จากเหตุการณ์ระเบิดที่โกดังเก็บสารเคมีของ ‘บริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด’ ถนนกิ่งแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทำให้เกิดไฟไหม้ยาวนานกว่า 24 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 03.00 น. ของวันที่ 5 กรกฎาคม มาจนถึงเวลา 05.00 น. ของเช้าวันที่ 6 กรกฎาคม 2021 เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอันเป็นผลมาจากสารเคมีสำคัญคือ ‘สไตรีนโมโนเมอร์’ (Styrene Monomer) ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดการระเบิดจากสารตัวนี้

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2019 ที่เมืองอุลซัน (Ulsan) ประเทศเกาหลีใต้ บนเรือบรรทุกสารเคมีชื่อว่า ‘Stolt Groenland’ ระหว่างจอดเทียบท่าเรืออยู่ โดยภายในเรือบรรทุกสารเคมีกว่า 20 ชนิด รวมถึง ‘สไตรีนโมโนเมอร์’ ที่มีอยู่กว่า 37 ถัง เนื่องจากมีความดันภายในถังบรรจุสารเคมีสูงขึ้นจนทำให้เกิดแรงระเบิดขนาดใหญ่ตามมา

เครดิตรูปภาพจาก www.imca-int.com

ทางสำนักงานสอบสวนอุบัติเหตุทางทะเลของสหราชอาณาจักร (MAIB) ได้เปิดเผยข้อมูลการระเบิดในครั้งนี้ว่า เกิดจากการที่ความดันในถังบรรจุ ‘สไตรีนโมโนเมอร์’ สูงขึ้นจนทำให้เกิดการปริแตกและสารเคมีรั่วไหลออกมา โดยมีสัญญาณเตือนว่าแรงดันสูงมากกว่า 95% เจ้าหน้าที่ประจำเรือ ‘Stolt Groenland’ จึงได้ไปตรวจสอบที่ห้องควบคุมสินค้า แต่แล้วก็เกิดระเบิดขึ้นสองครั้งติดต่อกัน ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างและมีลูกเรือ รวมถึงนักดับเพลิงบาดเจ็บกว่า 18 คน

สาเหตุหลักของการระเบิดคือ ‘สไตรีนโมโนเมอร์’ ที่เป็นของเหลวไวไฟและระเหยได้ในจุดเดือดต่ำ มีส่วนประกอบของ ‘ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์’ และ ‘ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์’ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดจากจุดระเบิดนั้นน่าจะมาจากไฟฟ้าสถิต ประกายไฟ หรืออุณหภูมิแผ่นเหล็กที่สูงขึ้นอันเป็นผลมาจากการปริแตกของถังบรรจุสารเคมีก็เป็นได้

จากเหตุการณ์ทั้งสองนี้ทำให้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง ทั้งการรับมือกับภัยพิบัติทางสารเคมี (ว่าน้ำดับไม่ได้แต่ต้องใช้โฟมดับ น้ำทำได้แค่ลดอุณหภูมิเท่านั้น) และเทคโนโลยี (โดรนและกล้องตรวจจับความร้อนจากระยะไกล รวมถึงรถฉีดโฟมแรงดันสูง) และผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาช่วยคลี่คลายสถานการณ์นั้น ๆ ไปจนถึงย้ำเตือนว่าสิ่งที่เรายังขาดคือเรื่องการบริหารจัดการที่ชัดเจน ทรัพยากรบุคคลที่มีองค์ความรู้ (มากกว่านี้) ตลอดจนเทคโนโลยีเพื่อการกู้ภัยที่ทันสมัยมากขึ้น เพราะเมื่อเกิดเหตุเช่นนี้อีกจะได้ช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

อ้างอิง