เอมิเลีย คลาร์ก (Emilia Clarke) นักแสดงสาวชาวอังกฤษวัย 37 ปี ที่แจ้งเกิดจากบทบาทแม่มังกร แดเนริส ทาร์แกเรียน (Daenerys Targaryen) ใน ‘Game of Thrones’ (2011–2019) ซีรีส์แฟนตาซียอดนิยมของ HBO และมีผลงานการแสดงในภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง อาทิ ‘Solo: A Star Wars Story’ (2018), ‘Me Before You’ (2016) และ ‘Last Christmas’ (2019) และผลงานล่าสุดในมินิซีรีส์ ‘Secret Invasion’ (2023) ของ Marvel Studios
แม้ว่าฝีมือการแสดงของคลาร์กจะเป็นที่ยอมรับ แต่อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า เธอเองเคยมีประสบการณ์เฉียดตายจากอาการหลอดเลือดในสมองโป่งพอง จนทำให้เธอต้องเข้ารับการผ่าตัดสมองถึง 2 ครั้งในระหว่างถ่ายทำซีรีส์ ‘Game of Thrones’ ในบทสัมภาษณ์ Exclusive ของเธอกับนิตยสาร Big Issue ของประเทศอังกฤษ คลาร์กได้มีโอกาสเปิดใจครั้งแรกถึงความกลัวของโรคร้าย ที่อาจส่งผลร้ายแรงต่ออาชีพนักแสดงของเธอ
“ตอนที่ฉันได้รับบาดเจ็บที่สมอง มันเปลี่ยนความรู้สึกข้างในของตัวฉันเองในระดับที่น่ากลัวมาก ๆ ค่ะ ความกังวลที่ฉันมีในการงานมันจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าในชั่วข้ามคืนเลยแหละ ความกลัวอย่างแรกที่ฉันเชื่อว่าทุกคนก็เคยเป็นก็คือ ‘โอ้ พระเจ้า นี่ฉันจะถูกไล่ออกหรือเปล่าเนี่ย ?’ ฉันอาจจะถูกไล่ออกเพราะพวกเขาคิดว่าฉันอาจจะไม่สามารถทำงานได้สำเร็จหรือเปล่า”
ปี 2019 คลาร์กได้มีโอกาสเขียนบทความบอกเล่าประสบการณ์ความเจ็บป่วยจากอาการทางสมอง ที่ทำให้เธอเฉียดเข้าใกล้ความตาย และต้องเข้ารับการผ่าตัดสมองถึง 2 ครั้งในเว็บไซต์ The New Yorker โดยเธอได้เล่าว่า ในปี 2011 หลังจากถ่ายทำซีรีส์ ‘Game of Thrones’ ซีซันแรกเสร็จไม่นาน คลาร์กในวัย 24 ปี เกิดอาการมึนงงและปวดหัวฉับพลันในระหว่างทำท่าแพลงก์ ก่อนที่จะมีคนพบเธอหมดสติในห้องน้ำ ก่อนจะถูกนำส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว
แพทย์วินิจฉัยว่าเธอมีอาการของภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid Hemorrhage) จากอาการเส้นเลือดในสมองแตก ผลข้างเคียงของอาการหลอดเลือดโป่งพองในสมอง (Cerebral Aneurysm) ที่มีความเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต การผ่าตัดในครั้งนั้นใช้เวลา 3 ชั่วโมง แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ เธอต้องพบกับอาการภาวะบกพร่องทางการสื่อความ (Aphasia) ที่ทำให้มีปัญหาด้านการพูดและการสื่อความ
อาการดังกล่าวส่งผลกระทบทำให้เธอควบคุมคำพูดไม่ได้ และไม่สามารถจดจำได้แม้กระทั่งชื่อของตัวเอง จนทำให้เธอเริ่มวิตกกังวลว่า โรคร้ายนี้อาจส่งผลให้เธอไม่สามารถทำงานการแสดงที่ต้องใช้ทักษะด้านภาษาในการอ่าน ท่องจำบท และสนทนาได้อย่างปกติอีกต่อไป และนั่นอาจทำให้อนาคตในอาชีพนักแสดงต้องดับวูบลง
“ตอนนั้นฉันรู้สึกทุกข์ทรมานอย่างมาก ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด ฉันต้องการอยากจะชักปลั๊ก และขอให้หมอปล่อยฉันตายไปดีกว่า งานและความฝันทั้งหมดในชีวิตของฉันที่ล้วนเกี่ยวข้องกับภาษาและการสื่อสารจะเป็นยังไง ถ้าหากปราศจากสิ่งนั้นแล้ว ฉันก็เหมือนกับหลงทางนั่นแหละ”
คลาร์กเข้ารับการพักฟื้นจนสามารถกลับไปถ่ายทำซีซันต่อมาได้ โดยที่ไม่เคยแสดงอาการเหนื่อยล้าให้เห็น และมีเพียงผู้กำกับและทีมงานไม่กี่คนที่ล่วงรู้อาการที่แท้จริงของเธอ แม้จะสามารถถ่ายทำไปได้ตลอดรอดฝั่ง แต่เธอก็ยังกังวลว่า อาการเลือดออกในสมองอาจเกิดขึ้นซ้ำรอยได้ อาการปวดหัวของเธอยังคงรบกวนเป็นระยะ ๆ จนต้องมีการใช้มอร์ฟีนในการระงับอาการเจ็บปวด ทั้งในระหว่างถ่ายทำ และตอนที่เธอต้องออกไปเดินสายโปรโมตซีรีส์ตามรายการและสถานที่ต่าง ๆ
เธอคิดว่า ตัวเธอเองอาจจะต้องจบชีวิตจากอาการเลือดตกในสมองอีกครั้ง อันเกิดจากความเครียดและแรงกดดันต่อหน้าผู้คนและกล้องจำนวนมาก จนเธอกลัวว่าเธอจะจากไปในกองถ่าย “ถ้าฉันจะต้องตาย ฉันควรจะตายในรายการสดทางทีวีมากกว่า”
ในปี 2013 อาการ Aphasia ของเธอเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ เธอสามารถกลับมาจดจำและใช้ภาษาได้อย่างเกือบจะเป็นปกติ แต่ข่าวร้ายก็คือ หลังจากเข้ารับการสแกนสมองเพื่อตรวจอาการตามปกติ แพทย์กลับพบว่ามีหลอดเลือดที่โป่งพองขึ้นในสมองของเธออีกครั้ง และใหญ่กว่าเดิมเป็น 2 เท่า จนทำให้เธอต้องรีบเข้ารับการผ่าตัด ที่คราวนี้แพทย์จำเป็นต้องผ่าตัดด้วยวิธีการเปิดกะโหลกศีรษะ
หลังจากพักฟื้นเป็นระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งในระหว่างที่เธอเข้ารับการรักษา เธอเลือกที่จะไม่เปิดเผยข่าวใด ๆ กับสื่อเลย เธอเคยให้สัมภาษณ์ในรายการของ BBC ถึงผลกระทบจากการผ่าตัดสมองในครั้งนั้น ที่ทำให้เนื้อสมองของเธอหายไปบางส่วน แต่ร่างกายโดยรวมของเธอก็กลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วราวปาฏิหาริย์ สามารถกลับมาทำงานในวงการบันเทิงได้เกือบจะปกติ
“มีปริมาณสมองของฉันที่ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป เป็นเรื่องน่าทึ่งที่บางทีฉันก็พูดได้ชัดเจน และใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยที่ไม่มีผลกระทบใด ๆ ทั้งสิ้น ฉันอยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อยจริง ๆ ที่สามารถมีชีวิตรอดได้”
“มี (สมอง) ส่วนที่หายไปค่อนข้างเยอะ (หัวเราะเสียงดัง) ซึ่งมันทำให้ฉันหัวเราะทุกครั้ง โดยพื้นฐานการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ทันทีที่สมองส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้รับเลือดแม้เพียงเสี้ยววินาที มันก็จะตายไป (เนื้อสมองตาย – Cerebral Infraction) เลือดจะหาทางอื่นเพื่อไหลเวียนแทน แต่ส่วนที่ขาดหายตรงนั้นก็จะตายไปเลย”
หลังจากผ่านโรคร้ายมาได้ ตัวเธอและแม่ เจนนิเฟอร์ คลาร์ก (Jennifer Clarke) ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิ ‘SameYou’ ขึ้นในปี 2019 เพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ที่มีอาการบาดเจ็บเกี่ยวกับอาการทางสมองและโรคหลอดเลือดสมอง รวมทั้งยังทำหน้าที่สนับสนุนผู้ที่เผชิญโรคนี้ให้สามารถใช้ชีวิต รวมทั้งสามารถมีงานทำได้อย่างเป็นปกติสุขและยั่งยืน
“การมีโรคเรื้อรังที่ทำให้ความมั่นใจในสิ่งที่คุณรู้สึกว่าเป็นเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ลดลงนั้น มันเป็นเรื่องที่บั่นทอนจิตใจ และทำให้รู้สึกเหงามากจริง ๆ ค่ะ หนึ่งในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ฉันรู้สึกตอนที่มีอาการเจ็บป่วยทางสมองก็คือ ความรู้สึกเหงาอันท่วมท้น ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เราพยายามจะเอาชนะให้ได้”
ในปี 2021 คลาร์กกล่าวว่า การผ่าตัดสมอง 2 ครั้งที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง สามารถช่วยให้เธอตระหนักได้ว่าความงามที่แท้จริงนั้น มาจากภายในตัวของเราเอง
“ช่วงเวลาที่มีความสุข และความอิ่มเอมใจ คือสิ่งที่คุณจะได้เจอบนเตียงมรณะนั้น คุณไม่มีทางจะจดจำช่วงเวลาตอนที่คุณกำลังถ่ายเซลฟีสุดน่ารักเหล่านั้นได้หรอก”
หลังจากผ่าตัด ฉันรู้สึกกลัวและขาดความมั่นใจอย่างมาก ฉันจึงทุ่มเททุกอย่างเพื่อภาพลักษณ์ของตัวเอง แต่เมื่อฉันอายุมากขึ้น ฉันก็ตระหนักได้ว่า คนเราจะมีความงดงามมากที่สุดก็ต่อเมื่อไม่ได้มัวคิดถึงแต่ตัวเอง และไม่เอาแต่คำนึงถึงความงามของตัวเอง”