[รีวิวละครเวที] ละครเวที ซ้อม 6 ปี ยังไม่ได้เล่น : ปลดความคิด ปล่อยความบันเทิงในสไตล์ “สัจนิยม”
Our score
8.6

กำกับ

Sebastian Zeballos

เปิดแสดงวันที่

12-15 / 19-22 / 26-29 ส.ค. 63 เวลา 19:30 น.

สถานที่เปิดแสดง

Spark Drama Studio ชั้น 2 อาคารจัสมินซิตี้ สุขุมวิท 23

บัตรราคา

บัตรราคา 550 บาท (จำกัด 25 ที่นั่ง/รอบ)

ช่องทางจัดจำหน่าย

Crystal Theatre

[รีวิวละครเวที] ละครเวที ซ้อม 6 ปี ยังไม่ได้เล่น : ปลดความคิด ปล่อยความบันเทิงในสไตล์ “สัจนิยม”
Our score
8.6

[รีวิวละครเวที] ละครเวที ซ้อม 6 ปี ยังไม่ได้เล่น : ปลดความคิด ปล่อยความบันเทิงในสไตล์ “สัจนิยม”

จุดเด่น

  1. เป็นนักแสดงรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ ส่งอารมณ์มาถึงคนดูได้จัง ๆ
  2. สายสัจนิยมควรดูค่ะ
  3. เป็นการดูละครเวทีที่ใกล้ชิด เหมือนแอบดูเพื่อนบ้านอยู่ในเงามืด

จุดสังเกต

  1. ตัดคะแนนพื้นที่รับชมนะคะ ที่นั่งแถว 2 ด้านใน ไม่สามารถเห็นการแสดงได้ทั่วถึง ขาดอรรถรสในบางช่วงบางตอนไปเยอะเลย
  • ความสมบูรณ์ของบท

    10.0

  • คุณภาพนักแสดง

    10.0

  • ฉาก แสงสี แสียง

    8.0

  • สถานที่กับอรรถรสที่ได้

    7.0

  • ความคุ้มค่าในการรับชม

    8.0

ดัดแปลงจากบทละครเวทีชิลี เรื่อง TRYING TO CREATE A PLAY THAT WILL CHANGE THE WORLD

เรื่องราวหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ในประเทศกำลังพัฒนาแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลแสนไกล มีกลุ่มนักแสดงหนีลงใต้ดิน เพื่อซุ่มซ้อมละครเวทีที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เป็นเวลา 6 ปี ด้วยความปรารถนาเดียวของพวกเขาก็คือ “การเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้”

ห้องใต้ดินแห่งความบันเทิง

ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย มีกลุ่มนักแสดงละครเวทีกลุ่มหนึ่ง ซุ่มซ้อมทำการแสดงอยู่ในห้องเล็ก ๆ ที่ Spark Drama Studio ชั้น 2 อาคารจัสมินซิตี้ จำลองบรรยากาศเป็นห้องใต้ดินให้เหมือนกับว่า เรากำลังนั่งดูพวกเขาซ้อมการแสดงและถกเถียง ปลดเข็มขัดความคิดกันอยู่ในห้องใต้ดินที่ไหนสักแห่งจริง ๆ เป็นเรียลลิตี้ลูกผสมที่เขย่าความคิดออกมาได้กลมกลืน อิ่มอร่อย พริกขิงข่าตะไคร้ ประโคมโหมใส่ลงไปอย่างแซบลิ้น เปิดฉากด้วยการซ้อมบทของ แทน-ณพล วรรณโชติ และ แก๊ป-สิระ สิมมี กับประโยคที่ว่า “เราเกิดมาในเจเนอเรชัน ที่ไม่เคยลำบากเลยสักนิดเดียว

ละครเวที ซ้อม 6 ปี ยังไม่ได้เล่น

ถือเป็นงานละครแนวสัจนิยมอารมณ์ศิลป์ ที่จิกกัดสังคมและสะท้อนแง่มุมความคิดของคนสองเจนเนอร์เรชันอยู่เป็นระยะ ๆ ใช้คำว่าเสียดสีเหตุการณ์บ้านเมืองอยู่กลาย ๆ ได้ไหม…ก็ตอบว่าได้ ใช้คำว่าตัดพ้อประชดประชันได้ไหม ก็บอกว่ายิ่งได้เข้าไปใหญ่ เนื้อหาในส่วนของการแสดงไม่ได้โจ่งแจ้งหรืออึมครึมจนน่าอึดอัด ถึงแม้จะชูประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางความคิดของคนต่างวัย ที่เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นเนื้อหาหลักที่พยายามส่งสาส์นมาถึงผู้ชม แต่ก็สามารถทำให้เข้าใจได้ ยอมรับได้อย่างกลมกลืน

ในส่วนนี้ก็ต้องชมคนเขียนบทที่เขียนออกมาในมุมมองที่เข้าอกเข้าใจถึงความรู้สึก เข้าใจความต่างทางความคิดและทำให้รู้สึกได้ว่า ไม่ได้สุดโต่งหัวชนฝาจนเกิดความรู้สึกค้านในใจ ยังมีความเคารพซึ่งกันและกัน ถึงจะมีบางช่วงบางตอนของบทละครที่บอกชัดเจนว่า “พวกเขากำลังเรียกร้อง” แต่ก็ให้ความรู้สึกว่านี่ก็เป็นเพียงเสียงสะท้อนจากก้นบึ้งของกลุ่มคนอีกวัยหนึ่ง ที่มีอุดมการณ์ทางความคิดในด้านดีอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง

ฉาก แสงสี เสียง

ในส่วนนี้ละครเล่นกับความง่ายแต่ยาก ฉากง่าย ๆ ที่บวกกับการเล่นยาก ๆ ที่ต้องอาศัยฝีมือของนักแสดงล้วน ๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงที่ สื่ออารมณ์ดิบ ๆ แต่แฝงความนัยและให้ความรู้สึกคล้ายจริง วัสดุรอบตัวที่หยิบมาใช้ประกอบฉากแทบไม่ได้ประดิดประดอยอะไรนัก ก็อยู่ในห้องใต้ดินนี่ แอบซ้อมละครกันอยู่ไม่ใช่เหรอ จะวิลิศมาหราอะไรล่ะท่านผู้ชม นี่มันไม่ใช่การแสดงจริงซะหน่อย แต่เรากำลังมาดูพวกเขาแสดงการซ้อมการแสดงที่หวังว่าจะได้เล่นกันอยู่ต่างหากล่ะ

ละครเวที ซ้อม 6 ปี ยังไม่ได้เล่น

เป็นการสื่อสารด้วยพื้นที่แคบ ๆ กับแสงสีทึมทึบและพลังเสียงที่กึกก้องของคน 5 คน โดยไม่ผ่านไมค์ หรือ ใช้ไมค์แค่ตัวเดียวในบางคิว จนทำให้เรารู้สึกว่าที่นี่คือห้องใต้ดินที่ว่านั่นได้จริง ๆ ชอบค่ะ อารมณ์ร่วมมาเต็มเลยนะกับการดูละครครั้งนี้ เรื่องขัดใจครั้งนี้มีอยู่เรื่องเดียวเท่านั้นคือ ผู้ชมแถวหลังไม่สามารถมองการแสดงได้ทั่วถึง ฉากนี้ดิฉันไม่เห็นเลยนะคะว่า แทน เข้าไปนอนอยู่ในกล่อง

ละครเวที ซ้อม 6 ปี ยังไม่ได้เล่น

นักแสดงทั้ง 5 คือที่สุด

เรื่องนี้มีตัวแสดงแค่ 5 คน แต่เป็น 5 คนที่อัดแน่นด้วยคุณภาพ ดูเพลินมากกก…ขอใช้คำนี้เลยแล้วกัน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 30 นาทีที่คุ้มมาก ๆ กับการดูละครดี ๆ เรื่องหนึ่ง แต่ละคนรับส่งบทกันได้ดีและเข้าขา การวางบล็อกกิ้งที่เป๊ะปัง โชะเชะ ทำให้อรรถรสของการชมละครไหลลื่นไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีสะดุด ชอบเป็นพิเศษกับบทบาทการแสดงของ ออม-มานิตา ชอบชื่น เจ้าแม่วีแกนแห่งห้องใต้ดิน ที่บรรดาสมาชิกที่เหลือลงความเห็นแล้วว่าเธอไม่สามารถเป็นผู้นำได้ เพราะสัตว์กินพืชอย่างวัวไม่เคยได้เป็นเจ้าป่า (ณ จุดนี้ดิฉันเคืองเล็กน้อย อะไรวะวัวมันก็มีเขาขวิดคนตายได้นะเฟ้ย)

ละครเวที ซ้อม 6 ปี ยังไม่ได้เล่น

ไม่ว่าจะเป็นบทของ โจ้-ชลธภัจฐ์ นิ่มรัตนสิงห์, แก๊ป-สิระ สิมมี แต่ละคนเล่นดีมากค่ะ พลังเสียงและอินเนอร์ต่าง ๆ สามารถส่งออกมาถึงคนดูที่อยู่ห่างไปอีก 2 เมตรได้จัง ๆ ทำให้เห็นได้ชัดเจนเลยว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ทุกคนผ่านการซ้อมมาอย่างหนักและจริงจังกับการแสดงครั้งนี้แค่ไหน รวมถึง จุ้ย-พัฒนพงศ์ ปิ่นอมรรัตน์ ที่ดิฉันก็ได้แต่รอคอยว่าเมื่อไหร่เขาจะลุกขึ้นมาจากตรงนั้นสักที

การแสดงในแต่ละช่วงทำให้เกิดอารมณ์ร่วมได้หลากหลายความรู้สึกเอามาก ๆ ทั้งเข้าใจในบริบทความเป็นจริงที่ว่าทำไมพวกเขาเหล่านี้ ถึงอยากจะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิ่งที่เขาอยากได้ อยากมี

ขบขันกับท่าทางและการแสดงออก มุกตลกที่สอดแทรกเข้ามาตลอดเรื่องแบบเป็นธรรมชาติ เรียกว่าหลุดฮาออกมาบ่อย ๆ กันเลยแหละ แอกติ้งของนักแสดงทุกคนนี่เรียกได้ว่าผ่านฉลุย เล่นใหญ่แต่ไม่เวอร์วังจนเกินงาม มันพอดิบพอดีจนถึงขั้นถูกใจ

เห็นใจในบทบาทที่แต่ละคนได้รับ ในสิ่งที่กำลังร่วมใจกันทำอยู่ว่ามันยากขนาดไหน หากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส