แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ (Jack the Ripper) คือฆาตกรต่อเนื่องที่ฆ่าคนในย่าน “ไวต์ชาเพล” ถิ่นยากจนในย่านอีสต์เอนด์ ของกรุงลอนดอน ในช่วงครึ่งปีหลังของ ค.ศ. 1889 สมญานามของเขาได้มาจากหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ที่ลงเนื้อหาจากจดหมายลึกลับ ที่ส่งถึงสำนักข่าวกลางโดยผู้เขียนที่อ้างตนว่าเป็นแจ็กเดอะริปเปอร์ ถึงแม้จะมีการสืบสวนและมีทฤษฎีที่น่าเชื่อถือมากมาย แต่จนทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้ตัวตนที่แท้จริงของแจ็กเดอะริปเปอร์ได้เลย

เหยื่อของแจ็กเดอะริปเปอร์เกือบทั้งหมดเป็นโสเภณี เหตุฆาตกรรมส่วนใหญ่เกิดในที่สาธารณะหรือกึ่งสาธารณะ เหยื่อทุกรายถูกเชือดคอ หลังจากนั้นศพจะถูกหั่นตรงช่วงท้องและบางครั้งที่อวัยวะเพศ คาดกันว่าเหยื่อจะถูกรัดคอให้เงียบเสียก่อนถูกฆ่า มีหลายกรณีที่มีการตัดอวัยวะภายในออก จึงมีการคาดเดาว่าฆาตกรน่าจะเป็นศัลยแพทย์หรือไม่ก็คนขายเนื้อ

คดีฆาตกรรมและเหยื่อของแจ็กเดอะริปเปอร์

มีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมของ แจ็กเดอะริปเปอร์ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นปริศนาที่ไม่คลี่คลาย ข้อมูลสำคัญที่สุดที่ทางตำรวจมีก็คือ ตัวตนของเหยื่อทั้ง 5 ที่สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของแจ็กเดอะริปเปอร์ ซึ่งอาจจะมีมากกว่านี้ เหยื่อทั้ง 5 คนคือ แมรี่ แอน นิโคลส์, แอนนี่ แชปแมน, เอลิซาเบ็ธ สไตรด์, แคทเธอรีน เอ็ดโดว์ส และ แมรี่ เจน เคลลี่

แมรี่ แอน นิโคลส์ เป็นเหยื่อรายแรกที่ถูกพบในเดือนสิงหาคม 1888 ในย่านไวต์ชาเพล ส่วนแชปแมน, สไตรด์ และ เอ็ดโดว์ส ถูกพบในเดือนกันยายน และสุดท้าย ร่างของเคลลี่ก็ถูกพบในเดือนพฤศจิกายน เหยื่อทุกรายถูกปาดที่คอหอย เหยื่อทุกรายถูกชำแหละยกเว้นแต่ร่างของ เอลิซาเบ็ธ สไตรด์ เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าแจ็กเดอะริปเปอร์น่าจะถูกขัดจังหวะขณะลงมือ

นอกเหนือจากเหยื่อทั้งห้าที่กล่าวมานี้แล้ว ก็ยังมีหญิงอีกหลายคนถูกสังหารในย่านไวต์ชาเพล คือ โรส มายเล็ตต์, อลิซ แม็กเคนซี, ฟรานเซล โคลส์ และหญิงอีกหนึ่งรายที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ เพราะใบหน้าถูกกรีดทำลายอย่างรุนแรง ที่จริงแล้วก่อนหน้าคดีของ แมรี่ แอน นิโคลส์ ที่ระบุว่าเป็นเหยื่อรายแรกของแจ็กเดอะริปเปอร์นั้น ก็มีหญิง 2 รายถูกสังหารคือ เอลิซาเบ็ธ สมิธ และ มาธา ทาบราม แต่ตำรวจเชื่อว่าเป็นฝีมือของฆาตกรรายอื่น

ข้อมูลที่เรารู้เกี่ยวกับ แจ็ก เดอะ ริปเปอร์

สถานที่พบศพของ แมรี่ แอน นิโคลส์

มีข้อมูลบางอย่างที่ทางตำรวจค่อนข้างมั่นใจเกี่ยวกับคดีของ แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ จากการวิเคราะห์รูปแบบสังหารของเหยื่อทั้งห้า นั่นก็คือ แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ มักจะมุ่งเป้าไปที่หญิงขายบริการ ส่วนเหตุผลนั้นเป็นไปได้สองทาง คือแจ็ก เดอะ ริปเปอร์ มีปมบางอย่างเกียวกับโสเภณีทำให้เขาเกลียดหญิงกลุ่มนี้ หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าโสเภณีเป็นเป้าหมายที่สังหารได้ง่าย

อีกข้อมูลหนึ่งก็คือ คดีของ เอลิซาเบ็ธ สไตรด์ และ แคทเธอรีน เอ็ดโดว์ส นั้นเป็นคดีฆาตกรรมคู่ ทั้งสองรายโดนฆ่าภายในหนึ่งชั่วโมงและเกิดเหตุใกล้ ๆ กัน ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าเป็นไปได้ว่า เดิมทีแล้ว แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ ไม่ได้วางแผนไว้ว่าจะฆ่าเอ็ดโดว์ส เป็นรายที่ 3 ในเดือนกันยายน แต่เขายังค้างคาใจจากกรรมวิธีสังหารสไตรด์ยังไม่เสร็จสิ้น เพราะถูกขัดจังหวะเสียก่อน เขาจึงลงมือกับเอ็ดโดวส์เป็นการแก้มือ ทางทีมสืบสวนยืนยันว่าเหยื่อที่ถูกฆาตกรรม 5 รายในย่านไวต์ชาเพล ล้วนเป็นฝีมือของ แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ ส่วนเหยื่อรายอื่น ๆ เป็นฝีมือฆาตกรต่อเนื่องรายอื่นที่เลียนแบบพฤติกรรมของ แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ หรือไม่ก็เป็นฝีมือของแก๊งนอกกฎหมาย

ตำแหน่งที่พบศพ 7 ราย ซึ่งอีก 2 ราย ตำรวจเชื่อว่าเป็นของฆาตกรรายอื่น

มีพยานหลายคนให้การเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของ แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ แต่บางข้อมูลก็ค่อนข้างขัดแย้งกัน แต่มีข้อมูลบางส่วนที่พยานให้การตรงกันว่า เขาเป็น ชายที่สวมโค้ตสีเข้ม และสวมหมวกนายพรานสีน้ำตาล มีพยานอีกคนให้การเพิ่มเติมว่าโค้ตของเขามีขนเฟอร์ประดับด้วย หลังเกิดเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องในย่านไวต์ชาเพล ก็ทำให้ชาวบ้านต่างอยู่กันอย่างอกสั่นขวัญแขวน และระแวดระวังตัว มองคนแปลกหน้าด้วยความสังสัยว่าจะเป็น แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ ไปหมด ก่อให้เกิดความโกลาหลในย่านไวต์ชาเพล คนต่างถิ่นบางคนสะพายย่ามดำเดินเข้ามาในเมือง ก็โดนชาวบ้านรุมทำร้าย เพราะคิดว่าเป็น แจ็ก เดอะ ริปเปอร์

ตัวตนของ แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ ยังคงเป็นปริศนาดำมืด

ทุกวันนี้ตัวตนของ แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ ก็ยังคงเป็นปริศนาที่ไม่ได้รับการคลี่คลาย แม้ว่าในช่วงที่เกิดเหตุนั้นจะมีการระบุตัวผู้ต้องสงสัยมากกว่า 100 คน โดยผู้ต้องสงสัยล้วนเป็นพ่อค้าขายเนื้อ และคนงานโรงฆ่าสัตว์ เพราะเจ้าหน้าที่วิเคราะห์จากรูปแบบการลงมีดบนตัวเหยื่อ ว่ามีความชำนาญในการใช้มีดแต่ไม่ได้มีความรู้ทางการแพทย์ อีกข้อมูลหนึ่งที่ตำรวจมั่นใจก็คือ แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ ต้องอาศัยอยู่ในละแวกไวต์ชาเพล ทำให้ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยมาถึง 80 คน แต่สุดท้ายก็ต้องปล่อยตัวไปทั้งหมด และตำรวจยังเชื่อว่าแจ็ก เดอะ ริปเปอร์ นั้นน่าจะลงมือเพียงคนเดียว แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าบางทีเขาอาจจะมีผู้ช่วยก็เป็นได้

นอกเหนือจากตัวตนที่ไม่สามารถระบุได้ อีกข้อที่ยังคงเป็นปริศนาก็คือ ‘แรงจูงใจ’ ในการลงมือของ แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ เพราะว่าอยู่ดี ๆ เขาก็หยุดลงมือไปเสียเฉย ๆ มีข้อสันนิษฐานต่าง ๆ นานาว่า เขาอาจจะตายไปแล้วก็ได้ หรือถูกคุมขังในข้อหาอื่น หรือย้ายไปอยู่ที่อื่น

หนึ่งในจดหมายที่อ้างว่าเขียนโดย แจ็ก เดอะ ริปเปอร์

ในช่วงที่ แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ ออกอาละวาดนั้น ทำให้เขาเป็นข่าวดังและเป็นที่หวาดกลัว ทำให้มีบุคคลลึกลับจำนวนมาก แอบอ้างตัวว่าเป็น แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ ด้วยการส่งจดหมายปริศนาไปยังสถานีตำรวจ และหนังสือพิมพ์ แต่จดหมายนับร้อยฉบับก็ถูกลงความเห็นว่าเป็นของปลอมทั้งเพ แต่ในจำนวนนั้นก็มีอยู่ฉบับหนึ่งที่เรียกร้องความสนใจจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาก เพราะในข้อความระบุว่า เขาจะตัดหูเหยื่อรายต่อไป และแล้ว 3 วันจากนั้น ก็พบร่างของ แคทเธอรีน เอ็ดโดว์ส ถูกตัดหูจริง มีจดหมายอีกฉบับถูกส่งมาในกล่องซึ่งบรรจุตับของมุษย์ เชื่อกันว่าเป็นตับของเอ็ดโดว์ส

ในขณะที่ทำการตรวจที่เกิดเหตุคดีฆาตกรรม แคทเธอรีน เอ็ดโดว์ส นั้น ใกล้ ๆ กับที่พบศพนั้น ตำรวจพบรอยเลือดกระเซ็นเปรอะบนผ้าม่านประตูทางเข้าอะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง เหนือผ้าม่านนั้นมีข้อความเขียนด้วยชอล์กว่า “”The Juwes are the men that will not be blamed for nothing” สันนิษฐานว่าเป็นข้อความที่ แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ เขียนทิ้งไว้ แล้วน่าจะตั้งใจเขียนว่า Jews แต่สะกดผิดเป็น Juwes ผู้บัญชาการตำรวจขณะนั้น ประเมินว่าข้อความนี้อาจจะเกิดให้เกิดความบาดหมางระหว่างเชื้อชาติ จึงสั่งให้ลบข้อความนั้นเสีย ซึ่งขัดกับทีมสืบสวนในตอนนั้นอย่างมาก ที่ต้องการเก็บข้อความนี้ไว้เป็นเบาะแสสำคัญ

เบาะแสจากโลกวิญญาณ

หลุมศพของ เอลิซาเบ็ธ สไตรด์

ทุกวันนี้เวลามีข่าวฆาตกรรม เราก็ยังคงพบเห็นเนื้อความในข่าวว่า ญาติผู้ตายมักจะฝันว่าผู้ตายมาให้ข้อมูลที่ฝังร่าง ไม่ก็ระบุตัวตนผู้ก่อเหตุ ย้อนไปร้อยกว่าปีที่แล้ว ในคดีของ แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ ก็มีเบาะแสจากบรรดาเหยื่อของ แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ เช่นกัน มีหญิงชาวบ้านรายหนึ่งให้การว่าเธอเจอผี เอลิซาเบ็ธ สไตรด์ แล้วผีสไตรด์ก็อธิบายรูปร่างลักษณะของ แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ ว่าเป็นชายวัยกลางคน แล้วเป็นสมาชิกคนหนึ่งในแก๊งที่มี 12 คน ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ในช่วงนั้น ที่มีผู้เคราะห์ร้ายหลายคนถูกแก๊งอันธพาลเหล่านี้รุมทำร้าย แต่ตำรวจก็ไม่ใส่ใจข้อมูลนี้ และไม่เคยเชื่อมโยงคดี แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ เข้ากับเหล่าแก๊งอันธพาล

แม้ว่าคดี แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ จะเกิดขึ้นในกรุงลอนดอน แต่ข่าวสะเทือนขวัญเช่นนี้ก็ข้ามน้ำข้ามทวีปไปเป็นที่โจษจันถึงสหรัฐอเมริกา ถึงขนาดที่ว่าพ่อหมอรายหนึ่งในนิวยอร์ก นั่งทางใน แล้วมองเห็นตัวตนของ แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ ในนิมิต ชัดเจนขนาดที่ว่ารู้ชื่อและที่อยู่เลยเชียว พ่อหมอผู้นี้มีนามว่า บี. บาราคลัฟ เขาส่งโทรเลขตรงมายังสถานีตำรวจในลอนดอน มีข้อความว่า ตัวจริงของ แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ มีนามว่า โธมัส ทอตสัน อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 20 ถนนเวิร์ธ ในกรุงลอนดอน แต่เบาะแสนี้ก็ไม่ส่งผลใด ๆ เพราะไม่มีชายนามที่ว่านี้ และไม่มีบ้านเลขที่ 20 บนถนนเวิร์ธ แต่อย่างใด

เบาะแสล่าสุด

ผ้าม่านที่มีคราบเลือดเป็นเบาะแสสำคัญ

แม้ว่าจะเป็นคดีที่อายุยาวนานกว่า 130 ปี แต่ก็ยังคงมีหลักฐานบางส่วนเก็บรักษาไว้ ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยีปัจจุบันมาตรวจสอบได้ และหนี่งในหลักฐานสำคัญก็คือผ้าไหมคลุมไหล่ที่ตกอยู่ใกล้ร่างของ แคทเธอรีน เอ็ดโดว์ส และบนผ้าไหมผืนนี้ก็มีคราบเลือดติดอยู่ จึงมีการนำคราบเลือดดังกล่าวนี้มาตรวจสอบ DNA ผลจากการตรวจสอบระบุไปที่นาย แอรอน โคมินสกี้ เป็นชาวโปแลนด์วัย 23 ปี ที่เข้ามาพำนักในกรุงลอนดอนในช่วงนั้น แล้วที่สำคัญก็คือ นายโคมินสกีผู้นี้เป็นช่างตัดผม ทำให้เขามีความเชี่ยวชาญในการใช้มีดโกน และในช่วงที่สืบสวนคดีนั้น โคมินสกีก็ตกเป็นผู้ต้องสงสัยหลักรายหนึ่งเช่นกัน

แอรอน โคมินสกี คือคนมุมบนซ้าย

แต่นักวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบันก็โต้แย้งผลการตรวจสอบ DNA นี้ว่า เชื่อถือไม่ได้ เพราะด้วยเวลาที่ผ่านมายาวนานนับร้อยปีนั้น คราบเลือดบนผ้านั้นจะต้องเกิดการปนเปื้อนและให้ผลที่คลาดเคลื่อน ไม่สามารถเชื่อถือได้ การค้นพบนี้จึงไม่มีสาระสำคัญต่อคดีนี้ สุดท้ายคดี แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ ยังคงเป็นปริศนาต่อไป

ภาพยนตร์ From Hell ปี 2001

ด้วยความที่เป็นคดีสะเทือนขวัญและยังคงเป็นปริศนาที่ไมได้รับการคลี่คลาย เรื่องราวของ แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ จึงถูกกล่าวถึงในภาพยนตร์และทีวีซีรีส์กว่า 100 เรื่อง เรื่องที่โด่งดังที่สุดก็คือ “From Hell” ภาพยนตร์ปี 2001 ที่ได้ จอห์นนี่ เด็ปป์ มารับบทนำเป็น นักสืบเฟรดเดอริก แอบเบอร์ไลน์ และล่าสุด แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ ก็ปรากฎใน อนิเมะเรื่องดัง Record of Ragnarok ในฐานะตัวแทนนักสู้จากฝั่งมนุษย์โลก ที่เขาได้ต่อกรกับเทพเฮอร์คิวลิส และเป็นเหตุให้ชื่อของ แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ ได้กลับมาถูกพุดถึงและเป็นที่รู้จักอีกครั้งต่อคนรุ่นหลัง

ที่มา ที่มา ที่มา ที่มา ที่มา