เคยสงสัยกันไหมว่าหน้าฝนที่ ‘ยุง’ มักชุม ทำไมพวกมันถึงต้องมาบินรอบหัวและทำเสียงหึ่งๆ ใกล้หูเราด้วย?
ไมเคิล รีล (Michael Riehle) ศาสตราจารย์ด้านกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา ไขข้อสงสัยว่า “เสียงหึ่ง ๆ รอบหูเป็นผลข้างเคียงมาจากการกระพือปีกของยุงประมาณ 500 ครั้งต่อวินาที ด้วยความถี่ประมาณ 450-500 เฮิร์ตซ์ และมีผลแค่ในระยะใกล้ คุณจึงมักได้ยินเวลาพวกมันบินมาใกล้ ๆ หูเท่านั้น”
ที่มาของเสียงหึ่ง ๆ มาจากยุงตัวเมีย เนื่องจากยุงตัวผู้และยุงตัวเมียมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันมาก ยุงตัวผู้มักออกไปเที่ยวเล่นและจิบน้ำหวานของดอกไม้ ในขณะที่ยุงตัวเมียต้องหาเลือดให้เพียงพอเพื่อใช้ในการฟักไข่ อีกทั้งในทางทฤษฎียุงตัวเมียมีเทคนิคพิเศษในการหาเหยื่อเสียด้วย
“ยุงตัวเมียสามารถจับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์หายใจออกมาได้จากระยะไกล โดยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวกระตุ้นให้ยุงตัวเมียเริ่มหาต้นตอความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เหยื่อปล่อยออกมา” ศาสตราจารย์รีลกล่าว “หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือสาเหตุที่ยุงบินรอบหัวเราเพราะเป็นแหล่งที่คาร์บอนไดออกไซด์ปล่อยออกมามากที่สุดนั่นเอง งานวิจัยบางชิ้นระบุว่า “เลือดกรุ๊ป O เป็นของโปรดปรานของยุงที่สุด” แต่ศาสตราจารย์รีลไม่ยืนยันในเรื่องนี้ เขาเชื่อว่าปัจจัยอื่น ๆ อย่างพันธุกรรมหรือการควบคุมอาหารมีผลกับความอร่อยของแต่ละคนมากกว่า
การศึกษายังพบว่าผู้ชายที่มีแบคทีเรียบนผิวหนังน้อยดึงดูดยุงตัวเมียได้ดีกว่าผู้ชายที่มีแบคทีเรียบนผิวหนังเยอะ พูดง่าย ๆ ว่ายิ่งอาบน้ำสะอาดก็ยิ่งดึงดูดให้ยุงมากัดได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะบริเวณเท้าที่เป็นแหล่งสะสมแบคทีเรียนั่นเอง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการสวมเสื้อผ้าสีเข้มอย่างสีดำยิ่งดึงดูดยุงได้ดีขึ้นด้วย
การหลีกเลี่ยงยุงอาจเริ่มต้นด้วยการสวมเสื้อผ้าสีอ่อนและยาวปกปิดร่างกาย รวมถึงการใช้ยากันยุงประเภทต่าง ๆ หลีกเลี่ยงจุดที่มียุงชุม อาทิ พื้นที่น้ำขัง โดยเฉพาะในช่วงหัวค่ำและรุ่งเช้า ซึ่งเป็นเวลาที่ยุงตื่นตัวที่สุดก็ว่าได้
อ้างอิง livescience
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส