‘1899’ เป็นซีรีส์เรื่องล่าสุดของทีมผู้สร้าง ‘Dark’ อย่างผู้กำกับ แบเรน โบ โอดาร์ (Baran bo Odar) และผู้เขียนบท ยานต์เฌ ฟรีเช (Jantje Friese) ซึ่งผลงานเรื่องก่อนหน้าก็พิสูจน์ตัวในฐานะซีรีส์ที่มีความซับซ้อนสูงจนสร้างการถกเถียงและตั้งทฤษฎีขึ้นมากมายแม้ตัวซีรีส์จะจบลงในซีซันที่ 3 ไปแล้วก็ตาม และสำหรับซีรีส์เรื่องปัจจุบันนั้นก็น่าจะมีคำถามที่หลายคนต้องขบคิด และอาจตั้งทฤษฎีสำหรับซีซันต่อไปไว้ได้อย่างมากมายเช่นกัน วันนี้เรามาดูว่ามีความเป็นไปได้อะไรน่าสนใจได้บ้าง และเรื่องราวของ 1899 ซีซัน 2 น่าจะเป็นอย่างไร
แน่นอนว่าหลังจากนี้เราจะสปอยล์ 1899 หนัก ๆ เลย
เกิดอะไรขึ้นในซีซันแรกกันแน่
หัวข้อนี้จัดเป็นสปอยล์คำโตสำหรับใครที่ยังไม่ได้ดู แต่ก็เผื่อใครที่ดูแล้วไม่เข้าใจ จึงไม่ขอเรียงตามลำดับการเล่าในซีรีส์นะครับเพราะจะงงเปล่า ๆ
ใน ‘1899’ แม้เนื้อหาจะเปิดด้วยเรือเดินสมุทรเคอร์เบอรอสที่กำลังเดินทางสู่นิวยอร์กในยุคที่ชาวยุโรปอพยพสู่อเมริกา แต่ความจริงเรื่องราวทั้งหมดเป็นโลกจำลองที่เกิดขึ้นในเวอร์ชวลเรียลลิตี้ที่ใช้ขับกล่อมขณะที่เหล่าผู้เดินทางข้ามดวงดาวเข้าสู่ภาวะจำศีล อาจเพื่อให้สมองและสติรู้นึกยังคงทำงานไม่พิกลพิการไปเสียก่อนจากการเดินทางอันยาวนาน
โลกเสมือนนี้สร้างขึ้นโดยผู้พัฒนาหญิงที่ชื่อ มอรา แฟลงคลิน ที่เป็นตัวเอก เหตุผลที่เธอเลือกให้โลกจำลองเป็นยุคโบราณทั้งที่ปีปัจจุบันในเรื่องเป็น ค.ศ. 2099 นั้นยังไม่ได้รับการเปิดเผย แต่ก็เดาว่าอาจเพื่อให้นักเดินทางไม่ตระหนักถึงความจริงแล้วตื่นขึ้นมาระหว่างการเดินทางในอวกาศอันยาวนาน (เหมือนเวลาดูหนังย้อนยุคที่เราไม่คุ้นชินเราก็เชื่อไปได้ตามที่ผู้กำกับเสนอได้เต็มที่ แต่ถ้าหนังมันเล่าเรื่องเมืองที่เราอยู่ปัจจุบันเราก็คงมีจุดเอะใจว่าอันนั้นไม่ใช่นี่แล้วก็จะหลุดจากภวังค์ของหนังไปได้)
ในขณะเดียวกันตัวละครก็จะได้รับจดหมายที่เป็นคำใบ้เหมือนบอกภารกิจเพื่อให้จดจ่อกับบางสิ่งบางอย่างจนไม่ต้องไปติดใจสงสัยโลกรอบตัวด้วย เช่นของนางเอก มอรา ก็เป็นการตามหาว่าพี่ชายหายไปไหน และพ่อที่เธอเกลียดชังกำลังทดลองทางจิตวิทยาอะไรอยู่บนเรือลำนี้ เป็นต้น ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจดหมายนี้เป็นความจงใจแทรกแซงจากบางคนภายนอกด้วยหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นเจตนาของจดหมายก็จะเปลี่ยนไปและต้องตั้งคำถามว่าเหล่าคนที่ได้รับจดหมายนี้พิเศษกว่าคนอื่นอย่างไร
แต่เมื่อคิดว่าเป็นการควบคุมของระบบ การเลือกให้โลกจำลองเกิดบนเรือเดินสมุทรก็คงเพื่อจำกัดขอบเขตของขนาดข้อมูลของโปรแกรมได้ง่าย เพราะผู้โดยสารก็ย่อมอยู่แค่บนเรือเท่านั้น ถ้าต้องจำลองทั้งเมืองหรือทั้งโลกมันคงต้องเขียนรายละเอียดโปรแกรมขนาดใหญ่และมีข้อบกพร่องได้มากมาย
เหตุการณ์ในโลกจำลองจะเกิดขึ้นซ้ำเหมือนหนังที่ฉายวนไปเรื่อย ๆ โดยที่ผู้ชมถูกสั่งให้ลืมการรับชมรอบก่อนแบบเขียนแล้วลบแล้วเขียนใหม่ เพื่อควบคุมขนาดของฐานข้อมูลให้คงที่ เรื่องราวในโลกจำลองคือมีเรือเดินสมุทรที่ทุกคนโดยสารอยู่กำลังเดินทางไปนิวยอร์ก แต่มันจะไปไม่ถึงจุดหมายเพราะถ้าถึงอเมริกาจริงโปรแกรมเมอร์ก็ต้องเขียนโค้ดของเมืองเพิ่มซึ่งคงเกินจำเป็น ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ตั้งไว้ทุกคนจะถูกสั่งให้กระโดดเรือตายเพื่อรอรีเซตระบบ โดยแต่ละรอบการเล่นของโปรแกรมจะนำซากข้อมูลหรือเรือของรอบก่อนไปโยนทิ้งในสถานที่หนึ่งเหมือนถังขยะรีไซเคิลบินที่มีซากเรืออยู่เต็มไปหมด โดยผ่านการลบที่เหมือนมีหลุมกลางทะเลดูดเรือทั้งลำลงไป ตรงนี้สังเกตชื่อเรือในสุสานเรือไม่แน่ชัดว่ามีการสุ่มชื่อเรือขึ้นใหม่ทุกครั้งในแต่ละรอบหรือใช้วนกันระหว่างเคอร์เบอรอสกับโพรมีธีอุส
ทว่าก็ยังมีผู้มีสติตระหนักรู้ความจริงอยู่ในโลกจำลองเช่นกันอย่างน้อยก็ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกผู้สังเกตการณ์ระบบเพื่อหาทางหลบหนี ซึ่งคือ เฮนรี ซิงเกิลตัน พ่อของนางเอกที่อาศัยอยู่ในโลกจำลองอีกแห่งหนึ่งแต่มีจอไว้ติดตามดูเหตุการณ์บนเรือ ซึ่งเขาส่งสมุนเข้าไปเป็นสปายบนเรือในฐานะรองกัปตันเรือเพื่อคอยเป็นแขนเป็นขาในการทำงานแทน เป้าหมายของกลุ่มนี้เพื่อตามหากุญแจหรือโค้ดที่จะทำให้ตื่นขึ้นจากเวอร์ชวลเรียลลิตี้ซึ่งตัวนางเอกที่สร้างระบบแอบซ่อนไว้ที่ไหนสักแห่ง และพวกเขาก็ยังครอบครองโค้ดในการกล่อมให้ลืมหรือกระตุ้นการตระหนักให้จำได้ในรูปแบบของกระบอกฉีดยาสีขาวและสีดำไม่ต่างจากลูกอมสีฟ้ากับสีแดงใน ‘The Matrix’
เฮนรียังมีความพยายามจะรักษาให้ระบบดำรงอยู่ต่อไปมากที่สุด เห็นได้จากการที่เขาไม่เข้าไปกวนการออกแบบโลกจำลองที่จงใจให้ผู้โดยสารพูดกันคนละภาษาเพื่อไม่ให้เกิดความไว้วางใจและร่วมมือกันที่อาจนำมาสู่การค้นพบความจริงของระบบ ในอีกทางหนึ่งลูกสมุนของเฮนรียังพยายามรักษาความสงบของเรือและเดือดดาลที่พวกกบฏมอบอาวุธให้กับผู้โดยสารอื่น ๆ อันจะนำมาสู่ความวุ่นวายและควบคุมความแน่นอนของโปรแกรมไม่ได้
ซึ่งอาจมองได้สองแง่ หนึ่งคือเฮนรีกำลังทำการทดลองทางจิตวิทยากับผู้โดยสารแต่ละคนจริง ๆ ผ่านโลกจำลองของมอราตามคำเตือนในจดหมาย โดยสอดไส้ประสบการณ์เลวร้ายในอดีตให้หวนมาแล้วทดสอบการตัดสินใจของพวกเขาซ้ำ ๆ ดังเช่นที่เขาจับจ้องจอแล้วเปรยว่าพวกนี้อยู่ใต้อารมณ์มากเกินไปจึงไม่อยากไปยุ่งกับระบบของมอรา หรือบางทีการทดลองนี้อาจมีเป้าประสงค์เพื่อปรับปรุงทัศนคติของคนในโลกจำลองนี้ให้ดีพร้อมสำหรับปลายทางก็เป็นได้
หรืออีกแง่เขาเพียงไม่อยากให้ระบบปั่นป่วนจนหากุญแจของมอราไม่เจอ ดังนั้นการปล่อยไวรัสทำลายโลกจำลองต่าง ๆ ในตอนท้ายซีซั่นจึงเป็นสิ่งที่พวกเฮนรีหวาดกลัวมากที่สุดด้วย
อีกกลุ่มหนึ่งคือ แดเนียล ที่เป็นคนรักของมอรา เขามากับ เอลเลียต ที่เป็นลูกชายของทั้งคู่ กลุ่มนี้พยายามเข้ามาช่วยเหลือให้มอราหลุดจากโลกจำลอง ในแง่ที่แดเนียลต้องการให้เธอเลิกหลอกตัวเองและหนีความจริงที่ว่าลูกของพวกเขาจากไปแล้ว ซึ่งเป็นเหตุผลที่มอราสร้างโลกจำลองนี้เพื่อเก็บข้อมูลตัวตนของเอลเลียตเอาไว้ให้ยังมีชีวิตในฐานะข้อมูลต่อไป แต่ทั้งนี้เอลเลียตไม่ได้รู้ความจริงข้อนี้เขาอาจเป็นแค่ปัญญาประดิษฐ์ที่อิงจากตัวตนของลูกชายมอราที่จากไปหรืออาจเป็นข้อมูลความทรงจำดิจิทัลที่มอรารักษาไว้ขณะที่ลูกชายอยู่ในอาการโคม่าก็ได้ (แต่ทิศทางว่าตายไปแล้วน่าจะมีน้ำหนักกว่ายังมีชีวิตแล้วโคม่า)
โดยวิธีการที่แดเนียลใช้ก็คือการแทรกแซงระบบเหมือนแฮกเกอร์ที่ยัดซากข้อมูลของเรือโพรมีธีอุสในรอบก่อนเข้ามาป่วนและเบี่ยงเส้นทางการเดินเรือจากปกติไป แล้วเอาเอลเลียตใส่ไว้ในเรือเหมือนม้าไม้โทรจัน ส่วนตัวเขาก็อาศัยบั๊กของโปรแกรมในรูปแบบแมลงปีกแข็ง (เล่นคำว่า Bug) ที่ทำงานเหมือนแครกเกอร์ที่เปิดทุกประตูได้แล้วแอบขึ้นเรือมา จากนั้นก็ย้ายเรือทั้งลำออกจากตำแหน่งเดิมเพื่อหลบการติดตามของผู้ควบคุมที่อาจเป็นพ่อของมอรา หรือบุคคลอื่นที่อยู่ในโลกความจริงอีกที
การมาของแดเนียลยังทำให้ตัวละครบางตัวบนเรือเจอแบ็กดอร์หรือช่องทางลับที่โปรแกรมเมอร์เขียนไว้เพื่อใช้เข้าออกระหว่างโลกจำลองต่าง ๆ เพื่อความสะดวกในการทำงาน ในรูปแบบของประตูลับที่ซ่อนอยู่ใต้เตียงด้วย ซึ่งแดเนียลต้องการให้มอราจดจำความจริงได้ด้วยการพาไปยังโลกจำลองแห่งแรกที่เธอเขียนขึ้นนั่นคือห้องของลูกชายของทั้งคู่ แล้วใช้กุญแจลับไขพิระมิดสีดำเพื่อปลุกตัวเองจากภาวะจำศีลเสียที อาจด้วยที่โลกความจริงมีเรื่องใหญ่ที่เธอต้องไปจัดการก่อนร่างกายแท้จริงจะเป็นอันตราย
ในขณะเดียวกันประตูลับนี้ก็ยังทำให้ตัวละครบางตัวรอดจากการถูกไวรัสคอมพิวเตอร์ที่แดเนียลจงใจปล่อยเข้ามาทำลายข้อมูลโลกจำลองเพื่อกลบเกลื่อนร่องรอยแล้วหนีไปยังสุสานเรือได้สำเร็จอีกด้วย แต่สุดท้ายโลกจำลองก็ถูกบังคับปิดและรีเซตในท้ายสุดอยู่ดี
ทั้งนี้เรื่องใหญ่ที่ทำให้มอราต้องตื่นอาจเกี่ยวข้องกับอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจแต่ซีรีส์ยังไม่เปิดเผยตัวนั่นคือ เคียรัน ที่อ้างตัวเป็นพี่ชายของมอรา เขาคือคนที่คอยควบคุมการทำงานของระบบโลกจำลองนี้อยู่ภายนอก ซึ่งหากสังเกตุในตอนจบซีซันจะเห็นว่านอกจากเครื่องจำศีลของนางเอกแล้วยังมีอีกหนึ่งเครื่องที่ไม่มีคนนอนอยู่ คาดเดาได้ว่าอาจเป็นเคียรันหรือบางคนที่ตื่นขึ้นก่อนหน้ามอราด้วยเช่นกัน
ข้อความที่เขาส่งมาทักมอราเหมือนเขารอคอยให้เธอตื่นมาตลอด และข้อความปริศนาที่ทิ้งโปรยไว้ทั้งเรื่องที่ว่า “สิ่งที่สูญหายจะถูกค้นพบ” กับ “หวังว่ากาแฟจะออกฤทธิ์ก่อนที่ความจริงจะปลุกคุณ” ก็มีนัยที่ว่านักเดินทางผู้จำศีลนั้นต่างทำอะไรสูญหายและมีหน้าที่ต้องแก้ไขซึ่งอาจเป็นความผิดบาปในใจ และหวังให้พวกเขาถูกกระตุ้นตื่นขึ้นมาก่อนที่จะถูกระบบสั่งให้ตื่น ก็น่าสนใจว่ามีความหมายจริง ๆ อย่างไร แล้วจุดประสงค์ที่แท้จริงของเคียรันคืออะไร เขาอยู่ฝั่งตรงข้ามหรือฝั่งเดียวกันกับมอรากันแน่ เหตุการณ์จริงในปี 2099 กำลังเกิดอะไรขึ้นก็ยังคงต้องรอคำตอบในซีซันหน้า
ความเป็นไปได้ที่จะเกิดต่อไป
ทฤษฎีที่ 1: โลกจำลองอีกใบ
แนวทางแรกเป็นทฤษฎีที่น่าจะมีผู้คิดมากสุด เมื่อดูไปที่ผลงานก่อนหน้าอย่าง ‘Dark’ ที่มี 3 ซีซันและคำสัมภาษณ์ของฟรีเชมือเขียนบทว่าต้องการให้เป็นซีรีส์ความยาวหลายซีซัน ดังนั้นแล้วการตื่นขึ้นบนยานอวกาศในปี 2099 ของมอรา ก็อาจเป็นเพียงการอยู่ในโลกจำลองอีกแห่งหนึ่งที่เคียรันหรือเธอเองเขียนขึ้น เหมือนฝันซ้อนฝัน ด้วยความคาดหวังของแฟนซีรีส์ที่ว่าคำเฉลยในตอนจบของซีซันแรกนั้นออกจะธรรมดาไปเสียหน่อยเมื่อเทียบกับสิ่งที่ ‘Dark’ เคยสร้างไว้ ดังนั้นถ้าเดาว่ามันเป็นภาคเชื่อมก่อนจบในซีซัน 3 (ที่ยังไม่รู้ว่ามีกี่ซีซันจบกันแน่แต่อิงจากเรื่องก่อนหน้าเป็นเกณฑ์) มันก็น่าจะยังไม่เฉลยว่าโลกความจริงนั้นเป็นอย่างไร และผู้ชมก็น่าจะถูกหลอกอีกรอบหนึ่ง
นางเอกน่าจะต้องค้นหาความทรงจำตัวเอง ในขณะเดียวกันก็เผยตัวตนกับเจตนาของเคียรัน และนำมาสู่การหลบหนีออกจากโลกจำลองอีกครั้งหนึ่ง แน่นอนว่าตัวละครอื่น ๆ น่าจะได้รับการเฉลยภูมิหลังและตัวตนที่แท้จริงมากขึ้น ไม่แน่สปายของเฮนรีอาจมีมากกว่าหนึ่ง
เช่นเดียวกันเคียรันก็อาจเดินเล่นอยู่ในเรือเป็นหนึ่งในตัวละครที่เรามองข้ามก็ได้ โดยชื่อเคียรันเป็นคำไอริชที่หมายถึง ‘เด็กน้อยผมดำ’ ซึ่งดูจากสีผมของมอรากับเฮนรีคงเชื่อยากว่าเขาจะเป็นพี่ชายแท้ ๆ ของมอราจริง และถ้าพูดถึงเด็กน้อยผมดำในเรื่องเราน่าจะนึกถึงเอลเลียตมากเสียกว่า
ซึ่งอีกมุมหนึ่งก็เป็นไปได้เหมือนกันว่าเคียรันอาจจะไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ควบคุมการทำงานของระบบอีกที เพราะชื่อเคียรันที่สะกดว่า Ciaran มันก็อาจเป็นการเล่นคำ CIA กับ Ran ก็น่าคิด รวมถึงคำว่าเคียรันถ้าแปลตรงตัวก็จะได้ว่า ‘สีดำตัวน้อย’ ก็อาจเป็นไปได้ว่าเคียรันก็คือพีระมิดสีดำที่เอลเลียตถือไปมานั่นล่ะ
ทฤษฎีที่ 2: การอพยพ
ถ้าเชื่อว่าการตื่นของนางเอกเกิดขึ้นจริง ๆ โปรเจกต์โพรมีธีอุสคือการจำศีลระยะยาวเพื่อช่วยในการรักษาจิตใจของนักเดินทางให้เป็นปกติไม่เป็นบ้าจากการตระหนักถึงความยาวนานในการเดินทาง หรือเพื่อกระตุ้นการทำงานของสมองให้ทำงานอยู่ตลอดเพื่อไม่ให้อวัยวะฝ่อไปก่อนก็เป็นได้ นั่นเท่ากับว่าโลกมนุษย์น่าจะเสื่อมสลายจนมนุษย์ต้องแสวงหาดาวเคราะห์ดวงใหม่ กลายเป็นผู้อพยพไม่ต่างจากผู้โดยสารบนเรือเดินสมุทรสู่อเมริกา และพิระมิดที่เห็นอาจเป็นภาพจำลองของเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมยานอยู่ หรือเป็นวัตถุจากต่างดาวที่ส่งมาเพื่อช่วยแจ้งพิกัดสำหรับมนุษย์ในการอพยพ ตามเพลงจบในตอนที่ 8 ซึ่งแสดงธีมของตอนนั้นและเรื่องราวภายหน้าที่ผู้สร้างเลือกใช้เพลง “Starman” ของ เดวิด โบวี (David Bowie) ที่พูดถึงมนุษย์ต่างดาวอย่างจงใจ
ความพยายามของแดเนียลและการกระทำของเคียรันจะเป็นตัวแปลสำคัญ ทำไมแดเนียลต้องการปลุกมอราถ้าเขารู้ว่านี่คือโหมดจำศีลในการเดินทางปกติ เป็นไปได้ไหมว่าบนยานอวกาศเกิดปัญหาขึ้นเช่นว่า ยานอวกาศโพรมีธีอุสกำลังพุ่งตรงสู่หลุมดำไม่ต่างจากเรือเดินสมุทรเคอร์เบอรอสที่ถูกดูดลงหลุมน้ำวน และต้องการโปรแกรมเมอร์ที่เก่งที่สุดคือมอราตื่นมาช่วยจัดการ
อีกทางหนึ่งความจริงแล้วแดเนียลก็เป็นแค่ข้อมูลดิจิทัลไม่ต่างจากเอลเลียตเพียงเขาไม่รู้ตัวและถูกสั่งการโดยเคียรันเพื่อปลุกมอรา สังเกตจากที่ฉากตื่นขึ้นของมอราไม่มีแดเนียลนอนอยู่ด้านข้าง เช่นเดียวกับครอบครัวนักเดินทางอื่นที่มักนอนอยู่ติดกัน
แต่ที่ช่วยตอบได้อย่างแน่นอนก็คือพิกัดของเรือโพรมีธีอุสที่ถูกส่งผ่านโทรเลขมาถึงเรือเคอร์เบอรอส กับพิกัดเป้าหมายในการเดินทางของยาวอวกาศโพรมีธีอุสในปี 2099 นั้นคือตัวเลขเดียวกัน
ทฤษฎีที่ 3: มันคือคุก
อ้างอิงจากแนวคิดเรื่องถ้ำของเพลโต (The Allegory of the Cave) ที่เฮนรีพูดถึง อุปมาว่ามีนักโทษที่โตมาโดยเห็นเงาทอดผ่านเข้ามาในผนังถ้ำที่เป็นคุก เขาก็อาจเข้าใจว่าเงานั้นคือโลกภายนอกทั้งหมด เช่นกัน หากไร้ความรู้และมุมมองที่กว้างขวาง เราก็อาจคิดว่าโลกที่มองเห็นอยู่นั้นคือความจริงทั้งหมดซึ่งอาจไม่ใช่โลกที่เป็นอยู่จริง ๆ ก็ได้
แนวคิดนี้ก็จะสอดคล้องกับการทรมานผู้โดยสารหลายคน ด้วยประสบการณ์ในอดีตที่เป็นตราบาปติดตัว เช่น กัปตันไอค์ที่ไล่ตามความฝันละทิ้งครอบครัวจนสูญเสียลูกเมียในกองเพลิง ที่อาจจะแปลงจากความจริงที่คล้ายกันแต่ปรับฉากยุคในความทรงจำใหม่ ตัวนางเอกอย่างมอราก็มีความผิดบาปในการโทษว่าตัวเองเป็นสาเหตุทำให้ลูกชายตายหรือไม่ก็เพราะบาปจากความไม่ยอมปล่อยลูกให้ตายจากไปจนฝืนวิถีของธรรมชาติ เธอจึงเลือกลบความทรงจำและขังตัวเองในคุกที่เธอสร้างขึ้นกักขังนักโทษคนอื่น ๆ เช่นกัน
แดเนียลที่ทนไม่ได้จึงต้องการมาช่วยให้เธอได้อภัยให้ตัวเองเสียที และยังสอดรับกับท่าทีที่เขาไม่คิดญาติดีหรือช่วยคนอื่นบนเรือเลยสักคนเพราะเขาตระหนักว่าทุกคนคือผู้ที่ทำความผิดบางอย่างมาทั้งสิ้น และจะตอบได้ด้วยว่าทำไมเฮนรีถึงต้องการหนีจากโลกจำลองนี้เพราะเขาเองก็เป็นหนึ่งในนักโทษเช่นกัน และบางทีเคียรันก็อาจเป็นนักโทษที่หนีออกจากการคุมขังไปได้ก่อนและกำลังป่วนโลกจำลองเพื่อทรมานคนอื่นเล่นหรือต้องการปลุกนักโทษทุกคนให้ตื่นขึ้น หรืออาจจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ควบคุมคุกนี้อยู่ก็เป็นไปได้
แน่นอนว่าทั้งหมดก็เป็นเพียงคาดเดาที่อาจผิดทุกทฤษฎีเลยก็ว่าได้ (ฮา) แต่ก็อาจจะคิดไว้สนุก ๆ เพื่อถกเถียงแลกเปลี่ยนพูดคุยกับคอซีรีส์ด้วยกัน เพราะที่สุดแล้วเราคงไร้ความหวังจะได้ชมเรื่องราวต่อไปในเน็ตฟลิกซ์อย่างแน่นอนแล้วหลังจากมีประกาศยกเลิกแผนการสร้างซีซั่นต่อไป ก็หวังว่าเราอาจได้รู้เรื่องราวที่เหลือในช่องทางใดช่องทางหนึ่งในอนาคตนะ
สำหรับทฤษฎีความเป็นไปได้ต่าง ๆ ใครคิดว่ามีความเป็นไปได้อื่นที่น่าสนใจก็แลกเปลี่ยนกันได้ครับ เชื่อว่าแฟนซีรีส์พันธุ์แท้น่าจะมีไอเดียน่าสนใจไม่น้อย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส