ดนตรีเป็นหัวใจสำคัญของพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมาตั้งแต่เกมการแข่งขันสมัยใหม่ครั้งแรกในปี 1896 และในขณะที่โอลิมปิกโตเกียว 2020 ต่างมีเรื่องวุ่นวายต่าง ๆ มากมายรายล้อม ดนตรีในพิธีเปิดกลับดังกึกก้องและสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมทั่วโลก
หลังจากมีการเลื่อนจัดการแข่งขันไปเป็นปี โตเกียว 2020 ก็ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยถ่ายทอดสดให้เราได้ชมกันทั่วโลกจากสนามกีฬาโอลิมปิก
ที่ผ่านมาขั้นตอนการจัดงานต่างเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เพียงไม่กี่วันก่อนที่จะมีพิธีเปิด คณะผู้จัดงานก็ต้องถูกบังคับให้เขียนเพลงใหม่ทั้งหมด เนื่องจากเกิดกรณีอื้อฉาวที่นักแต่งเพลง เคอิโงะ โอยามาดะ (Keigo Oyamada) หรือ Cornelius ถูกชาวโซเชียลยกเอาบทสัมภาษณ์ที่เขาเคยคุยโวเรื่องกลั่นแกล้งเพื่อนที่เป็นคนพิการออกมา ทำให้เกิดกระแสต่อต้านและเขาต้องออกมาขอโทษและลาออกจากการมีส่วนร่วมในพิธีเปิดครั้งนี้ทำให้บทเพลงความยาว 4 นาทีที่เขาได้แต่งไว้ต้องถูกยกเลิกไป
แต่ในที่สุดพิธีเปิดครั้งนี้ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี อีกทั้งยังสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมทั่วโลกในช่วงเวลาที่เราต่างต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางโรคร้ายเช่นนี้ ภาพความประทับใจและบทเพลงที่เราได้สัมผัสจากในพิธีนี้นับว่าเป็นสิ่งที่งดงามมาก ๆ และต่อไปนี้คือ บทเพลงอันยอดเยี่ยมทั้งหมดที่เราได้ยินในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโตเกียว 2020
“เพลงชาติญี่ปุ่น”
นักร้องสาวเจพอป-อาร์แอนด์บี ‘MISIA’ ได้ขับขานเพลงชาติแห่งความเกรียงไกรของแดนอาทิตย์อุทัย อันมีชื่อว่า “Kimigayo” ได้อย่างทรงพลังน่าขนลุก MISIA ได้เปล่งประกายเจิดจรัสในชุดราตรีที่มีกระโปรงหลากสีสันขับขานบทเพลง “Kimigayo” ได้อย่างทรงพลังก้องสะท้อนไปทั่วสนามกีฬาโอลิมปิกความจุ 68,000 ที่นั่งอันไร้ผู้คน ธงญี่ปุ่นถูกนำเข้ามาที่สนามกีฬาโดยสมาชิกของกองกำลังป้องกันประเทศซึ่งชูธงขึ้นอย่างเคร่งขรึมและเข้มแข็งท่ามกลางเสียงขับขานของ MISIA
“ท่วงทำนองแห่งการร่ายรำและทำงาน”
เสียงดนตรีและการเต้นรำนับว่ามีบทบาทสำคัญในพิธีเปิดครั้งนี้ ด้วยการเต้นรำที่ออกแบบท่าเต้นอย่างสวยงามที่ถ่ายทอดผ่านการเคลื่อนไหวจากนักแสดงจำนวนมาก พร้อมเสียงบรรเลงเปียโนจากนักเปียโนมือฉมัง
หลังจากการกล่าวยกย่องบุคลากรทางการแพทย์ของญี่ปุ่นในช่วงเวลาที่มีการระบาดใหญ่ นักแสดงในโตเกียว 2020 ก็ได้ขับขานบทเพลงแห่งการทำงานร่วมกัน อันเป็นเพลงที่ช่างไม้สมัยก่อนมักนิยมร้องกันในเวลาที่พวกเขากำลังเลื่อยไม้อย่างขมีขมัน จากนั้นวงแหวนไม้ขนาดยักษ์รูปโลโก้โอลิมปิกถูกยกขึ้นมาบนลานแสดงซึ่งเป็นภาพอันตระการตาที่เป็นเกียรติแก่ประเพณีโบราณของช่างไม้และงานไม้ของประเทศญี่ปุ่น
“รวมฮิตบทเพลงประกอบวิดีโอเกม”
ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งการสร้างสรรค์วิดีโอเกม วิดีโอเกมจากญี่ปุ่นได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนทั่วโลกมาเป็นเวลานาน และบทเพลงจากเกมเหล่านั้นก็ได้อยู่ในความทรงจำของเรามาโดยตลอด ช่างเป็นช่วงเวลาที่น่าประทับใจเมื่อบทเพลงแห่งความสุขและความทรงจำเหล่านั้นได้บรรเลงขึ้นมาโดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีในงานพิธีครั้งนี้ ล่องลอยเข้าสู่โสตประสาทของเราพร้อมภาพแห่งความประทับใจในช่วงเวลาที่ตัวแทนของแต่ละประเทศเดินเข้าสู่สนามกีฬา ท่วงทำนองยอดนิยมจากวิดีโอเกมในตำนานของญี่ปุ่นได้ถูกบรรเลงแบบเมดเลย์ เมื่อนักกีฬาจากกรีซเดินผ่านสนามกีฬาที่ว่างเปล่าบทเพลง “Overture: Roto’s Theme” ของ Dragon Quest ก็ได้ถูกบรรเลงขึ้นตามด้วย “Victory Fanfare” จาก Final Fantasy เกม RPG ระดับตำนานจากค่าย Square Enix นอกจากนี้ยังมีบทเพลงจากวิดีโอเกมชื่อดังอีกมากมายดังรายชื่อด้านล่างนี้
- Dragon Quest “Roto’s Theme”
- Final Fantasy “Victory Fanfare”
- Tales of series “Sorey’s Theme – The Shepherd”
- Monster Hunter series “Proof of a Hero”
- Kingdom Hearts “Olympus Coliseum”
- Chrono Trigger “Frog’s Theme”
- Ace Combat “First Flight”
- Tales of series “Royal Capital Majestic Grandeur”
- Monster Hunter “Wind of Departure”
- Chrono Trigger “Robo’s Theme”
- Sonic the Hedgehog “Star Light Zone”
- Pro Evolution Soccer “Football Walk-on Theme”
- Final Fantasy “Main Theme”
- Phantasy Star Universe “Guardians”
- Kingdom Hearts “Hero’s Fanfare”
- Gradius “01 Act I-1”
- Nier “Song of the Ancients”
- SaGa series “The Minstrel’s Refrain: SaGa Series Medley 2016”
- Soulcalibur “The Brave New Stage of History”
บทเพลงแห่งสันติภาพ “Imagine”
บทธีมของสันติภาพ ความเป็นหนึ่งเดียวบนความหลากหลาย แน่นอนว่าการที่เราได้ยินบทเพลงเชิดชูสันติภาพของจอห์น เลนนอน (John Lennon) “Imagine” นั้นเป็นสิ่งที่น่าประทับใจมาก Imagine ในเวอร์ชันนี้ขับขานโดยคณะนักร้องประสานเสียงเด็กจาก Suginami Junior Chorus และศิลปินคนอื่น ๆ จากทั่วทุกทวีป แอฟริกา ยุโรป อเมริกาที่มีนักร้องเพลงพอปชื่อดัง จอห์น เลเจนด์ (John Legend) เป็นตัวแทน และ คีธ เออร์แบน (Keith Urban) นักร้องคันทรีเป็นตัวแทนจากโอเชียเนีย
“Olympic Hymn”
อีกหนึ่งบทเพลงสำคัญในพิธีนี้ก็คือ “Olympic Hymn”บทเพลงแห่งการสดุดีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกซึ่งเป็นเพลงร้องประสานเสียงโดยนักประพันธ์โอเปร่าชาวกรีก สไปริดอน ซามาราส (Spyridon Samaras) ซึ่งถูกบรรเลงขึ้นในโอลิมปิกฤดูร้อนสมัยใหม่ครั้งแรกในกรีซในปี 1896
“Wings to Fly”
หลังจากจบ “Olympic Hymn”ก็ต่อด้วย “Wings to Fly” ซึ่งขับร้องโดยนักร้องชาวสกอต ซูซาน บอยล์ (Susan Boyle) ที่โด่งดังจากการโชว์น้ำเสียงอันทรงพลังในเพลง “I Dreamed a dream” ในรายการเกมโชว์สุดฮิตของอังกฤษ Britain’s Got Talent 2009 คราวนี้น้ำเสียงของเธอในบทเพลง “Wings to Fly” ที่มาพร้อมกับฝูงนกพิราบกระดาษที่โบยบินไปทั่วสนามก็สร้างความประทับใจให้เราไม่แพ้กันเลย
“แจ๊สปะทะคาบูกิ”
เป็นอีกหนึ่งโชว์อันสุดยอดที่ผสมผสานวัฒนธรรมญี่ปุ่นกับวัฒนธรรมตะวันตกเข้าด้วยกันเมื่อนักเปียโนและนักแต่งเพลงแจ๊ส ฮิโรมิ อุเอดะ (Hiromi Ueda) มาฟีเจอริ่งกันกับนักแสดงคาบูกิผู้เปี่ยมด้วยพรสวรรค์ อิชิคาวะ เอบิโซะ (Ichikawa Ebizo) ในการแสดงสไตล์ละครคาบูกิที่น่าทึ่ง
“Boléro”
เมื่อคบไฟสว่างไสวขึ้น เสียงเพลงที่เราได้ยินคือบทเพลงคลาสสิกนาม “Boléro” จาก มอริซ ราเวล (Maurice Ravel) อันเป็นบทเพลงที่มีท่วงทำนองที่พลิ้วหวานและสง่างาม (ซึ่งคนญี่ปุ่นจะมีวัฒนธรรมการฟังดนตรีคลาสสิกที่แข็งแรงและเพลงนี้ก็เป็นหนึ่งในเพลงยอดนิยม จนถูกนำไปใช้ประกอบภาพยนตร์และสื่อต่าง ๆ หลายครั้งอาทิในภาพยนตร์เรื่อง ‘ราโชมอน’ ของ อิคิระ คุโรซาว่า ในปี 1950) การได้ยินบทเพลงนี้ในโอลิมปิกทำให้นึกย้อนไปถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1984 ที่เมืองซาราเยโว เมื่อ เจน โทร์วิลล์ (Jayne Torvill) และ คริสโตเฟอร์ ดีน (Christopher Dean) ซึ่งเป็นคู่สเกตลีลาอันโด่งดังได้โชว์ลีลาเล่นสเกตน้ำแข็งท่ามกลางบทเพลง Boléro ได้อย่างพลิ้วไหวสง่างามเป็นช่วงเวลาประทับใจของการแข่งขันโอลิมปิกในปีนั้นเลย
“Colourful” เพลงธีมของโอลิมปิก 2020
บทเพลงธีมอย่างเป็นทางการของโอลิมปิกโตเกียว 2020 ในครั้งนี้คือบทเพลงที่มีชื่อว่า “Colourful” ซึ่งขับร้องโดยกลุ่มศิลปินเจพอปชื่อดังของญี่ปุ่น
“Colourful” แต่งโดยนักเขียนและโปรดิวเซอร์ ริวสุเกะ อิมาอิ (Ryosuke Imai) โดยเป็นความร่วมมือกับ Team Coca-Cola ซึ่งเป็นโครงการโอลิมปิกที่ทำงานเพื่อสร้างโอกาสให้กับ “ผู้ที่อยากมีส่วนร่วมในโตเกียว 2020 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาพิเศษสุดพิเศษนี้”
นักร้องกว่า 14 ชีวิตได้รวมตัวกันเพื่อบันทึกเสียงบทเพลงที่เฉลิมฉลองความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัย เพศ และอาชีพ ได้แก่ AI, Motohiro Hata, Little Glee Monster, Daichi Miura, Perfume, Taemin, MIYAVI, Nasty C, Sabrina Carpenter, Ayumu Imazu, Blue Vintage, Mizki, Sanari และ Chikuzen Sato ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันบทความแตกต่างซึ่งเชื่อมร้อยกันด้วย “อารมณ์และความรู้สึก” สอดคล้องกับคติพจน์ของงานคือ ‘United by Emotion’ นั่นเอง
Source
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส