Release Date
11/08/2021
ความยาว
1 ซีซัน 9 ตอน
Our score
8.5What If…?
จุดเด่น
- การต่อยอดจากหนังและมาร์เวลเรื่องก่อนหน้า และเชื่อมโยงไปยังเรื่องถัด ๆ ไปในอนาคตที่ชวนคิดชวนจินตนาการต่อ ผ่านไอเดียและกิมมิกต่าง ๆ เป็นอะไรที่สุดยอดที่สุดอยู่แล้วสำหรับแฟนมาร์เวล
- โปรดักชันดีงาม ทั้งภาพ และเสียง การทำแอนิเมชันสวยสะอาดตา ฉากแอ็กชันมันสะใจ และการได้ดาราตัวจริงมาให้เสียงตัวละครหลักหลาย ๆ ตัว
จุดสังเกต
- ใครไม่เคยดูหนังหรือซีรีส์มาเวลล์มาก่อน ไม่รู้จักตัวละคร จะดูสนุกน้อยลงมาก เรียกว่าทำมาเพื่อสาวกมาร์เวลหน้าเก่าจริง ๆ
-
บท
9.0
-
โปรดักชัน
9.5
-
การเล่าเรื่อง
7.5
-
ความสนุกตามแนวหนัง
8.5
-
ความคุ้มค่าการรับชม
9.5
เรื่องย่อ: แอนิเมชันซีรีส์ของดิสนีย์เรื่องนี้ จะพาสาวกมาร์เวลเข้าสู่ความเป็นไปได้ในระบบพหุจักรวาล ที่ก่อความน่าจะเป็นได้ไม่มีสิ้นสุด ถ้าเอเจนต์คาร์เตอร์เป็นคนได้รับเซรุ่มซูเปอร์โซลเยอร์ล่ะ? หรือถ้าคนที่ยอนดูจับตัวไปตอนเด็กไม่ใช่ปีเตอร์ ควิลล์ แต่เป็นทีชัลล่าล่ะ
การเล่าเรื่อง
เนื้อเรื่องของ ‘What If…?’ ในแต่ละตอนจะมีความไม่เชื่อมโยงกันโดยตรง สามารถดูตอนไหนก่อนก็ได้เลือกที่ตัวละครนำในตอนนั้นที่เราถูกใจ (แต่แน่นอนว่าดิสนีย์จะปล่อยให้ชมสัปดาห์ละตอนเรื่อยไปจนครบ 9 ตอน) ที่น่าสนใจคือเรื่องราวสมมติว่าทั้งหมดนี้เป็นไทม์ไลน์ที่แตกแขนงออกจากเส้นเวลาศักดิ์สิทธิ์ หากอ้างตามเนื้อหาในซีรีส์ ‘Loki’ และตามปกติเราจะไม่รู้หรอกว่ามันมีเหตุการณ์เหล่านี้อยู่ จะมีเพียงพวกองค์กรจัดการด้านเวลาที่จะตรวจสอบแล้วเข้าไปจัดการแก้ไข
แต่ในเรื่องนี้จะเป็นการเล่าเรื่องผ่านสายตาของ เดอะ วอตเชอร์ (The Watcher) ที่ให้เสียงพากย์โดย เจฟฟรีย์ ไรต์ (Jeffrey Wright) ซึ่งพวกเดอะ วอตเชอร์นั้นเป็นมนุษย์ต่างดาวผู้เฝ้ามองปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในจักรวาล และมีนโยบายไม่เข้าไปแทรกแซงแต่อย่างใด พวกเขาเคยปรากฏตัวครั้งหนึ่งในฉากสั้น ๆ ของ ‘Guardians of the Galaxy Vol. 2’ (2017) ซึ่งหากจำกันได้ตอนนั้นจะมี สแตน ลี (Stan Lee) ปรากฏตัวในชุดนักบินอวกาศบนดวงจันทร์พูดคุยกับพวกเขาในฐานะ ผู้ให้ข้อมูลแก่เดอะ วอตเชอร์ (Watcher Informant) ด้วย เป็นสาเหตุว่าทำไมชายชรานามสแตน ถึงไปปรากฏตัวในหนังเรื่องต่าง ๆ ของมาร์เวลได้แม้จะต่างยุค ต่างสถานะ หรือแม้แต่ต่างดวงดาวก็ตาม
ด้วยเหตุนี้จึงต้องยอมรับเลยว่า เนื้อหามันออกจะเหมาะกับคนที่เคยดูหนังหรือซีรีส์มาร์เวลในเส้นเวลาหลักมาก่อนแล้ว (และทางทีที่ดีควรจะเคยดูให้ครบทุกเรื่องด้วย) ว่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่เคยรู้เคยดูมา อะไรจะเกิดขึ้น? ล่ะ ถ้า…แบบนี้ มันจึงได้ยิ่งสนุกเข้าไปอีก ถ้าตัวละครแบบนี้เปลี่ยนเงื่อนไขและสถานะไป พวกเขาจะเป็นอย่างไร เนื้อเรื่องจะผิดเพี้ยนจากที่เคยดูอย่างไร นี่คือความสนุกของมัน
แต่คราวนี้ถ้าลองคิดในมุมของคนที่ไม่เคยดูหนังหรือซีรีส์มาร์เวลมาก่อนเลย มาดูมันในฐานะแอนิเมชันขนาดสั้นเรื่องหนึ่ง ส่วนตัวก็คิดว่ามันก็ยังสนุกประมาณหนึ่ง เพราะผู้สร้างอย่างผู้กำกับ ไบรอัน แอนดรูว์ส (Bryan Andrews) ที่ทำงานสายศิลป์ในหนังมาอย่างโชกโชน รวมถึง เอ.ซี. แบรดลีย์ (A.C. Bradley) หัวหน้าทีมเขียนบท เลือกการเล่าที่กระชับเข้าใจง่าย และเน้นใช้ความซับซ้อนของตัวละครที่ไม่ได้เข้าใจยากมากเกินไป และยังใช้ฉากแอ็กชันเดินเรื่องเพื่อลดความน่าเบื่อ แต่โดยรวมคนไม่เคยดูมาร์เวลแล้วมาดูเรื่องนี้ความสนุกก็จะดรอปลงไปครึ่ง ๆ เลยทีเดียว
นอกจากนี้จังหวะเล่าเรื่องก็ออกจะเร่งไปสักหน่อยด้วยเวลาต่อตอนที่จำกัด เหตุการณ์เกิดขึ้นแบบฉากชนฉาก ไม่ค่อยมีจังหวะเว้นพักให้ผู้ชมที่ไม่รู้พื้นฐานตัวละครเดิมมาดีได้รู้สึกอินหรือเข้าใจพัฒนาการทางอารมณ์มากนัก แต่สำหรับใครที่เคยดูหนังของตัวละครนั้นมาก่อน ก็จะสามารถไปดึงอารมณ์เทียบเคียงในหนังที่เคยดูมาปรับประสบการณ์แล้วเข้าใจตัวเรื่องได้ทันที ก็จะไม่เป็นปัญหาเลย แถมยังพบความลึกซึ้งซับซ้อนในตัวละครเดิมเข้าไปอีก
ฉากแบบนี้เราเคยรู้สึกแบบนี้กับตัวละครนี้ เมื่อมันเปลี่ยนตัวละครเป็นอีกคน เราจะได้ใช้ความเข้าใจเดิม 2 ชุดมาประยุกต์กับตัวละครตรงหน้าอะไรแบบนั้น อย่างเช่นในตอนแรกนี้ เล่าเรื่องสมมติถ้าใน ‘Captain America: The First Avenger’ (2011) คนที่ได้รับเซรุ่มซูเปอร์โซลเยอร์กลายเป็นเอเจนต์คาร์เตอร์แทนจะเป็นอย่างไร เราเอาความรู้สึกของคาร์เตอร์มาผสมกับโรเจอร์ได้ ในขณะเดียวกันที่มันเจ๋งมาก ๆ คือเขาก็ไม่ได้ทิ้งสตีฟ โรเจอร์ ให้ตายหายไปไหน เขายังขอต่อสู้ในแบบฉบับที่อ่อนแอแต่หัวใจใหญ่เกินตัวได้อยู่เช่นกัน หรืออย่างในตอนที่ 2 ตัวละครคุณพ่อจำเป็นอย่าง ยอนดู กับ ธานอส ก็ดูมีมุมให้ค้นหาเพิ่มเติมน่าสนใจไม่แพ้ สตาร์ลอร์ดทีชัลล่าเลย
ในบางแง่มุมเช่นนี้ ทำให้ในแต่ละตอนไม่เพียงเฉพาะตัวละครนำ แต่ตัวละครรายรอบเองก็น่าสนใจไม่น้อย บางครั้งน่าสนใจกว่าตัวละครนำเสียอีก
โปรดักชัน
ในแง่โปรดักชันเป็นส่วนที่ค่อนข้างกังวลตั้งแต่ทราบโครงการสร้าง แม้ว่าแอนิเมชัน 3 มิติที่เป็นสไตล์ตูนเฉด หรือ เซลล์เฉด อาจทำไม่ได้ยาก เพราะปัจจุบันโปรแกรมปลั๊กอินอะไรที่ช่วยจัดการงานภาพนั้นดีขึ้นมาก การแบนมิติภาพ การให้สีแสงลดทอนจนคล้ายภาพวาด 2 มิติ แต่ที่ว่ามานั้นการจะทำให้ดีนั้นถือว่าเป็นงานยาก เพราะต้องอาศัยความชำนาญและการปรับแต่งแก้ไขธรรมชาติของมูฟเมนต์แบบแอนิเมชัน 3 มิติให้เนียนตาแบบ 2 มิติ แล้วยังต้องจัดการพวกเงาแบบ 3 มิติที่มักเที่ยงตรงกับแหล่งแสงแต่ทำให้ดูผิดธรรมชาติการ์ตูนแบบ 2 มิติอีก เรียกว่ามีรายละเอียดยิบย่อยที่มากไปกว่าแค่ดีไซน์ตัวละครให้เนียนตาเท่านั้น
และที่สำคัญมาร์เวลสตูดิโอ ไม่ได้มีความชำนิชำนาญในการผลิตแอนิเมชันแบบเต็มตัวสักครั้งเลย ไม่นับว่าทั้งผู้กำกับอย่างแอนดรูว์ส หรือคนเขียนบทอย่างแบรดลีย์เอง ก็ไม่ได้มีผลงานเก่าเป็นการันตีขนาดนั้น เพราะผลงานด้านแอนิเมชันเก่าก็มีเพียง กำกับซีรีส์แอนิเมชัน ‘Jackie Chan Adventures’ และเขียนบท ‘Trollhunters’ เท่านั้น แม้จะมาตามทรงปั้นคนมีแววที่ยังไม่ดังมาจับงานใหญ่ดูสไตล์มาร์เวลสตูดิโอก็ตาม แต่มันก็มีจุดน่าห่วงหลายจุดอยู่ดี
แต่สำหรับซีรีส์แอนิเมชันอย่างเป็นทางการเรื่องแรกของมาร์เวลสตูดิโอเรื่องนี้ เห็นชัดว่าพวกเขาตั้งใจพิถีพิถันอย่างมาก เรียกว่าไม่ยอมให้เสียหน้ากันเลย งานภาพมีความเนี้ยบ หาจุดมีหลุดได้น้อยมาก การเคลื่อนไหวทื่อ ๆ ที่มักเจอในการแอนิเมตท่าทางตัวละครนี่แทบไม่เห็นในเรื่องนี้ ดีไซน์ตัวละครก็สมดุลระหว่างความสมจริงกับความเป็นคอมมิกได้ดีทีเดียว งานโปรดักชันที่เป็นส่วนกังวลโดยส่วนตัวก่อนจะได้รับชมเพราะหาผลงานสไตล์เซลล์เฉดที่ดี ๆ ได้น้อยมาก ก็ถือว่าสอบผ่านเลย
ความว้าว
จริง ๆ ต้องบอกว่ามีความก้ำกึ่งว่าซีรีส์นี้จะสร้างอะไรเป็นมรดก หรือแรงกระแทกสู่หนังเรื่องอื่น ๆ ของมาร์เวลหรือไม่ เพราะแม้จะได้รับการยืนยันว่าซีรีส์นี้ถือเป็นแคนอน หรือเป็นเรื่องราวที่อยู่ในโครงเรื่องหลักของ MCU แต่มันก็เป็นพหุจักรวาลที่มาร์เวลสับขาหลอกเราได้ทั้งหมด อันนี้เอามาใช้-อันนี้จะไม่เอามาใช้ เป็นไปได้ทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตามการเปิดพื้นที่ให้แฟนบอยทั้งหลายได้ถกเถียงหรือคิดจินตนาการต่อยอดไปว่า ถ้าอันนี้ถูกเอาไปใช้ในหนังเรื่องนั้นล่ะ? ก็เป็นอะไรที่ดีงามไม่น้อยทีเดียว
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ซีรีส์นี้จะมีบทบาทสำคัญอะไรเชื่อมโยงกับ แคง ผู้พิชิต ที่ปรากฏตัวในซีรีส์ ‘Loki’ และน่าจะเป็นตัวร้ายหลักตัวหนึ่งในเฟส 4 นี้บ้างไหม? หรือเดอะ วอตเชอร์ในฐานะเผ่าอวกาศจะไปเชื่อมกับพวกตัวละครพลังระดับจักรวาลอื่นที่จะมาใน ‘Eternals’ ด้วยไหม? หรือบางที ชายชราอย่างสแตน หรือ ผู้ให้ข้อมูลกับเดอะ วอตเชอร์ จะได้กลับมาในแบบตัวละครซีจีที่มีบทบาทสำคัญในอนาคตล่ะ? (อันนี้คงกรี๊ดสุด ๆ)
ความว้าวของซีรีส์จึงไม่จบแค่ในตอนของตัวมันเอง ถ้ากิมมิกทั้งหลายที่ถูกคิดมามากมาย ถูกนำไปใช้ต่อล่ะ คนคิดพวกเซอร์ไพรส์ อีสเตอร์เอ้ก กิมมิก ในเรื่องนี้จึงเป็นบทบาทที่น่าสนุกมาก เพราะหยิบใส่อะไรได้เยอะ ทำอะไรมาก็ทำให้คนดูอึ้งทึ่งไปได้ทั้งหมดแน่นอน อย่างตอนแรกที่เราเจอ ไฮดราสตอมเปอร์ เข้าไปนั่นล่ะ ถามว่าสาวกมาร์เวลใครบ้างไม่กรี๊ด การดูรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในซีรีส์จึงเป็นอะไรที่ว้าวมากในตัวอยู่แล้ว
บอกเลยว่านอกจากดูสนุกแล้ว ยังพลาดไม่ได้สักตอน ถ้าอยากดูหนังมาร์เวลได้สนุกเต็ม 100% ในภายภาคหน้า
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส