คดีประหลาดน่าหยิบมาเล่าต่อนี้เป็นเรื่องราวชวนอึ้ง 2 ชั้น ชั้นแรกคือ สตีเวน ฟิลลิปส์ (Steven Phillips) ชาวเมืองดัลลัส ในรัฐเท็กซัส ผู้กลายเป็นแพะในคดีข่มขืนต้องโทษจำคุกไปฟรี ๆ 25 ปี ในคดีที่เขาไม่ได้เป็นผู้กระทำ หลังได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จริง รัฐจ่ายเงินสินไหมชดเชยให้เขาเป็นจำนวน 6 ล้านเหรียญ ส่งให้เจอเรื่องอึ้งชั้นที่ 2 เมื่ออดีตภรรยาที่หย่าขาดจากเขาไปแล้ว 15 ปี ยื่นฟ้องขอส่วนแบ่งในเงินสินไหมก้อนนั้น อ้างว่าเธอมีสิทธิ์สมควรได้รับด้วย ผลการตัดสินเป็นอย่างไร มาอ่านรายละเอียดกันครับ
เรื่องอึ้งชั้นแรกของฟิลลิปส์ อยู่ดี ๆ ก็กลายเป็นผู้ต้องหาคดีข่มขืน
จุดเริ่มต้นของคดี
ย้อนไปในช่วงเดือน เมษายน ถึง พฤษภาคม ปี 1982 มีหญิงสาวอย่างน้อย 60 คน แจ้งเหตุว่าระหว่างที่พวกเธอออกจากยิม สปา และอะพาร์ตเมนต์ที่อาศัยอยู่ในดัลลัสนั้น ถูกชายแปลกหน้าเข้าประชิดตัวใช้ปืนเข้าข่มขู่ บางรายถูกข่มขืน บางรายถูกบังคับให้เปลื้องผ้าแล้วถูกกอดจูบลูบไล้ เหยื่อหลายคนให้การตรงกันว่าคนร้ายมักใส่เสื้อสเวตเตอร์สีเทาแบบมีฮูด มีผ้าพันหน้าปิดบังตั้งแต่ใต้ตาลงมา แต่สังเกตได้ชัดเจนว่าคนร้ายรายนี้มีดวงตาสีฟ้าสะดุดตา เจ้าหน้าที่ตำรวจฟังคำให้การแล้วเชื่อว่า คนร้ายที่ก่อเหตุทุกคดีนี้เป็นคนเดียวกัน
แต่น่าเสียดายว่าทุกคดีที่คนร้ายรายนี้ก่อ ไมได้ทิ้งหลักฐานใดที่สามารถมัดตัวคนร้ายได้เลย มีเพียงคดีเดียวที่เกิดขึ้นเมื่อตอนบ่ายวันที่ 14 พฤษภาคม 1984 ทางตอนเหนือของดัลลัส หญิงสาวรายหนึ่งโดนคนร้ายรายนี้งัดหน้าต่างกระจกเข้ามาในห้องนอนของเธอ เข้าใช้ปืนขู่บังคับให้เธอนำลูกชายวัย 2 ขวบ ไปขังไว้อีกห้องหนึ่ง แล้วจากนั้นก็ลงมือข่มขืนเธอพอเสร็จกามกิจก็หลบหนีไป
การสืบสวน
ข่าวไม่ได้บอกรายละเอียดว่าทำไมฟิลลิปส์ถึงตกเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาได้ แต่เหยื่อหลายรายก็ได้ชี้ภาพถ่ายของฟิลลิปส์ และตัวของฟิลลิปส์ที่ยืนเรียงแถวร่วมกับผู้ต้องหารายอื่น ๆ ในห้องระบุตัวผู้ต้องหา รวมไปถึงเหยื่อรายที่ถูกข่มขืนก็มั่นอกมั่นใจว่าฟิลลิปส์คือคนร้ายที่ข่มขืนเธอ
ในช่วงนั้นเกิดคดีคล้าย ๆ กันในเมืองแคนซัสซิตี้ ตำรวจได้นำภาพของฟิลลิปส์ปะปนไปในเซตภาพผู้ต้องสงสัยด้วยแล้วให้เหยื่อดูภาพ หนึ่งในเหยื่อชี้ภาพฟิลลิปส์ว่าเป็นผู้ก่อเหตุข่มขืนเธอ แต่ในคดีนี้ยังมีอีกหนึ่งผู้ต้องสงสัยคือ ซิดนีย์ กูดเยียร์ (Sidney Goodyear) ที่มีพยานทั้งในแคนซัสซิตี้และดัลลัสชี้ภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุเช่นกัน ทำให้ศาลอนุมัติหมายจับกุมตัวกูดเยียร์ แต่ในเวลาต่อหมายจับก็ถูกระงับโดยไม่แจ้งเหตุผล แต่ฟิลลิปส์ก็ยังคงถูกควบคุมตัว ทั้งที่เขาไม่เคยไปก่อเหตุใด ๆ นอกพื้นที่เมืองดัลลัสเลยก็ตาม
การพิจารณาคดี
ฟิลลิปส์เข้ารับการพิจารณาคดีในเดือนสิงหาคม 1982 ในข้อหาลักทรัพย์และข่มขืนในอะพาร์ตเมนต์ หญิงผู้เสียหายได้ชี้ตัวฟิลลิปส์ในชั้นศาล เธอยืนยันว่าไม่มีทางที่เธอจะลืมดวงตาสีฟ้าคู่นี้ไปได้ เป็นการระบุตัวผู้ต้องหาที่ประหลาดเพราะฟิลลิปส์นั้นตาสีเขียว แล้วเขาก็ยังมีพยานยืนยันที่อยู่ในขณะเกิดเหตุอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ฟิลลิปส์ก็โดนตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาลักทรัพย์
ปีต่อมา ฟิลลิปส์เข้ารับการพิจารณาคดีเป็นครั้งที่ 2 ครั้งนี้เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงในข้อหาข่มขืน รวมกับข้อหาลักทรัพย์ ศาลตัดสินให้เขาต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 30 ปี ก่อนเข้ารับการพิจารณาคดีครั้งที่ 3 ซึ่งจะตามมาอีกหลายคดี ฟิลลิปส์ตัดสินใจยอมสารภาพผิดใน 2 คดีที่ผ่านมาและที่จะตามมาอีก 5 คดี เพื่อแลกกับโทษจำคุกอีก 10 ปี รวมเป็น 40 ปี เพราะเขาไตร่ตรองแล้วว่าถ้าเขายังคงยืนกรานปฏิเสธและต่อสู้คดี ผลสุดท้ายเขาจะถูกจองจำยาวนานขึ้นอีกเป็นสิบ ๆ ปี
อุทธรณ์และพ้นข้อกล่าวหา
หลังจากฟิลลิปส์ได้ทราบว่ามีกระบวนการพิสูจน์ DNA เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดได้จริง ฟิลลิปส์จึงทำเรื่องร้องเรียนขอให้มีการพิสูจน์ DNA ในคดีของเขาในปี 2002 แต่คำร้องขอของเขาถูกปฏิเสธ องค์กรช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์จากระบบยุติธรรม (The Innocence Project) เข้ามารับผิดชอบคดีของฟิลลิปส์ในปี 2006 องค์กรต่อสู้เพื่อฟิลลิปส์จนสำเร็จ ได้รับอนุญาตให้ทำการตรวจ DNA พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของฟิลลิปส์ได้ แล้วผลก็ออกมายืนยันว่าฟิลลิปส์คือผู้บริสุทธิ์ในคดีนี้ อัยการรัฐยอมรับเรื่องและยื่นข้อสรุปต่อชั้นศาลว่าฟิลลิปส์เป็นผู้บริสุทธิ์พ้นผิดจากทุกข้อกล่าวหาหลังจากที่เขาถูกจองจำมาแล้ว 25 ปี เขาได้รับการปล่อยตัวในปี 2007 ในวัย 50 ปี ศาลมีคำตัดสินให้เขาพ้นผิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคม 2008 รวมแล้วฟิลลิปส์ถูกจองจำในคดีที่เขาไมได้กระทำเป็นเวลาทั้งสิ้น 26 ปี
ส่วน ซิดนีย์ กูดเยียร์ นั้น ถูกจำคุกในภายหลังด้วยข้อหาคล้าย ๆ กันนั้น เขาเสียชีวิตในคุกตั้งแต่ปี 1998 แต่ยังมีการเก็บตัวอย่าง DNA ของเขาไว้จากการชันสูตรศพ ผลการตรวจ DNA ของกูดเยียร์ตรงกับคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในดัลลัส ชี้ชัดว่ากูดเยียร์คือคนร้ายตัวจริงในอย่างน้อย 16 คดีคุกคามทางเพศ และอีกหลาย ๆ คดีในต่างรัฐ
มาสู่เรื่องชวนอึ้งครั้งที่ 2 ในชีวิตของ สตีเวน ฟิลลิปส์
สตีเวน ฟิลลิปส์ แต่งงานกับ เทรซี ทักเคอร์ (Traci Tucker) ได้ประมาณ 1 ปีกว่า ๆ ก่อนที่เขาจะถูกจับในปี 1982 ซึ่งทักเคอร์ก็หย่าขาดจากเขาในอีก 10 ปีต่อมา หลังจากฟิลลิปส์ได้รับการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และได้รับการปล่อยตัวมาแล้ว เขาได้รับการคุ้มครองจากพระราชบัญญัติ ทิม โคล ของรัฐเท็กซัส ( ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ ทิโมธี โคล ทหารผ่านศึกอเมริกันที่เสียชีวิตระหว่างถูกจองจำไปได้ 14 ปี ในคดีที่เขาไม่ได้กระทำผิด) เป็นพระราชบัญญัติที่ระบุให้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่อเหยื่อที่โดนจำคุกในคดีที่ได้รับการพิสูจน์ชี้ชัดแล้วว่าไม่มีความผิด สตีเวน ฟิลลิปส์ ได้รับเงินชดเชยจากรัฐเท็กซัสเป็นจำนวนเงิน 6 ล้านเหรียญ ในจำนวนนี้ รัฐจะจ่ายให้ทันที 2 ล้านเหรียญ แล้วให้รายเดือนอีกเดือนละ 11,000 เหรียญ ไปจนครบจำนวน เมื่อ เทรซี ทักเคอร์ อดีตภรรยาทราบว่าฟิลลิปส์อดีตสามีของเธอนั้นเพิ่งได้รับเงินก้อนโต ทักเคอร์ก็ดำเนินการฟ้องร้องฟิลลิปส์ทันที เรียกร้องว่าเธอมีสิทธิ์ในเงินก้อนนี้ในฐานะเงินชดเชยรายได้ ในช่วงที่ยังคงสถานะภรรยาของเขา เธออ้างว่าเงินส่วนนี้คือสินสมรส ไม่ใช่เงินส่วนแบ่งหลังการหย่าร้าง
ในเดือนกันยายน 2012 ผู้พิพากษา ลอรี คริสแน เฮ็กเค็ตต์ (Lori Chrisman Hockett) ขึ้นพิจารณาคดีนี้ เธอตัดสินเห็นชอบว่าทักเคอร์สมควรได้รับส่วนแบ่งในเงินสินไหมก้อนนี้
“ในจำนวนเงินสินไหมทั้งหมดที่จำเลยได้รับจากเหตุที่เขาถูกตัดสินจองจำผิดพลาดนั้น คำนวณออกมาแล้วว่า 228,919 เหรียญ ถือเป็นเงินสินสมรสระหว่างจำเลยกับโจทก์ ซึ่งศาลพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิ์ได้รับเงิน 50% จากจำเลย เป็นจำนวนเงิน 114,459.50 เหรียญ”
แน่นอนว่าฟิลลิปส์จะไม่ยินยอมเห็นพ้องกับคำตัดสินของศาลชั้นต้น เขาดำเนินการต่อในศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษา 3 คนพิจารณาแย้งคำตัดสินของศาลชั้นต้น ด้วยความเห็นที่ว่า
“เงินก้อนนี้เป็นเงินสินไหมทดแทนให้กับช่วงระยะเวลาที่เขาถูกคุมขังในคดีที่ไม่ได้กระทำความผิด ไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือขึ้นกับการชดเชยรายได้ที่ควรได้รับในระหว่างที่ถูกจองจำแต่อย่างใด”
ผู้พิพากษา เดวิด อีแวนส์ (David Evans) ได้เขียนถึงคดีนี้ในภายหลังว่า
“ภายใต้เหตุโต้แย้งนี้ ผู้พ้นผิดจะได้รับเงินสินไหมทดแทนโดยอิงจากจำนวนปีที่ถูกจองจำผิดพลาด คูณด้วยจำนวนเงิน 80,000 เหรียญต่อปี โดยไม่มีการคำนึงถึงการศึกษา ประวัติการทำงาน รายได้ต่อปี หรือการสูญเสียรายได้ใด ๆ ก็ตามในช่วงที่ได้รับการคุมขัง”
ในกรณีเช่นนี้ ทางรัฐก็มีความเห็นอกเห็นใจต่อความยากลำบากที่ครอบครัวของผู้ที่ถูกจองจำต้องเผชิญ ด้วยการให้เงินช่วยเหลือในการดูแลบุตร ซึ่ง เทรซี่ ทักเคอร์ ก็ได้รับเงินช่วยเหลือส่วนนี้ไปแล้ว
“ไม่มีส่วนใดในพระราชบัญญัติ ทิม โคล ที่ระบุไว้ว่ารัฐจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับคู่สมรสของผู้ที่ถูกจองจำ เราไม่ได้เปิดโอกาสให้คู่สมรส หรืออดีตคู่สมรสของผู้ที่ถูกจองจำจากการตัดสินที่ผิดพลาดได้มาฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องส่วนแบ่งในเงินสินไหมนี้”
แรนดี้ เทอร์เนอร์ (Randy Turner) ทนายของฟิลลิปส์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ลูกความของผมสมควรได้พักได้แล้ว”
“สตีฟเขาตกใจมากตอนที่ได้ข่าวว่าอดีตภรรยาฟ้องร้องเขา เขาถูกจำคุกมา 25 ปีในคดีที่เขาไม่ได้กระทำผิด แล้วเขาก็ได้รับการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ พอเขาได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ เขาก็ยังต้องเจอกับทนายจอมละโมบจากเมืองลับบ็อกที่มาบอกว่าเขาจะได้เงินสินไหมจากรัฐแค่ครึ่งหนึ่งของยอด 2 ล้านเหรียญ ซึ่งเรากำลังจะฟ้องร้องเรื่องนี้อยู่ พอเรื่องต่าง ๆ ได้ข้อสรุปไปแล้ว สตีฟยังต้องเจอว่าเมียเก่ามาฟ้องขอส่วนแบ่งจากเงินก้อนนี้อีก ตอนนี้เขาก็พร้อมสู้คดีให้จบเรื่องเสียทีเพื่อที่เขาจะได้ดำเนินชีวิตต่อไป”
อ้างถึงทนายความคนเก่าของฟิลลิปส์ ที่ถูกฟ้องร้องก็คือ เควิน กลาชีน (Kevin Glasheen) เขารับทำคดีให้ฟิลลิปส์ในปี 2009 เขาบอกว่าฟิลลิปส์มีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยที่ 50,000 เหรียญต่อปีที่ถูกจองจำไปเท่านั้น แล้วก็ไม่ได้พยายามจะยื่นฟ้องรัฐเพื่อเรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งที่พระราชบัญญัติ ทิม โคล ที่มีผลกำหนดใช้มาตั้งแต่ปี 2009 ระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่ถูกจองจำจากการตัดสินที่ผิดพลาดจะได้รับเงินสินไหมทดแทนปีละ 80,000 เหรียญ
คดีของ สตีเวน ฟิลลิปส์ นี่ทำเอาผู้ที่พ้นผิดจากคดีที่ตัดสินผิดก่อนหน้านี้ ร้อน ๆ หนาว ๆ ไปตาม ๆ กัน เพราะถ้าศาลตัดสินให้อดีตภรรยามีส่วนแบ่งในเงินสินไหมชดเชยนั้น พวกเขาก็น่าจะถูกอดีตภรรยายื่นฟ้องกันด้วยเป็นแน่
“ถ้าศาลตัดสินให้อดีตภรรยาชนะ ก็จะเป็นการเปิดช่องให้บรรดาอดีตภรรยาของผู้พ้นผิดทั้งหลายมาตั้งทนายฟ้องร้องตามอย่างกันบ้าง หรือผู้พ้นผิดคนต่อ ๆ ไปในอนาคตที่เดินพ้นประตูเรือนจำออกมา ที่แรกที่เขาต้องตรงไปทันทีก็คือสำนักงานทนายความ เพื่อตั้งทนายเตรียมสู้คดีไว้ก่อนเลย เพราะผู้ถูกคุมขังเหล่านี้มักจะถูกภรรยาฟ้องหย่าระหว่างที่ยังอยู่ในเรือนจำ แล้วบางคนก็ติดคุกยาวนานมาเป็นสิบปี พวกเขาไม่รู้หรอกว่าจะต้องบริหารจัดการเงินอย่างไร พอได้เงินก้อนโตมาก็มักจะใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย พอโดนอดีตเมียฟ้องมา ถ้าศาลมีคำสั่งให้จ่ายเงินส่วนแบ่งให้กับอดีตเมีย ซึ่งเขาไม่เหลือเงินแล้วก็มักจะต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลาย”