นอกจากเราจะรู้จัก เซอร์เอียน แม็กเคลเลน (Sir Ian McKellen) นักแสดงรุ่นใหญ่ชาวอังกฤษวัย 85 กะรัตในฐานะนักแสดงฮอลลีวูดเจ้าของบทบาทเด่น ๆ ทั้งการรับบทเป็นแกนดัล์ฟ (Gandalf) พ่อมดเทาในมหากาพย์ไตรภาค ‘The Lord of the Rings’ และไตรภาค ‘The Hobbit’ และแม็กนีโต (Magneto) ในหนัง ‘X-Men’ ของ 20th Century Fox แล้ว เขายังเป็นที่รู้จักในฐานะนักแสดงละครเวทีเจ้าของรางวัลโทนีอวอร์ด (Tony Awards) ที่คร่ำหวอดในวงการมาตั้งแต่ปี 1961 ก่อนจะมีผลงานการแสดงภาพยนตร์เสียอีก
ล่าสุด หลังจากที่แม็กเคลเลนกำลังอยู่ในช่วงพักฟื้น หลังประสบอุบัติเหตุพลัดตกจากเวทีในระหว่างการแสดงฉากต่อสู้ ในละครเวทีเวสต์เอนด์เรื่อง ‘Player Kings’ ณ โรงละคร Noël Coward Theatre ในลอนดอน ทำให้เขาได้รับอาการบาดเจ็บจนต้องถอนตัวจากการแสดงกลางคัน ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Times ซึ่งส่วนหนึ่งเขาได้เล่าถึงความทรงจำเกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษ
รวมไปถึงการเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร (Her Majesty Queen Elizabeth II) เมื่อครั้งยังดำรงพระชนม์ชีพ เมื่อคราวที่เขาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สหายแห่งเกียรติยศ (Order of the Companions of Honour) สำหรับการสนับสนุนในงานด้านการแสดง และการส่งเสริมความเท่าเทียมในปี 2008
ซึ่งแม็กเคลเลนได้เล่าถึงความทรงจำตอนที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระราชปฏิสันถารกับเขาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และนั่นก็ทำให้เขามองว่าพระองค์นั้น ‘ค่อนข้างจะหยาบคาย’ และ ‘เกรี้ยวกราด’
“กับสมเด็จพระราชินี ผมมั่นใจนะว่าพระองค์คงจะไม่พอพระทัยกับผมไม่น้อยในช่วงท้าย ๆ ของชีวิต และจากไม่กี่ครั้งที่ผมได้เข้าเฝ้าพระองค์ พระองค์เป็นคนที่ค่อนข้างจะหยาบคาย ตอนที่ผมได้รับพระราชทานเหรียญรางวัลด้านการการแสดง พระองค์ตรัสกับผมว่า ‘คุณทำงานนี้มานานมาก ๆ เลยนะ’ ผมกล่าวตอบพระองค์ไปว่า ‘คงไม่นานเท่ากับพระองค์หรอกพระเจ้าข้า'”
“พระองค์แย้มพระสรวลแก่ผมแบบที่สมกับเป็นพระราชวงศ์ แล้วหลังจากนั้นก็ตรัสว่า ‘สมัยนี้ยังมีคนไปดูละครเวทีอยู่จริง ๆ เหรอ ?’ ในระหว่างที่พระองค์กำลังพระราชทานเหรียญให้กับคนที่ทำงานด้านการแสดง ซึ่งมันเป็นอะไรที่หยาบคายมาก มันเหมือนกับอารมณ์ประมาณว่า ‘ไม่มีใครแ-่งสนใจงานของคุณหรอก เพราะฉันเองก็ไม่สนใจเหมือนกัน เอาล่ะ ออกไปได้แล้ว !'”
แม็กเคลเลนเล่าต่อไปถึงพระราชอิริยาบถส่วนพระองค์ ที่เขาจำกัดความด้วยคำว่า ‘หยาบกระด้าง’ เมื่อตอนที่เขาเอื้อมมือไปสัมผัสพระหัตถ์ของพระองค์ “ผมต้องสัมผัสกับพระหัตถ์ของพระองค์ พระองค์ลุกขึ้นยืน ผมก็ลุกขึ้นยืนด้วย แล้วผมก็พยายามจะจับพระหัตถ์ แต่พระองค์กลับผลักตัวผมออกไปแรงพอสมควร ซึ่งนั่นแหละคือการจับมือของพระองค์ มันหมายความว่า ‘ไปได้แล้ว ! ไป !'”
แม็กเคลเลนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันวิเศษยิ่งแห่งจักรวรรดิอังกฤษ ชั้นผู้บังคับบัญชา (Commander of the Most Excellent Order of the British Empire – CBE) ในปี 1979 ก่อนจะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นอัศวิน สำหรับการทำงานด้านศิลปะการแสดง จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1991
ที่ผ่านมา แม็กเคลเลนเคยมีเรื่องป่วน ๆ เกี่ยวกับราชวงศ์ เมื่อตอนที่เขาได้รับเชิญให้ไปร่วมรับประทานอาหารที่พระราชวังบักกิงแฮมร่วมกับนักแสดงอีกหลายคน รวมทั้ง เดม จูดี เดนช์ (Dame Judi Dench) เพื่อนนักแสดงรุ่นใหญ่ของเขา แม็กเคลเลนและเดนซ์เคยเปิดเผยวีรกรรมของพวกเขาในรายการ The Graham Norton Show ว่าครั้งหนึ่งหลังจากรับประทานอาหารเย็น เขาและเดนซ์เคยเดินเตร็ดเตร่จนพลัดหลงเข้าไปถึงยังพระที่นั่งของสมเด็จพระราชินีนาถ
“เราเดินวนไปวนมาทั่วห้อง ไม่มีใครอยู่ในนั้นเลย ผมคิดในใจว่า ‘นี่มันโถงพระที่นั่งนี่นา’ มันเป็นห้องที่ผมได้รับพระราชทานยศอัศวิน กับที่จูดีได้รับตำแหน่งเดม (Dame Commander of the Order of the British Empire) ในปี 1988 จูดีพูดว่า ‘ก็ไม่รู้เหมือนกัน’ ก่อนที่เราจะเดินทำท่าเต้นรำไปเรื่อย ๆ”
“ก่อนจะเดินเลี้ยวเข้าไปตรงหัวมุมหนึ่ง แล้วเราก็พบว่าพวกเรายืนอยู่ด้านหลังวงดนตรี และตรงด้านหลังที่มีฉากกั้นตรงนั้นก็มีพระที่นั่ง ดังนั้นเราเลยตัดสินใจนั่งลงไปซะเลย” ก่อนที่เขาจะเล่นมุกว่า “ที่บักกิงแฮมเนี่ย สามารถดึงเอานิสัยแย่ ๆ ของคุณออกมาได้เลยนะ” (หัวเราะ)
และในอีกวาระ แม็กเคลเลนได้เข้าร่วมงานที่พระราชวังบักกิงแฮมอีกครั้ง และสังเกตว่าห้องแต่งตัวของเขานั้นอยู่ใกล้กับระเบียงของพระราชวัง เขาจึงตัดสินใจเดินออกไปข้างนอกเพื่อสูบบุหรี่ แต่เขากลับโดนตำรวจวังสั่งห้ามเอาไว้ “ผมมองออกไปที่ถนนเดอะมอลล์ (The Mall) แล้วตอนนั้นก็มีไฟดวงเล็ก ๆ ส่องขึ้นมา ด้านล่างมีตำรวจวังพูดขึ้นมาว่า ‘เซอร์เอียน อย่าลืมสิว่าคุณกำลังอยู่ในพระราชวังบักกิงแฮม'”
“จนอีก 6 เดือนต่อมา ผมเดินทางไปรับเหรียญในโอกาสนั้นนั่นแหละ จนเมื่อเราเดินผ่านประตูเข้ามา ผมก็เห็นตำรวจคนเดิมคนนั้นยืนอยู่ เขาพูดว่า ‘โอ้ไม่ นี่พวกคุณมากันอีกแล้วเหรอเนี่ย…'” (หัวเราะ)
แม็กเคลเลนยังเปิดเผยเหตุผลสำคัญที่เขาเกือบจะปฏิเสธการพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นอัศวินในปี 1991 เพราะเขามองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมที่นักแสดงจะมีโอกาสได้บรรดาศักดิ์นี้มากกว่าคนที่ทำงานในสาขาอาชีพอื่น ๆ
“ถ้าผมเป็นคนที่ยึดมั่นในหลักการอย่างแน่วแน่ ผมคงปฏิเสธตำแหน่งอัศวินไปแล้ว หลายคนก็ทำแบบนั้น ทั้ง พอล สโกฟิลด์ (Paul Scofield), อัลเบิร์ต ฟินนีย์ (Albert Finney), เดวิด ฮ็อกนีย์ (David Hockney), แฮร์โรลด์ พินเตอร์ (Harold Pinter) ผมคงจะได้เข้าไปอยู่กับกลุ่มคนดี ๆ เหล่านี้”
“แต่ฮีโรของผมทั้ง เซอร์ลอว์เรนซ์ โอลิวิเยร์ (Sir Laurence Olivier), เซอร์จอห์น กิลกุด (Sir John Gielgud), เซอร์ราล์ฟ ริชาร์ดสัน (Sir Ralph Richardson), เซอร์อเล็ก กินเนสส์ (Sir Alec Guinness), เซอร์ไทโรน กัธรี (Sir Tyrone Guthrie) กลับตกหลุมพรางกันไปหมด”
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาเปลี่ยนใจยอมรับบรรดาศักดิ์ชั้นอัศวินก็คือ ไมเคิล แคชแมน (Michael Cashman) นักแสดงและผู้ร่วมกันก่อตั้ง ‘Stonewall’ องค์กรการกุศลเพื่อสิทธิของกลุ่ม LGBTQIA+ ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปร่วมกับเขา หลังจากที่แม็กเคลเลน Come Out ว่าเป็นเกย์ครั้งแรกเมื่อปี 1988 ซึ่งการรับบรรดาศักดิ์ชั้นอัศวินของเขา จะช่วยยกระดับชุมชนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้
“สิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจได้ก็คือเพื่อนผม ไมเคิล แคชแมน ที่บอกกับผมว่า ‘โธ่ เอียน สิ่งนี้มันจะเป็นประโยชน์มากเลยนะ’ และเขาก็พูดถูก เพราะการเป็นอัศวินเหมือนเป็นการเปิดประตูโอกาส ยกตัวอย่างเช่น เซอร์เคียร์ สตาร์เมอร์ (Sir Keir Starmer – นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร)”
“ความสำเร็จอย่างหนึ่งก็คือ ขนาด BBC ยังต้องเรียกเขาว่าเซอร์เคียร์เลยน่ะ มันทำให้เขาดูมีความน่าเคารพมาก ๆ ขนาด บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson – อดีตนายกรัฐมนตรี) ผู้น่าสงสาร ยังไม่มีแม้แต่เครื่องราชอิสริยาภรณ์ MBE เลยด้วยซ้ำ”