ชีวิตคนเราล้วนต้องฝ่าฟันอุปสรรค ไม่ว่าจะยากเย็นแสนเข็ญเพียงใดก็ต้องพยายามผ่านพ้นไปให้ได้ แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคน บางคนเผชิญปัญหาถาโถมหนักจนท้อแท้ แล้วยอมแพ้ ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง แล้ววิธีที่ใช้กันมากก็คือ การกระโดดจากที่สูง ให้แรงโน้มถ่วงของโลกเป็นเครื่องมือสังหาร สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้ามีอาคารและสิ่งก่อสร้างสูงลิบลิ่วมากมาย หลายคนจึงเลือกที่จะกระโดดจากสิ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงก้องโลกเหล่านี้ อย่าง สะพานโกลเด้นเกต และตึกระฟ้าอย่าง ตึกเอ็มไพรส์สเตท (Empire State)
ตึกเอ็มไพรสเตท สร้างเสร็จเมื่อปี 1930 ด้วยความสูง 320 เมตร ได้รับตำแหน่งอาคารที่สูงที่สุดในโลกในวันนั้น มาเสียตำแหน่งให้ เวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ในปี 1970 พอสร้างเสร็จแล้วกลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นหน้าตาเป็นตาแห่งภาคภูมิใจของกรุงนิวยอร์ก ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้ไปเยี่ยมชม แต่กลุ่มคนคิดสั้นก็ให้ความสนใจต่อตึกเอ็มไพรเสตทเช่นกัน นับถึงวันนี้เคยมีคนกระโดดตึกเอ็มไพรสเตทฆ่าตัวตายมาแล้วกว่า 30 คน แต่มีเพียงคนเดียวที่กระโดดแล้วรอดมาได้ รอดมาได้อย่างไรกัน
สาวผู้คิดสั้น แต่ยมบาลยังไม่ต้องการตัวผู้นี้มีนามว่า เอลวิทา อดัมส์ (Elvita Adams) สาวผิวดำวัย 29 ปี ไม่มีรายละเอียดว่าอดัมส์มีพื้นเพมาจากรัฐใด รู้แค่เพียงว่าเธอมาใช้ชีวิตในกรุงนิวยอร์ก แต่เธอก็ต้องเผชิญกับปัญหาชีวิตครั้งใหญ่ เมื่อเธอต้องตกงาน แล้วไม่สามารถหางานใหม่ได้ ต้องยังชีพด้วยเงินสวัสดิการจากรัฐ เดือนละ 100 เหรียญ ซึ่งนั่นไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าเช่าเลยด้วยซ้ำ ทำให้เธอค้างค่าเช่าหลายเดือน แล้วเจ้าของอาคารก็ขู่ว่าจะไล่เธอออก อดัมส์รู้สึกเหมือนว่าเธออยู่ในสถานการณ์มืดแปดด้าน ไม่รู้จะหันไปพึ่งพาใคร เมื่อมองไปทางไหนก็ไม่เห็นทางออกจากปัญหา อดัมส์จึงตัดสินใจเลือกจบชีวิตตัวเองด้วยการกระโดดตึกเอ็มไพรสเตท
ตึกเอ็มไพรสเตทมีทั้งหมด 102 ชั้น และเปิดให้นักท่องเที่ยวมาชมทิวทัศน์เหนือกรุงนิวยอร์กได้ที่ชั้น 86 ซึ่ง วันที่ 2 ธันวาคม 1979 อดัมส์ก็กดลิฟต์มาที่ชั้นนี้ด้วยเช่นกัน แต่ก็ต้องเจอกับรั้วเหล็กที่สูงกว่า 3 เมตร และมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 4 นาย เดินตรวจตราตลอดเวลา ทำให้เธอไม่เห็นช่องทางที่จะหลบหลีกสายตาเจ้าหน้าที่แล้วกระโดดลงไปได้ เธอจึงตัดสินใจกลับไปตั้งหลักก่อน แล้วกลับมาอีกครั้งตอน 20:00 น. กลับมารอบนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเหมือนตอนกลางวันแล้ว ทำให้อดัมส์สามารถปีนข้ามรั้วเหล็ก 3 เมตรออกไปได้ แล้วเธอก็ทิ้งร่างตัวเองลงสู่ความเวิ้งว้างเบื้องล่างทันที แต่ร่างเธอไม่ได้ดิ่งลงสู่พื้นโลกเบื้องล่างอย่างที่เธอคาด
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนามว่า จอร์จ รีซ ให้การว่า เวลาประมาณ 20:15 น. เขาได้ยินเสียงผู้หญิงร้องครวญครางมาจากชั้น 85 เขาจึงเดินไปยังต้นเสียงที่ได้ยิน แล้วก็พบร่างของอดัมส์นอนราบอยู่บนแนวขอบตึกที่มีหน้ากว้างเพียงแค่ 90 ซม. และอยู่ลึกลงไป 6 เมตร จากแนวกำแพงชั้น 85 รีซจึงรีบโทรเรียกรถพยาบาลให้มารับร่างของเธอไปส่งโรงพยาบาลเบลเลอวู ผลการตรวจสอบร่างกายของอดัมส์ พบแค่เพียงกระดูกเชิงกรานร้าวเท่านั้น และอาการตื่นตระหนก เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อสงสัยว่า น่าจะมีใครผลักอดัมส์ลงไปจากชั้น 85 แต่เธอก็ยืนกรานว่าไม่มีใครเกี่ยวข้อง เธอตัดสินใจกระโดดตึกฆ่าตัวตายเอง แต่ตอนนี้เธอไม่เข้าใจว่าเธอรอดตายมาได้อย่างไรกัน เช่นเดียวกับทุกคนในคืนนั้นที่งงเป็นไก่ตาแตก
ทฤษฎีเดียวที่พอฟังดูเข้าเค้าก็คือ กระแสลมคือตัวการเดียวที่ช่วยให้อดัมส์รอดตายมาได้ เพราะที่ความสูงในระดับนั้น กระแสลมจะทรงพลังมากพอที่จะรับร่างคนที่กระโดดลงมาให้เปลี่ยนทิศทางไปได้ ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมมาว่าที่ความสูงระดับนั้นกระแสลมอาจมีความเร็วได้ถึง 177 กม./ชม. เลยเชียว
หลังรอดชีวิตมาได้ อดัมส์ก็เลือกใช้ชีวิตแบบเงียบสงบเป็นส่วนตัว ทำให้สื่อเข้าถึงตัวเธอได้ยาก แล้วก็ไม่มีใครได้ทราบข่าวคราวความเป็นไปของเธออีกเลย จนกระทั่งปี 2011 ก็มีละครเวทีแบบเล่นคนเดียวโโย แอชลีย์ ลอยด์ ในชื่อเรื่องว่า “I’ve Been Elvita Adams” แต่ไม่มีการเปิดเผยว่ามีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับตัว เอลวิทา อดัมส์ หรือเธออาจจะอยู่เบื้องหลังบทละครเรื่องนี้ก็เป็นได้
มีอีกเบาะแสหนึ่งคือ มีผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ว่า @ElvitaAdams แล้วมีข้อความบรรยายตัวตนว่า “ฉันคือหญิงที่เอาชนะตึกเอ็มไพรสเตทมาแล้ว ฉันกระโดดตึกแต่ไม่ตาย สุดท้ายฉันก็เลือกจะที่ยุติเส้นทางสายสแตนด์อัปคอมมีดี้” ไม่มีข้อเยืนยันอีกเช่นกันว่านี่คือบัญชีของ เอลวิทา อดัมส์ ตัวจริงหรือไม่ แต่ถ้าเธอยังมีชีวิตอยู่ วันนี้เธอจะอายุ 71 ปีแล้ว
ผู้ที่เคยกระโดดตึกเอ็มไพรสเตทก่อนหน้า เอลวิทา อดัมส์ แล้วสมควรแก่การเอ่ยถึง
คนแรกที่กระโดดตึกเอ็มไพรสเตทฆ่าตัวตายเป็นผู้ชาย เขากระโดดเมื่อปี 1931 ตั้งแต่ตึกยังสร้างไม่เสร็จ เขาเลือกจบชีวิตตัวเองสาเหตุเพราะตกงาน แล้วกระโดดลงมาจากชั้นที่ 58 รายนี้จบชีวิตสำเร็จ
อีกรายที่โด่งดังมากคือ เอเวลีน แม็กเฮล (Evelyn McHale) ที่ดิ่งลงจากตึกเอ็มไพรสเตทในปี 1947 อัตวินิบาตกรรมของเธอนั้นเป็นที่จดจำและเลื่องลือมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุที่ร่างของแม็กเฮลนั้นร่วงลงมากระแทกหลังคารถลิมูซีน โดยที่ตัวแม็กเฮลนั้นแต่งกายสวยงาม สวมสร้อยมุกและถุงมือ ภาพร่างไร้วิญญาณของแม็กเฮลที่ได้รับการเผยแพร่ลงในหลาย ๆ สื่อ ทำให้ได้รับการขนานนามว่านี่คือ “การฆ่าตัวตายที่สวยงามที่สุด” สื่อสิ่งพิมพ์ในยุคนั้นพร้อมใจกันลงข่าวการฆ่าตัวตายของเธอ ทำให้นักเรียนที่เป็นคนบันทึกภาพร่างไร้วิญญาณของเธอพลอยโด่งดังไปด้วย ภาพร่างของแม็กเฮลถึงกับได้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Time และศิลปินระดับโลกอย่าง แอนดี้ วาร์ฮอล ก็สร้างผลงานศิลปะจากภาพของเธอด้วย