Our score
8.8[รีวิว] Bridgerton วังวนรัก เกมไฮโซ : รักร้อนแรงสุดโรแมนติก ของดยุคในดวงใจ
จุดเด่น
- คอสตูมสวยงามอลังการ ฉากรักโรแมนติกสมศักดิ์ศรีนิยายโรมานซ์ คอมเมดี้และที่สำคัญ เร่าร้อนรุนแรง ไม่แคร์สื่อแบบมีรสนิยม
จุดสังเกต
- sex scenes เยอะแยะ 18+ นะจ๊ะ
-
ความสมบูรณ์ของบท
8.0
-
คุณภาพงานสร้าง
10.0
-
คุณภาพนักแสดง
10.0
-
คุณภาพการเล่าเรื่อง
8.0
-
ความคุ้มค่าในการรับชม
8.0
จากนิยายขายดีชุด Bridgerton ของ Julia Quinn กลายมาเป็นซีรีส์ Love Drama Comedy ซีรีส์รักโรแมนติกชิงไหวชิงพริบท่ามกลางเรื่องอื้อฉาวที่เน้นชูค่านิยมในวงสังคมชั้นสูง มิตรภาพความรัก กับเส้นทางของแต่ละครอบครัว และการค้นหารักแท้ ผลงานสร้างของ Shondaland และผู้สร้าง Chris Van Dusen
สำหรับเหล่าแม่ ๆ ผู้ใฝ่สูงในกรุงลอนดอน จะมีความท้าทายใดอีกเล่าที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าดยุคหนุ่มโสด
Bridgerton ที่กำลังโด่งดังอยู่ใน NETFLIX เวลานี้ ดัดแปลงมาจากเรื่องราวในเล่มแรก (ดยุคในดวงใจ THE DUKE ANDI ) ของนิยายชุด Bridgerton นิยายแนวโรมานซ์แบบคลาสสิกดั้งเดิม เรื่องของ ดาฟนี่ บริดเจอร์ตัน ลูกสาวคนโตของแม่ม่ายไฮโซ เลดี้ไวโอเล็ต บริดเจอร์ตัน ตระกูลขุนนางในยุครีเจนซี กับ ไซมอน บาสเซ็ต ดยุคหลุ่มรูปงามแห่งเฮสติ้งส์ ที่บรรดาแม่ ๆ อยากจะตกมาเป็นลูกเขยใจจะขาด ว่าด้วยเรื่องของวงสังคมไฮโซในสมัยนั้น ที่การหาคู่ที่เหมาะสมดูจะเป็นภารกิจหลักของสตรีชั้นสูง ที่เชื่อว่ามันคือหลักประกันให้พวกหล่อนมีชีวิตอยู่อย่างเชิดหน้าชูตา
ครอบครัว Bridgerton มีทายาททั้งหมด 8 คนและจะเป็นตัวเอกนิยายชุด Bridgerton ทั้งหมด 8 เล่ม ซึ่งบ้านเรามีแปลออกมาแล้วถึงเล่ม 7 จ้ะ ดาฟนี่ บริดเจอร์ตัน (Phoebe Dynevor) เป็นลูกสาวคนโตของตระกูล บริดเจอร์ตัน อันทรงอิทธิพล เมื่อเธอเป็นสาวเดบูตองต์ (สาวน้อยแรกรุ่นจากตระกูลสูงศักดิ์ ตามธรรมเนียมยุโรป) ที่ก้าวเข้าสู่ตลาดหาคู่อันดุเดือดของลอนดอนยุครีเจนซี ดาฟนี่หวังว่าจะเจริญรอยตามพ่อแม่และพบคู่ที่เกิดจากรักแท้ ชายหนุ่มที่เข้ามาในช่วงแรกดูเหมือนจะผ่านฉลุย แต่หลังจากพี่ชายคนโตเริ่มกีดกันชายที่มีแววจะเป็นคู่ของเธอได้
หนังสือพิมพ์ซุบซิบสังคมชั้นสูงที่ เลดี้ วิสเซิลดาวน์ นักเขียนปริศนาเป็นผู้เขียน ก็เริ่มป้ายสีดาฟนี่ เธอจึงตกลงกับดยุคแห่งเฮสติ้งส์ ไซมอน บาสเซ็ต (Regé-Jean Page) หนุ่มโสดเนื้อหอมจอมขบถที่บรรดาแม่ ๆ ของสาวเดบูตองต์ใฝ่ฝันอยากได้เป็นลูกเขยในฤดูกาลนี้ ตบตาคนทั้งเมืองว่าทั้งสองกำลังศึกษากัน แม้ทั้งคู่จะออกปากว่าไม่ต้องการอะไรจากกัน แต่เห็นได้ชัดว่าเริ่มมีใจให้กันหลังจากต้องชิงไหวชิงพริบกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางสายตาทุกคู่ในวงสังคม ที่มีต่ออนาคตของทั้งคู่ เรื่องชาวบ้านเป็นงานของสังคมนี้เขาเลยละ
กับกฎข้อแรกที่ทำสาว ๆ ใจละลาย
ขึ้นชื่อว่านิยายโรมานซ์มันมีกฎของมันอยู่ไม่กี่ข้อหรอกค่ะที่ “ต้องมี” อยู่ในนิยายชนิดที่ขาดไม่ได้ ใจมันจะโหวงเหวง หนึ่งคือพระเอกต้อง “หล่อล่ำและแซบเวอร์” นางเอกจะใสซื่อก็ได้ แก่นเซี้ยวก็ดีแต่ต้องมีเสน่ห์น่าดึงดูด โดนเด่นและข้อสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้เลยก็คือ ฉากรักที่วาบหวาม พร้อมกับตอนจบที่ต้อง Happy Ending จะมาดราม่าน้ำตานอง จบเศร้าไม่เข้าข่ายโรมานซ์นะจ๊ะ
ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปตามหลักนิยายโรมานซ์อย่างเต็มรูปแบบเลยทีเดียว และเมื่อมาเป็นซีรีส์ พระเอกของเราก็ทำเอาใจละลายไปได้ง่าย ๆ กับผิวที่คมเข้มและสายตาที่ดุดันระคนเศร้าของ Regé-Jean Page กับนางเอกตัวเล็กกระจุ๋มกระจิ๋มน่ารักอย่าง Phoebe Dynevor ที่กลายเป็นเคมีที่เข้ากันหน้าตาเฉย ความหลงไหลที่เจ้าหล่อนมีให้กับดยุคผู้มีปมมันช่างร้อนแรง สองคนหิวกระหายกันและกันอย่างที่สุด ชนิดที่สถานที่ไม่สำคัญอีกต่อไป จะที่ไหนก็ได้ก็คนมันรักกันง่ะ ขอบอกว่าฉากรักของทั้งคู่เป็นไปอย่างสวยงามและมีศิลปะการสื่อสาร ที่ทำให้เรามองเรื่องแบบนี้เป็นความรักความต้องการที่พลุ่งพล่านออกมาจากหัวใจได้จริง ๆ
ไม่ไป๊เปลือย ไม่น่าเกลียด ทั้ง ๆ ที่เปลือยจนหมดจดและที่สำคัญไม่ได้มีมาเพื่อเรียกเรตติ้งอย่างไร้ความจำเป็น แต่มีความสำคัญกับเส้นเรื่อง มีฉากหนึ่งที่ซีรีส์สื่อออกมาต่างจากในนิยายอย่างเบามือ (หมายความว่าในนิยายแรงกว่านี้มาก ๆ ในการสื่อสาร) ถ้าใครไม่อ่านนิยายจะไม่รู้เลยว่า ฉากนี้คือฉากที่นางเอกข่มขืนพระเอกจ้ะ …ว้ายตายแล้ว!! มีอย่างงี้จริง ๆ เหรอ…ในนิยายเป็นงั้น แต่ในซีรีส์สื่อให้ซอฟต์ขึ้นด้วยการ แก้เผ็ดด้วยวิธีการที่ทำให้ท่านดยุคต้องร้องว่า “ดาฟนี่ นี่เธอทำอะไรลงไป”
จิกกัดเนียน ๆ เอาซะเกือบลืมไปเลย
เรื่องนี้เป็นนิยายเมื่อ 20 ปีก่อน แน่นอนว่าเราไม่มีทางได้เห็นคนผิวสีเป็นตัวเอก หรือได้รับตำแหน่งสูงส่งในสังคมสมัยนั้นแน่นอน “ไซมอน” ในนิยายเป็นดยุคหนุ่มรูปงามที่เมื่อ “ดาฟนี่” เห็นครั้งแรก เจ้าหล่อนถึงกับตะลึงในความหล่อเหลาของเขา ในหนังสือบรรยายไว้ว่าเขาเป็นผู้ชายที่หล่อเหลาชวนตะลึง ชนิดที่รูปปั้นของไมเคิลแองเจโล ยังต้องอาย ดวงตาสีฟ้าจัดราวกับว่าจะส่องประกายได้ ไม่มีตัวละครตัวไหนในนิยายที่รับบทชนชั้นสูงจะเป็นคนผิวสีเลย
แต่ในซีรีส์กลับจัดให้ในสิ่งที่ตรงกันข้ามเกือบทั้งหมด แต่มันช่างกลมกลืนซะด้วยสิ จนลืมไปเลยว่ายุครีเจนซีที่แท้จริง ไม่มีแบบนี้หรอก ตัวแสดงที่มีฐานันดรสูงหลาย ๆ ตัวล้วนเป็นคนผิวสี ไล่มาตั้งแต่ราชีนีที่ในนิยายไม่ได้กล่าวถึงมากนัก แต่ซีรีส์กับมีบทบาทอยู่มาก ๆ ชนิดที่กุมอำนาจไปถึงการแต่งงานของใครต่อใคร ท่านดยุคที่สาว ๆ ต่างหลงไหล หรือแม้แต่ มิสทอมสัน (Ruby Barker) สาวฮอตอีกหนึ่งนางที่มีจิตใจแข็งแกร่ง และเป็นดาวเด่นไม่แพ้ดาฟนี่ในงานเต้นรำ ล้วนเป็นคนผิวสีที่มีบทบาทโดดเด่นทั้งสิ้น
ในจุดนี้ถือว่าแตกต่างไปจากฉบับนิยายอย่างสิ้นเชิง แต่ภาพที่ออกมากลับทำให้ตัวละครผิวสีชนชั้นสูงทุกตัวละครช่างสง่างาม ไม่หลงเหลือร่องรอยของการจองจำคนผิวสี จนเป็นภาพจำแห่งความจริงมานานหลายศตวรรษ
คอสตูมอลังการสมศักดิ์ศรีซีรีส์ย้อนยุค
เริ่มตั้งแต่สิ่งที่ไม่ต้องสังเกตยังไงก็ต้องเห็นคือ ฟองตางเก (The Fontange) ทรงผมที่สูงชะลูดขององค์ราชินีนี่แหละจ้ะ ตัวแสดงตัวนี้เปลี่ยนทรงผมแทบทุกฉากและบ่อยกว่านางเอกไปซะอีก ทรงผมของพระนางเป็นทรงที่นิยมมาตั้งแต่ปลายยุคบาโรก ซึ่งมาถึงสมัยรีเจนซีนี่ก็เสื่อมความนิยมไปแล้วในหมู่วัยรุ่น จะเห็นว่าซีรีส์เน้นความนิยมตามช่วงวัยที่จัดให้ราชินีและแม่ ๆ ต่างทำผมทรงสูง (ถึงจะไม่มีใครสูงเท่าราชินีก็เถอะ) แต่ก็จะเวอร์วังกว่ารุ่นลูก ๆ นี่เน้นความเรียบง่ายและเก๋ไก๋มากกว่า ดูหัวซะก่อนค่ะ ใครให้สูงกว่านี้มาสู้กันเลย
เราจะเห็นการแต่งกายที่คาบเกี่ยวกับแฟชันหลายยุค ตั้งแต่บาโรก รีเจนซีและงานหัวที่อลังการแบบยุคโรแมนติก แฟชันแต่ละสมัยเขาก็จะเด่นชัดไปที่เสื้อผ้านะคะ เครื่องหัวนี่ก็โยกไปโยกมาได้ตามจริตนิยม สาว ๆ ในเรื่องส่วนใหญ่ก็จะแต่งกายตามสมัยนิยมของยุครีเจนซี ที่ได้รับอิทธิพลการแต่งกายแบบกรีกโบราณมา เห็นความทรมานของการรัด คอร์เซ็ท ที่ดันดูมจนนูนมาถึงไหปลาร้าเวลาหายใจ เบื้องหลังความสวยงามของสาว ๆ ที่ต้องแลกมาด้วยการเจ็บตัวและอัดอึดจนนับถือสาว ๆ ที่เกิดในยุคนั้นจริง ๆ ทนไปได้ยังไง
เราก็จะเห็นชุดของตัวแสดงแต่ละช่วงวัยแตกต่างกันไปแบบอิ่มตากันเลยจ้ะ เพราะเปลี่ยนใหม่ในทุก ๆ ฉากไม่มีซ้ำ ชนิดที่คนรับใช้ซักผ้ากันมือหงิกแน่นอน ผสมผสานแตกต่างกันไปแต่ละครอบครัว เรียกว่ามีธีมสีชุดประจำตระกูลกันเลยทีเดียว ฉากต่าง ๆ ที่เซ็ทขึ้นมาให้เป็นภาพฝันแสนโรแมนติกเข้ากับเนื้อเรื่อง และชวนให้เห็นถึงบรรยากาศเลิศหรูที่เหล่าคนในสังคมชั้นสูงต่างวนเวียนใช้ชีวิตกันอย่าง ปรีดิ์เปรม
อีกสิ่งหนึ่งที่ซีรีส์ทำให้เห็นก็คือ ถึงแม้ว่าสังคมในยุคนั้น บุรุษ จะเป็นผู้นำครอบครัวและชาญฉลาด ก็ต้องยกให้เขาไปในส่วนนี้เพราะสตรีในสมัยนั้นไม่ได้ทำงาน จำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูจากสามีค่ะ ส่วนสตรีในวงสังคมชั้นสูงมีหน้าที่ปฏิบัติตนให้สวยสมเป็นกุลสตรี เป็นหน้าเป็นตาและดูแลเรื่องในบ้าน เมื่อสามีจากไปหน้าที่ผู้นำครอบครัวจะตกไปอยู่ที่ลูกชายคนโต มีหน้าที่สกรีนหนุ่ม ๆ ให้น้องสาวแทนพ่อ มีหน้าที่ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของทุกคนในบ้าน
แต่ก็ใช่ว่าการตัดสินใจของผู้ชายจะทำให้เรื่องราวต่าง ๆ บรรลุผลสำเร็จไปกว่าวิธีการของสตรีไปได้ ซีรีส์ย้ำให้เราเห็นตรงนี้หลายครั้งอย่างตั้งใจ ด้วยการแก้ปัญหาจากวิธีของผู้หญิงที่หนุ่ม ๆ ไม่มีทางนึกออก เพื่อจะบอกกับเราว่า การเป็นแม่เป็นเมียไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้ชายเสมอไปอย่างที่สังคมบอกให้เป็น แต่พวกเธอคือช้างเท้าหลังที่คอยขับเคลื่อนให้ครอบครัวเผชิญทุกสิ่งได้ โดยที่ช้างเท้าหน้าไม่มีวันมองเห็นจากการที่ให้ ดาฟนี่และแม่ของเธอมีบทบาทในการแก้ปัญหา ได้ดีกว่าผู้ชายในบ้าน
นอกจากดูเพลินแล้ว แซบ ๆ ฟิน ๆ ไปกับพระนางแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้ยังให้ข้อคิดที่จงใจใส่ไว้ในเรื่องมากมาย พร้อมกับตอนจบที่คาดไม่ถึง จากการตามหา เลดี้ วิสเซิลดาวน์ นักเขียนปริศนาขาเม้าว่าเป็นใคร มาตั้งแต่ต้นเรื่องที่เดามาพร้อม ๆ กัน พอเฉลยปุ๊บก็นั่นแหละจ้ะ โลกนี้อย่ามองคนแต่เพียงภายนอก จริง ๆ
Bridgerton วังวนรัก เกมไฮโซ
- ผลงานสร้างของ : Shondaland และผู้สร้าง Chris Van Dusen
- ดัดแปลงจาก : Bridgerton โดย Julia Quinn
- จำนวนตอน : 8 ตอนจบ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส