นอกจากเราจะรู้จักกับ แดเนียล แรดคลิฟฟ์ (Daniel Radcliffe) จากบทบาทอดีตพ่อมดน้อย แฮร์รี่ พอตเตอร์ ในแฟรนไชส์ภาพยนตร์ ‘Harry Potter’ ทั้ง 7 ภาค 8 ตอน จนทำให้เขากลายมาเป็นนักแสดงสายฝีมืออีกคนของวงการ ที่มีผลงานการแสดงหนังหลากหลายแนว และเขาก็ยังมีอีกบทบาทในฐานะนักแสดงละครเวทีที่ได้รับการยอมรับในฝีมืออีกคนของวงการบรอดเวย์ด้วย
อีกบทบาทของนักแสดงหนุ่มวัย 34 คนนี้ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ก็คือ การเป็นนักพากย์เสียงให้กับภาพยนตร์และซีรีส์แอนิเมชันมากมาย ใครที่เป็นสายการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ น่าจะคุ้นเคยกับบทบาทของเขาที่ได้ไปรับเชิญพากย์เสียงในแอนิเมชันหลายเรื่อง ผลงานล่าสุดของเขาคือการร่วมพากย์เสียงเป็นราชาเจเรมี ฟิตซ์ฮอกก์ (King Jeremy Fitzhogg) ในแอนิเมชัน ‘Mulligan’ (2023) ของ Netflix
แรดคลิฟฟ์ได้มีโอกาสเล่าถึงรสนิยมการเสพความบันเทิงบนหน้าจอโทรทัศน์ของเขากับเว็บไซต์ CBR ที่เขาได้เปิดเผยว่า เขาเป็นคนที่ชอบดูการ์ตูนมาก ๆ 1 ในการ์ตูนเรื่องโปรดของเขาก็คือ ‘The Simpsons’ ที่เขาติดตามชมมานาน จนได้ไปร่วมรับเชิญพากย์เสียง รวมทั้งรายการแนวเรียลลิตีโชว์บางรายการ
แต่รายการทีวีที่เขายอมรับว่าแทบไม่เคยได้กดรีโมตไปดูเลยก็คือ บรรดาซีรีส์ดราม่าหนัก ๆ อาทิ ‘Breaking Bad’ (2008–2013) ซีรีส์ดราม่าอาชญากรรมตลกร้ายสุดเข้มข้น และ ‘The Sopranos’ (1999–2007) ซีรีส์ดราม่าชีวิตมาเฟีย ที่แม้ตอนนี้ซีรีส์ทั้ง 2 เรื่องจะอยู่ในสถานะขึ้นหิ้งเป็นซีรีส์ที่สร้างกระแสตอนฉายโด่งดังสุดขีด ได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวก และได้รับรางวัลจากหลายเวทีแบบที่น้อยคนจะปฏิเสธ แต่อดีตพ่อมดน้อยกลับเปิดเผยว่า เขาไม่เคยดูซีรีส์เหล่านี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว เพียงเพราะว่ามันยาวและหนักเกินไปสำหรับเขา
“จริง ๆ แล้วผมชอบดูการ์ตูนครับ แล้วก็ดูเรียลลิตีทีวีด้วย ผมไม่เคยดู ‘Breaking Bad’ มาก่อนเลย ผมไม่เคยดู ‘The Sopranos’ หรือ ‘The Wire’ (2002–2008) ด้วยครับ ผมไม่เคยดูซีรีส์ทุกเรื่องที่มีความยาวเป็นชั่วโมง ๆ ได้เลย ผมคิดว่าส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ผมเติบโตมากับ ‘The Simpsons’ เหมือนที่ผมคิดว่าผู้คนรุ่นเดียวกับผมก็น่าจะเติบโตมาแบบเดียวกันนี่แหละ”
“ในคืนหนึ่ง ผมเคยนั่งดูรายการ ‘Jeopardy!’ (รายการเกมโชว์ทายตัวอักษรของช่อง NBC) มีผู้เข้าแข่งขันคนหนึ่งที่โชว์ว่าเขามีเกร็ดความรู้มากมายเกี่ยวกับการ์ตูน ‘The Simpsons’ ซึ่งผมเองก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน ไม่ว่าจะเรื่องราวบ้า ๆ บอ ๆ มากมาย สิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่ความรู้เกี่ยวกับโลกใบนี้ จนถึงอารมณ์ขันของผม ล้วนถูกสร้างมาจาก ‘The Simpsons’ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”
หลังจากมีชื่อเสียง แฟนตัวยงอย่างแรดคลิฟฟ์ได้ร่วมเป็นนักพากย์เสียงรับเชิญใน ‘The Simpsons’ 3 ตอน ในตอนแรกที่ออกอากาศในปี 2010 เขาพากย์เสียงเป็นตัวละครล้อเลียน โรเบิร์ต แพททินสัน (Robert Pattinson) ในแฟรนไชส์หนัง ‘Twilight’ ในตอนที่ออกอากาศในปี 2014 เขาพากย์เสียงเป็น ดิกส์ (Diggs) นักเรียนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงเหยี่ยว ส่วนตอนที่ออกอากาศในปี 2018 เขาได้มีโอกาสพากย์เสียงเป็นตัวเขาเอง
นอกจากนี้ เขายังมีโอกาสได้ร่วมรับเชิญพากย์เสียงในการ์ตูน โดยเฉพาะแนวการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่หลาย ๆ เรื่อง อาทิ พากย์เสียงเป็นตัวเองใน ‘BoJack Horseman’ (2015) พากย์เสียงในตอนหนึ่งของการ์ตูนดัง ‘Rick and Morty’ ซีซันที่ 6 (2022) และเคยพากย์เสียงเป็น โธมัสยอดหัวรถจักร (Thomas the Tank Engine) เวอร์ชันสุดห่ามในแอนิเมชัน Stop-Motion ‘Robot Chicken’ ของโปรแกรม Adult Swim ในช่อง Cartoon Network
แม้ว่าแรดคลิฟฟ์จะไม่เคยเห็นครูวอลเทอร์ ไวต์ ปรุงยาใน ‘Breaking Bad’ แต่เขาเองก็ยกย่องถึงความยอดเยี่ยมของแอนิเมชันสำหรับผู้ใหญ่เหล่านี้ โดยเฉพาะการ์ตูน ‘BoJack Horseman’ ที่ฉายบน Netflix ซึ่งเป็นการ์ตูนเสียดสีที่เล่าถึงความแตกสลายของชีวิต ผ่านตัวละครอดีตนักแสดงหัวม้าที่ชื่อว่าโบแจ็ก ที่แรดคลิฟฟ์ยกให้เป็น 1 ในแอนิเมชันที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา
แรดคลิฟฟ์ยังตั้งข้อสังเกตแบบสนุก ๆ ว่า ความสนุกของบรรดาแอนิเมชันห่าม ๆ ที่เต็มไปด้วยความหยาบคายและความรุนแรงเหล่านี้ ก็คือการพาผู้ชมหลบหนีออกจากความเป็นจริง แต่มันจะออกมาดาร์กจนเกินจะตลก หากการ์ตูนเหล่านี้ถูกเอาไปดัดแปลงเป็นหนังไลฟ์แอ็กชันแบบคนแสดง เหมือนกับการ์ตูนเมนสตรีมเรื่องอื่น ๆ
นอกจากจะเป็นการ์ตูนที่มักจะมีฉากที่ทำนายเหตุการณ์สำคัญของโลกล่วงหน้าได้ตรงเผงในหลาย ๆ ครั้งแล้ว ฉากหนึ่งที่เป็นภาพจำของกว่า 768 ตอนในการ์ตูน ‘The Simpsons’ ก็คือฉากที่โฮเมอร์ (Homer) บีบคอบาร์ต (Bart) จนกลายมาเป็นมุกประจำของการ์ตูนเรื่องนี้
แต่พอเข้าสู่ยุคปัจจุบัน ผู้สร้างก็เคยตัดสินใจให้โฮเมอร์ตัดสินใจหยุดบีบคอลูกชายตัวเอง ในตอนที่ 3 ของซีซันที่ 35 เพราะไม่ต้องการให้การ์ตูนมีฉากก้าวร้าวรุนแรง แต่สุดท้าย ผู้สร้างก็ออกมาบอกว่าไม่ได้มีการยกเลิกแต่อย่างใด และโฮเมอร์ก็ไม่ได้บีบคอบาร์ตมาตั้งแต่ที่บีบคอครั้งสุดท้ายในซีซันที่ 31 แล้วด้วย
“ผมคิดว่า ‘BoJack Horseman’ คงโคตรจะหดหู่เ-ี้ย ๆ เลย ถ้าตัวละครไม่ใช่ม้าพูดได้แบบนั้น ตัวอย่างคลาสสิกก็คือ ช็อตที่โฮเมอร์ (Homer) บีบคอบาร์ต (Bart) ใน ‘The Simpsons’ ถ้าเกิดเป็นซีรีส์คนแสดง มันจะกลายเป็นฉากทารุณกรรมเด็กที่น่าสยดสยอง และไม่มีความตลกเหลือเลยแม้แต่น้อย แต่ใน ‘The Simpsons’ มันกลายเป็นมุกตลกประจำเพราะมันเกิดบางอย่างขึ้นที่คอของบาร์ตนั่นแหละ”
แรดคลิฟฟ์ทิ้งท้ายถึงรสนิยมของคนรุ่นเขาที่เติบโตมากับการ์ตูนแนวนี้ “ผมว่ามันเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลแล้วแหละ ที่คนรุ่นเราเติบโตมากับ ‘The Simpsons’ และอยากจะดูการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ต่อไปเมื่อพวกเขาโตขึ้น”