แม้จะผ่านเวลามานับเดือนแล้ว แต่เชื่อว่าหลายคนยังคงประทับใจกับซีนสุดอลังการของ ทอม ครูซ (Tom Cruise) ในระหว่างพิธีปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ประจำปี 2024 ที่จัดขึ้น ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งนอกจากฝรั่งเศสจะปิดฉากการเป็นเจ้าภาพได้อย่างสมบูรณ์แบบและน่าประทับใจแล้ว

ซีนที่หลายคนยังจำได้ก็คือ ซีนที่ซูเปอร์สตาร์วัย 62 ปี โรยตัวลงมายังสนามสตาด เดอ ฟร็องส์ (Stade de France) เพื่อรับธงโอลิมปิก ก่อนจะทำการดิ่งพสุธาตรงมายังป้ายฮอลลีวูด (Hollywood Sign) เพื่อส่งต่อธงให้กับเมืองลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้นในปี 2028 หรือ ‘LA28’

ซึ่งนอกจากครูซจะเป็นนักแสดงที่ได้รับอนุญาตให้สัมผัสป้ายฮอลลีวูดอายุ 101 ปีอย่างเป็นทางการและถูกกฎหมายเป็นคนแรกแล้ว ยังมีเบื้องหลังน่าสนใจเกี่ยวกับการถ่ายทำซีนสุดเร้าใจนี้ด้วย เคซีย์ วาสเซอร์แมน (Casey Wasserman) นักธุรกิจด้านวงการบันเทิง ผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกของเมืองลอสแองเจลิส ได้มีโอกาสเปิดเผยเบื้องหลังในระหว่างการสนทนาหนึ่งของงาน CNBC x Boardroom: Game Plan วาสเซอร์แมนกล่าวติดตลกก่อนจะเปิดเผยเบื้องหลังที่มาของซีนน่าจดจำนี้

Tom Cruise Olympics

“มันน่าทึ่งใช่ไหมครับที่เขามาถึง LA ได้เร็วขนาดนั้น ?…เบื้องหลังก็คือ เราเข้าใจดีว่าเรากำลังผลิตรายการสดความยาว 15 นาทีเพื่อฉายทางโทรทัศน์ครับ ผมเลยต้องจ้างคนที่ผมคิดว่าเก่งที่สุดในโลกสำหรับงานนี้ ซึ่ง เบน วินสตัน มีไอเดียมาเสนอ 2 แบบ 1 ในนั้นก็คือ ทอม ครูซ และอีก 1 ไอเดียก็คือการโชว์สัญลักษณ์ห่วงโอลิมปิกที่ขึ้นมาจากมหาสมุทร เหมือนกับสไตล์ของ เดวิด เบลน อะไรแบบนั้น”

วาสเซอร์แมนกล่าวถึง เบน วินสตัน (Ben Winston) โปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์มือฉมังผู้ผ่านงานรายการโทรทัศน์ เป็น Executive Producer ของรายการทอล์กโชว์ยอดฮิต ‘The Late Late Show with James Corden’ รวมทั้งรายการถ่ายทอดสดมามากมาย และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Fulwell 73 บริษัทผู้ดูแลด้านโปรดักชันและการถ่ายทำซีนสำคัญนี้ ส่วน เดวิด เบลน (David Blaine) คือนักมายากลผู้มีชื่อเสียงด้านการแสดงผาดโผนที่ไม่เหมือนใคร

วินสตันเองก็เคยให้สัมภาษณ์กับ The Hollywood Reporter ถึงเบื้องหลังไอเดียการนำครูซมาแสดงฉากผาดโผนเพื่อเปิดตัวในฐานะเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า

“การประชุมครั้งแรกของผมเกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2022 ครับ ผมนั่งคุยกับวาสเซอร์แมน แล้วผมก็ไม่ได้ทำอะไรกับเรื่องนี้เลยนับตั้งแต่นั้น แต่ผมคิดไอเดียหนึ่งเอาไว้ตั้งแต่ประมาณ 20 เดือนที่แล้ว พวกเขาบอกว่า เรามีเวลา 12 นาทีในพิธีปิดสำหรับการแสดงของเจ้าภาพครั้งถัดไป หลังจากนั้น 5 นาทีผมก็คิดออกว่า ‘มันคงจะเจ๋งนะถ้าเราสามารถคว้าธงมาได้ และถ้าให้ ทอม ครูซทำแบบนั้นได้ด้วย'”

“ผมเห็นการส่งต่อธงในสนามกีฬาของเจ้าภาพหลาย ๆ ประเทศมามากมาย และมันก็ยอดเยี่ยม แต่ผมอยากทำอะไรบางอย่างที่แตกต่างออกไป ผมชอบการที่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าเราถ่ายทำที่ลอสแองเจลิส เราจะสามารถควบคุมองค์ประกอบทั้งหมดได้มากขึ้นหน่อย ผมชอบแนวคิดการเปิดตัวที่น่าตื่นตาตื่นใจในปารีส แต่ถ่ายทำในลอสแองเจลิสเป็นส่วนใหญ่”

“จำตอนที่ โคแนน โอไบรอัน (Conan O’Brien) วิ่งจากนิวยอร์กไปลอสแองเจลิส ตอนเปิดรายการ ‘The Tonight Show with Conan O’Brien’ ได้ใช่ไหม เขาทำ Sketch วิ่งข้ามประเทศได้สนุกมาก ๆ และสิ่งนี้ก็ติดอยู่ในใจผมมาตลอด ผมเลยตั้งคำถามว่า ‘จะให้ ทอม ครูซ และนักกีฬาที่น่าทึ่งเหล่านั้น นำธงจากปารีสไปที่ LA ได้ยังไง’ มันเป็นแรงบันดาลใจที่แปลกมาก ๆ”

“และจากนั้นผมก็เสนอไอเดียนี้ให้ทอมฟัง เขาเป็นคนแรกที่ผมนำเสนอเลย ถ้าไม่ใช่เขา ผมก็นึกไม่ออกแล้วว่าจะมีใครอีกที่เหมาะสม ใครที่เหมาะจะเป็นทั้งสัญลักษณ์ความเป็นแอ็กชัน และการเป็นฮีโรของชาวอเมริกัน เมื่อเราได้ทอมมาร่วมงาน ผมรู้สึกได้เลยว่าโปรเจกต์ทุกอย่างจะออกมาเวิร์กแน่ ๆ เราจึงเริ่มต้นจากตรงนั้น แต่มันก็ใช้เวลาตั้ง 1 ปีครึ่งกว่าจะสำเร็จ”

Tom Cruise Olympic Closing REUTERS
REUTERS

แม้ไอเดียการนำครูซมาแสดงจะเป็นอะไรที่ทะเยอทะยานมาก ๆ จนทำให้พวกเขาต้องเตรียมแผนการที่จะใช้สตันต์แมนเข้ามาร่วมแสดงด้วย แต่หลังจากที่ครูซได้เข้าร่วมประชุมออนไลน์ เขาก็สนใจรับโปรเจกต์นี้ ด้วยเงื่อนไขเพียงข้อเดียวเท่านั้น

“ส่วนที่ดีที่สุดของเรื่องนี้ก็คือ เรานำเสนอไอเดียกันผ่าน Zoom ไอเดียแรกของพวกเราก็คือจะมีการใช้สตันต์แมนมาแสดงในสนาม ตอนนั้นพวกเราคิดกันว่า ‘มันคงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะได้ทำแบบนี้แน่ ๆ เราน่าจะมีเวลาถ่ายทำกันแค่ 4 ชั่วโมง เราเลยคิดว่าจะถ่ายเฉพาะฉากที่เขา (ครูซ) อยู่ใน LA กับป้ายฮอลลีวูด เขาจะส่งต่อธง แล้วก็เสร็จสิ้น เราคงได้ถ่ายเขาเฉพาะฉากนี้ แต่ฉากอื่นคงต้องใช้สตันต์แมนแทน’ จนกระทั่ง 5 นาทีหลังจากการนำเสนอจบ ครูซก็พูดขึ้นมาว่า ‘ผมตกลงนะ แต่ผมจะยอมแสดงก็ต่อเมื่อผมได้ทำทุกอย่างเองเท่านั้น'”

วินสตันเล่าถึงช่วงเวลาที่เขานำเสนอไอเดียกับครูซ ซึ่งเขาก็เห็นดีด้วยกับไอเดียนี้ แต่เขากลับปัดตกเรื่องที่จะให้สตันต์แมนมาแสดง แทนที่จะเป็นตัวเขาที่ร่วมแสดงในทุกฉากแบบเบ็ดเสร็จ

“เราได้สร้างความสัมพันธ์กันตลอด ผมคิดว่าเขาไว้ใจเราเสมอว่าเราจะทำงานดี ๆ ออกมาได้ ผมเสนอไอเดียทั้งหมดให้ทอมตั้งแต่ต้นจนจบ ข้อเสนอแรกเป็นการรวมทุกอย่างที่คุณได้เห็นไปทั้งหมดนั่นเลย เพียงแต่ตอนที่ผมบอกเขา ผมเสนอให้มีคนใส่หมวกไอ้โม่งเป็นคนที่กระโดดลงมาจากหลังคาสนามกีฬา”

“แต่คำตอบของทอมคือ ‘ผมชอบไอเดียนี้นะ แต่เราจะไม่ใช้สตันต์แมนใส่หมวกไอ้โม่งเด็ดขาด ผมนี่แหละจะเป็นคนกระโดดจากหลังคาเอง ผมจะเป็นคนขับรถผ่านปารีสเอง’ ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับผมมันเป็นอะไรที่ดีกว่ามาก แม้จะมีเวลาถ่ายแค่วันเดียวก็ตาม เหตุผลเดียวที่ผมเสนอไอเดียให้ใช้สตันต์แมนใส่หมวกไอ้โม่งก็คือ ถ้าใช้แบบนั้น เราจะมีเวลาถ่ายถึง 4 วันบวกกับวันซ้อม”

และเบื้องหลังที่น่าทึ่งอีกอย่างก็คือ ทั้งครูซและทีมงานทุกคนในโปรเจกต์นี้ ล้วนทำงานโดยที่ไม่มีใครได้รับค่าตอบแทนเลยแม้แต่เหรียญเดียว และที่ยิ่งน่าทึ่งไปกว่านั้นก็คือ ครูซยอมสละเวลาที่แสนจะรัดตัวเดินทางมาถ่ายทำฉากผาดโผน ทั้ง ๆ ที่เขายังติดการถ่ายทำ ‘Mission: Impossible’ ภาคที่ 8 อยู่

“เขาถ่ายทำ ‘Mission: Impossible’ ที่ลอนดอนเสร็จตอน 6 โมงเย็น จากนั้นเขาก็ขึ้นเครื่องบินทันที เขามาถึง LA ตอนตี 4 แล้วถ่ายฉากที่เขาขึ้นเครื่องบินทหารใน LA เขากระโดดลงจากเครื่องบิน 2 ครั้ง แต่เขาไม่ค่อยชอบการกระโดดครั้งแรก เลยขอกระโดดอีกรอบ จากนั้นเขาก็ขึ้นเฮลิคอปเตอร์จากปาล์มเดล (Palmdale) ไปที่ป้ายฮอลลีวูด ถ่ายทำตั้งแต่บ่ายโมง จนถึง 5 โมงเย็น แล้วก็ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปที่สนามบินเบอร์แบงก์ และบินกลับไปลอนดอน”

Ben Winston Tom Cruise filming at the Hollywood Sign

วินสตันเล่าเกร็ดเบื้องหลังการถ่ายทำของครูซ การเก็บทุกอย่างไว้เป็นความลับขั้นสุดยอด รวมทั้งเบื้องหลังการเนรมิตป้ายฮอลลีวูดให้เป็นสัญลักษณ์ห่วงโอลิมปิก

“ตอนที่เราถ่ายทำกับทอม เขาไม่ได้ถือธงโอลิมปิกเลยครับ เขาถือแต่ธงสีขาว ๆ ตลอดเวลา ดังนั้นเวลาที่เราถ่ายรูปกับเขา สื่อมวลชนก็มักจะพูดเสมอว่าเรากำลังถ่ายทำ ‘Mission: Impossible’ ทุกคนต่างสงสัยกันว่าอะไรจริง อะไรปลอม ซึ่งสิ่งเดียวที่ปลอมก็คือธง ผมเองก็หงุดหงิดนิดหน่อยที่มีภาพหลุดออกไปในช่วง 2-3 สัปดาห์นั้น แต่แล้วผู้คนก็อยากรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าตอนนี้พวกเรากำลังทำอะไรอยู่ ตอนที่เราจองคิวซ้อมกันที่ Stade de France”

“ตอนแรกผมเคยคิดว่าเราจะดัดแปลงป้ายฮอลลีวูดกันจริง ๆ เรามีวิศวกรอยู่ที่นั่นด้วยตลอดเวลาเพื่อคิดหาวิธีทำ ผมเองก็คิดว่าน่าจะทำได้เหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้วผมก็ตัดสินใจไม่ทำ เพราะอยากให้มันเป็นเซอร์ไพรส์ด้วย จนถึงเดือนมีนาคม คนทั้งโลกก็ได้เห็นป้ายฮอลลีวูดที่มีห่วงโอลิมปิก ซึ่งเราทำขึ้นโดยใช้ CGI ส่วนตัวทอมนั้นเป็นของจริง เขาอยู่ที่นั่น และปีนขึ้นไปบนป้ายจริง ๆ”