กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอีกครั้ง สำหรับแง่มุมที่ซ่อนอยู่ในคำถามของการประกวด Miss Universe 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งนางงามตัวแทนประเทศไทยอย่าง “ฟ้าใส-ปวีณสุดา” ก็โดนคำถามแสนยากที่ว่า “ระหว่างสิทธิส่วนบุคคลและความมั่นคงของชาติ เราควรจะให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน?” เป็นคำถามที่แม้จะเอาไปถามผู้ใหญ่หรือนักวิชาการในบ้านเมือง ก็ยังตอบให้ครบถ้วนสมบูรณ์ได้ยาก

ฟ้าใส ปวีณสุดา บทเวที Miss Universe 2019 (ขอบคุณภาพจากข่าวสดออนไลน์)

ฟ้าใส ปวีณสุดา นางงามตัวแทนของไทยบนเวที Miss Universe 2019 (ขอบคุณภาพจากข่าวสดออนไลน์)

ซึ่งจะว่าไปแล้ว ยิ่งนับวันที่วิทยาการด้านเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น สิทธิส่วนบุคคลที่จะถูกเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ก็ยิ่งจะถูกล่วงล้ำมากขึ้นตามไป ก่อให้เกิดคำถามว่า ประชาชนคนธรรมดาอย่างเรา ๆ จะไว้ใจให้รัฐบาลไม่ว่าจะระดับโลกหรือระดับประเทศ เข้าถึง ควบคุม ครอบครอง นำข้อมูลของประชาชนไปใช้ในทางดี (หรือร้าย) ได้มากแค่ไหน?

วันนี้ What The Fact ขอชวนคุณผู้อ่านย้อนไปดูหนัง 13 เรื่องที่เคยพูดถึงประเด็นของสิทธิส่วนบุคคล (Privacy) ซึ่งหลายเรื่องก็แฝงประเด็นเหล่านี้ไว้ในทั้งความสนุกของหนังซูเปอร์ฮีโร หนังไซไฟวิทยาศาสตร์ หนังกฎหมาย หนังสงคราม หรือหนังดราม่าการเมือง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการลุกขึ้นสู้ของประชาชนตัวเล็ก ๆ ต่ออำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่า

1. Captain America: Winter Soldier (2014)

Captain America: Winter Soldier (2014)

Captain America: Winter Soldier (2014)

  • ผู้กำกับ: Anthony Russo และ Joe Russo (Avengers: Infinity War & Endgame, Captain America: Civil War
  • นักแสดง: Chris Evans, Samuel L. Jackson, Scarlett Johansson, Robert Redford
  • เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ: หนังกัปตันอเมริกาเรื่องที่ 2 ที่กลับมาเล่าเรื่องในยุคปัจจุบัน ได้รับแรงบันดาลใจการหนังทริลเลอร์การเมืองชื่อดังในอดีตอย่าง Three Days of Condor (1975) ของผู้กำกับชั้นครู Sydney Pollack มี Robert Redford นำแสดงด้วยเช่นกัน หนังว่าด้วยความยิ่งใหญ่ของหน่วยชีลด์ที่คุมกำลังโดยผู้อำนวยการเพียร์ซ โดยมีผู้คุมกำลังปฏิบัติการเป็นนิค ฟิวรี่ ซึ่งพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมกับความกิเลสที่อยากจะคุมอำนาจนั้นไว้ กัปตันอเมริกาเริ่มไหวตัวถึงความไม่ชอบมาพากลของหน่วยชีลด์ที่ทวีสรรพกำลังวิทยาการอย่างที่ว่า ถ้ากลายเป็นฝ่ายวายร้ายเสียเอง ก็คงยากที่ใครจะต่อกรได้ แต่การไหวตัวนั้นก็ยังไม่ทันการกับการที่เขาจะโดนใส่ร้ายป้ายสี และนิค ฟิวรี่จะถูกลอบสังหาร
  • สิทธิส่วนบุคคลสำคัญกว่าความมั่นคงไหม?: กัปตันอเมริกาถามนิค ฟิวรี่ว่า การเอาปืนจ่อหัวทุกคนแล้วเรียกว่า นั่นเป็นไปเพื่อการคุ้มครอง สิ่งนั้นไม่ใช่เสรีภาพแต่เรียกว่า “ความกลัว” ต่างหาก แม้ว่าทั้งคู่จะอยู่ฝั่ง Avengers เหมือนกันแต่ก็ยังมีความเห็นไม่ลงรอยในเรื่องเสรีภาพในการคุ้มครองประชาชน โชคดีที่หนังเเปิดเผยตัวคนร้ายที่อยู่ฝั่งใช้อำนาจควบคุมอาวุธและคุมกำลังทั้งหมดเสียก่อน จึงไม่ได้ถกกันต่อถึงประเด็นนี้ว่าอะไรสำคัญกว่ากัน (หรือพวกคนร้ายมักจะเป็นพวกมีอำนาจเสมอนะ?)

2. Minority Report (2002)

Minority Report (2002)

Minority Report (2002)

  • ผู้กำกับ: Steven Spielberg (Ready Player One, The Post, Ordinary People)
  • นักแสดง: Tom Cruise (Mission Impossible), Colin Farrell (Total Recall), Max Von Sydow (Star Wars)
  • เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ: ดัดแปลงจากนิยายของนักเขียนแนวไซไฟชื่อดัง Philip K. Dick เรื่องราวเกี่ยวกับโลกอนาคต เหตุฆาตกรรมจะถูกยับยั้งไว้ก่อนจะเกิดขึ้นจริงจากวิทยาการของ “พรีไครม์” ที่นำมนุษย์ผู้มีญาณทิพย์ สามารถเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า 3 คนที่เรียกว่า “พรีค็อกซ์” มาใช้เป็นเครื่องมือ Tom Cruise รับบทเป็นจอห์น แอนเดอร์ตัน หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการที่จะต้องรับสัญญาณจากพรีคอกซ์แล้วออกไปยับยั้งเหตุอาชญากรรมให้ทันเวลา ระบบนี้ไม่เคยผิดพลาด จนจอห์นดันมาตกเป็นผู้ต้องสงสัยเสียเอง และต้องเอาตัวรอดจากการโดนตามล่าโดยแดนนี่ วิทเวอร์ (Colin Farrell) ที่อยากจะแย่งตำแหน่งแทน
  • สิทธิส่วนบุคคลสำคัญกว่าความมั่นคงไหม?: หนังเรื่องนี้ล้ำไปอีกตรงที่ไม่ใช่แค่ก้าวล่วงไปถึงสิทธิส่วนบุคคลในปัจจุบัน แต่ล่วงเลยไปถึงอนาคตที่ยังไม่เกิด กับการก่ออาชญากรรมที่ยังไม่เกิดผล ผู้ (จะ-พยายาม) กระทำความผิดกลับต้องโดนโทษเหมือนได้ทำความผิดสำเร็จแล้ว เหตุผลของเรื่องพยายามยกเอาความมั่นคง ในแง่ความปลอดภัยของเหยื่อที่จะไม่ถูกฆ่าเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าป้องกันได้ ทำไมจะไม่ป้องกันล่ะ? ซึ่งประเด็นนี้ก็ไม่ได้ถกกันต่อ เพราะหนังมีบทสรุปว่า ไม่ว่าระบบจะแม่นยำหรือไม่ เหตุผลใดที่ควรชั่งน้ำหนักมากกว่ากัน แต่วิธีการที่ได้มาของระบบพรีไครม์ กลับไปสิ่งที่ผิดศีลธรรมไปเสียก่อน

3. Eagle Eye (2008)

Eagle Eye (2008)

Eagle Eye (2008)

  • ผู้กำกับ: D.J. Caruso (xXx: Return of Xander Cage, Disturbia)
  • นักแสดง: Shia LaBeouf (Transformers), Michelle Monaghan (Mission Impossible), Rosario Dawson (Rent)
  • เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ: ทฤษฎีสมคบคิดว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรมผู้นำสูงสุดของสหรัฐฯ ทั้งคณะ เมื่อ Jerry Shaw น้องชายฝาแฝดของพี่ชายที่ไปร่วมรบในสงครามและเสียชีวิต เกิดได้รับเงินจำนวนมากโอนเข้ามาในบัญชีจนถูกทางการเล่นงาน หาว่ามีส่วนร่วมกับพี่ชายในการก่อการร้าย ส่วน Rachel Holloman คุณแม่ลูกหนึ่งก็ตกมาเป็นเครื่องมือขององค์กรลึกลับทางสายโทรศัพท์ที่บังคับบงการให้เธอก่อการร้าย ทั้งคู่ตกเป็นเหยื่อให้ต้องทำตามคำสั่งเพื่อก่อวินาศกรรม ระหว่างนั้นก็ต้องหาทางเอาตัวรอดให้ได้โดยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่บางคนที่เริ่มเห็นความไม่ชอบมาพากล
  • สิทธิส่วนบุคคลสำคัญกว่าความมั่นคงไหม?: ใครที่ได้ดูหนังเรื่องนี้จนถึงตอนจบ ก็จะได้เห็นบทสรุปของหนังไปทำนองเดียวกันกับหนังไซไฟล้างโลกอย่าง Terminator หรือ I, Robot (2014) เมื่อผู้มีอำนาจเหนือกว่าเกิดอยากจะจัดระเบียบสังคม ด้วยการก่อวินาศกรรมเพื่อสร้างเหตุผลและเข้ายึดอำนาจแทน แม้จะไม่มีเหตุผลต้องถกเรื่องอะไรสำคัญกว่า เพราะความมั่นคงมาในรูปแบบของตัวร้ายที่ดูยังไงก็ไม่มีทางดี แต่ในโลกของความเป็นจริง เรามักดูไม่ออกว่าตัวร้ายแบบที่เจอในเรื่องนี้ที่ซ่อนอยู่ในตัวรัฐที่คลั่งอำนาจ จะมาในรูปแบบไหน?

4. Enemy of the State (1998)

Enemy of the State (1998)

Enemy of the State (1998)

  • ผู้กำกับ: Tony Scott (Deja Vu, Spy Game, Crimson Tide)
  • นักแสดง: Will Smith (I, Robot), Gene Hackman (The Conversation ), Jon Voight (Mission Impossible)
  • เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ: โรเบิร์ต เคลย์ตัน ดีน ทนายคดีกฎหมายแรงงานในวอชิงตัน ดี.ซี. ผู้มีอนาคตไกล จู่ ๆ ก็ได้ครอบครองวิดีโอเทปซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของการบงการสังหารเจ้าหน้าที่ระดับสูงของวุฒิสมาชิกสหรัฐ ด้วยฝีมือของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงหรือ NSA อีกคนหนึ่ง ดีนจึงตกเป็นเป้าหมายของการไล่ล่าระดับชาติที่อีกฝ่ายขนทุกเทคโนโลยีด้านการเจาะข้อมูล เพื่อเข้าถึงตัวและกำจัดดีน จนเขาต้องไปขอความช่วยเหลือจากอดีตเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่เก่งด้านเทคโนโลยีอีกคน เพื่อเอาตัวรอดจากการเป็นศัตรูของรัฐและเอาชีวิตของเขากลับคืนมา
  • สิทธิส่วนบุคคลสำคัญกว่าความมั่นคงไหม?: หนึ่งในหนังไม่กี่เรื่องของยุค 90s ที่หยิบเอาเรื่องของการถูกเจาะ-ถูกล้วงข้อมูลส่วนบุคคลออกมานำเสนอได้อย่างทำให้คนธรรมดา ๆ อย่างเรา ๆ ต้องมีหนาวกันบ้าง เพราะรัฐทุกยุคสมัยต่างถือครองและเข้าถึงข้อมูลของทุกคนได้ทุกเมื่อ และหากปะเหมาะเคราะห์ร้าย ประชาชนถูกนิยามให้กลายเป็นศัตรูของรัฐหรือชาติแล้ว รัฐก็พร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดเสี้ยนหนาม คนตัวเล็ก ๆ อย่างพระเอกจึงต้องหาทางลุกขึ้นมาเอาชนะกับการยึดถือความมั่นคงเป็นที่ตั้งอย่างไม่ชอบธรรม ด้วยการเอาเทคโนโลยีชนเทคโนโลยีกันไปเลย (ผู้กำกับ Tony Scott ผู้ล่วงลับ ยังเคยแตะ ๆ ประเด็นการสอดส่องชีวิตมนุษย์อีกครั้งในหนัง Deja Vu นำแสดงโดย Denzel Washington)

5. The Truman Show (1998)

The Truman Show (1998)

The Truman Show (1998)

  • ผู้กำกับ: Peter Weir (Master and Commander, Witness)
  • นักแสดง: Jim Carrey (Liar Liar), Laura Linney (Ozark), Ed Harris (The Rock)
  • เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ: ทรูแมน เบอร์แบงค์ ใช้ชีวิตอย่างอบอุ่นมีความสุขในเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง เขาไม่มีโอกาสได้ออกนอกเมืองแห่งนี้ เมื่อจะไปต่างประเทศหรือต่างเมือง ก็ต้องมีเหตุให้ไม่ได้ไป วันหนึ่งก็มีเรื่องเซอร์ไพร์ส เมื่อเขาพบว่ามีกล้องตกลงมาจากท้องฟ้า และเขาก็เกิดได้ยินเสียงเสียงประหลาดผ่านวิทยุเหมือนเป็นการรายงานกิจวัตรประจำวันของเขา เขาจึงเริ่มเอะใจว่า มีบางอย่างไม่ชอบมาพากล หรือจริง ๆ แล้วเขากำลังเป็นตัวละครที่ถูกถ่ายทำอยู่ในโรงถ่ายรายการหนึ่งมาตลอดทั้งชีวิต เขาจึงพยายามหนีออกจากที่นี่แบบไม่ให้ทีมถ่ายรายการรู้ตัว แต่เมื่อใดที่เขาออกจากสคริปต์ ก็จะมีเหตุการณ์ประหลาดต่าง ๆ บีบบังคับให้เขาต้องใช้ชีวิตแบบเดิมตามที่บทกำหนดโดยไม่รู้ตัว
  • สิทธิส่วนบุคคลสำคัญกว่าความมั่นคงไหม?: ไม่น่าเชื่อว่าแนวคิดของสิทธิส่วนบุคคลจะมาอยู่ในหนังตลกร้ายแนวคิดแหวกแนวเรื่องนี้ ซึ่งความแปลกที่ว่าก็ส่งผลให้ได้เข้าชิงออสการ์ถึง 3 ตัวคือ ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบยอดเยี่ยม Ed Harris ที่ปรากฎตัวในหนังแค่ไม่กี่นาที (บทในเรื่องหน้าเหมือน Steve Jobs มาก!) และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมโดย Andrew Niccol ผู้กำกับ Gattaca และ Anon (ที่จะพูดถึงต่อไป) ที่เขียนบทหนังแนวล้ำ ๆ ไว้หลายเรื่อง หนังเปรียบเปรยมนุษย์อย่างทรูเมนเสมือนวัตถุหรือสินค้าอย่างแยบคาย เช่นเดียวกับที่เราบูชาศิลปินดาราในยุคต่อมาอย่างไม่ค่อยเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเขาสักเท่าไหร่ อาจไม่ได้เทียบกับความมั่นคงตรงเสียทีเดียว แต่หนังก็อยากสะท้อนว่า มนุษย์เองก็อยากละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนอื่นตลอดเวลาเช่นกัน

6. Citizenfour (2014) / Snowden (2016)

Snowden ตัวจริงในหนังสารคดี Citizenfour (2014)

Snowden ตัวจริงในหนังสารคดี Citizenfour (2014)

Snowden (2016)

Snowden (2016)

  • ผู้กำกับ: Laura Poitras / Oliver Stone (Born on the Fourth of July, Platoon)
  • นักแสดง: Edward Snowden / Joseph Gordon-Levitt (The Dark Knight Rises), Nicolas Cage (Face/Off), Melissa Leo (The Fighter)
  • เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ: เรื่องแรกเป็นสารคดีที่ถ่ายทำจากตัวจริงของ Edward Snowden บุคคลที่กลายเป็นที่ต้องการตัวสูงสุดของทางการสหรัฐ เขาโดนทั้งข้อหาจารกรรมข้อมูลและข้อหากบฏ จากการออกมาเปิดโปงการละเมิดสิทธิประชาชนอย่างร้ายแรง ของหน่วยงานความมั่นคงอย่าง NSA ซึ่งเขาเคยทำงานให้กับบริษัทคู่สัญญาที่ได้ทำงานกับ NSA ล้วงดูข้อมูลของประชาชนทุกคน ตลอดจนถึงรัฐบาลและบุคคลสำคัญของประเทศต่าง ๆ โดยไม่ต้องมีการร้องขอต่อศาลตามขั้นตอนทางกฎหมาย นับเป็นกระชากหน้ากากประเทศแห่งเสรีภาพครั้งใหญ่ที่สุดข ในฉบับสารคดีที่ได้รับรางวัลสาขาสารคดียอดเยี่ยม  เล่าถึงการนัดพบกันของ Snowden กับผู้กำกับหญิง Laura Poitras ตลอดจนนักหนังสือพิมพ์ที่ฮ่องกง ระหว่างที่เขาถูกไล่ล่าจากทางการก่อนที่จะนำไปสู่การเปิดโปงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ส่วนฉบับหนังของผู้กำกับ Oliver Stone ผู้ทำหนังการเมืองต่อต้านรัฐบาลและสงครามมาตลอดชีวิต จะเหล่าถึงที่มาที่ไปของ Snowden ตั้งแต่รับราชการทหารจนประสบอุบัติเหตุ ต้องเบนเข็มมาทำงานให้กับสำนักข่าวกรองแห่งชาติ จนออกมาแฉรัฐบาลตัวเองในที่สุด อ่านรีวิวฉบับเต็มเรื่องนี้ของ WTF ได้ที่นี่
  • สิทธิส่วนบุคคลสำคัญกว่าความมั่นคงไหม?: Snowden คือหนึ่งในฮีโรของอเมริกันชนตลอดกาลสำหรับผู้ที่มองว่า การกระทำของเขาเป็นการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลมากกว่าความมั่นคง (ที่ทางการสหรัฐฯ อ้างความชอบธรรม) ในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน ซึ่งหนังทั้งสารคดีและภาพยนตร์ก็โปรเขาตามสไตล์ ทุกวันนี้เขาก็ยังลี้ภัยอยู่ในประเทศรัสเซียมาตั้งแต่ปี 2013 และมีความพยายามจะลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศสพร้อมกับคำกล่าวที่ว่า “การคุ้มกันผู้เปิดโปงความจริงให้กับประชาชน ไม่ใช่การกระทำอันควรจะเป็นกบฎ”

7. The Fifth Estate (2013)

The Fifth Estate (2013)

The Fifth Estate (2013)

  • ผู้กำกับ: Bill Condon (The Good Liar, Kinsey, The Twilight Saga: Breaking Dawn)
  • นักแสดง: Benedict Cumberbatch (Doctor Strange), Daniel Bruhl (Captain America: Civil War), Stanley Tucci (Devil Wears Prada)
  • เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ: เว็บไซต์แฉข่าวที่ดังที่สุดในโลกเมื่อ 10 ปีก่อน อย่าง Wikileaks โดย Julian Assange การแฉที่โด่งดังที่สุดคือ การเปิดเอกสารลับกว่า 90,000 ฉบับของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งมีทั้งชื่อสายลับ สายข่าว นโยบายและยุทธ์วิธีการรบในอัฟกานิสถาน เอกสารชุดแรกที่ Assange เปิดเผยกับ The Guardian และ New York Times นั้น ไม่มีการปิดบังรายชื่อตามเจตนารมณ์ของ Wikileaks ว่าจะไม่แก้ไขข้อมูลใด ๆ ของแหล่งข่าวเพื่อเคารพ “ความจริง” ชื่อของหนัง The Fifth Estate หมายถึง ฐานันดรที่ 5 เพราะแต่เดิมที่อังกฤษมี 3 ฐานันดร จนถึงวันหนึ่งมีกฎหมายห้ามหนังสือพิมพ์ลงข่าวเกี่ยวกับการอภิปรายในสภา จึงเกิดคนกลุ่มหนึ่งทำใบปลิวข่าวการอภิปรายแจก สุดท้ายคนกลุ่มนั้นถูกแขวนคอ ผู้คนเลยสถาปนาคนกลุ่มนั้นให้เป็นฐานันดรที่ 4 ต่อมา Wikileaks จึงเรียกตัวเองว่าเป็นฐานันดรที่ 5
  • สิทธิส่วนบุคคลสำคัญกว่าความมั่นคงไหม?: หนังเรื่องนี้ตั้งคำถามกับ “ความจริง” ตามหลักการของ Wikileaks คือสิ่งที่ทุกคนต้องยอมรับได้และสื่อมวลชนจะพูดความจริงอย่างไรก็ได้ แต่จะเป็นอย่างนั้นได้เสมอไปทุกกรณีหรือ? เมื่อความจริงนั้นต้องแลกมากกับชีวิตของสายลับที่ต้องเสี่ยงชีวิตหรือการปฏิบัติงานต่อต้านการก่อการร้ายที่ทำงานยากขึ้น หนังอเมริกันเรื่องนี้ แม้ว่าจะถ่ายทอดโดยไม่ทำให้ Assange ดูเลวร้าย แต่ก็ทำให้รู้สึกว่า การกระทำของเขาไม่ค่อยน่าชื่นชมจากนิสัยส่วนตัวประหลาด ๆ (Assange เคยให้สัมภาษณ์ว่าหนังเรื่องนี้ไม่มีความน่าเชื่อถือ และ Cumberbatch นักแสดงที่เล่นเป็น Assange ไม่เคยได้พบกับตัวจริง) อย่างไรก็ตาม เขาก็ติดอันดับฮีโรนักเปิดโปงไม่ต่างจาก Snowden แน่นอน

8. All the President’s Men (1976) 

All the President's Men (1976) 

All the President’s Men (1976)

  • ผู้กำกับ: Alan J. Pakula (The Pelecan Brief, Presumed Innocent, Sophie’s Choice)
  • นักแสดง: Robert Redford (Out of Africa), Dustin Hoffman (Rain Man), Hal Holbrook (Into the Wild)
  • เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ: Redford กับ  Hoffman รับบทเป็น Carl Bernstein กับ Bob Woodward สองนักข่าวของ The Washington Post ที่ขุดคุ้ยคดี Watergate แฉเหตุอื้อฉาวทางการเมืองครั้งสำคัญ ข่าวได้รับการตีพิมพ์ (คว้ารางวัล Pulitzer Prize for Public Service) นำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีของ Richard Nixon ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ลาออกจากตำแหน่ง (ไม่นับคนที่เสียชีวิต หรือถูกลอบสังหาร) เพื่อแสดงความรับผิดชอบซึ่งในตอนแรกจะถูกไต่สวนตามกฎหมาย แต่เมื่อลาออกการไต่สวนก็ล้มเลิกไป Bernstein และ Woodward เขียนหนังสือ All the President’s Men (1974) เพื่อบันทึกเหตุการณ์ เรื่องราวระหว่างที่พวกเขาออกสืบค้นหาข่าวนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 1972 วันที่ชาย 5 คน บุกเข้าไปยังสำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครต ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคาร Watergate Office แล้วถูกตำรวจจับได้ ไปจนถึงการเปิดโปงเทปลับ บันทึกทุกการสนทนาที่ติดตั้งอยู่ในทำเนียบขาวเมื่อปี 1973
  • สิทธิส่วนบุคคลสำคัญกว่าความมั่นคงไหม?: ความน่ากลัวของประธาธิบดีที่ทรงอำนาจมากในยุคนั้น แสดงให้เห็นถึงความกล้าจะแหกกรอบกฎหมาย ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนอื่นเพื่อรักษาความมั่นคง (ของรัฐบาลและตำแหน่งของตัวเองในที่นี้) ด้วยการดักฟังและส่งคนไปรื้อคนออฟฟิศของพรรคคู่แข่ง “When the president does it, that means that it is not illegal.” คือคำกล่าวของ Nixon ที่เคยให้สัมภาษณ์กับ David Frost ไว้ในปี 1977 (รับชมได้ในหนัง Frost/Nixon (2008)) เมื่อปี 2005 แหล่งข่าวคนสำคัญของสองนักข่าว ฉายา “Deep Throat” ก็ได้ออกมาเปิดเผยตัวว่า เขาคือ Mark Felt รองผู้อำนวยการของ FBI ในเวลานั้น (มีหนังเกี่ยวกับเขาในเหตุการณ์นี้เรื่อง Mark Felt (2017) Liam Neeson นำแสดง) ใครที่ชอบหนังแนวนักหนังสือพิมพ์ตีแผ่ความจริง ก็ชมได้จากหนังอย่าง The Post (2017) หรือ State of Play (2009)

9. Official Secrets (2019) 

Official Secrets (2019) 

Official Secrets (2019)

  • ผู้กำกับ: Gavin Hood (Eye in the Sky, Tsotsi, Rendition)
  • นักแสดง: Keira Knightley (Pirates of the Caribbean: The Curse of the Black Pearl), Ralph Fiennes (Harry Potter) , Matt Smith (Doctor Who)
  • เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ: จากเหตุการณ์จริงของ Catherine Gunn เจ้าหน้าที่สำนักงานใหญ่การสื่อสารของรัฐบาลอังกกฤษ (หน่วยงานข่าวกรองเหมือน NSA ของสหรัฐฯ) หรือ Government Communications Headquarters (GCHQ) เธอเชี่ยวชาญภาษาจีนกลางจึงได้ทำหน้าที่ดักฟังบทสนทนาและอีเมลในภาษาจีน ในปี 2003 สหรัฐฯ ต้องการปิดฉากโจมตีอิรักแต่ยังไม่ได้ไฟเขียวจากสหประชาชาติ Catherine Gunn ก็ได้รับอีเมลเวียนที่ส่งถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนใน GCHQ ซึ่งส่งมาจากสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาหรือ NSA ขอให้ประเทศอังกฤษร่วมมือในการดักฟังข้อมูล เพื่อแบล็กเมลบีบบังคับให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงคะแนนเสียงให้สหรัฐฯ โจมตีอิรักได้ แคทเธอรีนจึงตัดสินใจนำอีเมลฉบับนี้ส่งต่อไปให้เพื่อนเก่า จนตกไปถึงมือหนังสือพิมพ์ ดิ ออบเซิร์ฟเวอร์ แล้วกลายเป็นข่าวฉาวโฉ่ และรัฐบาลอังกฤษก็ตั้งข้อหาเธอในฐานะกบฏ จนได้ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนมือดียื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
  • สิทธิส่วนบุคคลสำคัญกว่าความมั่นคงไหม?: ก่อนที่ Hood จะมากำกับเรื่องนี้ เขาก็เคยกำกับ Eye In The Sky 92015) หนังที่ตั้งประเด็นคำถามทางด้านศีลธรรมถึงสิทธิในการสอดส่องประชาชนของประเทศอื่นโดยโดรนสหรัฐฯ ซึ่งเป็นโดรนทางทหาร (Military Drones) ซึ่งก็ยังเป็นที่ถกเถียงในเรื่องหลักความได้สัดส่วน และหลักห้ามโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมายตามกฎหมายระหว่างประเทศ (หนังดูสนุกและลุ้นมาก) มาจนถึงเรื่อง Official Secrets ที่หมายถึงพระราชบัญญัติการกระทำอันเป็นความลับของรัฐบาล ผู้กำกับก็ยังเล่นเรื่องกระบวนการของการรักษาความลับ อันเป็นปัจจัยหลักของความมั่นคง โดยหนังเรื่องนี้เป็นตัวแทนของการต่อสู้ของประชาชนตัวเล็ก ๆ ที่คำนึงถึงความถูกต้องมากกว่าการกระทำของรัฐบาลที่อาจนำไปสู่การเข้าสงครามที่ไร้มนุษยธรรม (สหรัฐฯ อ้างว่าอิรักมีอาวุธชีวภาพซึ่งสุดท้ายก็หาไม่เจอ)  แม้ว่าจะต้องต่อสู่กับรัฐและอัยการอย่างหนักหนาสาหัสก็ตาม อ่านรีวิวฉบับเต็มเรื่องนี้ของ WTF ได้ที่นี่ 

10. Gattaca (1997) 

Gattaca (1997) 

Gattaca (1997)

  • ผู้กำกับ: Andrew Niccol (Good Kill, In Time, Lord of War)
  • นักแสดง: Ethan Hawke (2001), Uma Thurman (Kill Bill), Jude Law (Captain Marvel)
  • เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ: ในยุคอนาคต เมื่อมนุษย์สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีพันธุกรรมขั้นสูง มนุษย์ที่ถูกสร้างให้เกิดมาพร้อม ‘ยีนส์ที่เป็นเลิศ’ เท่านั้นที่จะมีโอกาสในสังคม และพวกที่เหลือก็จะกลายเป็นชนชั้นล่าง วินเซนท์ (Ethan Hawke) ที่เกิดมาพร้อมยีนส์ที่บกพร่องใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักบินอวกาศ จึงหารับซื้ออัตลักษณ์ของเจโรม’ (Jude Law) หนุ่มพิการผู้หมดอาลัยตายกับชีวิต แต่ดันมียีนส์เป็นเลิศ ทุกวันวินเซนต์จะต้องปลอมตัวเป็นเจโรม ต้องขัดผิวขัดหัวอย่างแรงเพื่อสลัดเอายีนส์ที่มีค่าต่ำทิ้งไป รวมถึงต้องพกเลือดและปัสสาวะของเจโรมติดตัวไว้เสมอ พร้อมรับการตรวจร่างกายที่เข้มงวดและบ่อยครั้งขององค์กรอวกาศ Gattaca เพื่อให้หนีรอดจากการถูกเปิดโปง
  • สิทธิส่วนบุคคลสำคัญกว่าความมั่นคงไหม?: ผู้กำกับ Andrew Niccol เป็นผู้กำกับหนังอีกคนที่ชื่นชอบการทำหนังไซไฟโลกอนาคตที่ก็มักจะหยิบยกประเด็นเรื่องของ “สิทธิในความเป็นส่วนตัว” มาใช้บ่อย ๆ อย่างเช่นในหนัง Anon (2018) (เมื่อสมองและการมองเห็นของประชากรทุกคนถูกฝังคอมพิวเตอร์ชีวภาพ ที่บันทึกการใช้ชีวิตประจำวันลงบนฐานข้อมูลที่ชื่อว่า “อีเธอร์”  และตำรวจจะสามารถเข้าดูฐานข้อมูลความทรงจำของทุกคนได้เพื่อใช้ในการสืบค้นคลี่คลายคดีอาชญากรรม (อ่านรีวิวของ Anon ของ WTF ได้ที่นี่) หรือในหนัง Good Kill (2015) ที่เล่าเรื่องราวของการรบด้วยโดรน แต่เรื่องที่เป็นมาสเตอร์พีซของเขา ก็คือ Gattaca ที่เล่าเรื่องการเหยียดพันธุกรรมที่ด้อยกว่า ซึ่งก็มองได้ว่าเป็นการบิดเบือนการคัดสรรตามธรรมชาติ เพื่อให้ได้เผ่าพันธุ์ที่เป็นเลิศที่สุด (ความมั่นคง) มากไปกว่าสิทธิที่คนหนึ่งคนควรจะมี (สิทธิในความเป็นคน) ที่หากเกิดมาจากพันธุกรรมที่ด้อยกว่าก็จะถูกทำลาย

11. The Circle (2017)

The Circle (2017)

The Circle (2017)

  • ผู้กำกับ: James Ponsoldt (The Spectacular Now)
  • นักแสดง: Emma Watson (Harry Potter), Tom Hanks (Cast Away), Bill Paxton (Titanic)
  • เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ: The Circle คือชื่อของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ เต็มไปด้วยเหล่าวัยรุ่นที่เพิ่งเรียนจบใหม่ ไฟแรง อยากทำงานในบริษัทแห่งนี้ เม ฮอลแลนด์ ได้รับการช่วยเหลือจากบอนนี่เพื่อนที่มีบทบาทสำคัญในบริษัท ช่วยฝากเธอเข้าทำงาน ในทีแรกเมวางตัวลำบากกับวัฒนธรรมองค์กร ที่เน้นการแบ่งปัน เปิดเผยข้อมูลทุกอย่างของพนักงานคนอื่นทุกคนในบริษัทรับรู้ข้อมูลส่วนตัว แต่วันหนึ่งเธอเกิดอุบัติเหตุ ก็เป็นที่อุปกรณ์ของ The Circle ที่คอยจับตาและเข้าถึงทุกคน เธอจึงรอดชีวิต ทำให้เธอเปิดใจรับองค์กรและยอมเป็นหนูทดลอง ติดกล้องไว้กับตัวเพื่อไลฟ์สดทุกอากัปกิริยาและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้คนทั่วโลกได้ดูอย่างกับเธอเป็นดารา
  • สิทธิส่วนบุคคลสำคัญกว่าความมั่นคงไหม?: แนวคิดของเรื่องก็คือ การคอยติดตามข้อมูลส่วนบุคคลโดยอ้างเหตุผลด้านความโปร่งใส การมีความลับเท่ากับโกหก และการไม่แบ่งปันข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์เท่ากับเป็นการเอาเปรียบคนอื่น ๆ ในสังคม ลามไปถึงการอ้างหลักประชาธิปไตยในเรื่อง “เสรีภาพของการเข้าถึงข้อมูล” (ซึ่งน่าจะเป็นเชื่อมโยงอย่างตรรกะวิบัติมากกว่า) เพื่อให้คนยอมสละซึ่งสิทธิความเป็นส่วนตัว หนังมาตกม้าตายที่ค้างเติ่งประเด็นเรื่อง Privacy นี้ไว้ และกลับไปเล่าการเอาคืนสองผู้บริหารของบริษัทนี้ที่ออกแบบระบบนี้ขึ้นมาอย่างเป็นตัวร้ายที่ต้องถูกสั่งสอนแทน อ่านรีวิวฉบับเต็มเรื่องนี้ของ WTF ได้ที่นี่

12. The Social Network (2010)

The Social Network (2010)

The Social Network (2010)

  • ผู้กำกับ: David Fincher (Gone Girl, Se7en, Panic Room)
  • นักแสดง: Jesse Eisenberg (Batman v Superman), Andrew Garfield (The Amazing Spider-Man), Armie Hammer (Call Me By Your Name)
  • เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ: การก่อตั้ง Social Media ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของโลกของผู้ชายที่ชื่อ Mark Zuckerberg เขาสร้างเว็บไซต์เพื่อการติดต่อสื่อสารระหว่างเพื่อนฝูงในมหาวิทยาลัยจนประสบความสำเร็จ แต่ตัวตนเบื้องหลังหน้าจอ เขากลับเป็นคนไม่มีมนุษยสัมพันธ์ พูดคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง และมักทำให้มิตรที่ทำงานด้วยกันกลายเป็นศัตรูจากความเก่งของเขาเอง เขาเหมือนจะหักหลัง Eduardo Saverin (Andrew Garfield) เพื่อนที่ร่วมกันคิดค้น Facebook ขึ้นมาโดยหนังจะเล่าตัดสลับเหตุการณ์ในอดีตตอนยังเป็นนักศึกษา เหตุกาณ์ในห้องไกล่เกลี่ยระหว่างเขาและ Saverin รวมถึงเหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดี 
  • สิทธิส่วนบุคคลสำคัญกว่าความมั่นคงไหม?: หนังอาจจะไม่ได้พูดถึงแง่มุมของเรื่องความมั่นคงอย่างชัดเจน แต่หนังก็ทำให้เห็นถึงความไม่สนใจในออกแบบระบบ เพื่อรักษาสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้ Facebook รวมไปถึงผลลัพธ์ที่ร้ายแรงซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการที่ข้อมูลของผู้ใช้รั่วไหล มากไปว่าความสนุกในการหารายได้ และการพิสูจน์ความสามารถของ Zuckerberg ตามที่หนังสร้าง (ซึ่งก็อาจเป็นที่มาจนมาถึงเหตุการณ์ Cambridge Analytica หรือหลายครั้งหลายหนที่ Facebook ทำข้อมูลผู้ใช้รั่วไหลออกมา จนทำให้รัฐอาจใช้เหตุผลนี้ในการเข้ามาสอดส่องและควบคุมข้อมูล) ใครที่สนใจอยากตามต่อเรื่องราวหลังจากหนังเรื่องนี้ ซึ่งยังเกี่ยวข้องกับ Facebook และการรั่วไหลของข้อมูล (ซึ่งอาจกลายเป็นหนังในอนาคต) ติดตามต่อได้ที่สารคดี The Great Hack ที่ออนไลน์แล้วใน Netflix 

Play video

13. Zero Dark Thirty (2012)

Zero Dark Thirty (2012)

Zero Dark Thirty (2012)

  • ผู้กำกับ: Kathryn Bigelow (The Hurt Locker, Point Break, K-19: The Widowmaker)
  • นักแสดง: Jessica Chastain (Molly’s Game), Jason Clarke (Mudbound), Kyle Chandler (Argo)
  • เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ: Zero Dark Thirty นั้นหมายถึง ประโยคที่มาจากคำสั่งทางการทหาร ที่หมายถึงช่วงเวลา 30 นาทีหลังเที่ยงคืน ซึ่งเหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯ จะเข้าไปสังหาร “บินลาเดน” ผู้นำขบวนการก่อการร้ายที่สหรัฐฯ อ้างว่าอยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรม 9/11 ที่ตึก World Trade Center แต่โดยเนื้อแท้ของเรื่องแล้ว เป็นการเล่าถึงการทำงานของมายา (Jessica Chastain) เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนของ CIA ที่ใช้เวลาหลายต่อหลายปี ลงไปทำงานจริงในปฏิบัติการไล่ล่าบินลาเดน ซึ่งพลาดมากกว่าสำเร็จ ตัวละครเจ้าหน้าที่ข่าวกรองนี้และอีกหลายตัวนั้นถูกแต่งขึ้นมาโดยใช้บุคคลิกของคนที่มีตัวตนจริงของวงในที่อยู่ในปฏิบัติการ (ซึ่งไม่อาจเปิดเผยตัวตนได้)
  • สิทธิส่วนบุคคลสำคัญกว่าความมั่นคงไหม?: ภายในหนังอาจไม่มีประเด็นเชื่อมโยงกับสิทธิส่วนบุคคลโดยตรง แต่หนังมีฉากซ้อมและทรมานนักโทษของทหารสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่เลื่องลือการตามข่าวว่า มีฐานลับสำหรับการทรมานนักโทษก่อการร้ายโดยเฉพาะ ซึ่งสหรัฐฯ ก็อ้างความมั่นคงและผลลัพธ์ที่ต้องเค้นให้ได้จากปากผู้ต้องหาเป็นสำคัญ หนังตั้งคำถามโดยอ้อมถึงความชอบธรรมในวิธีการตั้งตนเป็นเพชฌฆาต เข้าสังหารบินลาเดนและเหล่าผู้ก่อการร้ายของกองกำลังสหรัฐฯ หนังสร้างได้อย่างสมจริง และเสียดสีอย่างตลกร้ายถึงตอนจบของตัวละครมายา ที่ไม่ได้รู้สึกยินดีไปกับการตายของบินลาเดน

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส