Our score
7.5[รีวิวซีรีส์] Reality Z – รอยกัดแหว่งวิ่นของประชาธิปไตยจอมปลอม
จุดเด่น
- บทเจ็บแสบตรงเอารายการเรียลลิตีมาวิพากษ์สังคมการเมือง
- มีฉากน่ากลัว และ ลุ้นระทึกอยู่ตลอด
- การดำเนินเรื่องชวนติดตาม มีหักมุมกลางซีซัน
จุดสังเกต
- โดยรวมไม่ได้แปลกใหม่ไปกว่าหนังหรือซีรีส์ ซอมบี้เรื่องอื่น
- ตัวละครค่อนข้างแบน ไม่มีมิติ
-
ตรรกะ ความสมบูรณ์ของบท
8.0
-
คุณภาพงานสร้าง
7.5
-
คุณภาพนักแสดง
6.0
-
ความสนุก และ สยองขวัญแบบหนังซอมบี้
8.0
-
ความคุ้มค่าเวลาในการติดตามชม
8.0
หนึ่งในแนวหนังหรือซีรีส์ที่มักจะดึงความสนใจจากคอหนังสยองขวัญได้เสมอคงหนีไม่พ้นหนังหรือซีรีส์แนวซอมบี้ ซึ่งพอหมดยุคจอร์จ เอ โรเมโร่ ที่ถือเป็นบิดาหนังซอมบี้แล้ว มรดกสำคัญนอกเหนือจากภาพลักษณ์ของซากศพเดินดิน การกระหายเนื้อมนุษย์ การกัดเพื่อแพร่เชื้อไปจนถึงวิธีกำจัดที่มุ่งเน้นการทำลายสมองทั้งใช้ปืนยิงและตัดหัวแล้ว เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าซอมบี้ยังคงถูกใช้เพื่อวิพากษ์วิจารณ์สังคม หรือการเมืองอยู่จนถึงปัจจุบัน
โดย Reality Z ซีรีส์ซอมบี้จากบราซิลเองก็ไม่เว้น และที่สำคัญวัตถุดิบอย่างสภาพสังคมการเมืองที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำต่ำสูงไปจนถึงการคอรัปชันของนักการเมืองที่กัดกินประเทศก็สามารถเอา “ซอมบี้” ในฐานะผีดิบตายซากไปเป็นหนึ่งในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองได้เป็นอย่างดี โดยบอกเล่าผ่าน 2 กลุ่มตัวละครที่ดูเหมือนจะได้แรงบันดาลใจมาจาก The Walking Dead ซีรีส์ซอมบี้ระดับโลกจากอเมริกาไม่น้อย
Reality Z แค่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามันจะต้องเกี่ยวกับรายการเรียลลิตีทีวี และรายการที่ว่าก็คือรายการ The Olympus โดยเอาวิมานของพระเจ้าเป็นฉากหลังและผู้เข้าแข่งขันจะถูกสมมติเป็นเทพองค์ต่าง ๆ โดยมีเจ้าของอย่าง บรานเดา (กิลเยอร์ม เวเบอร์) ผู้สมมติตัวเองเป็น ซุส เทพองค์สูงสุดเป็นผู้กำหนดชะตาแต่ละคนผ่านคะแนนโหวตจากทางบ้าน แต่เมื่อมีผู้ติดเชื้อหลุดเข้ามาและคร่าชีวิตผู้คน นีนา (อานา ฮาร์ตมานน์) โปรดิวเซอร์รายการจำต้องลุกขึ้นฝ่าฝูงผีดิบไปช่วยเหลือผู้เข้าแข่งขันและเอาชีวิตรอด
ส่วนอีกไทม์ไลน์ในการเล่าเรื่องซีรีส์ไปโฟกัสที่การเดินทางมายังสตูดิโอ The Olympus ของ เลโอ (ราเวล อันดราด) ชายหนุ่มที่แฟนสาวถูกกัดจนติดเชื้อและเขาต้องพา อานา (คาลา รีบาส) แม่ผู้ออกแบบสตูดิโอรายการเรียลลิตีดังกล่าวกลับไปยังบริษัทที่เฉดหัวเธอออกมาเพราะเป็นทางเดียวที่จะสื่อสารกับโลกภายนอกผ่านกล้องที่ถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมไปทั่วโลก และระหว่างทางนั้นเองพวกเขาก็จำต้องไปร่วมทางกับนักการเมืองอย่าง สส. อัลเบอร์โต เลวี (อีเมลิโอ เดอ มิลโย) พร้อมคริสตินา (จูเลีย ลานิลญา) พีอาร์สาวสวยและ ร็อบสัน (ปิแอร์ ไบเทลลี) ตำรวจสายผงเลือดเดือดเสพติดโคเคน โดยพวกเขาต้องเอาชีวิตรอดจากทั้งฝูงซากศพกระหายเนื้อมนุษย์และสัญชาติญานดิบของคน
แม้ Reality Z จะไม่ได้ให้มุมมองอะไรใหม่ ๆ ในการบอกเล่าหรือทำให้ซอมบี้มีวิวัฒนาการอะไรที่เพิ่มขึ้น แถมยังเป็นงานรีเมกมาจาก Dead Set มินิซีรีส์ของอังกฤษอีกด้วย แต่โดยส่วนตัวในฐานะคนที่ชื่นชอบหนังและซีรีส์ซอมบี้ติดตามแบบหว่านแหทั้งดีและเลว ก็ต้องบอกว่า Reality Z ถือเป็นซีรีส์ที่ดูสนุก มีความน่ากลัว ความแหวะ ในแบบที่ทำได้ถึงใจคอหนังซอมบี้นะครับ ที่สำคัญคือการบอกเล่าเรื่องราวที่ต้องบอกเลยว่า เดาทางไม่ค่อยถูกและตัวละครแต่ละตัวมันก็สามารถนำมาแทนภาพคนในสังคมการเมืองได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะบรรดาผู้เข้าแข่งขันในครึ่งแรกของซีซันที่มันจิกกัดบรรดาคนอยากดังทั้งหลายได้เป็นอย่างดี และการเอา Olympus หรือ วิมานพระเจ้ามาใช้เป็นฉากหลังรายการยังทำให้เห็นว่าคนต้นคิดไอเดียมีความล้ำลึกมาก เพราะทุกวันนี้คนเริ่มทำตัวเสมอเทพต่าง ๆ เข้าไปทุกทีและมันสะท้อนวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่รายการเรียลลิตีทำมาสนองและป้อนความยิ่งใหญ่ให้วงจรอุบาทว์ยังเดินหน้าต่อไปได้อย่างเจ็บแสบ
และที่สำคัญหลังจากผ่านวันโลกาวินาศแล้ว สถานะของคนดูซีรีส์ยังถูกเรื่องราวบีบให้เราตัดสินตัวละครไปเรื่อย ๆ ไม่ต่างจากตบหน้าคนดูอีกฉาด เมื่อเกิดจุดหักมุมและคนดีก็ไม่ได้หมายความว่าจะรอดจากวันโลกาวินาศเหมือนหนังหรือซีรีส์เรื่องอื่น ซึ่งตรงนี้มันทำให้เราลุ้นระทึกและเริ่มมองตัวละครทุกตัวอย่างพินิจพิเคราะห์และอยากติดตามไปจนจบได้เป็นอย่างดี
โดยส่วนตัวชอบมากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องราวในช่วงท้ายของซีซันที่บทบาทของซอมบี้เริ่มถูกลดความสำคัญลงเหลือแค่สถานการณ์และปล่อยให้เกมอำนาจระหว่างมนุษย์ดำเนินไปให้เราได้เฝ้าติดตามเลยทำให้เราได้เห็นความโสมมของคน โดยเฉพาะตัวนักการเมืองอย่าง ส.ส. อัลเบอร์โต เลวี ที่คิดหาประโยชน์จากวิกฤติด้วยหวังจะเป็นราชันย์ครองโลกใหม่โดยไม่สนความถูกต้องก็ช่วยให้เรื่องราวเข้มข้นและชี้ชวนให้เห็นถึงสัจธรรมข้อหนึ่งที่หนังซอมบี้ทุกเรื่องพยายามย้ำเตือนเรานั่นคือ ไม่มีอะไรน่ากลัวกว่ามนุษย์ด้วยกันอีกแล้วได้เป็นอย่างดี
โดยสิ่งที่เจ็บแสบที่สุดของบทซีรีส์คือการเอารายการเรียลลิตีที่อาศัยคะแนนโหวตมาเป็นฉากหลัง และมันถูกใช้เป็นกลไกในการ “คัดคนออก” ซึ่งแม้จะดูเป็นประชาธิปไตยในพื้นฐานความหมายที่ทุกคนยอมรับ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้เห็นว่าท้ายที่สุดเกมทั้งหลายก็ต้องถูกควบคุมด้วยผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น ซุส ที่มาประกาศผู้แพ้ในรายการ หรือ ส.ส. อัลเบอร์โต ที่แต่งตั้งตัวเองเป็นประมุขหลังเข้ามายึดอำนาจในสตูดิโอ
และเริ่มเกิดกลุ่มอำนาจใหม่เข้ามาคุกคามที่ทำให้เห็นว่า ท้ายสุดแล้วสิ่งที่กัดขาดความหมายของประชาธิปไตยให้แหว่งวิ่นในยามวิกฤติโรคระบาดหาใช่ซอมบี้ แต่คือผู้ปกครองที่ไม่ได้มองมนุษย์เท่ากัน ยิ่งช่วงหลังพอมีตัวละครใหม่ ๆ โผล่มาเราก็จะยิ่งได้เห็นธาตุแท้ของตัวละครแต่ละคนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นความคมคายของบทที่เอาวัฒนธรรมพอปอย่างซอมบี้มาวิพากษ์การเมืองได้โคตรฉลาดและแสบถึงทรวง
โดยสรุปแล้วข้อดีสำคัญของ Reality Z คือความสนุกแบบคนบอผีบ้าป่าช้าแตกที่หยิบจับความประสาทแตกของมนุษย์มาตีแผ่แบบไม่ยั้ง ทั้งคนอยากดัง คนอยากรอด และคนอยากมีอำนาจ จริงอยู่ว่าหากมองในเชิงศิลปะการกำกับการแสดงแล้วก็ต้องบอกว่าตัวละครแต่ละตัวค่อนข้างแบน ไม่ค่อยมีมิติเท่าที่ควรและการตีความซอมบี้ก็ไม่ได้ต่างจากหนังหรือซีรีส์ซอมบี้เรื่องอื่น แต่มันตอบสนองคนดูที่ต้องการความตื่นเต้นได้ดีนะ แม้หลายครั้งตัวละครจะทำอะไรโง่ ๆ ให้ต้องลำไยบ้างก็ตาม
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส