Our score
8.2[รีวิว] 14 วัน ฉัน(ไม่)เปลี่ยน My Quarantine Days : ฮั่นแน่! มีของอร่อยซ่อนอยู่ในละครเรื่องนี้นะ
จุดเด่น
- พล็อตทันสมัย ทันเหตุการณ์ บทที่ใส่มาในแต่ละตอนมาอย่างถูกจังหวะ
- เรื่องนี้รวมนักแสดงคุณภาพระดับครู ถือว่าคุ้มมาก ๆ กับเวลาที่ให้ในการรับชม
- นักแสดงรุ่นใหม่แสดงได้ดีเป็นธรรมชาติ เด็ก ๆ เก่งนะขอชมนิดนึง
- เป็นละครน้ำดีที่ควรค่าแก่การรับชม
จุดสังเกต
- อยากได้ Mood and Tone ที่เปลี่ยนอารมณ์ได้ชัดกว่านี้อีกสักหน่อยจะสมบูรณ์เลยละ
-
ความสมบูรณ์ของบท
7.0
-
คุณภาพงานสร้าง
6.0
-
คุณภาพนักแสดง
10.0
-
คุณภาพการเล่าเรื่อง
8.0
-
ความคุ้มค่าในการรับชม
10.0
เรื่องราวของสองครอบครัวบ้านใกล้เรือนเคียง ในช่วงกักบริเวณ ที่เกิดขึ้นใน 14 วัน แต่ละวันชะตาชีวิตของพวกเขาจะถูกเล่าผ่านปรากฏการณ์โควิด-19 ไม่ว่าร้ายหรือดี ในท้ายที่สุด เราจะเห็นความงามของการเริ่มต้นใหม่ การกลับมามองคนข้าง ๆ อย่างใกล้ชิด รู้จักกันใหม่อีกครั้ง เรียนรู้และเติบโตจากวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
ธีมของเรื่องเขาก็โปรยมาอย่างนี้นะจ๊ะ ถือเป็นพล็อตที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์อย่างกับนั่งอยู่ข้าง ๆ ชนิดที่หายใจรดต้นคอกันเลยแหละ ในเรื่องก็จะมีตัวดำเนินเรื่องอยู่ 8 คน เล่าเรื่องราวของคนทั้ง 8 ในช่วงเวลาที่ทุกคนต่างต้องใช้ชีวิตอย่างระแวดระวังภายในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ปั้น (ภีมพล พาณิชย์ธำรง) เป็นยูทูบเบอร์ที่ไลฟ์ชีวิตตัวเองไปนั่นมานี่ในช่อง “ความน่าจะไป” แต่พอมาเจอสถาณการณ์ที่ต้องกักตัวเพื่อความปลอดภัย ก็ทำให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบรายการตัวเองใหม่โดยเป้าหมายที่ได้ก็คือเรื่องของ บ้านตรงข้าม
ปั้นเขามีพ่อคือ ประภพ (สุนนท์ วชิรวราการ) กับแม่ชื่อ อนงค์นุช (เยาวลักษณ์ เมฆกุลวิโรจน์) เป็นกรรมการหมู่บ้าน ก็จะมีเรื่องเมาท์มอยกับลูกบ้านเป็นประจำในไลน์หมู่บ้าน บางเรื่องก็มโนเป็นตุเป็นตะ มี คุณปู่ปกรณ์ (ประดิษฐ ประสาททอง) เป็นคนชอบเที่ยวที่วัน ๆ ก็อยากจะออกจากบ้านทั้ง ๆ ที่ลูกไม่ให้ออกแล้วก็สนใจบ้านตรงข้ามเป็นพิเศษ ด้วยการแอบยกกล้องส่องทางไกล แอบดูชีวิตของเขาอยู่ทุกวัน
แล้วอยู่ ๆ เมซเซนเจอร์ที่มาส่งของเป็นประจำก็บอกว่า บ้านนี้มีผู้หญิงคนหนึ่งสั่งให้เอาอาหารมาส่ง แต่พอมาส่งถึงบ้านแล้วมีแต่หญิงชราออกมารับ แล้วบอกว่าบ้านนี้ไม่มีผู้หญิงสาว ๆ อาศัยอยู่ ว้ายยย!! การมโนว่าบ้านนี้น่าจะมี “ผี” ก็เกิดขึ้นและย้ำความน่าจะเป็นหนักขึ้นไปอีกด้วยการยืนยันจาก รปภ.คม(ธีระวัฒน์ มุลวิไล) ตัวปล่อยข่าวลือประจำหมู่บ้าน หญิงชราที่ออกมารับของเนี่ยแกคือ คุณย่าวิจิตรา (ศุภลักษณ์ อุตตมะเวทิน) แกเป็นอัลไซเมอร์ อาศัยอยู่กับลูกชายชื่อ วิชิต (คานธี วสุวิชย์กิต) เป็นเจ้าของร้านดอกไม้
ทุกวัน วิชิต จะเอาถุงขยะใบใหญ่ใส่ไว้ท้ายรถและเอาไปทิ้งนอกหมู่บ้าน ไม่รู้ทำไมไม่ยอมทิ้งที่ถังขยะหน้าบ้านตัวเอง ทำตัวลับ ๆ ล่อ ๆ เหมือนกลัวจะมีใครมาเห็น บางคืนเวลาที่ปู่ปกรณ์ แอบส่องบ้านของวิชิต ก็เห็นหญิงสาวยืนอยู่ที่หน้าต่างอีกบาน บางวันที่ปั้นเอาชานมไข่มุกไปวางไว้ที่รั้วเพื่อเซ่นผี ชานมไข่มุกก็หายไปพร้อมกลับมีข้อความตอบกลับมาในคอมพิวเตอร์ว่า “ชานมไม่อร่อย” ความเชื่อว่าบ้านนี้มีผีก็ยิ่งแพร่สะพัด เป็นข่าวลือซุบวิบว่าวิชิตฆ่าเมียน้อยตายแล้วหมกไว้ในบ้านไปซะฉิบ เรื่องมันเกือบจะทำให้เข้าใจไปในทางนั้นอยู่แล้วละ แต่สุดท้ายความจริงก็ปรากฎว่าหญิงสาวลึกลับคนนั้นคือ ริน (นัฐรุจี วิศวนารถ) จากการเผือกเรื่องชาวบ้านของปั้นอย่างเต็มพิกัดเพราะต้องการทำคอนเทนต์เรื่องผีไปลงช่องยูทูบของตัวเอง
บทที่เล่นกับการหลอกแล้วหลอกอีก
รินคือใคร มีความสัมพันธ์อย่างไรกับวิชิต มาอยู่ในบ้านหลังนี้ทำไม เหตุใดไม่มีคนในหมู่บ้านรู้เห็น เรื่องนี้ก็มีการหลอกอยู่สองตอนสามตอน พอเฉลยก็แหม…แค่นี้ก็จะต้องมาหลอกกันด้วย ก็ถือว่าเล่นกับความอยากรู้ของตัวละครในเรื่องและคนดูได้พอสมควร แต่ก็แอบเดาได้ในบริบทของความน่าจะเป็น แล้วก็เดาไม่ผิดซะด้วย บทยังมีการหลอกซ้ำหลอกซ้อนและซ่อนปมไปตลอดทั้งเรื่อง เรียกได้ว่าทุก EP มีเรื่องอมพะนำอยู่ตลอดเส้นทาง เล่นกับการคิดไปเอง เล่นกับการตัดสินคนเพียงด้านเดียว ซึ่งเป็นความจริงของคนในสังคมทุกวันนี้ที่มักจะเชื่ออะไรเพียงด้านเดียว ตัดสินกันง่ายดายไปซะแล้วก่อนจะสืบค้นหาความเป็นจริง
มีการใส่คำพูดเด็ด ๆ ประโยคกินใจมาตลอดทั้งเรื่อง มันดีนะถ้าคำพูดเหล่านี้จะนาน ๆ โผล่มาที แต่พอประโยคทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ จากคำพูดของคนหลายคน มันทำให้ความเป็นธรรมชาติการสื่อสารของมนุษย์ มันถูกลดทอนลงไป แทนที่จะสร้างจุดสะกิดในใจได้แบบปัง ๆ โดน ๆ บางครั้งก็ทำให้ผู้ชมละเลยคำพูดนั้น ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย คือมันผ่านหูไปเลยโดยไม่มีอะไรกั้น แต่ถ้าย้อนกลับไปฟังอีกครั้ง ข้อคิดที่สอดแทรกเข้ามาสามารถเอามาเตือนใจได้ดีเลยทีเดียว
ชอบมาก ๆ อยู่ช่วงหนึ่งค่ะ ที่หนุ่มสาวสองคนนี้เขาพากันหนีลูก ๆ ออกไปเที่ยวนอกบ้าน อารมณ์ของภาพยนตร์เรื่อง ความจำสั้น…แต่รักฉันยาว หวนกลับมาย้ำให้นึกถึงอีกครั้ง อารมณ์มันได้ออกมาประมาณนั้น เป็นช่วงฟีลกู๊ดผสมกับการหวนรำลึกความหลังที่ยากจะลบเลือนแม้สูญเสียความทรงจำ เศร้าเล็ก ๆ แต่ก็แอบสุขหน่อย ๆ คลอไปกับเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาที่เสียงร้องเป็นผู้หญิง เพราะมาก ๆ (หาไม่เจอด้วยสิว่าใครเป็นคนร้อง)
หมุดหมาย(ไม่)เล็ก ที่สอดแทรกมาในละคร
หน้าฉากอาจจะดูเหมือน 14 วัน ฉัน(ไม่)เปลี่ยน จะเป็นละครเกี่ยวกับเรื่องราวของ สถาณการณ์ไวรัส เพื่อนบ้าน ความรักของหนุ่มสาวอย่างที่ได้โปรยหัวเอาไว้ตั้งแต่ครั้งโปรโมตว่า “ไวรัสก็ต้องระวัง ข้างบ้านก็ต้องระแวง หนึ่งเรื่องของหัวใจก็ต้องหาคำตอบ” แต่ละครก็สอดแทรกเรื่องราวในอดีตที่เป็นนัยและความคาดหวังมาถึงปัจจุบันอยู่เสมอ ๆ แล้วก็เยอะซะด้วยสิ เหมือนกับพยายามจะตอกย้ำให้ชัดลงไปว่า อุดมการณ์ยังคงอยู่และความคาดหวังไม่เคยจางหาย ความเหลื่อมล้ำยังคงเดิมและหัวใจที่ร้องหาความเท่าเทียม ยังเต้นอยู่เสมอ เพียงแต่บริบทที่เกิดขึ้นมันต่างกรรมต่างวาระ
ความหมายแฝงที่ซ่อนอยู่ในละคร มันสามารถตีความออกไปได้เป็นกระบุงโกยเลยละค่ะ เพียงแต่การตีความในส่วนนี้ต้องอาศัยความเข้าใจในบริบทของยุคสมัย ความรู้ที่ช่ำชองเรื่องประวัติศาสตร์พอสมควร จิต ภูมิศักดิ์ เป็นใคร เพลง แสงแดวแห่งศรัทธา มีความหมายอะไรบ้างกับประวัติศาสตร์ยุคนั้น มีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นบ้างในหนังสือ ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ถ้าหากจะมองแค่มุมของการตีแผ่สภาวะความอยุติธรรมในสังคม ก็มองได้ถ้าหากว่าจะมองไปทางนั้น แต่ความหมายแฝงที่ใส่เข้ามาเป็นระยะก็ยากจะฟันธง เพราะตั้งแต่เพลง หนังสือ ภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือแม้แต่ แฮมเลต ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ ก็เป็นเรื่องละเมียด ที่สามารถแทรกซึมไปได้ทุกบริบท ในสังคมชีวิตของเราทุกวันนี้นั่นแหละ
โปรดักชันและฝีมือนักแสดง
เรื่องนี้ สิ่งที่เห็นชัด ๆ ก็คือ Mood and Tone ที่อบอุ่น โรแมนติก ให้อารมณ์ของคำว่า “บ้าน” ถือว่าเข้ากับบทและพล็อตเรื่องที่นำเสนอ สร้างบรรยากาศของครอบครัวอบอุ่น มีการเปลี่ยนโทนดึงอารมณ์ให้เรา (เกือบ) จะหลงเชื่อไปกับการเล่าเรื่องในแต่ละตอน (ถ้าไม่เฉลยซะก่อนก็จะเชื่อไปแล้ว) เห็นถึงความตั้งใจในส่วนนี้ชัดเจนเลยนะแต่ก็แอบเสียดายว่า บทสนทนาในบางช่วงให้ความรู้สึกถึงคำว่า “ไม่สุด” อีกนิดเดียวอารมณ์ต่าง ๆ จะสุดอยู่แล้ว แต่กลับเอื้อมไม่ถึงทั้ง ๆ ที่นักแสดงทุกคนเป็นนักแสดงที่มากฝีมือ
ทุกคนเลยนะคะ อาจจะมีเอ็กซ์ตร้าแค่คนสองคนที่เข้าใจได้ถึงความใหม่แต่ก็ปล่อยผ่านไปได้ค่ะ แต่ส่วนของนักแสดงนำทั้ง 8 คนถือว่าเอาอยู่ในแต่ละบทบาทที่ได้รับ โดยเฉพาะเรื่องนี้ได้ พี่ตั้ว ประดิษฐ ประสาททอง ผู้เขียนบท ผู้กำกับและนักแสดงละครเวทีจากกลุ่มละครมะขามป้อม ศิลปินเจ้าของรางวัล ศิลปาธร ปี 2547 มารับบทเป็น คุณปู่ปกรณ์ ได้นักแสดงละครเวที กวี นักแต่งเพลง อย่าง คานธี วสุวิชย์กิต มารับบทเป็น วิชิต สุนนท์ วชิรวราการ นักแสดง Solo Dance และครูสอนการแสดง มารับบทเป็น ประภพ ธีระวัฒน์ มุลวิไล นักแสดงPhysical Theatre ศิลปินศิลปาธรปี 2561 รับบทเป็น รปภ.คม 4 คนนี้คือตัวพ่อของวงการละครเวทีเลยนะ ดิฉันถือว่าคุ้มแล้วกับการให้เวลาในการรับชมละครเรื่องนี้
ตอนนี้ออกอากาศมา 12Ep แล้วนะ Ep ละประมาณ 25-27 นาที สั้น ๆ ดูง่าย แป๊ปเดียวจบ
14 วันฉัน(ไม่)เปลี่ยน My Quarantine Days
- ผลิตโดย : ไทยพีบีเอส
- ออกอากาศ : ทุกวันเสาร์ – อาทิตย์เวลา 20:15 – 20:45 น. Thai PBS กดหมายเลข 3
- รับชมออนไลน์ทาง : VIPA เวลา 21:30 น. และ LINE TV เวลา 22:00 น.
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส