หากคุณเคยได้ยินเดโมเพลง “Beat It” คุณจะรู้เลยว่า ‘ไมเคิล แจ็กสัน’ (Michael Jackson) ราชาเพลงพอปผู้ล่วงลับนั้นมีกระบวนการแต่งเพลงที่ไม่ธรรมดา เพราะแจ็กสันได้สร้างแต่ละองค์ประกอบในเพลงของเขาด้วยเสียงของเขาเองทั้งหมด ทุกโน้ตจากทุกคอร์ด ทำนอง เมโลดี้ เบส และแม้แต่การสร้างจังหวะผ่านบีตบอกซ์ จนออกมาเป็นท่วงทำนองที่สมบูรณ์ที่จะทำให้คุณอึ้งและทึ่งไปเลย

ทั้ง ๆ ที่แจ็กสันนั้นสามารถแต่งเพลงได้อย่างน่ามหัศจรรย์แต่เขากลับอ่านหรือเขียนโน้ตเพลงไม่ได้เลย แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็สามารถเล่นเครื่องดนตรีได้บ้างนิดหน่อย เขาเคยมีเครดิตว่าได้เล่นคีย์บอร์ด ซินธิไซเซอร์ กีตาร์ กลอง และเพอร์คัชชันในอัลบั้ม ‘HIStory’ ด้วย แจ็กสันไม่เคยได้รับการเรียนเขียนเพลงอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลย แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ได้รับการฝึกฝนอย่างหนักจากพ่อของเขา

ในขณะที่โมสาร์ตได้ยินซิมโฟนีทั้งหมดในหัวของเขา แจ็กสันเองก็รับรู้ได้ถึงเพลงของเขาอย่างชัดเจนเหมือนกันก่อนที่มันจะถูกถ่ายทอดลงบนแผ่นกระดาษ “เนื้อเพลง เครื่องสาย คอร์ด ทุกอย่างมาพร้อมกันในทันที ราวกับของขวัญที่ใส่เข้ามาในหัวของคุณ และนั่นคือสิ่งที่ผมได้ยิน” แจ็กสันกล่าวในระหว่างขึ้นศาลในปี 1994 จากการโดนฟ้องร้องว่าเพลง “Dangerous” นั้นมีการละเมิดลิขสิทธิ์

ทีมวิศวกรและโปรดิวเซอร์ระดับแนวหน้าจะทำงานกับเพลงต่าง ๆ ที่แจ็กสันนำเข้ามาในสตูดิโอ และพวกเขาก็ประทับใจในความอัจฉริยะของแจ็กสัน ร็อบ ฮอฟฟ์แมน (Rob Hoffman) วิศวกรเสียง ได้อธิบายถึงความมหัศจรรย์ที่เขาได้พบจากแจ็กสันว่า

“เช้าวันหนึ่ง MJ มาพร้อมกับเพลงใหม่ที่เขาแต่งขึ้นในชั่วข้ามคืน เราโทรหามือกีตาร์ และไมเคิลก็ร้องเพลงทุกคอร์ดให้เขาฟัง ‘นี่คือคอร์ดแรก โน้ตตัวแรก โน้ตตัวที่สอง ตัวที่สาม นี่คือโน้ตตัวแรกของคอร์ดที่ 2 โน้ตตัวที่สอง โน้ตตัวที่สาม ฯลฯ’ จากนั้นเราก็ได้เห็นเขาถ่ายทอดเสียงร้องที่จับใจและลึกซึ้งที่สุดภายในห้องควบคุมผ่านไมโครโฟน SM57” ฮอฟฟ์แมนกล่าว

“เขาจะร้องเพลงให้เราฟังทั้งการจัดเรียงเสียงเครื่องสายและในทุกส่วน สตีฟ พอร์คาโร (Steve Porcaro) เคยบอกผมว่าเขาเห็น MJ ทำอย่างนั้นกับเครื่องสาย เขามีทุกอย่างอยู่ในหัว ทำนองและทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ไอเดีย 8 ห้องวนไปวนมา เขาจะร้องการเรียบเรียงทั้งหมดลงในเครื่องบันทึกเสียงแบบเทปเล็ก (micro-cassette recorder) เป๊ะครบหมดทุกส่วน”

ไมเคิล แจ็กสันกับการทำงานในสตูดิโอ

บทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจและได้เปิดเผยวิธีการทำงานของแจ็กสันก็คือเสียงสัมภาษณ์จากกรณีฟ้องร้องเรื่องเพลง “Dangerous” ที่นักแต่งเพลง คริสตัล คาร์เทียร์ (Crystal Cartier) พาแจ็กสันขึ้นศาลด้วยข้อหาลอกเลียนผลงานเพลง “Dangerous” ที่เธอแต่งขึ้นในปี 1985 และในระหว่างการพิจารณาคดีแจ็กสันถูกขอให้อธิบายขั้นตอนการแต่งเพลงของเขา “ผมจะร้องเสียงเบสลงไปในเครื่องบันทึกเสียง” เขาพูดขึ้นในขณะที่ร้องเมโลดี้ออกมา ซึ่งระดับเสียงนั้นตรงแบบเป๊ะ ๆ “ผมจะใส่ลิกเบสนั้นเข้ามาและวางคอร์ดของเมโลดี้เหนือลิกเบสนั้น และนั่นคือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเมโลดี้” เขาอธิบายก่อนจะโชว์ใส่เสียงบีตบอกซ์ลงไปสด ๆ กลางศาล

สำหรับเพลง “Billie Jean” แจ็กสันกล่าวว่า “ฟังนะ คุณกำลังได้ยินเบสสี่ตัวเล่นพร้อมกันตรงนั้น ซึ่งทั้งสี่ตัวมีบุคลิกที่แตกต่างกัน และนั่นคือสิ่งที่ทำให้มันมีคาแรกเตอร์ ซึ่งผมต้องทำงานหนักกับมันมากเลยทีเดียว” แจ็กสันเขียนเพลงไปแล้วกว่า 200-300 เพลงและเขามักจะทำงานพร้อมกัน 5 เพลงในเวลาเดียวกัน หากคุณมีเวลาสัก 10 นาทีอยากให้ลองฟังคลิปวิดีโอการสอบสวนที่แปะไว้ด้านล่างนี้ แล้วคุณจะได้รู้เรื่องการแต่งเพลงของแจ็กสันอย่างละเอียดเลย

นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความสามารถในการทำบีตบอกซ์ของแจ็กสันซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาแต่งเพลง “Tabloid Junkie” ขึ้นมาได้อย่างไร จากการสัมภาษณ์กับ ไดแอน ซอเยอร์ (Diane Sawyer) ในปี 1995 และคุณจะไม่เชื่อเลยว่าเสียงที่เราคิดว่ามันน่าจะมาจากโปรแกรมกลองนั้นมันเกิดจากเสียงของแจ็กสันเอง บ้าไปแล้ว !!

แน่นอน คุณไม่จำเป็นจะต้องได้รับการเรียนรู้และฝึกฝนในด้านดนตรีอย่างเป็นรูปแบบเพื่อที่จะเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จ พอล แม็กคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) มียอดขายมากกว่า 100 ล้านแผ่นโดยไม่ต้องเรียนรู้วิธีการเขียนโน้ต มีหลายวิธีที่นักดนตรีจะค้นพบวิธีการสร้างสรรค์ในการเขียนเพลงถึงแม้จะไม่สามารถเขียนโน้ตหรือคอร์ดเพลงได้ก็ตาม หรือหากพวกเขาเพียงแค่คิดที่จะออกนอกเส้นทางแบบเดิม ๆ เราก็มี จอห์น เลนนอน (John Lennon) ที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการทำอะไรแผลง ๆ แต่เวิร์ก เช่นเขาได้รวบรวมคน 10 คนพร้อมดินสอเพื่อสร้างเสียงลูปที่มีองค์ประกอบทางเสียงต่าง ๆ สำหรับเพลง “Revolution 9” จากนั้นก็มีเพลง “Idioteque” จาก Radiohead ที่พัฒนามาจากตัวอย่างเพลงที่ จอนนี กรีนวูด (Jonny Greenwood) ส่งให้ ธอม ยอร์ก (Thom Yorke) ซึ่งทั้งเพลงนี้และอัลบั้ม ‘Kid A’ นั้นก็เป็นอะไรที่ล้ำสุด ๆ นอกจากนี้ก็ยังมีนักดนตรีอื่น ๆ ที่มีวิธีการแต่งเพลงสุดแปลกประหลาด เช่น วง Orchestral Manoeuvres in the Dark (OMD) ที่มีการสร้างระบบโน้ตของตัวเอง เจสัน เพียซ (Jason Pierce) นักร้องนำของ Spiritualized ที่เขียนส่วนของออร์เคสตราทั้งหมดในเพลง “Let It Come Down” ด้วยการร้องลงในเครื่องบันทึกเทปแบบพกพา เอียน แมคคัลลอค (Ian McCulloch) แต่งเพลง “The Killing Moon” ด้วยการกลับคอร์ดจากเพลง “Space Oddity” ของ เดวิด โบวี่ (David Bowie) และโกลดี้ (Goldie) ก็ ‘วาดเพลง’ ของเขาด้วยการใช้ไดอะแกรม สี่เหลี่ยมแปลก ๆ และลายเส้นหยึกหยัก (สามารถดูวิธีการแต่งเพลงอันแปลกประหลาดของ Goldie ได้ใน Producers House S1 EP.29)

ไมเคิล แจ็กสันตอนทำเพลง ‘Say Say Say’ ร่วมกันกับพอล แม็กคาร์ตนีย์

ไมเคิล แจ็กสันได้สร้างเพลงพอปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ทุกคนที่พยายามจะแต่งเพลงจะรู้ว่าในการแต่งเพลงสักเพลงนั้นมันไม่ง่ายเลยแม้ว่าคุณจะมีความเข้าใจในเรื่องของคอร์ดหรือทฤษฎีดนตรีก็ตาม แต่สำหรับแจ็กสันแล้วเขาจัดการมันได้อย่างน่าอัศจรรย์มากจริง ๆ ไม่แปลกใจเลยที่เขาได้กลายเป็นศิลปินในดวงใจของคนทั้งโลก และทั้งบทเพลงกับตัวตนของเขาก็ได้กลายเป็นตำนานแห่งวงการดนตรีไปตลอดกาล

source

1 / 2

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส