เจ้าแม่แห่งวงการเจป๊อป ‘อุทาดะ ฮิคารุ’ (Hikaru Utada) ออกอัลบั้มใหม่ อัลบั้มชุดที่ 8 ‘BADモード’ (Bad Mode) เมื่อวันพุธที่ 19 มกราคมที่ผ่านมาซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของเธอพอดี
นอกจากไตเติลแทร็ก “BADモード” แล้วอัลบั้มใหม่นี้ยังมีเพลงโดน ๆ ให้เราได้ฟังกันถึง 14 เพลง ทั้งเพลงที่เคยปล่อยออกมาให้ฟังกันแล้วอย่าง “Kimini Muchuu” เพลงธีมจาก J-drama เรื่อง Saiai “One Last Kiss” และ “Beautiful World” (Da Capo version) เพลงประกอบภาพยนตร์อนิเมะ ‘Evangelion 2021’ “Face My Fears” (มีทั้งเวอร์ชันภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น) เพลงเปิดสำหรับเกมแอ็กชัน RPG ‘Kingdom Hearts’ ที่อุทาดะได้ร่วมงานกับ Skrillex และยังมี “Pink Blood” เพลงประกอบแอนิเมชันซีรีส์เรื่อง ‘To Your Eternity’ , “Time”, “Darenimo Iwanai” เพลงประกอบโฆษณา SUNTORY และ “Find Love” ” เพลงประกอบโฆษณาของ SHISEIDO ในแคมเปญ ‘POWER IS YOU’
นอกจากนี้ยังมีเพลงใหม่ล่าสุดอย่าง “Kibunja Naino” (Not In The Mood) และ “Somewhere Near Marseilles” และโบนัสแทร็กอย่าง “Kireina Hito”, “Find Love” (เวอร์ชันญี่ปุ่น) และ “Face My Fears” (A.G. Cook Remix)
อีกทั้งยังปล่อยมิวสิกวิดีโอเพลง “BADモード” ออกมาให้ได้ชมกันด้วย กำกับโดย โจ คอนเนอร์ (Joe Conner) ซึ่งเป็นที่รู้จักจากผลงานอย่าง “Pray” ของ Sam Smith และ “Everglow” ของ Coldplay
และเพื่อเป็นการฉลองการปล่อยอัลบั้มใหม่อุทาดะก็สตรีมคอนเสิร์ตออนไลน์ที่บันทึกไว้ล่วงหน้า “Hikaru Utada Live Sessions from Air Studios” ออกมาให้แฟน ๆ ได้ชมกันด้วย
“Hikaru Utada Live Sessions From Air Studios” เป็นการแสดงสด 11 บทเพลงคัดสรรจากอุทาดะ ฮิคารุซึ่งรวมเพลงบางเพลงจากอัลบั้มใหม่ด้วย อุทาดะในท่าทีที่ผ่อนคลายมาพร้อมสมาชิกวงคนอื่น ๆ ท่ามกลางบรรยากาศสบาย ๆ ได้แก่ โจดี มิลเลอร์ (Jodi Miller) – เบส, เอิร์ล ฮาร์วิน (Earl Harvin) – กลอง, รูเบน เจมส์ (Reuben James) คีย์บอร์ด และ เฮนรี โบเวอร์ส – บรอดเบนต์ (Henry Bowers-Broadbent) – กีตาร์และคีย์บอร์ด โดยมี เดวิด บาร์นาร์ด (David Barnard) เป็นผู้กำกับภาพยนตร์คอนเสิร์ตนี้ ซึ่งถ่ายทอดออกมาอย่างสวยงามและได้อารมณ์ สะท้อนความรู้สึกในแต่ละบทเพลงของอุทาดะออกมาได้เป็นอย่างดี
ทางช่องยูทูบ official ของอุทาดะได้ตัดเพลงจากคอนเสิร์ตนี้ออกมาให้เราได้ชมกัน 2 เพลง คือ “Find Love” ที่จังหวะเพอร์คัชชั่นและซาวด์อิเล็กทรอนิกส์ถูกหลอมรวมเข้าด้วยกันอย่างเป็นธรรมชาติ ท่วงทำนองของกลองที่เฉียบแหลมทำให้การแสดงของวงมีความกระชับชวนแดนซ์เบา ๆ อีกทั้งยังมีเสียงก้องกังวานในช่องว่างระหว่างโน้ตที่เบาบางช่วยสร้างความรู้สึกหรูหราสง่างาม เป็นท่วงทำนองที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างงดงามท่ามกลางเสียงร้องอันไพเราะและชวนผ่อนคลายของอุทาดะ
ส่วนอีกเพลงก็คือ “Face My Fears” ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษ พร่างพรมด้วยเสียงเปียโนเศร้าเหงาเบา ๆ ไปกับเสียงร้องเปี่ยมอารมณ์ของอุทาดะ ก่อนที่ท่วงทำนองจะค่อย ๆ เข้มข้นขึ้นพร้อมการเข้ามาของเครื่องดนตรีเต็มชุดไปสู่การปลดปล่อยอารมณ์แบบเต็มขั้นอย่างสง่างาม
เรียกได้ว่าการมาถึงของอัลบั้มใหม่และการได้ชมไลฟ์นี้ได้ทำให้แฟน ๆ รู้สึกถึงการก้าวไปอีกขั้นทั้งในตัวตนและผลงานของอุทาดะ อีกทั้งเรายังได้รู้สึกถึงความใกล้ชิดกับเธอผ่านเนื้อหาและอารมณ์ในบทเพลงและการได้เข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวในการทำเพลงของเธอจากการได้ชมไลฟ์นี้
‘Bad Mode’ คือผลงานที่สุกงอมอันเกิดจากความคลี่คลายในชีวิต ตัวตนและความรู้สึกของอุทาดะหลังจากที่เธอได้ค้นพบและกล้าที่จะประกาศความเป็นตัวตนออกมาว่าเธอนั้นเป็น ‘nonbinary’ ทำให้แฟน ๆ ทั้งตกใจและดีใจ และบทเพลงของเธอนั้นได้เป็นหนึ่งในพลังของการปลดปล่อยการถูกเก็บกั้นไปสู่ขีดขั้นของความเป็นอิสระ ซึ่งความรู้สึกของเธออันเข้มข้นในช่วงเวลานั้นได้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านอัลบั้มก่อนหน้าอย่าง ‘Exodus’ และ ‘Fantôme’ ก่อนที่จะค่อย ๆ คลี่คลายมาสู่ ‘Hatsukoi’ และในที่สุดก็มาสู่ ‘Bad Mode’ ที่ทิ้งห่างจากอัลบั้มก่อนเป็นเวลา 3 ปี 7 เดือน อัลบั้มอันเป็นผลพวงจากช่วงเวลาของการจัดลำดับความสำคัญของความสัมพันธ์ การสำรวจความเป็นไปภายในจิตใจ การดูแลตนเองและลูกชาย และการเรียนรู้ที่จะรักษาตัวในช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาด
อุทาดะซึ่งก่อนหน้านี้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเดินทางระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ได้ค้นพบที่ทางของเธอในที่สุดและตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ที่ลอนดอน ในขณะที่ท่วงทำนองอาร์แอนด์บีชวนให้นึกถึง
งานเพลงยุคแรก ๆ ของเธอ ‘Bad Mode’ ได้เติมความร่วมสมัยและท่วงทำนองอันสดใหม่ผ่านซาวด์อิเล็กทรอนิกที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นจากผลงานก่อน ๆ ตั้งแต่เพลง “One Last Kiss” ที่มาพร้อมมิวสิกวิดีโอที่ถ่ายทำโดยลูกชายตัวน้อยวัย 6 ขวบของเธอ
ไปจนถึงเพลงป๊อปแดนซ์ปลุกพลังในตัวเองอย่าง “Find Love” ไปจนถึง “Somewhere Near Marseilles” ซึ่งเล่นไปแบบยาว ๆ เกือบ 12 นาที
ถึงแม้อัลบั้มนี้อุทาดะจะยังคงใช้แนวทางเดิมคือเป็นผู้รับผิดชอบในการแต่งเพลงแต่เพียงผู้เดียว แต่ก็ได้เปิดโอกาสให้มีนักดนตรีรับเชิญมาร่วมสร้างสีสันให้กับบทเพลงของเธอด้วย ได้แก่ AG Cook และโปรดิวเซอร์ชาวอังกฤษ Sam Shepard (รู้จักกันดีในชื่อ Floating Points) ที่ได้ร่วมผลักดันบทเพลงของเธอไปสู่ดินแดนแห่งดนตรีอันสดใหม่ นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมแจมสุดเซอร์ไพรส์นั่นคือลูกชายวัย 6 ขวบของเธอที่มาร่วมแจมในเพลง “Kibunja Naino (Not In The Mood)” ที่เห็นคุณแม่กำลังทำเพลงอยู่ก็เลยเดินมานั่งที่ตัก ฟังเพลงที่เธอทำอยู่และเริ่มร้องอะไรบางอย่างจากไอเดียของตัวเองลงไป อุทาดะพบว่ามันเป็นอะไรที่ใช้ได้เลยทีเดียวก็เลยใส่ท่อนนี้ลงไปในเพลงด้วย การที่ลูกชายของเธอมามีส่วนร่วมในงานเพลงอัลบั้มนี้ก็เข้ากันดีกับปกอัลบั้มที่แอบเห็นลูกชายของเธอติดมาด้วยแว้บ ๆ และเป็นเรื่องดีที่เธอได้สะท้อนภาพความเป็นจริงในทุกวันนี้ที่เป็นคุณแม่ที่ใช้ชีวิตกับลูกชายตัวน้อยวัย 6 ขวบของเธอ ดังนั้นการที่ลูกชายของเธอมาปรากฏบนปกอัลบั้มและมีส่วนร่วมในผลงานทั้งตัวเพลงและมิวสิกวิดีโอนั้นจึงเป็นการบันทึกช่วงเวลาสำคัญในชีวิตของเธอได้อย่างดีที่สุดแล้ว
สำหรับชื่ออัลบั้มนั้นอุทาดะใช้การผสมกันระหว่างภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นเป็น ‘BADモード’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘Bad Mode’ นั่นเองแต่คำว่า Mode นั้นใช้ตัวคาตากานะซึ่งใช้แทนเสียงในภาษาต่างประเทศ เป็นการผสมคำที่แปลกและเท่ดี นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับตัวเพลงในอัลบั้มนี้ที่มีการผสมกันระหว่างเพลงที่มีเนื้อร้องภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น รวมไปถึงเพลงที่มีทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษในเพลงเดียวกันด้วย
ในบทสัมภาษณ์กับทาง Billboard อุทาดะได้เล่าว่าในระหว่างที่ทำงานเพลงในอัลบั้มนี้ เธอมีความตั้งใจทำงานเพลงที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับตัวเองและการรักตัวเอง และได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘รูพอล’ (RuPaul) ตัวแม่แห่งวงการแดรกควีนผู้ริเริ่มรายการเรียลลิตี้ RuPaul’s Drag Race ที่กล่าวถ้อยคำบันดาลใจไว้ว่า “ถ้าคุณรักตัวเองไม่ได้ คุณจะไปรักคนอื่นได้ยังไง” และมันใช่สุด ๆ สำหรับอุทาดะเลย
นอกจากนี้อุทาดะยังได้เล่าว่าการทำงานในอัลบั้มนี้ทำให้เธอได้พบว่าเธอเป็นคนที่มีความรัก ที่ผ่านมาเธอมักกลัวอยู่เสมอว่าเธอนั้นไม่รู้ว่าความรักคืออะไร และรู้สึกว่ามีบางอย่างผิดปกติกับตัวเธอเอง และไม่สามารถรับรู้ว่าตัวเองนั้นสามารถมี “ความรู้สึกรัก” ได้
จนในที่สุดเมื่อได้เริ่มค้นเข้าไปในตัวเองและให้เวลากับความสัมพันธ์กับตัวเองมากขึ้น เธอจึงได้ค้นพบ “ความรัก” ในแบบฉบับของตัวเธอเอง ซึ่งสำหรับอุทาดะนั้นการรักใครสักคนหมายถึงการพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกถึงความรักนั้นเสมอ ไม่ว่าพวกเขาจะผ่านอะไรมาก็ตาม และในขณะเดียวกันก็พยายามทำเพื่อตัวเองด้วยเช่นกัน อุทาดะจึงได้ถ่ายทอดความเข้าใจนี้ผ่านการทำงานเพลงเกี่ยวกับการรักตนเอง ความนับถือตนเอง และการอยู่เพื่อใครสักคน เช่น “Find Love”, “Pink Blood” และ “Bad Mode” ซึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเพื่อไปยังที่ที่เธอเป็นอยู่ ณ ตอนนี้ และมีพลังอันเกิดจากความสุขใจเมื่อได้ค้นพบและยอมรับในตัวเอง อีกทั้งยังได้ร่วมแบ่งปันความรู้สึกนี้ไปสู่ผู้ที่เปลี่ยวเหงา โดดเดี่ยวและรู้สึกว่าตนเองเป็นคนนอกอีกมากมายผ่านบทเพลงของเธอที่ทำให้พวกเขาได้รับรู้ว่าในโลกใบนี้ยังมีคนที่พร้อมจะเข้าใจและร่วมรู้สึกไปด้วยกันอยู่เสมอ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส