[รีวิว] วันทอง : ชำแหละหัวใจวันทอง การตีความใหม่ที่เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของ ‘วันทอง’
Our score
7.9

[รีวิว] วันทอง : ชำแหละหัวใจวันทอง การตีความใหม่ที่เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของ ‘วันทอง’

จุดเด่น

  1. เป็นการตีความละครในมุมมองของวันทองที่แปลกออกไป และยืนบนพื้นฐานของความจริงที่ว่า ไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากรักผู้ชายถึงสองคน น่าสนใจและน่าติดตาม
  2. นักแสดงนำแต่ละคนเข้าถึงบทบาทโดยเฉพาะ ขุนช้าง ที่คะแนนเต็ม 10 ในเรื่องนี้

จุดสังเกต

  1. บทในส่วนของขุนแผนมีหลายส่วนที่ไม่เหมือนในวรรณคดี จนทำให้เรื่องนี้กลายเป็นการแก้ต่างให้ขุนแผนไปด้วยอีกคน
  2. ฉากแฟนตาซีที่ใส่เข้ามาเต็มที่ ทำให้กลายเป็นละครแห่งอิทธิฤทธิ์จนน้ำหนักไปแข่งกับชีวิตของวันทองอย่างน่าเสียดาย
  • ความสมบูรณ์ของบท

    6.5

  • คุณภาพงานสร้าง

    7.0

  • คุณภาพนักแสดง

    10.0

  • คุณภาพการเล่าเรื่อง

    8.0

  • ความคุ้มค่าในการรับชม

    8.0

เราจะเรียกละครเรื่องนี้ว่าเป็นการเปิดเผยความจริงอีกด้าน ของตำนานรักหนึ่งหญิงสองชายที่ไม่เคยมีผู้ใดได้รับรู้ได้หรือไม่ ก็คงจะพูดได้ไม่เต็มปาก แต่หากจะบอกว่ามันคือความตั้งใจของผู้สร้างและคนเขียนบท ที่อยากจะพูดแทนวันทองในเวลานั้นที่ไม่มีโอกาสได้แก้ต่าง ละครเรื่องนี้ก็คือคณะลูกขุนที่กำลังให้โอกาสวันทองได้อธิบาย และนั่งอยู่ในหัวใจวันทองกันเลยเชียวละ

สำหรับใครที่เคยได้อ่านวรรณคดี หรือเสภาขุนช้าง-ขุนแผนกันมาแล้ว ไม่ต้องล้างความทรงจำนั้นไปหรอก เพียงแต่ขอให้เพิ่มกระจกอีกบานหนึ่ง แล้วส่องไปที่ ‘วันทอง’ เพราะนี่คือการตีความใหม่ จากการเข้าไปสิงอยู่ในหัวใจของวันทอง ล้วน ๆ

นางพิมพพลาไลย/นางวันทอง

การตีความใหม่ในครั้งนี้เปิดฉากขึ้นมาในตอนที่ ‘วันทอง’ (ใหม่ – ดาวิกา) หญิงสาวรูปงามที่ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้หญิงสองใจกำลังถูก ‘สมเด็จพระพันวษา’ (พันเอกวันชนะ สวัสดี) พิพากษา หลังจากเกิดศึกชิงตัวนางวันทองระหว่าง ‘ขุนแผน’ (ป้อง – ณวัฒน์) กับ ‘ขุนช้าง’ (ชาคริต แย้มนาม) อดีตเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด ที่หลงรักผู้หญิงคนเดียวกันมาตั้งแต่ครั้งยังเด็ก โดยในการแย่งชิงครั้งนี้มี ‘จมื่นไวยวรนาถ’ (ตงตง-กฤษกร ) ลูกชายของวันทองเข้าร่วมการแย่งชิงครั้งนี้ด้วย

พลายงาม/พระไวย พาแม่วันทองหนี

เพื่อเป็นการยุติเรื่องราวทั้งหมด พระพันวษาจึงได้ยื่นคำขาดว่าให้นางวันทองเป็นคนเลือกเองว่าจะอยู่กับใคร แต่วันทองนั้นก็เลือกไม่ได้ ทำให้พระพันวษาโกรธจนสั่งประหารชีวิตเธอทันที งานนี้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตนเอง นางวันทองจึงได้ขอโอกาสสุดท้ายเล่าเรื่องราวความรักอันซับซ้อนนี้ให้สังคมได้รับรู้

เค้าโครงเรื่องเดิมจากเสภาขุนช้าง-ขุนแผน

จากเค้าโครงเรื่องเดิมของ เสภาขุนช้าง-ขุนแผน ในตอน ‘ขุนช้างถวายฎีกา’ ที่สมเด็จพระพันวษาสั่งประหารวันทองด้วยสาเหตุที่วันทองเลือกไม่ได้ ความตอนนั้นสมเด็จพระพันวษาตรัสว่า เหตุวุ่นวายทั้งหมดเป็นเพราะแย่งชิงนางวันทองกัน จึงให้นางวันทองตัดสินใจว่าจะอยู่กับใคร หรือถ้าไม่อยากอยู่กับทั้งสองคน จะเลือกอยู่กับลูกก็ได้ เอาไงล่ะเอ็งว่ามาเลย แต่นางวันทองไม่สามารถตัดสินใจได้ เพราะใจไม่เคยรักขุนช้าง และมีหัวใจรักเดียวให้ขุนแผนเท่านั้น แต่ความที่ใกล้จะถึงคราวตายจึงเกรงพระอาญา จะตอบอย่างไรดีล่ะให้มันดีที่สุด พูดผิดพูดถูกจะเป็นภัยเอาได้ จึงกราบทูลเป็นกลางไป หวังจะให้สมเด็จพระพันวษาตัดสินให้

แต่คำตอบนี้กลับเป็นดาบเล่มโต ที่ทำให้หัวของนางวันทองไม่สามารถตั้งอยู่บนบ่าอีกต่อไป สมเด็จพระพันวษากริ้วหนัก ว่าดูเถอะเป็นได้นะนางวันทอง ช่างมีน้ำใจไปข้างนั้นข้างนี้ ให้เลือกก็ไม่เลือกสักทาง คนนั้นก็รักคนนี้ก็ดี อ้ายไวยมึงอย่านับว่าผู้หญิงแบบนี้เป็นแม่มึงเลยนะ ก็สั่งประหารวันทองทันทีเลยจ้ะ ถึงแมhว่าที่สุดแล้ว จมื่นไวยวรนาถ จะทูลขอชีวิตแม่เอาไว้ได้โดยสมเด็จพระพันวษามีรับสั่ง ให้พระท้ายน้ำไปกับพระไวย เพื่อไปแจ้งกับพระยายมราชว่าพระองค์ยกโทษตายของนางวันทอง แต่พระราชโองการก็ไปไม่ทันจ้ะ พระยายมราชสั่งฟันคอนางวันทองไปแล้วในเสี้ยววินาทีนั้นเอง

จากเค้าโครงเรื่องเดิมสู่การตีความใหม่

ในการตีความใหม่ ผู้เขียนบทเขียนให้วันทองตอบคำถามของ สมเด็จพระพันวษาว่า “เกล้ากระหม่อมฉัน ไม่ใคร่จะอยู่กับใครเลยพระเจ้าค่ะ” และขอโอกาสสุดท้ายเล่าเรื่องราวความรักอันซับซ้อน ที่ในคราวนั้นวันทองไม่มีโอกาสได้พูดในมุมของตัวเอง เป็นโอกาสสุดท้ายที่วันทองขอให้กับตัวเอง เพื่อที่จะบอกกับใครต่อใครด้วยปากของตัวเองว่า ‘เธอไม่ใช่ผู้หญิงสองใจ’ เรียกว่าเป็นการเขียนบทในมุมของวันทอง ที่เปิดโอกาสให้วันทองได้พูดถึงเหตุผลของการที่เธอไม่เลือกใคร ว่าแท้จริงแล้วเป็นเพราะอะไรนั่นเองจ้ะ

วันทองให้การหน้าพระพักตร์

การกระทำของวันทองในครั้งนี้ จึงทำให้วันทองกลายเป็นสตรีร่วมสมัย ที่แตกต่างไปจากสตรีในยุคนั้นที่เสียงของเพศหญิงเบาบางเสมอ จะพูดจะจาอะไรกับพระเจ้าแผ่นดินก็คลุมเครือจนภัยมาถึงตัว แต่วันทอง 2021 แตกต่างโดยสิ้นเชิง เพราะวันทองเล่าเก่งเล่าย้อนไปถึงสมัยที่รักกับขุนแผนใหม่ ๆ นู่นเลยแน่ะ แถมยังมีกองเชียร์ฝ่ายขุนนางเป็นถึงพระมเหสีคือ ‘พระสุริยงเทวี’ (นุ้ย-สุจิรา ) และกองเชียร์ฝ่ายชาวบ้านคือ ‘น้อย’ (ลิลลี่-ภัณฑิลา) ตัวละครใหม่ที่ไม่มีในวรรณคดีใส่เข้ามา ให้เปรียบเสมือนตัวแทนของสตรีในยุคนั้น ที่ถึงแม้จะต่างชนชั้นแต่ก็เผชิญชะตากรรมไม่ต่างกับวันทอง

จนทำให้การว่าความที่ศาลาลูกขุนยืดเยื้อไปหลายเพลากันเลยเชียว ถือว่าเป็นการดำเนินเรื่องที่กุมบังเหียนโดยวันทอง และเรียกความสนใจจากคนดูทั้งนอกจอและในจอได้มาก ๆ

พระสุริยงเทวี – น้อย / ตัวละครที่ไม่มีในวรรณคดี

แต่ที่มากกว่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในละครเรื่องนี้ก็คือ ผู้เขียนบทไม่ได้เปิดโอกาสให้วันทองแก้ต่างให้ตัวเองเท่านั้น แต่ยังเผื่อแผ่ไปถึงขุนแผนซะด้วยสิ ด้วยการปรับเปลี่ยนและเสริมในส่วนของความเป็นพระเอกให้ขุนแผนมีมากขึ้นกว่าในวรรณคดี จนทำให้เราอาจจะรักขุนแผน เข้าใจถึงความจำเป็นและความจำยอมของขุนแผนมากขึ้นกว่าเก่า ไม่มีการกล่าวถึงการได้นางสายทองเป็นเมีย แต่ก็ทำให้รู้ว่านางเป็น นอกจากนั้นละครก็ยังใจดี ใส่ความเป็นพระเอกให้ขุนแผนมากขึ้นไปอีกในตอน ‘ผ่าท้องนางบัวคลี่’ ที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

วันทอง

จากขุนแผนที่จงใจฆ่าเมียเพราะความแค้นที่เมียทรยศคิดจะวางยาฆ่าตน และเพื่อเอาลูกมาทำกุมารทอง จากในวรรณคดี ที่ขุนแผนหลอกล่อนางบัวคลี่ให้หลงกลแล้วยกลูกในท้องให้ กลายเป็นขุนแผนที่จำใจกรีดท้องเมียทั้งน้ำตาเพราะนางบัวคลี่สั่งเสียไว้ซะงั้น มากไปกว่านั้นในตอนที่ขุนแผน ‘ได้นางแก้วกิริยา’ ก็เปลี่ยนฉากเปลี่ยนตอนไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้ขุนแผนจากในวรรณคดีที่ร่ายคาถามหาละลวยใส่นางแก้วกิริยา เสร็จสมอารมณ์หมายแล้วแถมแหวนให้หนึ่งวง กลายเป็นขุนแผนคนดีจ่ายค่าไถ่ตัวนางแก้วกิริยาให้ฟรี ๆ โดยไม่แตะเนื้อต้องตัวแต่อย่างใด

กว่าจะป๊ะกันแหมก็นู่นละจ้ะ กลายเป็นพ่อคนดีของศรีภรรยาไปซะแล้ว ไหนจะเหตุผลของการยื่นฎีกา ‘ขอนางลาวทองคืน’ นั่นอีก ที่แตกต่างจากวรรณคดีอย่างสิ้นเชิง ซึ่งสิ่งที่ละครทำออกมาเห็นได้ชัดเลยว่า จงใจทำให้คนดูรู้สึกดีกับขุนแผนและเข้าใจว่าทำไมวันทองถึงรักนักรักหนา ซึ่งจะทำสำเร็จหรือไม่นั้น ต้องรอดูไปจนถึงตอนจบนั่นแหละจ้ะ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ พ่อขุนช้างยังคงเป็นคนที่ชอบเพ็ดทูลอยู่เสมอ ๆ รักเดียวกับแม่วันทองหรือก็ใช่ แต่ก็รักความต้องการของตัวเองซะมากกว่า

แต่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็คือละครทำให้ขุนช้างเป็นตัวร้ายมากขึ้นไปอีกด้วยการแสดงของ ‘ชาคริต แย้มนาม’ จากบทที่เป็นตัวการของเรื่องราววุ่นวายต่าง ๆ บทขุนช้างยังตีแตกและแย่งซีนขุนแผนไปซะฉิบ ขอชมภาษากายของขุนช้างที่สวมวิญญาณโดย ชาคริต ว่าเยี่ยมยอด ทั้งภาษากาย ภาษาพูดที่หาที่ติแทบไม่ได้กับนักแสดงคนนี้ จนอยากจะมอบมงลงหัวล้านแบบ ‘ราชคลึงเครา’ ให้สักมงจริง ๆ

เมื่อวรรณคดีพื้นบ้านมีแฟนตาซีเข้ามาเกี่ยว

เมื่อเรื่องเล่าทั้งหมดของ วันทอง เป็นเรื่องที่สะท้อนสังคมในยุคนั้น รวมไปถึงความคิดของคนหลากชนชั้น เป็นวรรณกรรมชาวบ้านที่เล่าถึงชีวิตของคน ครอบครัว ความรักที่เป็นรักสามเส้าเราสามคนที่วุ่นวายจนแกะไม่ออก และคาแรกเตอร์ของวันทองก็คือ หญิงชาวบ้านที่ปากตรงกับใจ คิดอย่างไรพูดอย่างนั้น ไม่มีการอัดอั้นใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งละครก็ตีความนางวันทองออกมาได้ตรงเป๊ะ ตบเป็นตบกับนางลาวทองชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร จนทำให้ละครเรื่องนี้เป็นละครที่สะท้อนปัญหาพื้น ๆ ของคำว่าครอบครัวได้จั๋งหนับ

แต่เมื่อขุนแผนเป็นคนเก่งที่มีวิชาอาคม สิ่งที่ละครใส่เข้ามาจึงใส่มาอย่างไม่ยั้ง จนทำให้ขุนแผนเวอร์ชันนี้กลายเป็น พ่อขุนแผนแสนงามในละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ตอนเช้า ๆ ไปแน่ะ ไหนจะการได้มาซึ่งม้าสีหมอกที่ไม่ใช่ม้าพยศ แต่เป็นม้าอมควัน ฉากต่อสู้กับ ‘หมื่นหาญ’ พ่อของนางบัวคลี่ที่อัศจรรย์เหนือคำบรรยาย จนกลายเป็นขุนแผน X-Men ระหว่างดูใจก็เผลอคิดได้แวบหนึ่งค่ะว่า นี่ถ้าพ่อขุนแผนแกมีชีวิตยืนยาวมาถึงสมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 กรุงศรีฯคงไม่แตกแน่แล้ว เพราะมีพ่ออยู่คนเดียวก็เพียงพอ และถ้าขุนแผนจะทำได้ทุกอย่างขนาดนี้ ตอนจบของเรื่องนี้นางวันทองไม่ควรตายเลยจ้ะ

สรุปก็คือ วันทอง 2021 คือตัวแทนของสตรีในยุคนั้นที่ไร้ปากไร้เสียง และต้องการจะบอกกับทุกคนว่า ‘ไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากรักผู้ชาย 2 คนในเวลาเดียวกัน’ แต่จะทำอย่างไรได้ ถ้าต้องตกอยู่ในที่นั่งแบบเจ๊กลากไป ไทยลากมาอย่างนี้ และจุดจบของวันทองก็คงจะไม่ต่างไปจากวรรณคดี แต่ความรู้สึกที่มีต่อขุนแผน ขุนช้าง และวันทอง จะเปลี่ยนไปในทางไหน อีก 3 ตอนก็จะถึงบทสรุปนั้นแล้วละค่ะ

วันทอง

  • วันเวลาออกอากาศ : ทุกวันจันทร์ อังคาร เวลา 20.15 น. ทางช่องวัน31
  • รับชมย้อนหลังได้ที่ : iQIYI
  • จำนวนตอน : 15 ตอน (ใกล้จบแล้ว)
  • ดัดแปลงจากวรรณคดี : ขุนช้างขุนแผน
  • กำกับการแสดงโดย : สันต์ ศรีแก้วหล่อ
  • บทโทรทัศน์โดย : พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์, พิมสิรินทร์ พงษ์วานิชสุข, จุติมา แย้มศิริ
  • อำนวยการผลิตโดย : ถกลเกียรติ วีรวรรณ, นิพนธ์ ผิวเณร

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส