเสียงเครื่องสายที่มาสร้างสีสันได้เป็นอย่างดี เป็นอีกเพลงที่มอบความหมายดี ๆ พูดถึงการที่เราอยากจะเป็นแรงพลังให้ใครสักคนช่วยแบ่งเบาภาระอันหนักหน่วงทั้งกายและใจต่อให้คนคนนั้นจะเป็นคนที่เข้มแข็งมากแค่ไหนก็ตาม “Comb My Hair” เพลงเหงา ๆ เล่าถึงช่วงเวลาที่คนรักได้เลิกรากันไป ในเวลานั้นก็ไม่อยากทำอะไรแล้ว “จะหวีผมไปทำไมถ้ามันไม่ได้รับการสัมผัสจากคุณ” “Angel” เพลงน่ารัก ๆ ที่พูดถึงผู้หญิงแปลก ๆ คนนึงที่เราแซวเธอว่าเธอคงเป็นนางฟ้าแน่ ๆ เลยและท่อนเวิร์สในแต่ละท่อนก็บรรยายถึงหลักฐานหมายเลข 1 หมายเลข 2 ที่พิสูจน์ความเป็นนางฟ้าของเธอ “Love Is A Lonely Thing (Ft.Feist)” เพลงนี้มากับกีตาร์ตัวเดียวและเสียงร้องของเอริกและเออร์เลนด์ที่ผลัดกันร้องคนละท่อนและได้นักร้องสาว Feist มาถ่ายทอดอารมณ์ของฝ่ายหญิง มาร่วมร่ำร้องถึงความรักที่ต้องใช้เวลาอดทนรอคอยจนกว่ามันจะเบ่งบานเติบโต “ความอดทนเป็นสิ่งที่ยากยิ่งที่จะเรียนรู้ โมงยามเป็นดั่งห้วงมหาสมุทรที่ความปรารถนากำลังถูกเผาไหม้” “Fever” ผ่านเพลงเหงา ๆ แล้วมาขยับกันนิด ๆ กับเพลงที่มีน้ำเสียงจิกกัดสาวนิด ๆ เวลาที่เห็นเธอไปใส่ใจกับคนที่ไม่แคร์ไม่แลเธอ เธอคงใช้ชีวิตแบบหนาว ๆ ร้อน ๆ แบบนี้จนชิน สงสัยว่าตอนนี้เธอคงจะเป็นไข้แล้วล่ะ “Killers” สะท้อนความสัมพันธ์ที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดคงไม่อาจทำให้มันเป็นไปดังใจต้องการ ต้องรอการ “ตัดสิน” จากอีกคนหนึ่งด้วย การรอคอยความรักจากใครสักคนก็คงคล้ายกับนักโทษที่รอเพชรฆาตมาลงดาบนั่นล่ะ “Ask For Help” อีกหนึ่งบทเพลงที่ถ่ายทอดความปรารถนาดี ๆ ที่เรามีให้กับใครสักคนที่ต่อสู้เพียงลำพังมาโดยตลอด มันจะดีแค่ไหนหากมีใครมาช่วยเติมเต็มส่วนที่เธอขาดไป และไม่ว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะแพ้หรือชนะเธอก็จะมีคนร่วมรู้สึกไปกับเธอด้วย “Catholic Country” มาพร้อมจังหวะที่มีความเพอร์คัสซีฟ และเป็นอีกเพลงที่ Feist มาร่วมร้องด้วย ถ่ายทอดอารมณ์ของคนที่กำลังพบกับความรักที่ใจต้องการ “ยิ่งรู้จักเธอเท่าไหร่ ยิ่งต้องการเธอมากเท่านั้น” “Song About It” บทเพลงที่พูดถึง “สิ่งนั้น” จะถูกหรือผิดบางทีคงมิอาจตอบได้รู้แต่เพียงว่าสิ่งที่ได้สัมผัสมาไม่ว่าจะความฝัน คำลวง เสียงหัวเราะ หรือว่าหยดน้ำตามันเป็นความรู้สึกอันรุนแรงที่อยู่ในใจ ความรักและประสบการณ์ที่ผ่านมาจะงดงามหรือไม่จะเป็นเช่นไรขึ้นอยู่กับมุมมองของเรา “Washing Machine” เป็นเพลงที่เปรียบเปรยประสบการณ์จากความรักได้อย่างคมคาย “นับครั้งไม่ถ้วนแล้วที่ฉันกลิ้งไปมาในเครื่องซักผ้าของคุณ แขวนตัวเองให้แห้งเพื่อฟื้นฟูความมั่นใจในตัวเองกลับมา” คงถึงเวลาแล้วที่จะไม่ให้รักทำร้ายคงต้องไปและหาใครคนใหม่สักคนที่ไม่ขยำขยี้เราขนาดนี้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส