คดีของ ลินดี้ แชมเบอร์เลน (Lindy Chamberlain) หญิงโชคร้ายที่ต้องโทษคุมขังไป 6 ปี จากคำพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต ในคดีที่เธอไม่ได้ก่อ และใช้เวลาทั้งหมด 32 ปี กว่าจะได้รับการพิสูจน์ชัดว่าเธอเป็นผู้บริสุทธิ์ และเป็นความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม ที่ตัดสินคดีนี้ผิดพลาด ทำเอาทั้งครอบครัวที่มีตัวเธอ สามี และลูก ๆ อีก 3 คน ต้องอยู่ในสภาพจิตใจแตกสลาย พ่อ แม่ ลูก ต้องพรากจากกัน และกลายเป็นปีศาจร้ายในสายตาผู้คนในชุมชน และนี่คือเรื่องราวของ ลินดี้ แชมเบอร์เลน

ครอบครัวแชมเบอร์เลน

ครอบครัวแชมเบอร์เลนประกอบไปด้วย ไมเคิล แชมเบอร์เลน ผู้เป็นสามี และ ลินดี้ แชมเบอร์เลน ผู้เป็นภรรยา ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 3 คนคือ ไอแดน (Aidan) 9 ขวบ รีแกน (Reagan) 6 ขวบ และ อาซาเรีย ทารกน้อยวัย 9 เดือน ในวันที่ 16 สิงหาคม 1980 ทั้งครอบครัวพากันไปกางเต็นท์พักผ่อนสุดสัปดาห์ที่บริเวณใกล้ ๆ โขดหินอุลูรู (Oluru) โขดหินสีแดงที่เป็นที่รู้จักกันในออสเตรเลีย จนเข้าคืนที่ 2 ระหว่างที่ไมเคิล ลินดี้ และไอแดนลูกชายคนโตพักผ่อนกันอยู่รอบเต็นท์นั้น ก็ปล่อยให้รีแกนนอนในเต็นท์อยู่กับอาซาเรียน้องสาวตัวน้อย สักครู่ลินดี้ก็เข้าเต็นท์ไปดูลูก ๆ ทั้งสอง แล้วเธอก็ตกใจแทบสิ้นสติเมื่ออาซาเรียหายไปจากเต็นท์ มีแต่เพียงรีแกนนอนอยู่คนเดียว ทั้งครอบครัวรีบออกตามหาอาซาเรียรอบเต็นท์กันอย่างเร่งด่วน

สิ่งเดียวที่ลินดี้ทำได้ในขณะนั้นคือสอบถามข้อมูลจากรีแกน เพราะเขาเป็นคนเดียวที่นอนอยู่ในเต็นท์กับอาซาเรีย แต่คำตอบก็ยิ่งทำให้ผู้เป็นแม่จิตใจสลาย
“หมาป่ามันกินน้องลงท้องไปแล้วครับ”
รีแกนบอกแม่ด้วยอาการอกสั่นขวัญแขวน

เต็นท์ที่ครอบครัวแชมเบอร์เลนมาตั้งกัน

ภายหลังที่รีแกนเริ่มมีสติสตังอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว เขาจึงเล่าเหตุการณ์ให้ฟังอีกครั้งว่า ขณะที่นอนอยู่ข้าง ๆ อาซาเรียนั้น เขารู้สึกตัวตื่นขึ้นมาเพราะหมาป่าเดินเหยียบข้ามไปบนอกเขาแล้วตรงไปหาอาซาเรีย
หลังเหตุการณ์นี้ ทั้งรีแกนและไอแดนต่างก็รู้สึกผิด และเฝ้าโทษตัวเองเสมอมาที่ไม่ได้ช่วยน้องไว้ในขณะนั้น

เจ้าหน้าที่ขณะออกตามหาร่างอาซาเรีย

หลังจากหมดหนทางตามหาอาซาเรียด้วยตัวเองแล้ว ลินดี้และไมเคิลก็แจ้งเหตุร้ายกับตำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่หลายนายก็ลงพื้นที่ กระจายกำลังออกตามหาอาซาเรียกันทั่วบริเวณ แต่ก็ไร้ร่องรอย แต่ในระหว่างที่ทำการค้นหานั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กำชับกับลินดี้และไมเคิลว่าไม่ต้องช่วยเจ้าหน้าที่ออกค้นหา ให้นั่งอยู่กับที่เฉย ๆ พอ แต่นั่นก็ทำให้ชาวบ้านที่มามุงดูเหตุการณ์ตีความหมายไปผิด ๆ ว่า พ่อและแม่นี่ช่างใจดำ ไม่เป็นห่วงลูก ไม่ช่วยตำรวจออกค้นหา

การออกค้นหาอาซาเรียผ่านไป 1 สัปดาห์ กว่าที่เจ้าหน้าที่จะเจอชุดจัมป์สูทของอาซาเรียห่างออกไปจากจุดที่กางเต็นท์ถึง 4 กิโลเมตร จัมป์สูทนั้นมีรอยเลือดอยู่บริเวณคอเสื้อ ทางฝ่ายสืบสวนได้ตรวจสอบด้วยการถ่ายภาพผ่านรังสีอัลตราไวโอเล็ต โดย เจมส์ คาเมรอน เจ้าหน้าที่จาก วิทยาลัยการแพทย์โรงพยาบาลลอนดอน แล้วสรุปผลมาดังนี้
“บนชุดนั้นมีแผลบากลึกลงไปบริเวณรอบคอเสื้อ หรืออาจะกล่าวได้ว่ามีการ ปาดคอ”
นอกจากนั้นยังพบร่องรอยฝ่ามือของผู้ใหญ่ที่มีขนาดตัวเล็กอยู่บนชุดจัมป์สูทนี้ด้วย

ชุดจัมป์สูทของอาซาเรียที่ค้นพบหลังหายตัวไปได้ 1 สัปดาห์

จากหลักฐานชิ้นนี้นี่แหละ ที่ทำให้ฝ่ายสืบสวนเปลี่ยนรูปคดีจากเหตุสัตว์ป่าทำร้ายเด็กจนถึงแก่ชีวิตตามที่พ่อและแม่ให้การ มุ่งไปในทิศทางว่าเป็นคดีฆาตกรรมที่พ่อแม่เป็นฝ่ายลงมือเอง และเชื่อมั่นว่าคำให้การต่าง ๆ ของลินดี้และไมเคิล ล้วนเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น โดยทีมสืบสวนไม่ให้ค่ากับคำให้การจากพยานแต่อย่างใด

การพิจาณาคดีครั้งแรกบนชั้นศาลนั้น ฝ่ายอัยการเป็นผู้สรุปคดีนี้ว่า ลินดี้นั้นเป็นคนลงมือเชือดคอลูก ส่วนไมเคิลรับหน้าที่กำจัดร่างของหนูน้อย

ไมเคิล และ ลินดี้ แชมเบอร์เลนขณะออกจากศาล

เมื่อรายละเอียดในการพิจารณาคดีถูกเผยแพร่ออกมา ก็ทำให้ลินดี้และไมเคิลกลายเป็นจำเลยสังคม พวกเขาโดนสังคมตั้งฉายาว่า “พวกทุบตีเด็ก” และ “สาวกซาตาน” รวมไปถึงญาติพี่น้องคนอื่น ๆ ในครอบครัวแชมเบอร์เลนก็โดนพ่วงไปด้วย เวลาไปไหนมาไหนก็โดนถ่มน้ำลายใส่บ้าง โดนตะโกนด่าบ้าง มีจดหมายเขียนมาด่าบ้าง เป็นเช่นนี้อยู่ทุกวัน

“เมื่อไอแดนลูกของคุณโตขึ้น เขาก็จะหันหลังให้พวกคุณ”
ข้อความหนึ่งในจดหมายที่ส่งมาจากคนแปลกหน้า

ความคิดของชาวบ้านที่ติดตามข่าวนี้ เตลิดไปไกลจนเกินขอบเขต บางคนตีความเอาเองว่าชื่อ “Azaria” นั้นมีความหมายว่า “บูชายัญในป่า” บางคนก็บอกว่า อาซาเรียนั้นเกิดมาพิการ ทำให้ลินดี้กับไมเคิลไม่อยากลำบากที่ต้องดูแลลูกพิการ”

ลินดี้และไมเคิล แชมเบอร์เลน

วันที่ 30 ตุลาคม 1982 ศาลมีคำพิพากษาให้ลินดี้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งขณะนั้นเธอก็กำลังตั้งท้องลูกอีกคน อายุครรภ์ได้ 7 เดือนแล้ว การเป็นสาวท้องแก่ที่ต้องใช้ชีวิตลำพังในเรือนจำ นับเป็นการดำเนินชีวิตที่ลำบากอย่างแสนสาหัส ส่วนไมเคิลนั้น ศาลให้อยู่ในระยะภาคทัณฑ์ไว้ก่อน ก็นับว่ายังดีที่พ่อยังสามารถดำเนินชีวิตในโลกภายนอกต่อไปได้ ซึ่งเขาสามารถดูแลลูก ๆ ได้ในขณะที่แม่ต้องอยู่ในคุก หลังลินดี้จำคุกได้ 2 เดือน เธอก็ถึงกำหนดคลอด ทางการก็ใจร้ายพอที่จะให้ลินดี้ได้กอด คาห์เลีย (Kahlia) ลูกสาวที่เพิ่งคลอดได้แค่ชั่วโมงเดียว แล้วคาห์เลียก็ถูกส่งมอบให้กับครอบครัวอุปถัมภ์

ส่วนไอแดนและรีแกนนั้นก็อยู่ในความดูแลของพ่อต่อไป แม้ว่าพ่อและลูกจะได้รับอิสรภาพอยู่ในโลกภายนอก แต่ในด้านจิตใจนั้น ทุกคนในครอบครัวต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานใจไม่ต่างกันเลย ทางการอนุญาตให้พ่อและลูกเข้าเยี่ยมแม่ได้ปีละ 3 ครั้งเท่านั้น ไมเคิลเองก็พยายามดูแลลูกชายทั้งสองให้เดินหน้าชีวิตที่ไม่มีแม่อีกต่อไปอย่างดีที่สุด

ลินดี้กับหนูน้อยอาซาเรีย

หลังจากครอบครัวแชมเบอร์เลนต้องเจอกับมรสุมชีวิตอย่างรุนแรงผ่านมาได้สัก 2-3 ปี รีแกนก็เจออุบัติเหตุรุนแรง ขวดแก้วระเบิดใกล้ร่างเขา เศษแก้วกระเด็นเข้าดวงตา เมื่อลินดี้ทราบข่าวนี้เธอก็ส่งคำร้องขออนุญาตออกนอกเรือนจำชั่วคราวเพื่อไปดูอาการลูกชาย ที่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานนับเดือน แต่ผลก็คือ คำร้องขอเธอถูกปฏิเสธ แม่ผู้เป็นห่วงลูกจนใจแทบขาดทำได้ก็เพียงเขียนจดหมายถึงลูกชาย
“ถึงรีแกนลูกรัก เป็นยังไงบ้างเจ้าโจรสลัดตัวน้อยของแม่ แม่อยากจะไปอยู่ข้างลูกเหลือเกินแล้วกอดลูกแรง ๆ พยายามกล้าหาญเข้าไว้นะลูก ลูกคือสุดที่รักของแม่ แม่รักลูกมาก….แม่เอง”

ลินดี้ แชมเบอร์เลน ในปัจจุบัน

2 หนูน้อย ไอแดนและรีแกนต่างก็คิดถึงแม่อย่างที่สุด อยากให้แม่ได้กลับมาอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวอีกครั้ง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะสามารถทำอะไรได้ กับกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ สิ่งที่สองหนูน้อยพอจะนึกออก ก็คือการเขียนจดหมายร้องทุกข์ถึงผู้มีอำนาจ ไอแดนและรีแกน จึงตัดสินใจเขียนจดหมายด้วยลายมือของเขาเองส่งให้กับผู้พิพากษา, นายกรัฐมนตรี และถึงราชวงศ์อังกฤษ ขอให้ทุกคนช่วยพาแม่เขากลับบ้านที

“ถึงคุณฮอว์ก ผมไม่เข้าใจหรอกครับว่าทำไมคุณถึงขังแม่ผมไว้ในคุก ทั้งที่ผมก็รู้ว่าแม่ผมไม่ได้ฆ่าน้อง แม่ผมรักน้องจะตาย พวกเราทุกคนก็รักน้อง ตอนที่ผมได้อยู่กับแม่ผมก็เห็นแม่คุยกับน้องตลอดเวลาเลยครับ ตอนนี้ผมคิดถึงแม่และคาห์เลียมาก รีแกนกับพ่อก็คิดถึง มีทางไหนที่คุณฮอว์กพอจะช่วยผมได้บ้างไหมครับ ?”
ข้อความที่ไอแดนส่งถึง บ็อบ ฮอว์ก นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย

“ถึงเจ้าฟ้าชายชาร์ลและเจ้าหญิงไดอานา ผมรักอาซาเรียน้องสาวของผมเช่นเดียวกับแม่ของผม ผมต้องการให้แม่ได้กลับบ้านครับ คุณพอจะช่วยให้เขาปล่อยแม่ผมกลับมาบ้านได้ไหมครับ ?”
ข้อความในจดหมายที่ไอแดนส่งถึงเจ้าฟ้าชายชาร์ล

ในปี 1985 สถานีโทรทัศน์ในออสเตรเลียได้จัดทำโพลขึ้นมาสอบถามผู้ชมว่ารู้สึกเห็นอกเห็นใจต่อครอบครัวแชมเบอร์เลนกันบ้างไหม ลินดี้สมควรได้รับการปล่อยตัวหรือไม่ ?
พอเห็นโพลนี้ ไอแดนในวัย 11 ขวบ ก็โทรศัพท์ไปโหวตว่า “สมควรได้รับการปล่อยตัว” ถึง 178 ครั้ง แต่แล้วผลโพลก็สรุปออกมาว่า ผู้ชมที่เห็นชอบให้ปล่อยตัวมีเพียง 40% เท่านั้น ผลโพลนี้ทำเอาไอแดนเสียใจอย่างมาก

“สถานการณ์มันหนักหนาสำหรับเขาเกินไปครับ ผมเห็นเขาวิ่งเข้าห้องนอนไป เขานอนร้องไห้อยู่ 2 ชั่วโมงได้มั้ง”
ไมเคิลเล่ากับผู้สื่อข่าว

เมื่อครอบครัวแตกสลาย ปัญหาที่ตามมาก็คือสภาพจิตใจของเด็กชายทั้งสอง ไอแดนและรีแกนเริ่มมีปัญหาชกต่อยกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนอยู่บ่อยครั้ง เพื่อน ๆ ของครอบครัวแชมเบอร์เลนต่างก็รู้สึกเห็นใจกับปัญหาที่ครอบครัวนี้ต้องเผชิญ แต่ก็มองไม่เห็นหนทางเยียวยา

“มันเป็นครอบครัวที่แตกสลาย โดยเฉพาะสภาพจิตของสองหนูน้อยนั้นไม่เหลือชิ้นดีแล้ว พวกเขาทั้งต้องเผชิญความเจ็บปวดและสูญเสียทิศทาง เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะต้องรับมือกับสถานการณ์แบบนี้กันอย่างไร”
หนึ่งในเพื่อนของครอบครัวกล่าวกับผู้สื่อข่าว

ไมเคิล, คาห์เลีย, รีแกน, ไอแดน และ ลินดี้ แชมเบอร์เลน

ตลอดระยะเวลาที่ลินดี้ถูกจองจำ ทางครอบครัวก็ไม่ได้นิ่งเฉย ต่างพยายามทุกหนทางที่จะช่วยให้ลินดี้ได้รับการปล่อยตัวในคดีที่เธอไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดแต่อย่างใด

ในปี 1986 เหมือนโชคจะเข้าข้าง ลินดี้ แชมเบอร์เลน อยู่บ้าง เมื่อ เดวิด เบรตต์ (David Brett) นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ เดินทางมาเยี่ยมชมโขดหินโอลูรู ในช่วงเย็นเขาปีนขึ้นไปบนโขดหินแล้วก็พลาดท่า ร่วงหล่นลงมากระแทกพื้นตาย บริเวณที่ร่างของเบรตต์ร่วงหล่นมานั้น มีพุ่มไม้ปกคลุมหนา ทำให้เจ้าหน้าที่ใช้เวลาถึง 8 วัน กว่าจะพบซากร่างที่หลงเหลือของเบรตต์ ที่โดนหมาป่าแทะกินแทบหมดแล้ว เพราะบริเวณที่เขาร่วงลงไปนั้นเป็นดงที่อยู่ของหมาป่าพอดี เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงกระจายกำลังกันค้นหารอบ ๆ บริเวณเพื่อตามหาชิ้นส่วนร่างของเบรตต์ เจ้าหน้าที่พบกระดูกบางชิ้นของเบรตต์ในรังของหมาป่า และที่นั่นเจ้าหน้าที่ก็พบแจ็กเก็ตของหนูน้อยอาซาเรีย

การค้นพบหลักฐานครั้งนี้มีผลให้ศาลสั่งปล่อยตัวลินดี้ทันที และรื้อคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

กับการที่ยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อเนื่องหลายต่อหลายครั้ง รวมไปถึงเสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนหนึ่งที่เห็นพ้องต้องกันว่า ลินดี้ไม่ใช่จำเลยในคดีนี้ แล้วลินดี้ก็ได้รับการอภัยโทษในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 1986

ลินดี้เผยความรู้สึกเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า วินาทีที่เธอได้รับอิสรภาพแล้วได้กลับมากอดลูกชายทั้งสองของเธอ ภาพยังคงแจ่มชัดเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เลย เธอเล่าทั้งน้ำตา
“พอรถที่ฉันนั่งไป กำลังเข้าไปจอดหน้าบ้าน ไอแดนได้ยินเสียงประตูเปิดก็รีบพุ่งมาหาฉันทันที”

“แม่!”
ไอแดนตะโกนเรียกเสียงดัง เขากอดแม่ไว้แน่นไม่ยอมปล่อย อีกครู่หนึ่งรีแกนก็ตามมา เขาพุ่งเข้ามากอดแม่ทางด้านหลัง แล้วก็เอาแขนขารัดแม่ โหนตัวเองอยู่กับแม่ไว้แน่น

สไอแดนในปัจจุบัน เข้าวัยปลาย 40 ก็ยังคงจำความรู้สึกในวันนั้นได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะผ่านมา 40 ปีแล้วก็ตามเราก็ยังคงเห็นความสุขจากความทรงจำนั้นบนสื่อออกมาบนใบหน้าเขาได้
“มันเป็นความรู้สึกที่มีความสุขที่สุด เท่าที่ผมเคยรู้สึกมา”

มิแรนดา ออตโต รับบทเป็น ลินดี้ แชมเบอร์เลน ในภาพยนตร์มินิซีรีส์ ปี 2004

แม้ว่าลินดี้จะได้รับอิสระออกมาอยู่กับครอบครัวแล้วก็ตาม แต่คดีของเธอก็ยังเป็นที่คลุมเครือสงสัยในสังคม ว่าแท้จริงแล้วอาซาเรียตายเพราะหมาป่าหรือเป็นเพราะฝีมือเธอเองกันแน่ แต่ในระหว่างนั้น ในออสเตรเลียก็มีข่าวหมาป่าดิงโกทำร้ายมนุษย์รายงานออกมาอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะบนเกาะเฟรเซอร์ มีรายงานว่าหมาป่าดิงโกทำร้ายมนุษย์กว่า 400 ครั้ง โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับเด็ก แต่ก็มี 2 ครั้งที่ผู้ใหญ่ก็โดนหมาป่าโจมตีด้วย มีเหตุร้ายแรงมาก 1 ครั้งในเดือนเมษายน 1988 เด็กหญิงวัย 13 เดือน โดนหมาป่าลากตัวไปออกจากเต็นท์ไปแล้ว 1 เมตร เดชะบุญที่พ่อเห็นเหตุการณ์แล้วเข้ายับยั้งได้ทัน เหตุการณ์นี้ยิ่งสอดคล้องกับคำให้การของครอบครัวแชมเบอร์เลน ทำให้คำให้การของลินดี้ดูมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากขึ้น

เมื่อมีรายงานว่าหมาป่าทำร้ายผู้คนในออสเตรเลียถี่มากขึ้น ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้คดีของครอบครัวแชมเบอร์เลนถูกนำมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ในเดือนธันวาคม 2011 เอลิซาเบธ มอร์ริส (Elizabeth Morris) เจ้าหน้าที่ชันสูตรของพื้นที่ภูมิภาคเหนือของออสเตรเลีย (Northern Territory ) ได้ยื่นเรื่องขอเปิดให้มีการพิจารณาคดีแชมเบอร์เลนเป็นครั้งที่ 4 ในวันที่ 12 มิถุนายน 2012 ในการนี้ มอร์ริสได้กล่าวสรุปกับศาลว่า การหายตัวไปของ อาซาเรีย แชมเบอร์เลน เมื่อปี 1980 นั้นเป็นการกระทำของหมาป่าดิงโก เธอกล่าวว่าที่มาของข้อสรุปนี้มาจากรายงานที่มีมาต่อเนื่องว่าหมาป่าดิงโกได้ทำร้ายผู้คนเป็นผลให้มีการบาดเจ็บหรือแม้กระทั่งถึงแก่ชีวิต
“อาซาเรีย แชมเบอร์เลน เสียชีวิตที่โขดหินโอลูรู ในวันที่ 17 สิงหาคม 1980 สาเหตุการตายของเธอนั้นเกิดจากถูกหมาป่าดิงโกทำร้าย”
เอลิซาเบธ มอร์ริส กล่าวสรุปกับศาล ในการนี้เธอยังกล่าวแสดงความเสียใจต่อพ่อแม่และพี่น้องของอาซาเรียอีกด้วย เธอยังยืนด้วยว่าคำให้การของเธอ และบันทึกสาเหตุการตายใหม่นี้จะถูกลงบันทึกไว้เป็นทางการนับจากนี้

คาห์เลียในปัจจุบัน

ส่วนลินดี้ก็พ้นข้อกล่าวหาทุกประการจากสาเหตุการตายของอาซาเรีย นับเป็นวันที่ลินดี้และครอบครัวแชมเบอร์เลนได้พ้นจากฐานะจำเลยสังคมเสียที หลังจากต้องทนทุกข์มาถึง 32 ปี เป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน เป็นช่วงเวลาที่ทำลายครอบครัว เป็นช่วงเวลาที่กลืนกินวัยเด็กของไอแดนและรีแกนไปอย่างไม่มีวันชดเชยกลับมาได้

ปี 1992 ทางรัฐบาลได้จ่ายเงินชดเชยให้กับ ลินดี้ แชมเบอร์เลน เป็นจำนวน 1.3 ล้านเหรียญ ซึ่งเทียบไม่ได้กับความทุกข์ทรมานที่เธอและครอบครัวได้ประสบ ยังไม่นับรวมกับการต้องสูญเสียคาห์เลีย ลูกสาวคนสุดท้องไปอีกด้วย แม้ว่าลินดี้จะได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ แต่คาห์เลียเลือกที่จะอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ต่อไป เธอเผยความรู้สึกในภายหลังว่า พ่อและแม่ไม่ได้ต้องการมีเธอจริง ๆ เธอเปรียบเสมือนตัวแทนของอาซาเรียผู้เป็นพี่สาวเท่านั้น มันเป็นความรู้สึกที่ทำให้เธอเจ็บปวดตลอดมา

ไอแดน แชมเบอร์เลน ในวัย 46 ปี

ไอแดนได้ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2020 ตอนนั้นเขาอายุได้ 46 ปีแล้ว เขาเป็นคนที่พูดจาด้วยน้ำเสียงแผ่วเบา สอดคล้องกับบุคลิกที่เป็นคนสุภาพเรียบร้อย แต่ดวงตาเขานี่สิ ยังมองเห็นได้ชัดว่าเขาเก็บซ่อนความระทมทุกข์ที่เขาเผชิญมานับทศวรรษไว้ภายในลึก ๆ ชีวิตที่ต้องเติบโตขึ้นมาโดยไม่มีแม่ ชีวิตที่แม่ถูกพรากไปในความผิดที่แม่ไม่ได้กระทำ

“พอผมมองย้อนกลับไปในวันนี้ เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับผมมันอย่างกับหนังเรื่องหนึ่ง แต่มันหนักหนากว่านั้นหน่อย”

พูดจบเขาก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่

เรียกได้ว่าตลอดเวลากว่า 40 ปีนับตั้งแต่เหตุการณ์ร้ายนี้อุบัติขึ้น คดีนี้ก็เป็นที่สนใจของชาวออสเตรเลียเสมอมา ไม่แปลกที่เรื่องราวของ ลินดี้ แชมเบอร์เลน จะได้รับการนำเสนอผ่านสื่อทั้งในรูปแบบสารคดี และภาพยนตร์ ปี 1983 สถานีโทรทัศน์ออสเตรเลียสร้างภาพยนตร์สำหรับฉายทางโทรทัศน์เรื่อง Who Killed Baby Azaria? ปี 1988 วอร์เนอร์ บราเธอร์ สร้างภาพยนตร์เรื่อง Evil Angels ได้ เมอรีล สตรีป มารับบทเป็น ลินดี้ แชมเบอร์เลน และ แซม นีล มารับบทเป็น ไมเคิล แชมเบอร์เลน เรื่องนี้ส่งให้ เมอรีล สตรีป ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขา นักแสดงนำหญิง, ปี 1990 ลินดี้ แชมเบอร์เลน เขียนหนังสือ Through My Eyes: an autobiography ภายหลังหนังสือของเธอถูกดัดแปลงเป็นมินิซีรีส์ ชื่อเดียวกับหนังสือ ได้ มิแรนดา ออตโต มาสวมบทบาทเป็น ลินดี้ แชมเบอร์เลน แพร่ภาพในปี 2004

ที่มา ที่มา ที่มา ที่มา