การนอนหลับจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด และมีผลต่ออวัยวะในร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลต่อสมอง ซึ่งมีสัตว์บางชนิดที่แทบจะไม่ต้องนอนหลับ แต่สมองยังสามารถเจริญเติบโตได้เป็นปกติ และไม่ก่อให้เกิดผลเสียแต่อย่างใด สัตว์ชนิดนั้นก็คือ ‘โลมา’
โลมา มีกลไกการนอนหลับที่ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่น เรียกว่า ‘การนอนหลับแบบครึ่งสมอง (Unihemispheric Sleep)’ เป็นกลไกการนอนหลับ โดยสมองครึ่งหนึ่งของมันจะหยุดพักและให้สมองอีกครึ่งหนึ่งทำงาน โลมาที่หลับมักจะปิดตาข้างเดียว โดยตาข้างที่ปิดจะอยู่ตรงข้ามกับซีกสมองที่หยุดพัก เนื่องจากซีกสมองแต่ละซีกจะควบคุมร่างกายในด้านตรงข้ามกัน การนอนของโลมา ไม่ได้ใช้ระยะเวลานานเหมือนกับมนุษย์หรือสัตว์ทั่วไป แต่เป็นลักษณะของการพักผ่อนกล้ามเนื้อในช่วงสั้นๆ เมื่อโลมานอนหลับจะใช้สมองบางส่วนเพื่อพักผ่อน และอีกส่วนจะใช้ในการประเมินอันตรายรวมถึงควบคุมระบบหายใจ
ซึ่งวิธีการนอนของโลมาจะมี 2 แบบ โดยแบบแรก คือ การขดตัว ศีรษะและส่วนหางจมอยู่ในน้ำ ส่วนหลังลอยตัวอยู่บนผิวน้ำช่วงสั้น ๆ เป็นการพักผ่อนกล้ามเนื้อ และแบบที่สอง คือการกบดานใต้พื้นน้ำ เป็นการพักผ่อนในระยะเวลาสั้น ๆ (แต่ยาวกว่าแบบแรก) ซึ่งมีทั้งการหลับตาทั้งสองข้างหรือลืมตาข้างใดข้างหนึ่ง
จากการศึกษาพบว่ามี 3 สาเหตุหลักที่ทำให้โลมามีการนอนหลับรูปแบบนี้ โดยสาเหตุแรก การหายใจของโลมาถูกควบคุมโดยสมอง และหากไม่มีกลไกการทำให้สมองทำงานครึ่งหนึ่ง โลมาอาจจมน้ำตายได้ สาเหตุที่ 2 ช่วยปกป้องตัวเอง จากอันตรายต่าง ๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติ รวมถึงมนุษย์ด้วย สาเหตุที่ 3 ช่วยให้โลมารักษากระบวนการทางสรีรวิทยาบางอย่าง เช่นการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ช่วยให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรักษาความร้อนของร่างกาย เพื่อความอยู่รอดในมหาสมุทรที่หนาวเหน็บ นับว่าเป็นเรื่องแปลกอีกหนึ่งเรื่องที่ใครหลายคนอาจจะไม่เคยรู้เลยก็ว่าได้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส