พรายสังคีต(สาปสังคีต) เป็นหนึ่งในนิยายเซ็ตเบญจมรณาที่มีสมาชิกร่วมหลอนด้วยกัน 5 เรื่อง จากนักเขียน 5 คน ที่ช่อง 7 เหมายกเซ็ตมาทำละคร ซึ่งตอนนี้ก็ทำออกมาแล้ว 3 เรื่อง เริ่มจาก วังนางโหง ออกอากาศตอนแรก 23 พฤศจิกายน 2560-11 มกราคม 2561 ต่อด้วย บ่วงสไบ ออกอากาศตอนแรก 24 มกราคม 2562-14 มีนาคม 2562 ตามมาด้วย สาปสังคีต ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น พรายสังคีตในภาคละครที่จบไปหมาด ๆ เมื่อ 25 มีนาคม 2563 เหลือ สิเน่หารอยคำ กับ ป้อมปางบรรพ์ นี่แหละที่จะมาตอนไหนก็ต้องรอกันต่อไป (เหมือนจะมากันเรื่องละปีเลยเนอะ)
พรายสังคีตเป็นละครที่ออนแอร์ทุกวันพุธ–พฤัสบดี ทางช่อง 7HD ซึ่งจบไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม เป็นละครล็อตครึ่งปีแรกของช่อง 7 ที่ออกมาเสิร์ฟให้แฟนช่องได้ชมจนทำเรตติ้งอยู่ที่ 4.8 ถือว่าไม่เบาและไม่ทิ้งลายช่อง 7 ซึ่งภาพรวมของละครของช่องนี้ถือเป็นแชมป์เรตติ้งที่โค่นยากโค่นเย็นน่าดู
” เมื่ออาถรรพ์แห่งบทเพลงไทยเดิมเริ่มบังเกิด จนมีผู้สังเวยชีวิต
จึงต้องสืบหาความจริงที่ซ่อนอยู่ในบทเพลงนั้น
จนตำนานความรักและโศกนาฏกรรมที่นำไปสู่ความตายถูกเปิดเผย
การปลดปล่อยวิญญาณอาฆาต คือหนทางสุดท้ายที่พวกเขาต้องทำให้สำเร็จ “
โศกนาฏกรรมความรัก ที่เริ่มมาจากความแค้นในอดีตของ ครูเทิด (ศรราม เทพพิทักษ์) ครูดนตรีไทยชื่อดังในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่มีต่อ กล้า (พีรวัศ กุลนันท์วัฒน์) ลูกชายบุญธรรม และ ดวง (ญาดา เทพนม) เมียรัก ที่ครูเทิดไปเห็นภาพบาดตาจนเข้าใจว่าทั้งคู่เล่นชู้กัน ครูเทิดสาบานว่าจะตามล่าหญิงร้ายชายเลวคู่นี้ไปจนกว่าทั้งสองคนจะตายและได้แต่งเพลงสาปแช่งเป็นการผูกพยาบาทกล้ากับดวง รวมไปถึงหน่อเนื้อเชื้อไขทุกชาติ ๆ และหากผู้ใดหยิบบทเพลงนี้มาร้องก็ต้องตายตกตามกันไปดั่งอาถรรพ์ที่ได้สาปเอาไว้
จนมาถึงในยุคปัจจุบัน ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งกำลังฟอร์มวงเพื่อไปประกวดดนตรีไทย ภายใต้ชื่องาน สังคีตศิลป์ถิ่นไทย อยู่ ๆ คณะจัดงานก็มีการเปลี่ยนแปลงโจทย์เพลงที่จะใช้ในการประกวดอย่างกะทันหันจากเพลงบุหลันมาเป็นเพลงเขกมอญ ทำให้ โฉมยงค์ (ปนัดดา เรืองวุฒิ) ผู้ดูแลวงเป็นทุกข์มาก เพราะคู่แข่งมีความชำนาญในการบรรเลงเพลงแขกมอญมากกว่า หนทางเดียวในการแก้ไขปัญหาที่โฉมยงค์พอจะนึกออกก็คือหาเพลงแขกมอญฉบับที่แตกต่างออกไปจากของคู่แข่งมาสู้กับเขา แล้วพระเอกขี้ม้าขาวที่เธอนึกถึงในตอนนั้นก็คือ ยชญ์ (แบงค์-อาทิตย์ ตั้งวิบูลย์พาณิชย์) อดีตนักศึกษาของภาควิชาสังคีตศิลป์ซึ่งเป็นเจ้าของร้านเสียงสังคีต ร้านขายเครื่องดนตรีไทยที่เก่าแก่มากที่สุดร้านหนึ่ง
ยชญ์เป็นทายาทของตระกูล วิจิตรวาทิน ตระกูลนักดนตรีเก่าแก่ที่สืบทอดเชื้อสายกันมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยมีบรรพบุรุษคือ ครูพุก (วัชรบูล ลี้สุวรรณ) น้องชายครูเทิด โฉมยงค์ทราบมาว่าตระกูลนี้แต่งเพลงแขกมอญทางเดี่ยวซอสามสายเอาไว้ ชื่อเพลง ท่วมธรณี ก็ต้องการเอาเพลงนี้นี่แหละไปประชันเพื่อหวังชัยชนะ โดยนักดนตรีที่จะทำการบรรเลงซอสามสายคือ เมญากร (พิมประภา ตั้งประภาพร) ส่วนผู้ทำการขับร้องคือ พวงแพร (ปริตา ไชยรักษ์) แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามคำสาปแช่งไม่มีผิดเพี้ยน หากผู้ใดหยิบบทเพลงนี้มาร้องก็ต้องตายตกไปตามกัน แล้วการหยิบเอาเพลงนี้มาร้องอีกครั้งของโฉมยงค์ ก็ทำให้เธอต้องจบชีวิตลงอย่างน่าอนาถ
” ระหว่างที่ซ้อมอยู่คนเดียวในห้องซ้อมซึ่งตรงกับคืนวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง
โฉมยงค์เริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติที่เกิดกับตัวเอง
เลือดจำนวนมากไหลออกมาจากทวารทั้งเก้าของหล่อน
แม้พยายามจะหยุดร้อง แต่กลับควบคุมตัวเองไม่ได้
หล่อนขาดใจตายในห้องดนตรีทันทีที่ร้องเพลงท่วมธรณีจนจบ “
ศพแรกผ่านไป แน่นอนว่าศพอื่น ๆ ต้องตามมา การสาปแช่งของครูเทิดทำให้เกิดการสังเวยชีวิตของคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ กว่าจะรู้ความจริงว่าสิ่งที่ตนทำมันเลวร้ายและวู่วามสิ้นดี ก็แน่นอนค่ะที่ต้องตามดูจนถึงตอนอวสาน แต่ ละครเรื่องนี้จะน่าติดตามมากขึ้นกว่านี้อีกเยอะ ถ้ามีแค่ 12 ตอน
ตีหัวเข้าบ้านแล้วปล่อยลอยลำอยู่กลางทะเล
ep1 เป็นการตีหัวเข้าบ้านดังโป๊ก ดำเนินเรื่องดี สนุก น่าติดตามแต่พอเราเดินมึน ๆ เข้ามาเท่านั้นแหละ เหมือนหลับแล้วตื่นอยู่กลางทะเลยังไงยังงั้น การดำเนินเรื่องเชื่องช้าจนรู้สึกว่า การดูย้อนหลังสบายกว่าเยอะเลย มีฉากให้กดข้ามเพราะขี้เกียจดูเยอะมาก โดยเฉพาะฉากของยชญ์ กับ เมญากร เข้าใจว่าละครต้องการปูทางความมุ้งมิ้งของคู่พระนางให้คนได้จิ้นสลับกับความหวีดหลอนกันบ้าง แต่นี่มันละครสยองขวัญไง การใส่ฉากมุ้งมิ้ง ฉากเปิ่น ๆ มุกขำ ๆ เข้ามาในหลาย ๆ ฉาก ทำให้อรรถรสของละครมันด้อยลงไป บวกกับการดำเนินเรื่องที่เชื่องช้าอย่างกับการเอื้อนในทำนองเพลงไทยก็ไม่ปาน เนื้อเรื่องวนไปวนมาไม่ก้าวไปข้างหน้า ซ้อมดนตรี ผีหลอก ซ้อมดนตรี ผีหลอก ลองนึกภาพงานแห่เทียนเข้าพรรษาดูค่ะ นางรำขบวนใหญ่รำแบบ ก้าว-ชิด-ถอย-ก้าว ตากแดดอยู่เป็นชั่วโมงกว่าขบวนเทียนจะแห่ไปถึงวัด
แต่ถึงจะลอยลำอยู่กลางทะเล ก็ไม่ได้อ้างว้างซะทีเดียว ระหว่างที่เรือลำน้อยล่องลอยตามสายธาราอยู่นั้น ก็มีฉากของการเท้าความหลัง มีฉากพ่อแง่แม่งอน ถ้าจะมองว่าให้พักเบรคเตรียมใจก่อนที่จะไปพบกับความน่ากลัว กระตุกใจ ก็ขอบคุณที่ทำให้เราได้มีช่วงพักกันบ้าง
บทหลวมขาดความดึงดูดจนน่าเสียดาย
เมื่อเปรียบเทียบกับบทประพันธ์ของ เจนศิลป์ ที่ได้ประพันธ์เอาไว้ อยากบอกว่าเสียดายอยู่พอสมควร ที่ละครทำไม่ถึงเท่าที่ เจนศิลป์ บรรยายเอาไว้สักเท่าไหร่ ในนิยายนี่พล็อตมันสนุกมาก ๆ เนื้อหาที่ใส่เข้ามาเพิ่มเติมบางฉากบางตอนทำให้ความสนุกที่ควรจะสนุก ถูกทอนลงไปจนน่าเสียดาย แต่ก็ได้คอสตูม และการให้แสง สี รวมถึงเทคนิคพิเศษต่าง ๆ เข้ามาเป็นคะแนนการผลิตที่น่าพึงพอใจ ถึงจะไม่ร้องว้าวออกมาดัง ๆ แต่ก็ไม่ร้อง ยี้ แบบละครเรื่องอื่น ๆ ในประเภทเดียวกัน
สิ่งที่ประทับใจกับเรื่องนี้ก็คือ CG ที่ไม่มากไม่มาย เรียกได้ว่าอยู่ในขั้นพอดิบพอดีและเข้ากับเนื้อหาของเรื่องได้อย่างลงตัว ถึงจะมีบางฉากที่ขัดหูขัดตาไปบ้างแต่ก็ไม่ได้อยู่ในขั้นขี้เหร่ การแต่งแอฟเฟกต์ที่ไม่หลอกตากับสีของละครและเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ดีไซน์มาแล้วจนสื่อได้ถึงความทุกข์ระทม ทำให้พรายสังคีตเป็นละครเพลงผีดนตรีไทยที่มีเพลงเพราะแบบขนลุก เรื่องหนึ่งเลยทีเดียว
รับชม พรายสังคีต ย้อนหลังได้ทาง bugaboo.tv
- บทประพันธ์โดย : เจนศิลป์
- บทโทรทัศน์โดย : ณ.ภัทรพร
- กำกับการแสดงโดย : เอกภพ ตันหยงมาศกุล
- ผลิตโดย : บริษัท มุมใหม่ จำกัด
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส