จำนวนตอนต่อซีซัน
4 ตอน
Our score
8.5[รีวิว] Challenger: สารคดีบีบหัวใจ ไขเหตุแห่งหายนะในระดับองคาพยพ!
จุดเด่น
- ลำดับเหตุการณ์และเล่าเรื่องเข้าใจง่าย
- ดูออกว่าอะไรคือฉากใหม่และภาพจริง แต่นำมาตัดต่อได้ดีไม่มีสะดุด
- ภาพสวย จับจุดเด่นของภาพที่เชื่อมต่อกันได้ดี
- นำเสนอข้อมูลหลายด้าน สร้างสมดุลระหว่างข้อเท็จจริงและอารมณ์ของผู้สัมภาษณ์ได้ค่อนข้างดี
จุดสังเกต
- การเชื่อมต่อด้วยเสียงบรรยายที่ไม่ตรงกับภาพ ทำให้บางครั้งอาจเกิดความสับสนไปบ้าง
- ใช้เวลาเล่าเรื่องทั้งหมดนานไปหน่อย
- บางประเด็นขยี้ซ้ำมากไปนิด
-
ความสมบูรณ์ของเนื้อหา
8.5
-
คุณภาพงานสร้าง
8.5
-
ประเด็น
8.8
-
การตัดต่อ ลำดับ และการดำเนินเรื่อง
8.5
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
8.0
ในบรรดากระสวยอวกาศของนาซา ‘Challenger’ เป็นกระสวยที่ถูกจดจำเป็นลำดับต้น ๆ ด้วยเหตุว่ามันคือ ‘หายนะ’ ครั้งใหญ่ในระดับมวลมนุษยชาติ ที่คร่าชีวิตนักบินอวกาศไปถึง 7 คน และหนึ่งในนั้น เป็นนักบินอวกาศ ‘คุณครู’ ลูกเรือพลเรือนรายแรกในประวัติศาสตร์การเดินทางสู่อวกาศ ที่จะทำการ ‘สอน’ นักเรียนจากอวกาศเป็นครั้งแรกเช่นกัน และทุกครั้งที่เรื่องนี้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในสื่อต่าง ๆ ก็สร้างความปวดใจให้ผู้ที่รับรู้เรื่องราวอยู่เสมอ สารคดี Challenger: The Final Flight นี้เองก็เช่นกัน แต่ที่ยิ่งไปกว่าความเศร้าชวนหดหู่นั้นคือ การตีแผ่ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง ทำให้เราเข้าไปสำรวจเรื่องราวด้วยความอิน และสร้างเข้าใจให้เห็นภาพรวมและต้นตอของหายนะได้อย่างน่าทึ่ง
ซีรีส์สารคดีความยาว 4 ตอนนี้ ฉายทาง Netflix ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นผลงานของโปรดักชันนาม J.J. Abrams’ Bad Robot และเป็นผลงานร่วมกำกับของ Daniel Junge ผู้กำกับภาพยนตร์รางวัลออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยมจากผลงานเรื่อง Saving Face และ Steven Leckart ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเจ้าของรางวัล Sports Emmy Award แค่ดีกรีผู้กำกับเราก็ลุ้นแล้วว่าสารคดีเรื่องนี้จะทำให้เราทึ่งได้หรือไม่ แล้วมันก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง
ฉากเปิดเริ่มต้นนั้นค่อนข้างน่าประทับใจ อาจเพราะเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นี้เป็นหายนะครั้งแรงร้ายที่รู้การไปทั่ว การเปิดเรื่องจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกดี ๆ ที่อวลอยู่ในช่วงเวลานั้น แต่ทันทีที่เข้าช่วงน่าใจหาย สารคดีก็ใช้วิธีให้เห็นภาพแห่งความน่าสะเทือนใจแป๊บเดียวเท่านั้น และนั่นก็ดึงอารมณ์ให้เราซึ่งเป็นผู้ชมชวนสงสัยต่อได้ดีกว่าการตอกย้ำหรือขยี้เรื่องน่าเศร้าตั้งแต่ต้นเรื่อง จากนั้น จึงนำเราเข้าไป ‘เรียนรู้’ เหตุการณ์ประวัติศาสตร์และความน่าทึ่งของมันตั้งแต่จุดเริ่มต้น
ช่วงต้นที่เล่าถึงความเป็นมาเป็นไปนั้น สารคดีใช้วิธีการเล่าถึงชีวิตและประวัติของนักบินแต่ละคน เพื่อดึงเอาความรู้สึกร่วมให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกอยากติดตามเอาใจช่วย ที่ทำให้เกิดความเห็นใจตามมา โดยใช้ฟุตเทจเก่า ๆ ที่เคยให้สัมภาษณ์ ตลอดจนการสัมภาษณ์ของญาติมิตรใกล้ชิดที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนัก แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อเดินเรื่องไปเรื่อย ๆ มีการนำผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการบวกกับการให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระสวยอวกาศมาตัดสลับ ช่วยให้เราค่อย ๆ เข้าใจภาพรวมทั้งหมดของภารกิจ แง้มให้เห็นข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งหายนะทีละนิด ดึงดูดให้อยากติดตามต่อไปเรื่อย ๆ และมันก็นำมาสู่ความเข้าใจในภาพรวมในตอนหลังได้
นอกจากนี้ มีหลายครั้งในสารคดีที่ใช้ภาพที่ถ่ายทำขึ้นมาใหม่มาช่วยเชื่อมต่อเดินเรื่อง ทว่า ด้วยการเลือกใช้ภาพและตัดต่อที่ค่อนข้างถูกจังหวะทำให้ภาพใหม่เล่านั้นก็ดูเนียนกลืนใช้ได้ บางภาพยังช่วยขยายความรู้สึกของผู้ให้สัมภาษณ์ ทั้งที่ในสารคดีไม่ได้เผยให้เห็นสีหน้าของตัวละครที่นำมารีเมคเป็นบุคคลนั้นสักนิด ขณะเดียวกัน ด้วยความที่มีผู้เกี่ยวข้องในเรื่องราวหลายคนหลายฝ่าย ก็ทำให้มีบางขณะที่รับชมเกิดความสับสนว่าใครเป็นใครอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วการลำดับภาพที่ดีก็ช่วยให้จุดที่หลุดหรือสับสนนี้เกิดขึ้นไม่มากนัก
นอกจากภาพ งานลำดับเสียงก็มีช่วงชวนให้สับสนอยู่บ้าง เนื่องจากบางช่วงบางตอนมีการใช้เสียงเป็นตัวเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นถัดไปคือใช้ประโยคหรือวลีเด็ดของสิ่งที่จะกล่าวต่อไปขึ้นนำ โดยที่ยังค้างภาพในประเด็นเดิมอยู่ ก็อาจทำให้คนที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารดาราศาสตร์อวกาศมากนักเกิดความสับสนได้ (แต่สำหรับคนที่พอจะรู้ข้อมูลตรงนี้จะไม่สับสนเลย)
นอกจากจะเปิดเผยข้อเท็จจริงทีละนิด ความเด็ดดวงของสารคดีเรื่องนี้ยังอยู่ที่จะจัดวางไทม์ไลน์ของเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมอันเแบ็กกราวด์ของเรื่องราวทั้งหมดได้อย่างน่าทึ่ง ขณะรับชมเราจะรู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับเข้าไปสู่ช่วงเวลานั้น (แม้เราจะไม่รู้ว่าช่วงเวลานั้นจริง ๆ จะเป็นแบบนั้นหรือไม่ก็ตาม) ทำให้เราตะหนักถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องรายล้อมได้ไปทีละน้อย ทำให้เห็นว่าปัญหาต่าง ๆ ไม่ได้เกิดจากแค่จุด ๆ เดียว และเราก็ไม่อาจสามารถกล่าวโทษได้ว่าเป็นแค่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่งได้อย่างชัดเจน
การเลือกนำเสนอในมุมมองที่หลากแง่มุม นับเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่สารคดีควรเป็น และสารคดีเรื่องนี้ก็ชักจูงให้เราค่อย ๆ สำรวจที่ละประเด็น ทีละจุดได้ค่อนข้างดี แม้ว่าอาจจะมีการเลือกให้น้ำหนักผู้ให้สัมภาษณ์ ทำให้เกิดความเอนเอียงและชักจูงผู้ชมอยู่บ้าง แต่ก็ยังถือว่านำเสนอได้ค่อนข้างรอบด้าน เกินกว่าที่คาดไว้
เหตุที่เราว่าเกินกว่าที่คาดไว้อีกอย่างนั่นคือ การที่สารคดีทำให้เราเห็นความ ‘ลำพอง’ ของทั้งนาซาและชาวอเมริกันส่วนใหญ่ในตอนนั้นได้ ทั้งยังทำให้เราเข้าใจถึงสาเหตุของความรู้สึกเช่นนั้นได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเราไม่คาดว่าผู้กำกับชาวอเมริกาจะกล้าจิกกัดทั้งรัฐบาล นาซา และผู้คนในห้วงเวลานั้น รวมถึงกล่าวเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการเมืองได้อย่างชัดแจ้งถึงเพียงนี้ แถมบางจังหวะถึงกับทำให้เกิดความรู้สึก ‘ตลกร้าย’ ได้เลยด้วยซ้ำ
ทั้งยังมีความกล้าที่จะเล่าเรื่องโดยใช้เอกสารต่าง ๆ ที่ชัดเจน และใช้คำถามที่ทำให้ผู้สัมภาษณ์พูดแสดงทัศนะออกมาได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด ทำให้เราได้เข้าใจว่าแต่ละคนที่เกี่ยวข้อง ‘แบกรับ’ ความรู้สึกอย่างไรไว้บางในหลายปีที่ผ่านมา (ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นบทลงโทษที่โหดมากพอแล้ว) ความ ‘เรียล’ และ ‘จริงใจสุด ๆ’ นี่เองที่ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ท่วมท้นขณะดู แต่ในขณะเดียวกัน อาจจะเพราะเรื่องราวต่าง ๆ ได้ล่วงผ่านเวลามาค่อนข้างนานแล้ว มันจึงไม่ถึงกับทำให้หัวร้อนในขณะที่ดู ทำให้คนดูเข้าใจ มีอำนาจตัดสินใจและคิดพิจารณาได้ดีขึ้น
สรุป สารคดีเรื่องนี้มีการดำเนินเรื่องและการลำดับเหตุการณ์ได้ที่ชัดเจนดี แม้คุณจะไม่รู้จักหายนะระดับตำนานนี้มาก่อน หรืออยากจะดูเพื่อสร้างความเข้าใจมากขึ้น ก็สามารถดูแล้วอินและเข้าใจได้ไม่ยาก สารคดีไม่ให้อารมณ์ชวนระทึกดั่งจรวดพุ่งขึ้นฟ้า แต่เน้นการไต่ระดับของอารมณ์ไปทีละนิด ก็ช่วยให้เราค่อย ๆ ซึมซับความรู้สึก สร้างความอินปนลุ้นไปได้เรื่อย ๆ จนจบ ก่อให้เกิดประเด็นหน่วงใจหลังดูจบให้เราได้ขบคิดว่า แท้จริงแล้ว เทคโนโลยีสำคัญต่อเราเพียงใดและแค่ไหนกันแน่ ถือเป็นการถอดบทเรียนครั้งใหญ่จากประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การรับชมสักครั้งในชีวิต
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส