ไม่ใช่แค่ช่วงนี้แต่ทุกครั้งที่เกิดกระแสข่าวเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมที่มีเงื่อนงำ หรือปริศนาที่น่าสงสัย เหล่าผู้คนน้อยใหญ่ทั้งประเทศไทยมักจะสวมบทเป็นนักสืบเพื่อค้นหาความจริง และวิเคราะห์เรื่องราวต่าง ๆ กันอย่างมากมาย จนตอนนี้ไม่รู้แล้วว่าสิ่งไหนถูกหรือผิด ซึ่งเรื่องนี้ก็คงต้องยกให้ทางตำรวจและผู้มีอำนาจในการไขคดีจัดการ ซึ่งหลายคนที่อยากให้คดีนี้ไขกระจ่างก็คงอยากให้มีเหล่านักสืบในตำนานมาช่วยไขคดี หนึ่งในนั้นก็คือนักสืบผู้ไขคดีปริศนาที่โด่งดังที่สุดในโลกนิยาย ที่เหล่านักเขียนและผู้แต่งนิยายนักสืบยกให้เป็นครูหรือต้นแบบในการสร้างเรื่องราวแนวนี้ แต่น้อยคนนักจะรู้จักตัวจริงของชายคนนี้ วันนี้เรามารู้จัก เชอร์ล็อก โฮล์มส์ (Sherlock Holmes) นักสืบผู้ดีอังกฤษคนนี้กันว่าเขาคือใคร มีความเป็นมาอย่างไรมาดูไปพร้อมกันเลย
เริ่มจากต้นกำเนิดของเชอร์ล็อก โฮล์มส์เกิดจากปลายปากกาของ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ (Arthur Conan Doyle) นักเขียนนิยายในช่วงปี 1885 ถึง 1906 เขารับการศึกษาจากคณะเยซูอิตที่วิทยาลัยสโตนีเฮิสต์ และจบการแพทย์จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระในปี 1881 ก่อนจะประกอบอาชีพแพทย์ตามที่ได้ร่ำเรียนมา ขณะเดียวกันก็ได้เริ่มงานเขียนเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่อยมา โดยเรื่องสั้นเรื่องแรกของเขาได้รับตีพิมพ์ในวารสาร ‘Chambers’ ในเดือนกันยายนปี 1879 ส่วนเรื่องราวของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เกิดขึ้นในปี 1887 โดยคดีแรกที่ทำให้เรารู้จักคือตอน ‘A Study in Scarlet’ หรือที่เรารู้จักในชื่อไทยว่า “แรงพยาบาท” ที่บอกเล่าเรื่องราวของการพบเจอกันของอดีตนายแพทย์สงครามอย่าง จอห์น เอช. วัตสัน (John H. Watson) ที่ร่วมเงินเช่าห้องเลขที่ ‘221B Baker Street London’ ก่อนที่วัตสันจะถูกดึงไปร่วมไขคดีฆาตกรรมปริศนาในบ้านร้างแห่ง ที่มีชายถูกวางยาพิษพร้อมกับเขียนข้อความแปลก ๆ บนผนัง ก่อนที่จะเกิดเหตุแบบนี้อีกหลายครั้ง ซึ่งในที่เกิดเหตุไม่มีร่องรอยการต่อสู้ มีเพียงแค่อักษรแปลก ๆ ที่ถูกเขียนไว้เช่นกัน ซึ่งเมื่อเรื่องราวเฉลยออกมาก็เล่นเอาคนอ่านในยุคนั้นอ้าปากค้าง เพราะเนื้อเรื่องพยายามเบี่ยงประเด็นและให้เราคิดตามไปต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับคดี แต่ก็แอบบอกคำใบ้สิ่งต่าง ๆ ลงไปผ่านคำพูดของโฮล์มส์ จนเมื่อเฉลยออกมาก็เล่นเอาทุกคนอึ้งว่าคนร้ายสามารถฆ่าคนได้โดยที่ไม่มีคนจับได้ด้วยวิธีไหน ซึ่งแม้จะเอามาอ่านตอนนี้เชื่อว่าหลายคนก็ต้องอึ้งทึ่งอย่างแน่นอน
ในส่วนของต้นกำเนิดนักสืบในตำนานนั้น โคนัน ดอยล์ได้รับแรงบันดาลใจจากบุคคลในชีวิตจริงนามว่า โจเซฟ เบลล์ (Joseph Bell) ศัลยแพทย์และวิทยากรชาวสก็อตที่ ‘Royal Infirmary of Edinburgh’ ซึ่งโคนัน ดอยล์พบเขาในช่วงปี 1877 โดยสิ่งที่ทำให้โคนัน ดอยล์ชื่นชอบโจเซฟจนเอามาเป็นต้นแบบ เพราะตัวของคุณหมอมักจะทายสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องเพียงแค่เห็นการแต่งตัวของคนไข้ เช่นคุณอ่านหนังสือพิมพ์ระหว่างทานชา และมาที่นี่ด้วยรถไฟผ่านถนนสายนี้ แถมคุณยังแวะร้านขายสัตว์เลี้ยงก่อนจะมาถึงที่นี่ ซึ่งสิ่งที่โจเซฟพูดคือสิ่งที่ตรงทั้งหมด โดยโจเซฟมักจะบอกว่าเขาเห็นคราบชาที่ปกเสื้อและรอยหมึกที่นิ้ว ส่วนการเดินทางมาด้วยรถไฟผ่านถนนนี้ เพราะที่นั่นกำลังก่อสร้างจึงมีเศษดินติดที่ปลายไม้เท้าและปลายรองเท้า ซึ่งที่นั่นก็ติดกับสถานีรถไฟ ส่วนร้านสัตว์เลี้ยงเขาเจอขนสุนัขที่แขนเสื้อเลยเดาว่าคุณคงแวะที่นั่นมาด้วย (นี่คือการยกตัวอย่างของผู้เขียน เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพถึงสิ่งที่โฮล์มส์และโจเซฟเป็นในนิยาย ที่โคนัน ดอยล์ประทับใจจนหยิบมาใช้) ซึ่งนั่นคือเอกลักษณ์เด่นที่คนอ่านชอบในตัวเขา
นอกจากความชื่นชอบในตัวนักสืบคนนี้แล้ว ยังมีหลายสิ่งที่เราเขาใจผิดเกี่ยวกับเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เริ่มจากชุดที่เขาสวมจะเป็นเพียงชุดธรรมดาแบบชาวอังกฤษในยุคนั้นใส่ โฮล์มส์ไม่เคยสวมหมวกปีกเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่นั่นคือการตีความของคนวาดปกนิยาย ที่ต้องการสร้างเอกลักษณ์ให้ตัวนักสืบในการตีพิมพ์หนังสือ ช่วงหลังจากที่โคนัน ดอยล์เสียชีวิตไปแล้ว และเขาจะไม่ใช้ไปป์ยาสูบเวลาออกไปข้างนอก แต่เขาจะสูบต่อเมื่อต้องใช้สมาธิในการไขคดี ซึ่งถ้าต้องใช้ความคิดหนัก ๆ เขาจะสีไวโอลินและใช้สารเสพติดในบ้างครั้งอย่างมอร์ฟีนและโคเคนยา ซึ่งยาทั้งสองชนิดถูกกฎหมายในอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ส่วนลักษณะนิสัยนั้นวัตสันบอกว่าโฮล์มส์เป็นคนมีการทางจิตที่เรียกว่า ‘Bohemian’ ที่มีความรักในความสะอาดแค่ตัวเองเหมือนแมว นอกจากนี้เขายังเป็นคนพูดมากและไม่สนใจว่าคนรอบข้างจะคิดอย่างไร คือคิดอะไรก็พูดไปอย่างนั้นออกมาเลย จนทำให้เขามีปากเสียงกับคนใหญ่คนโต จะมีเพียงวัตสันและ สารวัตรเลสตราด (Inspector Lestrade) ที่พอจะรับนิสัยนี้ของเขาได้ ซึ่งนิสัยนี้ก็รวมถึงความแปลกที่ไร้เหตุผล อย่างการเอาหัวศพคนตายมาเก็บไว้ในบ้านเพื่อดูการเน่าเปื่อย หรือทำห้องรกเพราะหาข้อมูลโดยไม่สนใจว่าเพื่อนร่วมห้องจะรู้สึกยังไง ส่วนสายตาคนนอกจะมองเขาเป็นคนเย่อหยิ่งแต่ก็เยือกเย็นจนหน้าโมโห บางครั้งก็กระตือรือร้นจนเหมือนคนบ้า หลายครั้งก็นิ่งสนิทไม่พูดอะไร และมักจะซ่อนวิธีการหลักฐานที่คนร้ายทำเอาไว้จนวินาทีสุดท้าย เพื่อสร้างความประทับใจให้ผู้ร่วมไขคดี นอกจากนี้เขายังมีวิชา ‘Singlestick’ ศิลปะการต่อสู้ที่ใช้ไม้เป็นอาวุธและยังเป็นนักฟันดาบฝีมือดี เป็นนักปลอมตัวที่หาตัวจับยากที่แม้แต่คนรู้จักก็ไม่รู้ว่าเขาอยู่แถวนั้น นอกจากนี้เขายังถึงพกปืน ‘British Army Mark III’ เพื่อการป้องกันตัว และมีเด็ก ๆ ขอทานทั่วเมืองในการหาข่าวสาร
คราวนี้มาดูสิ่งที่หลายคนสงสัยกันในหลาย ๆ เรื่อง เริ่มจากคู่ปรับตลอดกาลของโฮล์มส์มีชื่อว่า ศาสตราจารย์ เจมส์ มอริอาร์ตี้ (Professor James Moriarty) ชายผู้อยู่เบื้องหลังสงครามและองค์กรต่าง ๆ ส่วนความรักนั้นโฮล์มส์มองว่ามันคือสิ่งไร้สาระไม่มีเหตุผลและไม่จำเป็นต่อชีวิตของเขา แต่ก็มีหญิงที่ตนเองชื่นชมในความสามารถอย่าง ไอรีน แอดเลอร์ (Irene Adler) ที่เป็นดังสายลับที่มีตัวตนซับซ้อน ที่โฮล์มส์ยอมรับในความสามารถและการมีตัวตนในเพศหญิงของเธอ ส่วนคนที่โฮล์มส์บอกว่าเขาคือคู่แข่งและไม่สามารถเอาชนะได้ คือพี่ชายของเขา ไมครอฟต์ โฮล์มส์ (Mycroft Holmes) พี่ชายที่มีอายุห่างกัน 7 ปีที่มีความสามารถในการสืบสวนสูงกว่า มีวุฒิภาวะและทุกอย่างที่ตรงข้ามกับโฮล์มส์รวมถึงรูปร่างที่อ้วน แถมยังมีตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐบาล ส่วนพ่อแม่ของทั้งคู่นั้นเป็นเพียงครูธรรมดาที่ไม่มีอะไรพิเศษ
ตัวนิยาย ‘Sherlock Holmes’ ถูกตีพิมพ์เป็นเรื่องยาว 4 เล่มกับเรื่องสั้นอีก 56 ตอน ซึ่งมีครั้งหนึ่งที่โคนัน ดอยล์ต้องการจบซีรีส์นี้จึงเขียนให้โฮล์มส์กับมอริอาร์ตี้ต่อสู้กันที่น้ำตกไรเชนบาก่อนจะเสียชีวิตทั้งคู่ ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของนิยายที่ชื่อว่า “The Final Problem” แต่นั่นก็ทำให้แฟนนักอ่านไม่ยอมรับและเขียนจดหมายร้องเรียนไปยัง ‘The Strand Magazine’ เพื่อให้โคนัน ดอยล์เขียนภาคต่อ และมีคนกว่า 20,000 คนยกเลิกสมัครรับนิตยสาร ส่วนตัวโคนัน ดอยล์เองก็ถูกจดหมายจากแฟน ๆ ส่งมาด่าขู่ฆ่าตลอด 8 ปีจนสุดท้ายก็กลับมาเขียนต่อในตอนที่ชื่อว่า ‘The Hound of the Baskervilles’ โดยให้โฮล์มส์รอดชีวิตมาจากน้ำตก ซึ่งคราวนี้เขาต้องมาสืบคดีเกี่ยวกับหมาผีที่ถูกใจแฟน ๆ เป็นอย่างมาก ส่วนบั้นปลายสุดท้ายของโฮล์มส์เขาพักการสืบสวนมาอยู่ฟาร์มเล็ก ๆ ใน ‘Sussex Downs’ และเลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพหลัก เป็นการยุติตำนานนักสืบในตำนานมาจนถึงตอนนี้ ซึ่งใครที่สนใจเกมหรือนิยายภาพยนตร์ซีรีส์ก็มีให้ดูมากมายไปหาชมกันได้ ส่วนใครที่อยากรู้เรื่องราวจริง ๆ ของนักสืบคนนี้ก็ไปอ่านฉบับนิยาย แล้วคุณจะรู้ว่านักสืบคนนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิด เพราะถ้าคุณไม่รักชายคนนี้ก็คงจะเกลียดแต่ก็ยังอ่านนิยายต่อไป เพราะเนื้อหาที่สนุกจนวางไม่ลงนั่นเอง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส