แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ (Andrew Garfield) นักแสดงหนุ่มชาวอังกฤษผู้โด่งดังจากการรับบทเป็น ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ คนที่ 2 ในโลกภาพยนตร์จาก ‘The Amazing Spider-Man’ (2012), ‘The Amazing Spider-Man 2’ (2014) และ ‘Spider-Man: No Way Home’ (2021) ได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าเอลโม (Elmo) ตัวละครสุดโด่งดังจากรายการเด็กยอดฮิต Sesame Street ในช่อง YouTube ของ Sesame Workshop

โดยการ์ฟิลด์ได้เปิดใจบอกเล่าถึงประสบการณ์การสูญเสีย การพยายามรับมือกับความเศร้า และความระลึกถึงแม่ ลินน์ การ์ฟิลด์ ( Lynn Garfield) ที่จากไปด้วยโรคมะเร็งตับอ่อนในปี 2019

“แค่พอดีว่าวันนี้ผมกำลังคิดถึงแม่น่ะ แม่ของผมเพิ่งจากไปเมื่อไม่นานมานี้เอง และก็คิดถึงเธอ คิดถึงเธอมาก ๆ มันเป็นเรื่องปกตินะที่เราจะคิดถึงใครสักคนเวลาที่เขาจากไป…”

“เอลโมขอโทษ เอลโมเสียใจที่ได้ยินข่าวนี้ คุณแอนดรูว์”

“โอ้ ไม่เป็นไร ไม่จำเป็นต้องขอโทษเลย การคิดถึงใครสักคนเป็นเรื่องปกตินะ”

“เอลโมก็รู้สึกเศร้าเหมือนกันนะเวลาที่คิดถึงใครสักคน…”

“แต่ว่าความเศร้าก็เป็นเหมือนกับของขวัญอย่างหนึ่งนะ ในความรู้สึกแบบนั้น มันก็ยังมีสิ่งที่งดงามอยู่ เพราะหมายความว่าคุณรักใครคนนั้นมากพอที่จะคิดถึงเขา และเวลาที่ผมคิดถึงใครสักคน เช่นตอนที่คิดถึงแม่ ผมก็จะนึกถึงสิ่งต่าง ๆ เช่นตอนที่ผมได้กอดแม่ทุกครั้ง (หัวเราะ) แบบว่าทุก ๆ ครั้งที่แม่กอดเลยล่ะ”

“แม้ว่ามันจะเป็นวิธีที่ดูแปลก แต่มันทำให้ผมรู้สึกเหมือนได้ใกล้ชิดกับแม่เลย ผมดีใจที่ยังมีความทรงจำเหล่านั้นที่เกี่ยวกับแม่ และความสุขทุกอย่างที่เธอเคยมีให้กับผม พี่ชาย พ่อ และทุก ๆ คนที่แม่เจอ ทุกคนที่อยู่รอบข้างแม่ ดังนั้นเวลาที่ผมคิดถึงแม่ ผมจะจำได้ว่า เพราะว่าแม่ ผมเลยมีความสุขมากเหลือเกิน ผมจึงสามารถคิดถึงและก็รู้สึกยกย่องชื่นชมแม่ไปด้วยได้พร้อม ๆ กัน”

Andrew Garfield Lynn Garfield

แอนดรูว์ รัสเซลล์ การ์ฟิลด์ (Andrew Russell Garfield) เติบโตมาในครอบครัวของพ่อชาวอเมริกัน และลินน์ การ์ฟิลด์ แม่ที่อพยพย้ายมาจากเมืองเอสเซ็กซ์ ประเทศอังกฤษ โดยแม่ของเขามีอาชีพเป็นครูผู้ช่วยสอนในโรงเรียนอนุบาล และทำธุรกิจออกแบบภายในเล็ก ๆ ร่วมกับสามี ในวัยเด็ก การ์ฟิลด์มีพรสวรรค์ด้านการกีฬาทั้งยิมนาสติกและว่ายน้ำ และเมื่อเติบโตขึ้น เขาเองตั้งใจอยากจะเรียนด้านธุรกิจ จนเมื่อถึงอายุ 16 ปี เพื่อนของเขาได้โน้มน้าวให้เขาไปเข้าเรียนด้านการแสดงเพราะกลัวว่าคลาสจะไม่เปิดสอนหากมีคนมาเรียนไม่ครบตามกำหนด

แต่บุคคลที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจเดินบนเส้นทางอาชีพการแสดงอย่างจริงจังก็คือแม่ ที่เคยตัดชุดสไปเดอร์-แมนด้วยผ้าสักหลาดให้แอนดรูว์ใส่เมื่อตอนอายุ 3 ขวบก่อนที่เขาจะได้เป็นสไปเดอร์-แมนจริง ๆ และยังเป็นแม่ผู้ที่ไม่เคยกดดันให้เขาร่ำเรียนวิชาที่ไม่ชอบและไม่ถนัด เพียงเพื่อเป็นบันไดสู่ฐานะอันมั่งคั่งหรือการมีหน้ามีตา การ์ฟิลด์เล่าว่า แม่เคยบอกกับเขาเอาไว้ว่า “แม่อยากให้ลูกมีความสุข มากกว่าที่จะร่ำรวยหรือต้องทำตามบรรทัดฐานของสังคม”

“ผมเคยเป็นนักกีฬามาก่อน แต่ผมก็เลิกเล่นไป ผมเคยลงเรียนสายวิชาการ แต่ผมที่เป็นคนนอกเมือง ผมใช้ชีวิตเติบโตทางตอนใต้ของอังกฤษ ก็เลยไม่เชื่อมโยงกับสิ่งนี้เท่าไหร่ แม่ของผมเป็นคนที่สังเกตเห็นว่าผมเองก็กำลังมีปัญหากับเรื่องพวกนี้ แม่จึงเป็นคนบอกผมว่า ‘ทำไมไม่ลองมองหาอะไรที่สร้างสรรค์ทำดูบ้างล่ะ ?’ ผมก็เลยไปลองปั้นดินเหนียว แต่ก็ไม่เก่งเลย ผมลองวาดภาพก็ไม่เก่งเหมือนกัน ลองเล่นดนตรีก็พอไปได้ และสุดท้ายที่ผมลองก็คือการแสดง แม่เป็นคนที่อยู่ข้างผมและเป็นคนแรกที่พาผมเข้าสู่เส้นทางนั้น ผมเลยรู้สึกว่าเป็นหนี้บุญคุณแม่ตลอดไป”

และนั่นก็ทำให้เราได้รู้จักแอนดรูว์ในฐานะนักแสดงหนุ่มที่มีผลงานการแสดงออกมามากมาย นอกจากการรับบทเป็น Spider-Man เขาเคยรับบทเป็น เอดูอาโด ซาเวอริน (Eduardo Saverin) นักลงทุนผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook ใน ‘The Social Network’ (2010) รับบทเป็นพลทหารเดสมอนด์ ดอสส์ ใน ‘Hacksaw Ridge’ (2016) รับบทเป็นบาทหลวงใน ‘Silence’ (2016) ของผู้กำกับ มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) รวมทั้งยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 2 ครั้งจาก ‘Hacksaw Ridge’ และ ‘Tick, Tick… Boom!’ (2021) ของ Netflix

ย้อนกลับไปในตุลาคม ปี 2019 ตอนที่เขากำลังถ่ายทำหนังดราม่าชีวประวัติ ‘The Eyes of Tammy Faye’ (2021) ของผู้กำกับ ไมเคิล โชวอลเตอร์ (Michael Showalter) การ์ฟิลด์รับบทเป็น จิม แบ็กเกอร์ สามีของ แทมมี เฟย์ คู่สามีภรรยานักเทศน์ผู้ก่อตั้งสถานีโทรทัศน์สำหรับเผยแพร่คำสอนของคริสเตียนโดยเฉพาะ ก่อนที่จิมจะถูกจับกุมในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศและฉ้อโกง

การแสดงในครั้งนี้นับเป็นความท้าทายที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่งของเขา เพราะไม่ใช่แค่ความยากในการสวมบทบาท แต่เป็นเพราะก่อนหน้านั้น แม่ของเขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งตับอ่อน เวลานั้นเขาเริ่มลังเลที่จะเดินทางไปยังกองถ่ายที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา แต่ก็เป็นแม่ที่คอยหนุนให้เขาไปแสดงตามปกติ

“แม่บอกกับผมว่า ‘แม่จะรู้สึกไม่สบายใจนะถ้าลูกไม่ทำสิ่งนี้เพราะว่าแม่น่ะ’ ผมบอกกับแม่ว่า ‘โอเคครับ แต่สัญญานะว่าแม่จะบอกผมเมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับบ้าน'”

แต่ในที่สุดข่าวร้ายก็มาถึง เมื่อการ์ฟิลด์ได้ทราบข่าวว่าแม่ของเขาต่อสู้กับมะเร็งตับอ่อนมาจนถึงระยะสุดท้าย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เจสสิกา แชสเทน (Jessica Chastain) โปรดิวเซอร์ นักแสดงเพื่อนร่วมงานของเขา และ เดวิด กรีนบาม (David Greenbaum) ผู้บริหารร่วมของสตูดิโอ Searchlight Pictures เป็นผู้สนับสนุนให้การ์ฟิลด์เดินทางกลับไปยังอังกฤษเพื่อดูใจแม่ในระยะสุดท้าย การ์ฟิลด์บอกเล่ากับ People ถึงแรงหนุนที่ทำให้มีการเปลี่ยนตารางงานเพื่อเขาโดยเฉพาะ

“สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ เจสสิกา (และเดวิด กรีนบาม) ปรับตารางงานใหม่ในช่วงนาทีสุดท้ายด้วยการหยุดถ่ายทำ (ในนอร์ทแคโรไลนา) ไว้ 2-3 วัน เพื่อที่ผมจะได้กลับไป (อังกฤษ) และอยู่กับแม่เป็นเวลา 10 วัน”

นอกจากนี้ การ์ฟิลด์ยังจำได้ถึงแรงหนุนอีกแรงที่ทำให้เขาตัดสินใจหยุดงานและเดินทางกลับไปหาแม่ คน ๆ นั้นก็คือ วินเซนต์ ดีโอโนฟริโอ (Vincent D’Onofrio) นักแสดงรุ่นใหญ่ที่ร่วมงานกับเขาในหนังเรื่องเดียวกัน

“เนื่องจากเขาเองก็เคยประสบพบกับการสูญเสียโดยที่ไม่สามารถไปได้ทันเวลา เขาเลยบอกกับผมว่า ‘ไปเถอะ นายต้องไปนะ’ ผมก็เลยตอบไปว่า ‘ใช่ ผมรู้แล้วว่าผมต้องไป ขอบคุณมากนะครับ”

การ์ฟิลด์เล่าถึงช่วงเวลาสุดท้ายของเขากับแม่ในบทสัมภาษณ์ของ Variety

“ข่าวที่ดีเกี่ยวกับผมและแม่ก็คือ เราไม่ได้พูดคุยอะไรกันเลย เพราะไม่มีอะไรที่ติดค้างต่อกันอีก ตอนที่แม่ยังมีชีวิต เราต่างมีเวลาร่วมกันที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และ 2 สัปดาห์สุดท้ายที่ผมได้อยู่กับแม่ เป็น 2 สัปดาห์ที่มีความหมายที่สุดในชีวิตของผม การได้อยู่กับแม่ กับพ่อ พี่ชาย และเพื่อน ๆ ของแม่ หลานชายของผม มันเต็มไปด้วยความงดงาม ท่ามกลางโศกนาฏกรรมอันเลวร้าย”

Andrew Garfield Lynn Garfield

การ์ฟิลด์เดินทางกลับมาถ่ายทำต่อจนเสร็จสิ้น ก่อนจะหันไปรับงานโปรเจกต์ต่อไปใน ‘Tick, Tick… Boom!’ ซึ่งเป็นอีกงานที่เขาใช้พื้นที่ของหนังในการอุทิศให้กับแม่ ในระยะแรก การ์ฟิลด์เล่าว่า เขาเองก็ไม่อาจจะรับมือกับความสูญเสียได้ เขารู้สึกเหมือนกับว่ามีแต่เขาเท่านั้นที่เผชิญกับความสูญเสีย ก่อนที่เขาจะตระหนักได้ว่า เขาไม่ได้เป็นคนเดียวที่เผชิญกับความสูญเสีย คนทุกคนทั้งในอดีตและปัจจุบัน และอนาคตล้วนต้องสูญเสียด้วยกันทั้งนั้น

“แน่นอนว่า มีหลายครั้งในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมาที่ผมพูดว่า ‘แม่ไม่ควรจะตาย แม่ไม่ควรตายตอนอายุยังน้อยขนาดนี้ และแม่ไม่ควรต้องตายอย่างทุกข์ทรมาน ไม่ควร ๆ ๆ’ มันเป็นความหยิ่งผยอง เป็นความหลงตัวเองของผมในเวลานั้น เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ ผมไม่ได้โทษตัวเองในเรื่องนี้ มันเป็นปฏิกิริยาที่มนุษย์ทั่วไปเป็น เพราะมันดูไม่มีเหตุผล มันดูไม่ยุติธรรม ดูไม่แฟร์เอาซะเลย”

“ผมเองก็ไม่ได้เก่งในเรื่องนั้น มันก็แค่เป็นเรื่องธรรมดา ในกระบวนการการเยียวยา สิ่งหนึ่งที่ช่วยปลอบโยนให้ผมรู้สึกสบายใจมากที่สุดก็คือการตระหนักว่า สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนานแล้ว ลูกชายสูญเสียแม่ ลูกสาวสูญเสียแม่…สิ่งมีชีวิตทุกสายพันธ์ุล้วนต้องเคยสูญเสียแม่ไป ดังนั้นในแง่ประสบการณ์ส่วนตัวของผม นี่จึงเหมือนเป็นการเยียวยาที่เรียบง่ายสำรับตัวผมเอง”

การ์ฟิลด์ได้ย้ำถึงความสำคัญของความโศกเศร้าที่เปรียบเหมือนกับของขวัญสำหรับเขาในรายการ The Late Show With Stephen Colbert

“ผมชอบพูดถึงแม่นะครับ ถ้าหากว่าผมจะร้องไห้ออกมา มันก็เป็นเรื่องที่สวยงาม เพราะสิ่งนี้คือความรักที่ยังไม่ได้แสดงออกมา มันคือความโศกเศร้าที่จะอยู่กับเราจนกว่าตัวเราจะจากไป เพราะสำหรับกันและกัน ยังไงก็ไม่มีวันเพียงพอ ไม่ว่าจะต่อให้คน ๆ นั้นอายุ 15 ปี, 60 ปี หรือ 99 ปีก็ตาม”

“ดังนั้น ผมหวังว่าความเศร้าโศกนี้จะยังคงอยู่กับผม เพราะมันคือความรักที่ยังไม่ได้แสดงออกมาทั้งหมด และผมก็ไม่สามารถบอกกับแม่ได้ ผมได้แต่คอยบอกแม่ว่า แม่คือคนที่ดีที่สุดสำหรับพวกเราเสมอ”