เวลาเราเห็นปลาทอง (Goldfish) ในตู้ปลา เราอาจคิดว่ามันเป็นสัตว์ที่ดูไม่ค่อยฉลาด ความจำสั้น กินอาหารไม่นานก็ลืม แต่รู้หรือไม่ว่าปลาทองนั้นเอาตัวรอดได้ดีเมื่ออยู่ในระบบนิเวศน์แบบเปิด อาทิ แม่น้ำหรือทะเลสาบ และพวกมันอาจมีขนาดเท่าลูกฟุตบอลได้แบบเจ้าปลาตัวนี้

เจ้าหน้าที่ประจำเมืองเบิร์นวิลล์ รัฐมินเนโซตา ประเทศอเมริกา ได้ออกคำเตือนห้ามประชาชนปล่อยปลา (โดยเฉพาะปลาทอง) ลงในแม่น้ำ เนื่องจากพวกมันเติบโตไวกว่าที่พวกคุณคิดและมีส่วนทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมรวมถึงทำลายระบบนิเวศน์พื้นเมืองอีกด้วย

นักวิจัยยกตัวอย่างปลาทองสายพันธุ์ Carassius auratus หากเลี้ยงในตู้ปลาจะมีขนาดไม่เกิน 5.1 เซนติเมตร แต่หากปล่อยในระบบนิเวศน์เปิด เคยมีการค้นพบปลาทองในทะเลสาบทาโฮ (Tahoe) เมื่อปี 2013 มีความยาวมากกว่า 45 เซนติเมตร และหนักถึง 2 กิโลกรัมเลยทีเดียว

ความแข็งแกร่งของปลาทองในระบบนิเวศน์เปิดยังไม่หมดแค่นี้ เพราะพวกมันสามารถมีอายุยืนยาวได้มากกว่า 25 ปี และมีชีวิตอยู่ได้นาน 5 เดือนโดยไม่มีออกซิเจนไว้หายใจ เนื่องจากพวกมันวิวัฒนาการเพื่อเอาตัวรอดในฤดูหนาว โดยเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตเป็นแอลกอฮอล์ระเหยออกผ่านเหงือก ประกอบกับความว่องไวในการสืบพันธุ์ ทำให้เมื่อพวกมันอยู่ในพื้นที่เปิดยิ่งเกิดการแพร่กระจายตัวอย่างรวดเร็ว และทำลายสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน์เดิมจนหมดสิ้น

หนึ่งในเมืองของรัฐมินเนโซตาเคยจำกัดปลาทองพวกนี้ประมาณ 50,000 ตัวออกจากแม่น้ำในเดือนพฤศจิกายน 2020 ซึ่งทำให้สูญเสียงบประมาณในการกำจัดไปมากกว่า 88,000 เหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 2.9 ล้านบาท) กรมทรัพยากรธรรมชาติประจำรัฐมินนิโซตาถึงกับออกแถลงการณ์ว่า “แม้ปลาทองอาจดูไม่เป็นอันตรายต่อแหล่งน้ำท้องถิ่น แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้น พวกมันสามารถเคลื่อนผ่านแหล่งน้ำไปยังทะเลสาบ และสร้างผลกระทบใหญ่หลวงด้วยการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว พวกมันอยู่รอดแม้ในฤดูที่หนาวเหน็บและหากินเก่งเหมือนพวกปลาคาร์ป”

รัฐมินนิโซตาไม่ได้เป็นเพียงรัฐเดียวที่ได้รับผลกระทบจากพวกปลาทอง แต่ยังรวมไปถึงเมืองอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดาก็ประสบปัญหาเดียวกัน เช่นเดียวกับประเทศไทยเองก็มีปัญหาการปล่อยปลาไม่ถูกที่อยู่บ่อย ๆ เพราะมันสร้างภาระต่อระบบนิเวศน์ รวมถึงใช้เวลาบำบัดและกู้สภาพน้ำอีกเป็นเวลานาน ฉะนั้นแล้วจะปล่อยอะไรลงสู่แม่น้ำก็ศึกษาและดูที่ทางกันให้ดีนะ

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส