เชื่อว่าแทบทุกคนที่กดเข้ามาอ่านบทความนี้ ต่อให้ชอบหรือไม่ชอบไก่ทอด KFC แต่ก็ต้องเคยลองชิมมาแล้วกันทั้งนั้น วันนี้ Kentucky Fried Chicken หรือ KFC เป็นหนึ่งในแฟรนไชส์ยิ่งใหญ่ระดับโลก เป็นแบรนด์ที่คนทั่วโลกรู้จัก มีมากกว่า 24,xxx สาขาทั่วโลก ในขณะนี้ มูลค่าของแบรนด์สูงถึง 27,900 ล้านเหรียญ
เราต่างก็รู้จักชื่อของผู้พันแซนเดอร์ส ผู้เป็นสัญลักษณ์และเป็นผู้ค้นคิดสูตรไก่ทอด KFC และน่าจะเคยได้ยินได้ฟังผ่านหูมาว่า กว่าที่ผู้พันแซนเดอร์สจะสร้างแบรนด์ KFC ได้สำเร็จนั้น เขาก็อายุมากแล้ว แต่เรื่องราวก่อนหน้านั้น ไม่ได้ถูกหยิบมาเล่าบ่อยนัก แต่ก็เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจเพราะเส้นทางชีวิตของผู้พันนั้น เรียกได้ว่าตั้งแต่เกิดจนถึงวันที่เป็นเจ้าของ Kentucky Fried Chicken นั้น ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเอาเสียเลย บทความนี้จะย้อนเล่าถึงชีวิตที่เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามของ ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส (Harland Sanders) ผู้ชายที่มีภาพลักษณ์อันเป็นเอกลักษณ์จนคนรู้จักไปทั่วโลกผู้นี้
ชีวิตในช่วงต้น ลำบากตั้งแต่เด็ก
ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส เกิดเมื่อปี 1890 เขาเกิดในครอบครัวชนชั้นแรงงาน ชีวิตลำบากมาตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อตายไปตั้งแต่เขาอายุได้ไม่กี่ขวบ มากาเร็ธ แอน ผู้เป็นแม่จึงต้องทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว เธอทำงานสองแห่งต่อเนื่องกัน ทำงานในโรงงาน เสร็จแล้วก็ไปทำงานในโรงเย็บผ้าต่อ ทำให้ฮาร์แลนด์ต้องรับผิดชอบงานบ้านทุกอย่าง รวมไปถึงการทำอาหารเลี้ยงตัวเองและน้อง ๆ อีก 2 คน เพราะแม่ต้องทำงานนอกบ้านตลอดเวลา หนังสือพิมพ์ New Yorker เขียนถึงฮาร์แลนด์ในช่วงนี้ว่า
“เขาหัดทำอาหารตั้งแต่อายุยังน้อยกว่าเด็กหลาย ๆ คนที่เริ่มหัดขี่จักรยานเสียอีก”
ไม่เพียงแค่รับผิดชอบงานบ้านเท่านั้น ถ้ามีเวลาพอ ฮาร์แลนด์จะรับจ้างทำงานทุกอย่างที่เด็กตัวน้อยอย่างเขาจะสามารถทำได้ ฮาร์แลนด์เริ่มทำงานในฟาร์มตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ในช่วงนั้นแม่ของเขาแต่งงานใหม่ ทำให้แม่พาครอบครัวย้ายตามสามีใหม่ไปอยู่ที่รัฐอินดิแอนนาโปลิส แต่ฮาร์แลนด์ก็อยู่ที่นี่ได้ไม่นานนัก เขาไม่สามารถเข้ากับพ่อเลี้ยงได้ ลงเอยด้วยการที่ฮาร์แลนด์ตัดสินใจทิ้งครอบครัวออกจากบ้าน และนั่นแปลว่าเขาต้องออกจากโรงเรียนในขณะที่อยู่ชั้น ม.1 ตอนนั้นฮาร์แลนด์อายุได้ 12 ปี เขาไปทำงานแล้วพักอยู่กับฟาร์มใกล้ ๆ บ้าน อายุ 13 เข้าย้ายไปทำงานเป็นช่างทาสีรถม้า อายุ 14 เปลี่ยนงานไปทำงานเป็นคนงานเก็บพืชผลในไร่
ประสบการณ์ชีวิตที่โชกโชน
แต่ด้วยความคุ้นชินกับการทำงานหนักมาตั้งแต่เด็ก ฮาร์แลนด์จึงไม่เคยย่อท้อกับการสู้ชีวิตที่เขาต้องเผชิญ ฮาร์แลนด์ยังคงมุมานะทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง จนอายุได้ 18 ปี เขาก็เข้าพิธีแต่งงานครั้งแรกกับ โจเซฟิน คิง ในรัฐแอละบามา ในปี 1908 ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 3 คน แม้ว่าฮาร์แลนด์จะเป็นคนสู้งานไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค แต่เขาก็มีปัญหาในเรื่องที่ทำงานอยู่ที่ไหนไม่ได้นาน เปลี่ยนงานบ่อยมาก เท่าที่เคยมีการบันทึกไว้นั้น งานที่ฮาร์แลนด์เคยทำมาแล้วก็คือ รับราชการทหารในกองทัพสหรัฐฯ ถูกส่งไปรบในคิวบา, เจ้าหน้าที่ขับรถราง, พนักงานควบคุมรถไฟไอน้ำ, พนักงานขายประกันชีวิต, เลขานุการ, พนักงานขายยางรถยนต์, พนักงานขับเรือเฟอรี่, ทนายความ เคยเป็นแม้แต่พยาบาลผดุงครรภ์
ในวัย 42 ปี ฮาร์แลนด์ต้องประสบกับเหตุการณ์ร้ายในชีวิตที่เป็นรอยแผลฝังใจเขาไปจนวันตาย เมื่อ ฮาร์แลนด์ จูเนียร์ ลูกชายคนหนึ่งของเขา เข้ารับการผ่าตัดต่อมทอมซิลในปี 1932 แล้วเกิดภาวะติดเชื้อโลหิตเป็นพิษเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 20 ปี แต่เขาก็ต้องกัดฟันเดินหน้าต่อไป เมื่อฮาร์แลนด์กำลังได้รับโอกาสสำคัญทางธุรกิจ เมื่อเจ้าของปั๊มน้ำมันเชลล์ ในรัฐเคนทักกี ได้ยื่นข้อเสนอให้เขาเช่าปั๊มน้ำมันแบบฟรี ๆ แต่ได้ส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์จากกำไรการค้า ตอนนี้แหละที่ฮาร์แลนด์เริ่มขายอาหารในปั๊มน้ำมัน มีทั้งแฮม สเต๊ก รวมไปถึงไก่ทอดสูตรของเขาเองด้วย แรก ๆ เขาให้ลูกค้านั่งทานอาหารในห้องเล็ก ๆ ในปั๊มน้ำมัน พอเห็นทีท่าว่าเริ่มขายดี ฮาร์แลนด์เลยเปิดร้านอาหารแบบเป็นเรื่องเป็นราว
แต่ฮาร์แลนด์ก็มีร้านอาหารคู่แข่งในละแวกนั้น เป็นร้านของ แมตต์ สจวร์ต (Matt Stewart) แต่ก็มีเรื่องดีเกิดขึ้นในเรื่องร้าย เมื่อฮาร์แลนด์และลูกจ้างในปั๊มไปช่วยกันติดป้ายโฆษณาตามข้างทาง แล้วก็มีเหตุทะเลาะวิวาทกับสจวร์ต ระหว่างนั้นสจวร์ตก็ยิงลูกน้องของฮาร์แลนด์ตาย เขาถูกจับข้อหาฆาตกรรม กิจการร้านอาหารของสจวร์ตจำต้องปิดตัวลง ทำให้ฮาร์แลนด์หมดคู่แข่งไปโดยปริยาย
เริ่มมองเห็นแสงสว่างรำไร
ชีวิตช่วงนี้นับว่าเป็นช่วงขาขึ้นของฮาร์แลนด์ เมื่อกิจการร้านอาหารของเขาเจริญเติบโตขึ้น ดันแคน ไฮน์ (Duncan Hines) นักชิมอาหารเลื่องชื่อมาทานอาหารที่ร้านของฮาร์แลนด์แล้วใส่ร้านของเขาลงในหนังสือแนะนำร้านอาหารอร่อยทั่วสหรัฐฯ ในปี 1939 ทำให้ร้านของฮาร์แลนด์โด่งดังเป็นที่รู้จัก สร้างชื่อให้กับรัฐเคนทักกี รูบี้ แลฟฟูน (Ruby Laffoon) ผู้ว่าการรัฐฯ จึงมอบยศพิเศษให้เขาเป็น “ผู้พันแซนเดอร์ส” กลายเป็นชื่อที่ทุกคนเรียกติดปากมาจนทุกวันนี้
ในเดือนกรกฎาคม 1939 ฮาร์แลนด์เริ่มมีทุนพอที่จะซื้อต่อกิจการโมเต็ลในเมืองแอชวิลล์ รัฐนอร์ธแคโรไลนา แต่โชคร้ายยังคงวนเวียนอยู่ในชีวิตของผู้พันแซนเดอร์ส เดือนพฤศจิกายน โมเต็ลที่เขาเพิ่งซื้อมาก็ถูกเพลิงไหม้เสียหายทั้งหมด แต่ผู้พันแซนเดอร์สก็ยังคงกัดฟันสู้ เขาสร้างโมเต็ลขึ้นมาใหม่ พร้อมกับสร้างร้านอาหารจำนวน 140 ที่นั่ง
ในเดือนกรกฎาคม ปี 1940 ผู้พันแซนเดอร์สอายุได้ 50 ปี ตอนนี้เขามั่นใจกับสูตรไก่ทอดของเขาอย่างเต็มที่ เขาเรียกสูตรของเขาว่าเป็น “สูตรลับ” ด้วยการทอดไก่ในหม้อแรงดัน ประหยัดเวลากว่าการทอดบนกระทะน้ำมัน แต่พอจะเริ่มจะมีเรื่องดี ๆ เข้ามาในชีวิตผู้พันแซนเดอร์ส ชีวิตเขาก็มักจะพลิกผันให้เจอเรื่องร้ายเข้ามาแทรกแซงอยู่เสมอ ในปีถัดมา ธันวาคม 1941 สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ปริมาณแก๊สในประเทศขาดแคลน จำนวนนักท่องเที่ยวลดน้อยลง ทำให้ผู้พันแซนเดอร์สจำต้องปิดกิจารโรงแรมลง ฮาร์แลนด์ต้องเข้ากองทัพ ไปประจำการเป็นหัวหน้าหน่วยในซีแอตเทิล พอช่วงปลายปี 1942 เขาก็ถูกย้ายไปคุมร้านอาหารในกองสรรพาวุธ รัฐเทนเนสซี แล้วก็ได้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการในร้านอาหารในเมืองโอคริดจ์ รัฐเทนเนสซี
ปี 1942 นี้ ที่ผู้พันแซนเดอร์สตัดสินใจขายกิจการโรงแรมในแอชวิลล์ มาจนถึงปี 1947 เขาหย่ากับโจเซฟินภรรยาของเขา ในปี 1949 เขาแต่งงานใหม่กับ คลอเดีย เลดิงทัน-ไพรซ์ อดีตผู้จัดการโรงแรมแอชวิลล์ ของเขานั่นเอง ซึ่งเขาแอบคบหามายาวนาน
ในที่สุดก็ถึงฝั่งฝัน
ปี 1952 เริ่มเปิดขายแฟรนไชส์ในชื่อ “Kentucky Fried Chicken” ลูกค้ารายแรกคือ พีต ฮาร์มาน มาจากเมืองซอลต์เลค รัฐยูทาห์ เจ้าของแฟรนไชส์ร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในรัฐยูทาห์ พอฮาร์มานลองขายไก่ทอดของผู้พันแซนเดอร์สไปแค่ปีเดียว ยอดขายก็ถล่มทลายมากกว่าเดิมถึง 3 เท่าตัว แล้ว 75% ของรายได้ก็มาจากไก่ทอดของผู้พันแซนเดอร์ส ฮาร์แมนพออกพอใจเป็นอย่างมาก เพราะการขายไก่ทอดนั้น ทำให้เขามีรูปแบบอาหารที่ฉีกออกไปจากคู่แข่ง หลัง พีต ฮาร์มาน ประสบความสำเร็จ เจ้าของร้านอาหารหลายแห่งเลยสนใจเข้าเป็นแฟรนไชส์ของผู้พันแซนเดอร์ส โดยแบ่งกำไรให้ผู้พันแซนเดอร์ส 0.04 เหรียญต่อไก่ 1 ชิ้น
ปี 1959 ผู้พันแซนเดอร์สเปิดร้านอาหารใหม่ในเมืองเชลบี้วิลล์ และใช้เป็นสำนักงานใหญ่ของ Kentucky Fried Chicken พอเห็นว่าแฟรนไชส์ของเขาเริ่มไปได้ดี ผู้พันแซนเดอร์สก็ไม่นิ่งเฉย เขาชวนคลอเดียภรรยาของเขาเดินทางไปทั่วสหรัฐฯ เพื่อเสนอขายแฟรนไชส์ของเขาให้กับร้านอาหาร เขาขับรถไปทั่วประเทศ แล้วก็นอนหลับกันในรถ พอเจอร้านอาหารที่น่าสนใจ ผู้พันแซนเดอร์สก็จะเสนอตัวลงไปทอดไก่ให้ลองชิม ถ้าเจ้าของร้านชิมแล้วสนใจก็ค่อยคุยตกลงธุรกิจกัน แต่ในวัย 65 ปี แล้วต้องขับรถตระเวนไปทั่วประเทศแบบนี้ ใช้พลังงานและเวลาอย่างมาก บวกกับแฟรนไชส์เริ่มขายชื่อเสียงของตัวมันเองได้แล้ว บรรดาเจ้าของร้านอาหารก็เริ่มสนใจแล้วติดต่อมาหาผู้พันแซนเดอร์สเอง เขาจึงกลับมาปักหลักบริหารอยู่ที่สำนักงานใหญ่ ส่วนคลอเดียก็รับหน้าที่ปรุงสูตรลับและส่งวัตถุดิบให้กับร้านอาหารในเครือ
ตอนนี้แฟรนไชส์ Kentucky Fried Chicken ประสบความสำเร็จอย่างมาก KFC กลายเป็นแฟรนไชส์ร้านอาหารแห่งแรกในสหรัฐฯ ที่สามารถเติบโตออกไปต่างประเทศได้ เริ่มมีสาขาแห่งแรกในแคนาดา แล้วก็มีตามมาในอังกฤษ ออสเตรเลีย เม็กซิโก และจาไมก้าในช่วงกลางยุค 60s ปี 1962 ผู้พันแซนเดอร์สตัดสินใจจดทะเบียนสิทธิบัตรเพื่อป้องกันทรัพย์สินทางปัญญาของเขา ในปี 1963 จดทะเบียนวลีคำว่า “It’s Finger Lickin’ Good”
Kentucky Fried Chicken เติบโตอย่างรวดเร็วมาก ขยายเป็น 600 สาขาในปี 1964 ขณะนั้นผู้พันแซนเดอร์สก็อายุได้ 73 ปีแล้ว เขาตัดสินใจหยุดบริหารธุรกิจ KFC ด้วยการขายธุรกิจต่อให้กับ จอห์น วาย. บราวน์ จูเนียร์ (John Y. Brown Jr) หุ้นส่วนของเขาวัย 29 ปี และ แจ็ก ซี.แมสซีย์ (Jack C. Massey) นักลงทุน ไปด้วยราคา 2 ล้านเหรียญ (มูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 17.5 ล้านเหรียญ) แต่ผู้พันแซนเดอร์สก็ยังคงได้เงินเดือนในฐานะ ตัวแทนของแบรนด์ แต่ดีลนี้เป็นการขายสิทธิ์ให้ในเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ผู้พันแซนเดอร์สยังคงเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ในแคนาดา ส่วนสาขาในอังกฤษ, ฟลอริดา, ยูทาห์ และมอนทานานั้น ผู้พันแซนเดอร์สขายให้คนอื่นไปแล้วก่อนหน้านั้น
ปี 1965 ผู้พันแซนเดอร์สย้ายไปอยู่ในรัฐออนทาริโอ แคนาดา เพื่อดูแลร้านสาขาของเขาที่นี่ ช่วงนี้ผู้พันแซนเดอร์สยังมีรายได้เสริมจากการไปปรากฏตัวในสหรัฐฯ และ แคนาดา หลังขายกิจการไปแล้ว ผู้พันแซนเดอร์สก็ยังไม่ได้พักผ่อน เพราะเขายังคงเป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์ แต่ละปีเขาต้องเดินทางไปทั่วสหรัฐฯ เพื่อไปปรากฏตัวตามสาขาต่าง ๆ และถ่ายโฆษณาทีวี เคยมีการคำนวณว่าผู้พันแซนเดอร์สต้องเดินทางเฉลี่ยปีละ 320,000 กม. ซึ่งเขายังคงเป็นบุคคลที่บรรดาผู้บริหาร KFC และเจ้าของแฟรนไชส์ยังคงให้ความเคารพยำเกรงอยู่เสมอมา แล้วหนำซ้ำไปกว่านั้น หนังสือพิมพ์ The New Yorker ยังเคยเขียนขู่บรรดาเจ้าของแฟรนไชส์ไว้อีกว่า อย่าได้ลองดีไปเปลี่ยนสูตรของผู้พัน ไม่งั้นจะเจอกับ “อาถรรพ์ที่ผู้พันแซนเดอร์สสาปแช่งไว้” เพราะในช่วงนั้นทางบริษัทเริ่มจะดัดแปลงสูตรและทำเมนูอื่น ๆ ออกมาขายนอกเหนือจาก “ไก่ทอดผู้พัน”
ขายกิจการไปแล้วแต่ไม่วางใจเรื่องคุณภาพ
แล้วตัวผู้พันเอง ก็ยังไม่ปล่อยวางคุณภาพและรสชาติที่เกิดจากน้ำมือของเขา แม้จะขายกิจการไปแล้วก็ตาม ผู้พันยังคงเดินสายตรวจตรากิจการแฟรนไชส์ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ถ้าร้านไหนทำรสชาติเพี้ยนไปจากเดิม เขาจะฟ้องไปยังบริษัทแม่ให้ถอนสิทธิ์จากการเป็นแฟรนไชส์ทันที ในปี 1979 ผู้พันแซนเดอร์สแอบไปตรวจสอบแฟรนไชส์สาขาหนึ่ง แล้วเขารู้สึกผิดหวังกับรสชาติไก่ทอดที่ทำออกมา ถึงขั้นที่ผู้พันเขวี้ยงอาหารลงไปบนพื้น
ปี 1973 ผู้พันแซนเดอร์สฟ้องร้องบริษัท Heublein Inc ที่เป็นบริษัทแม่ของ Kentucky Fried Chicken ในปัจจุบัน ในข้อหานำภาพของเขาไปโฆษณาในเมนูใหม่ที่เขาไม่ได้เป็นผู้ค้นคิด ปี 1975 Heublein Inc ฟ้องร้องผู้พันแซนเดอร์สในข้อหา ทำให้ภาพลักษณ์บริษัทเสียหาย ด้วยการประณามออกสื่อว่า น้ำเกรวี่สูตรที่ทางบริษัทคิดค้นขึ้นใหม่นั้น “อย่างกับขี้โคลน และรสชาติเหมือนกับวอลล์เปเปอร์” แต่ทางบริษัทเป็นฝ่ายแพ้คดี
หลังขายกิจการไปแล้ว ผู้พันแซนเดอร์สและคลอเดียภรรยาของเขากลับไปเปิดร้านอาหารอีกครั้งใน เชลบี้วิลล์ ใช้ชื่อร้านว่า “Claudia Sanders, The Colonel’s Lady” เป็นร้านอาหารในรูปแบบภัตตาคารอาหารเย็น แต่ขายไก่ทอดสูตรผู้พันแซนเดอร์สด้วย แล้วยังวางแผนการว่าจะขยายสาขาต่อไปอีกด้วย Heublein Inc เห็นทีท่าไม่ดีว่าจะเป็นการทับซ้อนกับกิจการของตน เลยฟ้องผู้พันแซนเดอร์ส ทำให้ผู้พันตัดสินใจขายกิจการ The Colonel’s Lady ซึ่งยังคงเปิดให้บริการอยู่ทุกวันนี้ ในชื่อร้านว่า “The Claudia Sanders Dinner House” ซึ่งยังคงขายไก่ทอดผู้พันแซนเดอร์สสูตรดั้งเดิมอยู่ด้วย นับเป็นร้านอาหารเดียวที่ไม่อยู่ในเครือ KFC ที่มีไก่ทอดสูตรดั้งเดิมของผู้พันขายอยู่ด้วย
ในบั้นปลายชีวิตของผู้พันแซนเดอร์ส เขาอยู่ที่บังกาโลว์ ในเมืองมิซซิซเซากา ประเทศแคนาดา จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตในปี 1980 ด้วยวัย 90 ปี