เรารู้กันดีว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงมนุษย์ต่างต้องอาศัย ‘สเปิร์ม’ และ ‘เซลล์รังไข่’ ในการผสมพันธุ์ แม้สัตว์บางชนิดอาจมีทั้งสองอย่างในตัวเดียวกันก็ตาม แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจไปกว่านั้นคือ สัตว์บางชนิดกลับมี ‘สเปิร์ม’ ที่มีขนาดยาวกว่าขนาดลำตัวหลายเท่าตัว ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

นักวิจัยพบว่า ‘สเปิร์ม’ มีหลายขนาด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ตัวต่อปรสิตสายพันธุ์ Cotesia congregata ผลิต ‘สเปิร์ม’ ที่มีความยาวแค่ 0.0001 เซนติเมตร ในขณะที่แมลงวันผลไม้ (fruit flies) มี ‘สเปิร์ม’ ที่มีขนาดยาวมากถึง 2.3 นิ้วหรือประมาณ 6 เซนติเมตรเลยทีเดียว ซึ่งขดกันอย่างแน่นหนาเพื่อให้พอดีกับร่างกายเล็กๆ ของพวกมัน

แอเรียล คาห์ล (Ariel Kahrl) นักวิจัยปริญญาเอกด้านชีววิทยาวิวัฒนาการ มหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม ศึกษาเรื่องระบบสืบพันธ์ุและ ‘สเปิร์ม’ ระบุว่า “ส่วนใหญ่สัตว์ใช้การสืบพันธุ์ 2 รูปแบบ หนึ่งคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกแมลงและนก อาศัยการผสมพันธุ์ภายในร่างกาย ในขณะที่อีกกลุ่มคือการผสมพันธุ์ภายนอกจำพวกปลา ซึ่งการผสมพันธุ์สองรูปแบบต่างแข่งขันแย่งชิงไม่ต่างจากสมรภูมิรบ เพื่อไปถึงรางวัลเป็นการปฏิสนธิกับไข่” กระบวนการดังกล่าวกลับส่งผลให้เกิดการวิวัฒนาการอย่างไม่น่าเชื่อของขนาดสเปิร์มเหล่านั้น

จากการศึกษาพบว่า การผสมพันธุ์ภายนอกมักจะมีขนาด ‘สเปิร์ม’ ที่เล็กมาก เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วมักจะเกิดขึ้นในน้ำ เมื่อ ‘สเปิร์ม’ แพร่กระจายในน้ำมักจะไปไม่ถึงไข่ ทำให้กลยุทธ์ในการสร้าง ‘สเปิร์ม’ คือต้องผลิตออกมาให้ได้ปริมาณมากที่สุดเพื่อเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิ รวมถึงการผลิต ‘สเปิร์ม’ เองก็ใช้พลังงานมาก ทำให้พวกมันไม่สามารถสร้าง ‘สเปิร์ม’ ที่มีขนาดใหญ่ได้

ในขณะที่กลุ่มผสมพันธุ์ภายในต่างออกไป เนื่องจาก ‘สเปิร์ม’ ทำงานในพื้นที่จำกัด ทำให้โอกาสในการสืบพันธุ์ไม่เหมือนการล่าขุมทรัพย์ในทะเลกว้าง แต่ในสถานการณ์นี้ ‘สเปิร์ม’ ที่มีขนาด ‘ใหญ่’ และ ‘แข็งแรง’ กว่าย่อมได้เปรียบ โดยไม่ได้คำนึงว่า ‘สเปิร์ม’ ตัวอื่น ๆ นั้นก็มาจากพ่อคนเดียวกัน

อย่างไรก็ตามขนาดตัวเจ้าของก็มีผลต่อขนาดของ ‘สเปิร์ม’ เช่นกัน อย่างมนุษย์เองเป็นกลุ่มที่ผสมพันธุ์ภายในก็ไม่จำเป็นต้องมี ‘สเปิร์ม’ ใหญ่เท่าช้าง แต่กลับมีขนาดความยาวเพียง 0.002 นิ้ว 0.005 เซนติเมตรเท่านั้น เนื่องจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่โตจะมีระบบสืบพันธุ์เข้ามาช่วยแพร่กระจาย ‘สเปิร์ม’ ให้สามารถไปถึงเป้าหมายได้ดีขึ้นนั่นเอง

กลุ่มผสมพันธุ์ภายในที่มีขนาดตัวเล็กและยังมีระบบสืบพันธุ์เล็กลงไปอีกนี่แหละที่ต้องอาศัยขนาดของ ‘สเปิร์ม’ มาช่วยในการผลิตลูกหลาน อย่างเช่น แมลงวันผลไม้ที่มี ‘สเปิร์ม’ ใหญ่กว่าขนาดตัวถึง 20 เท่านี่ไงล่ะ เพราะฉะนั้นรู้แล้วใช่ไหมครับว่าสัตว์กลุ่มไหนที่น่าจะมีขนาด ‘สเปิร์ม’ ใหญ่กว่าขนาดตัว เพราะมันไม่ได้เน้นที่ ‘ปริมาณ’ แต่วัดกันด้วย ‘คุณภาพ’ ต่างหากเล่า!

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส