[รีวิวละครเวที] พินัยกรรมของหญิงวิกลจริต: หัวเราะและซึมลึกไปกับ ‘หญิงบ้า’ คนหนึ่ง
Our score
9.0

บทละคร

ดารกา วงศ์ศิริ

ประพันธ์ดนตรี

ไกวัล กุลวัฒโนทัย

กำกับการแสดง

สุวรรณดี จักราวรวุธ

สถานที่

M theatre

[รีวิวละครเวที] พินัยกรรมของหญิงวิกลจริต: หัวเราะและซึมลึกไปกับ ‘หญิงบ้า’ คนหนึ่ง
Our score
9.0

[รีวิวละครเวที] พินัยกรรมของหญิงวิกลจริต: หัวเราะและซึมลึกไปกับ ‘หญิงบ้า’ คนหนึ่ง

จุดเด่น

  1. เป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงที่รู้สึกคุ้มมากกับการได้เดินทางไปดูละครเวทีคุณภาพที่บรรจุไปด้วยนักแสดงคุณภาพ ที่จำบทและเนื้อร้องได้ยังไงมากมายโดยที่ไม่หลุดโฟกัสไปจากอารมณ์ของเรื่องและยังคงสาดเสียงได้ทรงพลังขนาดนี้

จุดสังเกต

  1. มีความเสียดายกับฉากที่ยังอยากให้สร้างอารมณ์ร่วมของความอึดอัด คับแคบอีกสักนิด ละครเรื่องนี้ก็จะเดินทางมาถึงคำว่าเพอร์เฟกต์ได้ไม่ยาก
  • บทร้องและการประพันธ์เพลง

    10.0

  • การแสดง

    10.0

  • ฉาก

    7.0

  • แสง สี เสียง

    8.0

  • ความสนุกตามแนวละคร

    10.0

ในโลกนี้จะมีอะไรเลวร้ายไปกว่าการถูกทำร้ายจากคนใกล้ตัว จากคนที่รัก จากคนที่ไว้ใจอีกไหม ถ้าชีวิตคนเราจะต้องพบเจอเรื่องราวแบบนั้น การไม่รับรู้อะไรเลยและหลงลืมเรื่องราวบางอย่างไปเสียบ้าง ก็อาจเป็นเรื่องดีกว่าการที่จะต้องมารับรู้ความจริง ‘พินัยกรรมของหญิงวิกลจริต’ Sung-through Musicals เรื่องล่าสุดของดรีมบอกซ์ที่จัดให้ ‘น้ำมนต์ ธีรนัยน์ ณ หนองคาย’ มาลุยเดี่ยวหน้าม่านคนเดียว ร้องเล่น เค้นความบ้าออกมาได้น่าทึ่งยิ่งนัก

พินัยกรรมของหญิงวิกลจริต A One-Woman Musical : เป็นละครเพลงแนวระทึกขวัญ ที่มีนักแสดงหน้าม่านคนเดียว ร่วมกับนักแสดงเงาที่เราจะไม่เห็นหน้าของพวกเขา เสียงทุกเสียงที่เราได้ยินจะเป็นการร้องทั้งเรื่อง เพราะนี่คือการแสดงแบบ Sung-through Musicals คือการสื่อสารผ่านบทเพลงที่จะสร้างความบันเทิงในระดับละมุนหู ละมุนใจ หัวเราะและบีบคั้นในหัวใจไปกับเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกกักขังเป็นเวลาหลายปี ในห้องนอนใต้หลังคา

ทุกคนเรียกเธอว่า ‘ไพลิน’ เป็นหญิงสาวที่ถูกตัดสินว่าเป็นคนวิกลจริต ความทรงจำของเธอเลือนรางและแตกสลายเป็นเศษเสี่ยง สิ่งเดียวที่หลงเหลืออยู่ในห้วงลึกของความทรงจำคือภาพฝันวันแต่งงาน เธอกำลังจะเป็นเจ้าสาวและเตรียมงานเลี้ยงอย่างคร่ำเคร่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วเธอถูกขังอยู่ในห้องนี้ลำพังนานนับปี มีเพียงสิ่งของต่าง ๆ ที่เป็นเพื่อนโต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ พิมพ์ดีด หรือแม้กระทั่งขวดยา และพวกมันมีชีวิตสำหรับเธอ โดยเฉพาะผ้าห่ม เพื่อนที่เธอรักที่สุด

จนกระทั่งวันที่มีงานเลี้ยงในบ้าน เธอได้ยินเสียงคนหลายคนคุยกันจากด้านนอก สิ่งที่พวกเขาพูด สิ่งที่พวกเขาคิดและกำลังจะกระทำกับเธอ เป็นเสมือนการกระตุ้นความทรงจำส่วนลึกของเธอให้ฟื้นคืนกลับมา ความจริงที่เธอได้รับรู้ทำให้เธอต้องตัดสินใจบางอย่าง เพื่อตอบแทนการทรยศหักหลังจากคนที่รักที่ไว้ใจ ให้ถึงขนาด

จากกนกวรรณ ถึง ธีรนัยน์

จากบทละครของ ‘ดารกา วงศ์ศิริ’ ที่ถูกหยิบไปทำเป็นละครพูดแนวระทึกขวัญเมื่อปี 2537 ความทรงจำเลือนรางของผู้เขียนจำได้ว่า ‘ปู กนกวรรณ’ ได้แสดงเอาไว้อย่างเยี่ยมยอด เรียกว่าเป็นการแสดงที่แปลกใหม่ในเวลานั้นเลยก็ว่าได้ เพราะนักแสดงหลักจะต้องแบกทั้งเรื่องไว้บนบ่าเนื่องจากเธอต้องโซโลเดี่ยว มีเพียงผ้าห่มผืนเดียวเป็นเพื่อนแก้เขินก็เท่านั้น 28 ปีผ่านไปละครเรื่องนี้ก็กลับมาอีกครั้งในรูปแบบของละครร้อง ที่ร้องทั้งเรื่องเป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง และทำให้เราทึ่งกับการแสดงของ น้ำมนต์ ธีรนัยน์ ว่าเธอจำเนื้อร้องทั้งหมดขนาดนี้ได้ยังไงกันนะ

ด้วยละครที่ดำเนินเรื่องไปแบบเรียลไทม์ ทำให้ผู้ชมได้รับรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าไปแบบนาทีต่อนาที เป็นเวลาที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ด้วยการเล่าเรื่องจากตัวแสดงหลักคือหญิงวิกลจริตเจ้าของเรื่อง เธอกำลังทำอะไร เธอได้ยินอะไร เธอคิดอะไรอยู่ เราจะได้เห็นไปพร้อม ๆ กับเธอชนิดเงาตามตัว เรียกว่าอยู่ในคืนเกิดเหตุไปด้วยกันกับเธอก็ว่าได้ โดยที่จะได้ยินเสียงและเงาของนักแสดงอื่น ๆ เหมือนกันกับเธอไม่ผิดเพี้ยน

หากละครเวทีเรื่องนี้เป็นละครพูดแบบเมื่อครั้งอดีต การจะดึงอารมณ์ผู้ชมให้คล้อยตามไปกับตัวแสดงที่อยู่ใต้แสงไฟเพียงคนเดียวไม่ต่างอะไรกับเดี่ยวไมโครโฟนเลยสักนิด ก็คือความดราม่าที่จะต้องถาโถมเข้ามาใส่ให้คนดูให้ได้อินไปกับชะตากรรมของหญิงวิกลจริตคนนี้ แต่ในการแสดงครั้งนี้เป็นการแสดงแบบละครร้องที่ร้องทั้งเรื่อง ความดราม่าที่พรั่งพรูออกมาเป็นเสียงร้องที่กังวานก้องกลับสร้างอารมณ์ร่วมอีกรูปแบบ เป็นดราม่าแบบซึมลึก ขำขันในบางช่วงเวลานักแสดงเป็นบ้าแต่คนดูนั้นเป็บไบโพลาร์ไปแล้วค่ะ เพราะเดี๋ยวก็หัวเราะ เดี๋ยวก็เศร้าจนไม่รู้แล้วว่าใครกันแน่ที่บ้ากว่ากัน และตามมาด้วยอารมณ์โหยไห้ไปกับเสียงร้องที่ดึงอารมณ์ให้ล่องลอยตามไป รวมกับไม่มีขากันเลยทีเดียว

ได้โปรดนึกภาพตามว่าผู้เขียนได้กลายร่างเป็นผีน้อยแคสเปอร์ แล้วลอยตามนักแสดงไปทุกที่ ไม่ว่าเธอจะเดินไปทางซ้าย วิ่งไปทางขวา ไปเกาะหน้าต่าง เดินขึ้นบันไดหรือล้มลงนอนไปบนเตียง มโนสำนึกของผีน้อยตัวนี้ออกอาการตามเธอไปทุกส่วน กลอกตาและโยกหัวตามไปทุกที่ในขณะที่นั่งนิ่ง ๆ นี่แหละค่ะ

บทกระชับ คลาสสิก ดำเนินเรื่องได้มีเสน่ห์

สิ่งดีงามของการหยิบบทละครเก่ามาทำใหม่คือการไม่ทิ้งหมายสำคัญของบทละครนั้น ๆ ไป ซึ่งเรื่องนี้ก็เก็บเอาไว้ทุกรายละเอียด เรายังคงเห็นการถ่ายทอดสัจธรรมที่แปะเอาไว้บนหน้าผากของละครเรื่องนี้ที่ว่า คนเราทุกคนมีทั้งด้านดีและด้านร้าย แต่แตกต่างกันตรงที่ว่าใครจะใช้ด้านไหนเดินหน้าออกมาได้มากกว่ากัน เป็นการรักษา key message เอาไว้ได้อย่างครบถ้วน โดยใช้เพลงทำหน้าที่เป็นบทพูดของนักแสดง เป็นการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาแบบนุ่มละมุนและคงความคลาสสิก จนสามารถทำให้เราดำดิ่งไปกับตัวละครได้ง่าย ๆ

โดยที่ยังไม่ทิ้งอารมณ์ขันเบา ๆ ที่เป็นเสน่ห์ของละครเวทีได้อย่างถูกที่ถูกเวลา เรียกว่าปล่อยมาแบบพอดี ๆ เข้ากับเนื้อเรื่องและอารมณ์ของตัวแสดงที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เราไม่จำเป็นต้องคิดวิเคราะห์กับบทเพลงที่ได้ยินเลยสักนิด เพราะทุกประโยคที่ร้อยเรียงเป็นเนื้อหา ได้ถูกปล่อยออกมาอย่างตรงไปตรงมาแต่สละสลวย ก็ต้องปรบมือให้กับผู้ประพันธ์เพลง เขาค่ะว่าช่างเลือกคำ เลือกสัมผัสได้คล้องจองไม่ประดักประเดิด หรือทำให้รู้สึกขัดหูเวลาฟังเลยสักนิด

องก์แรกจะใช้เวลาประมาณ 40 นาที เมื่อมาต่อองก์ที่ 2 เนื้อหาของละครจะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ และจูงเราไปสู่ความดราม่าของความจริงต่าง ๆ ที่ปรากฏให้ได้ยิน ได้เห็นถึงการจัดการของหญิงวิกลจริตที่วิกลจริตจริง ๆ นั่นแหละ และได้เข้าถึงในทุกอารมณ์ของเธอที่ทำให้เราทั้งเห็นใจ เข้าใจ สงสาร ขำขัน เรียกว่ามาทุกแนวเสิร์ฟเอาไว้ในองก์ที่ 2 นี้เลยพร้อม ๆ กับฉากปิดท้ายที่ทำให้นึกถึง  Bel Canto Opera กันเลยละ

ฉาก แสง สี เสียง

ฉากของละครเรื่องนี้มีฉากเดียว เป็นฉากใหญ่บิ๊กเบิ้มที่ทำออกมาให้รับรู้ได้ถึงความเก่า ทึบและร้อน ฝนตกเปียกแน่นอนค่ะเพราะสังกะสีก็ผุเกิ๊น เชื่อว่าบ้านหลังนี้จะต้องเป็นบ้านหลังใหญ่มากแน่นอน เพราะห้องใต้หลังคานั้นช่างกว้างขวาง จนรู้สึกได้ว่าห้องใหญ่ห้องนี้มีพวกเรากำลังนั่งดูชนิดหายใจรดต้นคอเพราะมันกว้างจนน่าจะโอบพวกเราได้มิด ถ้าหญิงวิกลจริตจะสังเกตสักนิด ว่ามีคนมากมายจ้องมองเธออยู่ เธอคงไม่ต้องคุยกับผ้าห่มและขวดยาให้เหงาเล่น

แต่จุดเด่นที่ทำให้เกิดเสน่ห์ไม่ใช่ฉากร้อน ๆ ฉากนี้หรอกค่ะ หากแต่เป็นแสงไฟที่ปรับเปลี่ยนตามอารมณ์ของตัวแสดงอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าเป็นแสงเงาของเสียงที่สาดส่องไปได้ในทุกจังหวะไม่มีหลุด โดยเฉพาะเมื่อตัวละครเงาออกแสดง แสงก็จะทำหน้าที่จับจ้องเสมือนตาที่ 3 ที่คอยแอบมองชาวบ้านเขาคุยกัน ชนิดที่ปูเสื่อ แกะถุงเผือกมานั่งเคี้ยวกรอบแกรบชิดขอบหน้าต่างกันเลยทีเดียว เป็นมุมมองจากภายในห้องที่เห็นแสงสะท้อนจากงานเลี้ยงด้านนอกในองศาที่พอดิบพอดี

ส่วนในเรื่องของเสียงไม่ต้องพูดถึง ผู้เขียนไม่มีเวลามานั่งแยกประสาทว่าโรงละครมีระบบเสียงที่ดีเลิศหรือมีความบกพร่องที่ตรงไหน เพราะเสียงไพเราะที่ได้ยินมันกลบทุกความบกพร่องที่เราอาจจะรู้สึกไปหมดแล้ว มีเพียงความอิ่มใจอิ่มหูไปกับการบรรเลงสด ๆ ของนักดนตรีมืออาชีพ กับเสียงร้องทรงพลังของนักร้องชั้นครูเท่านั้นเอง พินัยกรรมของหญิงวิกลจริต เป็นละครเวทีที่อยากจะบอกกับพวกเราทุกคนว่า “การเป็นคนวิกลจริตก็ไม่ได้มีอะไรแย่ เพราะในบางครั้งยิ่งจำได้ก็ยิ่งเจ็บปวด เป็นคนวิกลจริตก็อาจจะมีความสุขมากกว่าเป็นคนสติสัมปชัญญะสมบูรณ์เสียอีก”

การแปลงบทละครออกมาเป็นบทเพลงที่ต้องสื่อความหมายในเนื้อเรื่องไปด้วย แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การที่ผู้ขับร้อง ผู้แสดง ทำให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมไปด้วยได้ นั่นต่างหากคือรางวัลของผู้ประพันธ์เพลง และละครเรื่องนี้ก็ทำได้สำเร็จแล้วด้วยการถ่ายทอดจากนักแสดง นักแต่งเพลงและนักดนตรีคุณภาพทั้งหลายบนเวที

การแสดงเหลือรอบสุดท้ายวันอาทิตย์ ที่ 25 กันยายน 2022 เวลา 14.30 น.

สถานที่ : M theatre

บัตรราคา : 1200, 1800 และ 2200 บาท

สำรองบัตรได้ทาง https://www.dreambox.co.th

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส